โพสต์แนะนำ

วันพฤหัสบดีที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2561

พระสมเด็จฯ๓๒


พระสมเด็จฯเกศไชโย
พิมพ์หกชั้นอกตลอด


             พระสมเด็จฯเกศไชโย ที่เจ้าประคุณสมเด็จฯพระพุฒาจารย์(โต พฺรหฺมรํสี)สร้างเพื่อนำไปบรรจุไว้ในองค์พระประธานพระมหาพุทธพิมพ์วัดไชโยวรวิหาร จังหวัดอ่างทอง มีอยู่ด้วยกัน ๒ ส่วน ๆแรกสร้างโดยกลุ่มคนชาวอ่างทอง ที่ศรัทธาต่อเจ้าประคุณสมเด็จฯ เรียกกันว่า “พิมพ์ชาวบ้าน” อีกส่วนหนึ่งสร้างจากช่างสิบหมู่ที่วัดระฆังโฆสิตารามแล้วนำมาบรรจุ เรียกกันว่า “พิมพ์นิยม”

              ในพระสมเด็จฯเกศไชโย พิมพ์นิยมนั้น มีอยู่ด้วยกัน ๓ พิมพ์หลัก คือ พิมพ์ฐานเจ็ดชั้น พิมพ์ฐานอกชั้นอกตัน และพิมพ์ฐานหกชั้นอกร่อง สำหรับพิมพ์ที่อัญเชิญมาลงนี้ เรียกว่า “พิมพ์ฐานหกชั้นอกร่อง” หรือบางทีเรียกว่า"อกตลอด" จัดเป็นพระพิมพ์ขนาดเล็ก แต่มีการตัดขอบให้กว้างออกไปทุกด้านจึงมีขนาดเท่าพิมพ์ใหญ่



             ในพระพิมพ์นี้ พระพักตร์นูน พระนลาฏ(หน้าผาก)กว้าง พระหนุ(คาง)ยาวเรียวลงไปชนพระรากขวัญ(ไหลาร้า) พระเกศขึ้นยาวเป็นเส้นตรงไปพาดทับบนขอบซุ้มครอบแก้ว พระกรรณ(หู)ทั้งสองด้านเป็นแบบบายศรี เอกลักษณ์ของพระพิมพ์นี้อยู่ที่พระอุระ(อก)เป็นเส้นคู่ลงมาจากพระอังสา(ไหล่)ทั้งสองด้านไปสิ้นสุดที่พระนาภี(ท้อง)เหนือวงพระกร เป็นรูปตัววี ลำพระองค์ พระพาหา วงพระกร เป็นเส้นขนาดเล็กแบบพระพิมพ์เส้นด้ายในกรุวัดบางขุนพรหมใน ส่วนพระเพลา(ตัก)หนากว่าเล็กน้อย ปลายพระชานุ(เข่า)ทั้งสองด้านกระดกขึ้น เส้นฐานทั้ง ๖ เส้น ยาวเรียวลดหลั่นลงไป ปลายฐานทั้งสองด้านของทุกฐานมักสอบเรียวเป็นปลายแหลม 


             ซุ้มครอบแก้วค่อนข้างได้สัดส่วน แต่โย้ไปทางด้านขวาองค์พระเล็กน้อย ฐานเส้นซุ้มเป็นเส้นเดียวกับฐานเส้นบังคับพิมพ์ ขอบมุมบนของเส้นบังคับพิมพ์ด้านซ้ายองค์พระเป็นปลายแหลมออกไปชนขอบพระที่ตัดห่างออกไปจากเส้นบังคับพิมพ์อย่างชัดเจน นอกจากนั้นขอบมุมด้านนอกของพระสมเด็จฯเกศไชโย มักจะมีการลบมุมให้มน ไม่เป็นเหลี่ยมเหมือนพระสมเด็จฯวัดระฆัง หรือบางขุนพรหม สำหรับเนื้อหามวลสารที่นำมาสร้างเป็นสูตรเดียวกัน เนื้อพระจึงมีความหนึกนุ่มและร่องรอยธรรมชาติเหมือนกัน ส่วนคราบกรุมี ๒ ชั้นด้านล่างเป็นคราบฝ้า ด้านบนเป็นราดำปกคลุมครับ.


