โพสต์แนะนำ

วันอังคารที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2562

พระสมเด็จฯ๓๗


พระสมเด็จฯวัดระฆัง สองหน้า




              พระสมเด็จฯวัดระฆัง พิมพ์สองหน้า มีจำนวนการสร้างไม่มากนัก ส่วนใหญ่ตกอยู่ในกลุ่มตระกูลเก่าแก่และเป็นสมบัติตกทอดกันมา แต่การพิจารณาพระสมเด็จฯสองหน้า สามารถยึดหลักการที่ตรียัมปวายย้ำว่า การจะพิจารณาพระสมเด็จฯวัดระฆังของแท้ให้ยึดหลักที่การดูเนื้อเป็นสำคัญ เมื่อศึกษาเนื้อหาขององค์พระจนเข้าใจว่าองค์ใดแท้องค์ใดทำเลียนแบบก็จะเกิดความมั่นใจ แต่หากจะเล่นหากันใหม่หมู่ผู้นิยมแล้ว ก็ให้พิจารณารูปแบบพิมพ์ทรงที่ได้รับความนิยมยอมรับประกอบกันไป 

              สำหรับพระสมเด็จฯวัดระฆัง สองหน้า องค์ที่นำมาลงนี้ เป็นพิมพ์ใหญ่นิยมทั้งสองด้าน เป็นการสร้างโดยช่างผู้ทำการกดพิมพ์นำมามวลสารมากดลงในแม่พิมพ์แรกแล้วใช้แม่พิมพ์อีกองค์หนึ่งมาประกบหลังแทนการปาดตามปกติ เมื่อเคาะองค์พระออกมาแล้วจึงได้พระสมเด็จฯวัดระฆังสองหน้า โดยองค์พระสลับสวนทางกัน ตามแบบที่เรียกว่า “พระสวน” โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้องค์พระทั้งสองด้านมีความสมดุลระหว่างด้านบนและด้านล่าง

พระสมเด็จฯวัดระฆัง พิมพ์ใหญ่ ด้านหน้า
              ด้านหน้า องค์พระประทับกลางซุ้มครอบแก้ว พระพักตร์กลมรี พระเกศโคนใหญ่ปลายเล็กเฉียงไปทางด้านซ้ายปลายสะบัดชนซุ้ม ข้างพระพักตร์ปรากฏพระกรรณด้านขวาองค์พระสูงกว่าด้านซ้าย ลำพระองค์อวบแบบอกวี  พระอังสา(ไหล่)ซ้าย ยกสูงกว่าด้านขวา ท่อนพระพาหา(แขน)ซ้ายเล็กและหดตัวรัดเข้าไปใต้ท้องพระพาหา พานาภี(ท้อง)ผายออก ตรงพระกัประ(ข้อศอก)ซ้ายองค์พระมีเส้นชายจีวรเฉียงลงไปชนกับพระชานุ(เข่า)ซ้าย พระเพลาโค้ง ประทับนั่งบนฐานสามชั้น ส่วนเส้นซุ้มใหญ่หนาแบบเส้นขนมจีน ใต้เส้นด้านในซุ้มเนื้อพระหดตัวเข้าหาเส้นซุ้มล่างจนกลมมน พื้นผิวทั่วไปไม่สม่ำเสมอ มีคราบแป้งติดอยู่มากโดยเฉพาะในส่วนที่มือไม่สัมผัสถึง นอกจากนี้ด้านขอบมุมบนขวาองค์พระยังมีร่องรอยการยุบตัวของเนื้อพระที่เกิดจากเนื้อเก่าที่นำมาผสมกับเนื้อใหม่

พระสมเด็จฯวัดระฆัง พิมพ์ใหญ่ ด้านหลัง

              ส่วนด้านหลัง หรือหน้าที่ ๒ องค์พระเป็นแบบอกวีแต่เล็กกว่า พระพักตร์กลมรีเล็ก โคนพระเกศใหญ่ปลายเล็กเฉียงขึ้นด้านซ้ายองค์พระไปจรดเส้นซุ้ม ในด้านนี้จะปรากฏร่องรอยการหดตัวของเนื้อพระเข้าด้านล่างโดยทั่วไป ทั้งซอกพระพาหา เส้นซุ้มตอนบน และตอนล่างด้านขวาองค์พระ สำหรับสภาพผิวโดยรวมยังมีคราบแป้งทั่วทั้งพื้นองค์พระเช่นเดียวกับด้านหน้า

              องค์พระทั้งสองด้าน แม้จะต่างพิมพ์แต่ก็เป็นพิมพ์นิยมทั้งสองด้าน จุดสำคัญที่ทำให้ดูง่ายคือเนื้อพระแก่น้ำมันตั่งอิ้วทำให้ส่วนที่ถูกสัมผัสปรากฏความฉ่ำหรือหนึกนุ่มอย่างชัดเจน วรรณะทั่วไปออกเหลืองอ่อนฉ่ำ ส่วนด้านข้างมีการตัดขอบชิด และเข้าใจว่าช่างผู้ทำการกดพิมพ์ใช้นิ้วมือลูบขอบทั้งสี่ด้าน เนื้อจึงเรียบ แต่ยังคงมีร่องรอยของการหดตัวทั้งเนื้อพระและส่วนผสมที่เป็นว่านเกสร




              พระสมเด็จฯสองหน้านี้ หากผู้ศึกษาพิจารณาถึงเนื้อพระและพิมพ์ทรง ก็จะเข้าใจได้ไม่ยาก เมื่อมีโอกาสพบอย่ามองข้าม ควรพิจารณาให้ถ้วนถี่ เพราะบางทีไม่แน่ว่าท่านอาจได้ครอบครองสิ่งศักดิ์สิทธิ์อมตะล้ำค่า ที่ครั้งหนึ่งเคยอยู่ในความครอบครองของชนชั้นสูงมาก่อนก็เป็นได้.