ศึกษาเพื่อการอนุรักษ์วัตถุโบราณ
........จันทร์พลูหลวง............


*********

วันพุธที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2561

พระสมเด็จฯ๓๑

พระสมเด็จฯบางขุนพรหม
พิมพ์ใหญ่ กรุเก่า 


             พระสมเด็จฯบางขุนพรหม พิมพ์ใหญ่ ที่อัญเชิญมาลงนี้ เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต พฺรหฺมรํสี)ได้รับสั่งให้ขรัวตาพลอยรวบรวมทั้งผงวิเศษที่ยังเหลืออยู่ รวมถึงพระสมเด็จฯที่สร้างจากวัดระฆัง และแม่พิมพ์พระสมเด็จฯวัดระฆัง นำมาสร้างพระพิมพ์ชุดใหม่เพื่อบรรจุภายในกรุเจดีย์วัดบางขุนพรหมใน หลังจากที่เสมียนตราด้วงซึ่งเป็นโยมอุปัฏฐากอาราธนาให้พระองค์ท่านมาช่วยสร้างพระเพื่อสืบพระพุทธศาสนาที่วัดเก่าโบราณแห่งนี้



             พระสมเด็จฯบางขุนพรหม จัดเป็นพระเครื่องที่เจ้าประคุณสมเด็จฯสร้างอย่างเป็นทางการเป็นจำนวน ๘๔,๐๐๐ องค์เท่าพระธรรมขันธ์ แตกต่างจากพระสมเด็จฯวัดระฆัง ที่สร้างไปแจกไปจึงไม่สามารถคำนวณได้ว่ามีจำนวนเท่าใด ดังนั้นผู้นิยมพระเครื่องของเจ้าประคุณสมเด็จฯ จึงให้ความสำคัญกับพระกรุนี้มาก เนื่องจากมีประวัติการสร้างชัดเจน

              พระสมเด็จฯบางขุนพรหม พิมพ์ใหญ่ องค์นี้ แม้จะเป็นแม่พิมพ์ของพระสมเด็จฯวัดระฆัง แต่เมื่อนำมาทำเป็นแม่พิมพ์สำหรับพระสมเด็จฯบางขุนพรหม จากการสร้างพระเป็นจำนวนมากจึงทำให้แบบพิมพ์พระที่ออกมา มีตำหนิบ้าง พิมพ์ตื้นบ้าง เป็นธรรมดา หากสังเกตจะพบว่าเป็นการกดพิมพ์ค่อนข้างตื้น แล้วเนื้อปูนที่กดลงไปในแม่พิมพ์มีบางส่วนที่ติดไม่ชัดเจน โดยเฉพาะบริเวณพระอังสา(ไหล่)ซ้ายของพระองค์ แต่ส่วนอื่น ๆยังคงปรากฏอยู่


             ผิวขององค์พระมีการคลายตัวของน้ำมันตั่งอิ้วที่ระเหิดขึ้นมาจากปฏิกิริยาภายในกรุ ผสมผสานกับฝุ่นละออง จึงปรากฏคราบอยู่ทั่วไป คาดว่าถูกนำขึ้นมาจากกรุไม่เกิน ๖-๗ ปีหลังจากการบรรจุเมื่อปีพ.ศ.๒๔๑๓ จากนั้นผู้ที่ได้ครอบครองจึงนำมาปิดแผ่นทองด้านหน้าในภายหลัง จึงจัดเป็นพระสมเด็จฯบางขุนพรหม แม่พิมพ์พระสมเด็จฯวัดระฆัง กรุเก่า  ที่ควรค่าต่อการอนุรักษ์อีกองค์หนึ่งครับ.



ศึกษาเพื่อการอนุรักษ์วัตถุโบราณ
........จันทร์พลูหลวง............

*********

วันอังคารที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2561

พระสมเด็จฯ๓๐

พระสมเด็จฯวัดระฆัง
พิมพ์ปรกโพธิ์ ลงรักจีน


             พระสมเด็จฯวัดระฆัง พิมพ์ปรกโพธิ์ที่สร้างโดยเจ้าประคุณสมเด็จฯพระพุฒาจารย์(โต พฺรหฺมรํสี) ถือเป็นพระเครื่องที่มีจำนวนน้อย เพราะสร้างในโอกาสที่พระองค์ท่านเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระพุทธปฏิมาประทับนั่งบนฐาน ๓ ชั้นใต้โพธิบัลลังก์ อันแสดงถึงคราวที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ ผู้คนทั่วไปจึงพยายามเสาะหานำมาอาราธนาบูชา เพื่อหวังให้พบความสำเร็จในชีวิต

             พระสมเด็จฯวัดระฆัง พิมพ์ปรกโพธิ์ ที่อัญเชิญมานี้ ได้รับการออกแบบจากช่างหลวงอย่างสวยงามได้สัดส่วนลงตัว มีขนาดย่อมลงมากว่าพระสมเด็จฯแบบพิมพ์ทั่วไป ขอบล่างกว้าง ๒.๑ ซ.ม.ความสูงจากขอบล่างถึงขอบบน ๓.๓ ซ.ม. 


             โดยรวมมีการออกแบบให้เส้นบังคับพิมพ์เป็นเส้นตรงอิสระทั้งสี่ด้าน  ถัดมาด้านในเป็นซุ้มครอบแก้ว เส้นฐานบางกว่าเส้นซุ้ม เส้นซุ้มด้านขวาองค์พระลาดเอียงขึ้นไปตอนบนมากกว่าด้านซ้าย ภายในซุ้มครอบแก้ว องค์พระทับนั่งปางสมาธิ ลำพระองค์จากพระอุระลงมาถึงพระนาภีปรากฏเป็นสังฆาฏิเส้นคู่ พระพักตร์กลมมนทรงไข่ พระกรรณทั้งสองด้านวางขนานใกล้พระปราง(แก้ม)ลงมาจรดพระอังสา(ไหล่) เหนือพระพักตร์เป็นโคนพระเกศหนาขึ้นตรงเป็นเปลวเพลิงแล้วจะเรียวลงปลายเอียงไปทางด้านขวาขององค์พระเล็กน้อยก่อนจรดเส้นซุ้ม ด้านบนเป็นใบโพธิ์มีเส้นพระเกศแบ่งด้านละ ๘ ใบ ด้านล่างตรงพระเพลา(ตัก)ส่วนกลางเว้ารับกับวงพระกร ปลายพระบาทซ้ายทอดเฉียงลงมา

              ใต้พระบาทซ้ายมีเส้นแซมเรียวเล็กวางขนานยาว ปลายเส้นแซมโค้งลงรับกับฐานชั้นที่ ๓ ต่ำลงมาเป็นเส้นแซมคั่นก่อนถึงฐานกลางที่เรียวบางกว่าทุกฐาน ล่างสุดเป็นฐานชั้นที่ ๑ ยาวหนากว่าทุกฐานปลายทั้งสองด้านตัดเฉียงลง กลางฐานมีร่องกลางยาวรับกับฐานตลอดแนว

  
           องค์พระได้รับการทารักจีนสีน้ำตาลเข้ม แต่เป็นการทาชั้นเดียว ผิวรักจึงมีความบางแต่ก็รั้งให้เนื้อพระจนมีการแตกรานในด้านหน้า สีของเนื้อพระออกขาวอมเหลืองนุ่มนวลตา ด้านหลังเป็นการปาดจากด้านล่างซ้ายขึ้นไปยังด้านบนขวา ดังจะเห็นได้จากรอยปาดที่ปรากฏชัดเจนอยู่ จัดเป็นพระสมเด็จฯวัดระฆัง อีกพิมพ์ทรงหนึ่งที่สวยงามสมบูรณ์ที่สุดองค์หนึ่งครับ.


ศึกษาเพื่อการอนุรักษ์วัตถุโบราณ
........จันทร์พลูหลวง............

*********

วันอาทิตย์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2561

เทพเจ้าจีน ๑


เทพเจ้ากวนอู
สมัยราชวงศ์หมิง
(พ.ศ.๑๙๑๑-๒๑๘๗)



              กวนอู มีชีวิตอยู่ในยุคสามก๊ก(พ.ศ.๗๖๓-๘๒๓) ได้รับการยกย่องให้เป็นเทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์และจงรักภักดี เป็นผู้มีความกตัญญูรู้คุณคน ในแผ่นดินจีนหลังยุคสมัยสามก๊กลงมานับตั้งแต่ราชสำนักจนถึงประชาชนเดินดินล้วนยกย่องเทิดทูนให้กวนเป็นเทพอันควรต่อการสักการบูชา นอกจากฐานะเทพแห่งความซื่อสัตย์แล้ว ยังดำรงฐานะเทพอุปถัมภ์ และเทพผู้ปกป้องคุ้มครอง


Bronze Guan yu ming dynasty 14-16th century

Bronze Guan yu ming dynasty 85 cm.height

              ประติมากรรมกวนอูนี้ ได้รับการสร้างปั้นและหล่อขึ้นด้วยโลหะสำริด ในสมัยราชวงศ์หมิง มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๒ (พ.ศ.๑๙๑๑-๒๑๘๗) ขนาดความสูง ๘๕ ซ.ม.แสดงถึงบุคลิกที่มีนัยน์ตายาวรี คิ้วหนอนไหม เครายาวถึงอก มีอาวุธประจำกายง้าวรูปจันทร์เสี้ยว หรือง้าวมังกรเขียว ยาว ๑๑ ศอก หนัก ๘๒ ชั่ง

ศึกษาเพื่อการอนุรักษ์วัตถุโบราณ
........จันทร์พลูหลวง............

*********

พระสมเด็จฯ๒๙

พระสมเด็จฯวัดระฆัง

พิมพ์ใหญ่นิยม ลงรักน้ำเกลี้ยง



             พระสมเด็จฯวัดระฆัง พิมพ์ใหญ่ ของเจ้าประคุณสมเด็จฯพระพุฒาจารย์(โต พฺรหฺมรํสี) ที่อัญเชิญมาองค์นี้ มีขนาดขอบล่างกว้าง ๒.๕ ซ.ม.สูงประมาณ ๓.๕ ซ.ม.องค์พระปฏิมากรประดิษฐานภายในซุ้มครอบแก้วที่หนาใหญ่แบบเส้นผ่าหวาย ขอบซุ้มล้มตอนบนด้านซ้ายองค์พระอันเป็นส่วนหนึ่งในสัญลักษณ์ของพิมพ์ พระพักตร์กลมคล้ายผลส้ม พระเกศโคนใหญ่แบบหางหนูขึ้นโค้งซ้ายเล็กน้อยก่อนจรดกลางขอบบนซุ้มครอบแก้ว ใต้พระปราง(แก้ม)ลงมาในระดับเดียวกับพระหนุ(คาง) ปรากฏเส้นหูเป็นปลายติ่งชัดเจน

              
             องค์พระปฏิมาคล้ายตัววีบริเวณใต้พระนาภี(ท้อง)ผายออกไปทั้งสองด้าน พระอังสา(บ่า)ซ้ายสูงกว่าด้านขวาเล็กน้อย ซอกพระกัจฉะ(รักแร้)ซ้ายสูงลึกกว่าด้านขวา พระพาหา(แขนท่อนบน)ทั้งสองด้านลงมารับกับวงพระกร บริเวณพระกัประ(ศอก)ขวาคอดกว่าด้านซ้าย พระเพลา(หน้าตัก) โค้งรับวงพระกร พระชานุ(เข่า)ซ้ายยกสูงเป็นเส้นจีวรรับกับพระกัประซ้าย
              ฐานชั้นที่ ๓ แบบฐานหมอน ปลายฐานด้านซ้ายโค้งขึ้นไปใกล้พระชานุ(เข่า)ซ้าย เหนือฐานนี้ปรากฏเส้นแซมบาง ๆ ฐานชั้นที่ ๒ แบบคมขวานฐานสิงห์ ปลายด้านซ้ายใหญ่และสูงกว่าด้านขวา ฐานชั้นล่างเป็นแผ่นกระดาน ด้านซ้ายเป็นขอบตรง ด้านขวาปลายเฉียงทำมุมกับขอบมุมซุ้ม เส้นบังคับพิมพ์ด้านซ้าย ขวา และบนเป็นเส้นเรียวเล็ก ฐานล่างเป็นเส้นหนา ในด้านซ้ายยังปรากฏเส้นบังคับพิมพ์ด้านในวิ่งตรงลงมาแล้วเบียดกับขอบเส้นซุ้มบริเวณระดับเดียวกับใต้พระเพลา


              พระสมเด็จฯวัดระฆัง พิมพ์ใหญ่องค์นี้ เป็นพระเนื้อขาวหม่นนุ่ม ลงรักน้ำเกลี้ยงเฉพาะด้านหน้ามาแต่เดิม เมื่อผ่านเวลามานานรักน้ำเกลี้ยงกะเทาะหลุดออกไปจึงพบรายแตกรานอย่างสวยงาม ส่วนด้านหลังเป็นพื้นเรียบมีร่องรอยธรรมชาติตามเนื้อหาของพระสมเด็จฯทุกประการ บริเวณขอบมีร่องรอยของเนื้อพระหดตัวจากการรั้งของเนื้อด้านในจนปรากฏเป็นเส้นปริแตกรานบริเวณด้านขอบบนอย่างชัดเจนและสวยงามครับ.

ศึกษาเพื่อการอนุรักษ์วัตถุโบราณ
........จันทร์พลูหลวง............

*********







วันเสาร์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2561

พระสมเด็จฯ ๒๘


พระสมเด็จฯบางขุนพรหม
พิมพ์เส้นด้าย วัดใหม่อมตรส


              พระสมเด็จฯภายในกรุพระเจดีย์ที่วัดบางขุนพรหมใน (ปัจจุบันคือวัดใหม่อมตรส) สร้างขึ้นตั้งแต่ปีพ.ศ.๒๔๑๓ ขณะที่เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต พฺรหฺมรํสี) พระชนมายุ ๘๒ พรรษา มีอยู่ด้วยกันหลายพิมพ์ทรง หนึ่งในจำนวนนั้นคือ พิมพ์เส้นด้าย และในพระพิมพ์ทรงนี้ยังแยกย่อยออกไปตามแม่พิมพ์อีกราว ๓-๔ พิมพ์ทรง

              พระพิมพ์เส้นด้าย ที่อัญเชิญมาลงไว้นี้ เป็นแบบที่ขนาดเล็กกว่าแม่พิมพ์อื่น ๆ มีขนาดกว้างประมาณ ๒.๓ ซ.ม.สูงประมาณ ๓.๓ ซ.ม.เป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าแบบตั้งขึ้น องค์พระประดิษฐานภายในเส้นซุ้มขนาดเล็ก ในพระพิมพ์ทรงนี้พระพักตร์จะมีขนาดกลมเล็กลอยเด่นเหนือขึ้นไปเป็นโคนพระเกศกว้างแล้วค่อย ๆเรียวขึ้นไปเอียงขวาองค์พระจรดขอบเส้นซุ้ม บริเวณเส้นซุ้มตรงจุดที่พระเกศชนจะล้มลงต่ำกว่าส่วนอื่น ๆ ลำพระองค์เป็นแบบตัววีตื้น วงพระกรทั้งสองข้างโอบกลมคล้ายผลส้ม พระเพลาส่วนกลางเป็นเส้นเรียว ส่วนพระชานุ(เข่า)นูนขึ้นเล็กน้อยทั้งสองข้าง


              เส้นฐานชั้นที่ ๓ และ ๒ เล็กบาง ส่วนฐานชั้นที่ ๑ เป็นเส้นคู่ ๒ เส้น ส่วนกรอบเส้นบังคับพิมพ์ขึ้นเป็นสันนูน มีขนาดเล็กกว่าเส้นซุ้มครอบแก้ว เกือบจะใกล้เคียงกับเส้นฐาน จุดสังเกตของแม่พิมพ์ในแบบพิมพ์ทรงนี้ เส้นบังคับพิมพ์ที่วิ่งตรงจากกรอบด้านบนซ้ายองค์พระลงมาจรดใกล้เส้นซุ้มด้านล่างมากกว่าด้านขวามือ แล้ววิ่งเลยลงไปชนเส้นบังคับพิมพ์ที่อยู่ใต้เส้นฐานซุ้มครอบแก้ว

              สภาพพื้นผิวขององค์พระโดยรวม จัดเป็นพระสมเด็จฯบางขุนพรหม กรุเก่าที่มีการสร้างและบรรจุอยู่ภายในพระเจดีย์เป็นเวลาไม่นานนัก จนถึงปีระกาป่วงใหญ่ในพ.ศ.๒๔๑๖ พระสมเด็จฯกรุนี้ก็ถูกชาวบ้านลักลอบเจาะพระเจดีย์นำขึ้นมาอาราธนาทำน้ำมนตร์ หลังจากนั้นในร.ศ.๑๑๒ หรือพ.ศ.๒๔๓๖ เกิดวิกฤติการณ์ที่ต่างชาติเรียกว่าสงครามฝรั่งเศส-สยาม พระในกรุนี้ก็ถูกลับลอบนำมาขึ้นมาด้วยผู้คนต่างเกรงกลัวในภัยสงคราม และหลังจากนั้นก็ถูกนำออกมาเรื่อยมา


              พระในชุดแรก ๆที่ถูกลักลอบนำขึ้นมา จึงมีอายุอยู่ภายในกรุเพียง ๓ ปี ดังนั้นจากความร้อนระอุและความชื้นจึงขับให้น้ำมันที่เป็นน้ำประสานในองค์พระระเหิดขึ้นมาปกคลุมองค์พระเกือบทุกส่วน แต่จะไม่มีเศษคราบดินโคลนเปรอะปนอยู่บนผิวมากนัก ทั่วไปจึงเรียกกันว่า “กรุเก่า”

              พระพิมพ์เส้นด้าย กรุพระเจดีย์บางขุนพรหม จึงเป็นพระเครื่องของเจ้าประคุณสมเด็จฯพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) อีกพิมพ์ทรงหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง ด้วยมีขนาดที่ไม่เล็กไม่ใหญ่จนเกินไป แต่ที่สำคัญเชื่อกันว่าเป็นพระเครื่องของเจ้าพระคุณสมเด็จฯที่สร้างและพุทธภิเษกอย่างเป็นทางการไว้เป็นรุ่นสุดท้ายก่อนถึงชีพิตักษัยในปีพ.ศ.๒๔๑๕ ครับ.

ศึกษาเพื่อการอนุรักษ์วัตถุโบราณ
........จันทร์พลูหลวง............

*********


วันศุกร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2561

พระสมเด็จฯ๒๗


สมเด็จฯวัดระฆัง
พิมพ์ใหญ่ ลงรักปิดทอง


              พระสมเด็จฯวัดระฆังที่สร้างโดยเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต พฺรหฺมรํสี) เป็นพระเครื่องที่ได้รับความนิยมมาเนิ่นนาน ตามประวัติการสร้างมีอยู่ด้วยกันหลายพิมพ์ทรง ในสมัยกาลที่เจ้าประคุณสมเด็จฯสร้างนั้นเป็นการสร้างต่อเนื่อง โดยมีบรรดาศิษยานุศิษย์และบุคคลที่ศรัทธาในพระองค์มาร่วมช่วยกันสร้าง และแจกจ่ายไปตามวาระอันควร เช่นเมื่อสร้างศาลา หอฉัน กุฏิ หรือหอระฆัง พระองค์ท่านก็นำมาแจกจ่ายให้กับผู้ร่วมทำบุญถวายปัจจัย หรือบางคนไม่มีปัจจัยเอาแรงกายมาช่วยงานท่านก็แจก โดยไม่ได้คำนึงว่าจะต้องเป็นพระพิมพ์นั้นพิมพ์นี้

              การกำหนดพิมพ์ทรงนิยม เป็นการกำหนดกันเองในสมัยหลังก่อนปีพ.ศ.๒๕๐๐ จากบรรดานักสะสม เพื่อใช้เรียกขานชื่อพิมพ์กันอย่างสะดวกมากขึ้น นานวันเข้าก็กลายเป็นพิมพ์ทรงมาตรฐานที่ให้ความหมายไปถึงความเป็นพระแท้ด้วยเช่นกัน ส่วนพิมพ์ทรงที่ไม่ได้รับการกล่าวถึงก็อยู่นอกระบบและกลายเป็นพระปลอมไปในที่สุด แต่การพิจารณาพระสมเด็จฯวัดระฆัง ปรมาจารย์ตรียัมปวาย ท่านได้ให้ข้อคิดไว้นานแล้วว่า หากจะพิจารณาพระแท้ให้ดูที่เนื้อหาเป็นหลัก เมื่อเชี่ยวชาญแล้วก็จะได้ครอบครองพระแท้อย่างไม่ต้องสงสัย แต่หากมีความต้องการที่จะนำไปแลกเปลี่ยนก็ต้องศึกษาพิมพ์ทรงที่ได้รับความนิยม นั่นเอง


              ดังนั้น หัวใจหลักในการพิจารณาพระสมเด็จฯวัดระฆัง ผู้สนใจควรศึกษาเนื้อหามวลสารให้เข้าใจอย่างท่องแท้เสียก่อน เพราะการศึกษาพิมพ์ทรงที่ได้รับความนิยมเพียงอย่างเดียว ก็สุ่มเสี่ยงต่อการได้ของปลอมมาครอบครองบูชาซึ่งแน่นอนว่าย่อมมีมูลค่าการแลกเปลี่ยนที่สูงตามไปด้วย เพราะฉะนั้นผู้สนใจในพระสมเด็จฯวัดระฆัง จึงควรศึกษาด้วยตนเองให้ได้ความมั่นใจระดับหนึ่ง และปรึกษาผู้รู้ท่านอื่น ๆ ที่มีความเชี่ยวชาญและไว้ใจได้ จึงจะมีโอกาสได้ครอบครองทั้งพระเนื้อแท้และพิมพ์นิยม

              สำหรับพระสมเด็จฯวัดระฆัง ที่อัญเชิญมาลงไว้นี้ เป็นพระพิมพ์ใหญ่นิยม ตัดขอบนอกเส้นกรอบบังคับพิมพ์ จึงทำให้เห็นสัดส่วนพิมพ์ทรงเต็มทั้งองค์ เรียกกันว่า “พิมพ์ใหญ่กรอบกระจก” มีขนาดความกว้างวัดจากขอบล่างประมาณ ๒.๖ ซ.ม.และสูงจากขอบล่างถึงขอบบนประมาณ ๓.๘ ซ.ม.ในองค์อื่น ๆอาจแตกต่างกว่านี้เล็กน้อยก็ไม่ได้ถือว่าเสียหาย เพราะเป็นงานที่ทำด้วยมือจึงมีโอกาสคลาดเคลื่อน


              ในพระสมเด็จฯวัดระฆัง องค์นี้ เดิมที่สร้างออกมาเป็นแบบเนื้อผงสีขาวทั่วไป แล้วทำการจุ่มรัก จากนั้นจึงปิดทองทับด้านหน้าอีกชั้นหนึ่ง องค์พระได้รับการเก็บรักษาในพื้นที่โล่ง อาจเป็นหิ้งบูชาพระโดยไม่มีวัสดุใดมาครอบปิด ทำให้ได้รับความร้อนและความชื้นตามธรรมชาติ มีผลทำให้สีขององค์พระเปลี่ยนไปเป็นสีเหลืองหม่นนุ่ม เนื่องจากการคลายตัวของน้ำมันตั่งอิ้ว ประกอบกับฝุ่นละอองที่ลอยอยู่ในอากาศลงมาเกาะกุม จึงทำให้มีคราบฝุ่นครอบคลุมอยู่ทั่วไป

              การพิจารณาผิวองค์พระ ดูได้จากเนื้อรักที่กะเทาะออกมา ในเนื้อมีการกระจายตัวของมวลสารออกเม็ดสีดำ แดง ส้ม และร่องรอยการหดตัวจนแห้งของผงเกสร เนื้อพระโดยรวมจะหดตัวและปรากฏรอยพรุนปลายเข็มทั้งหมด ส่วนที่เป็นแผ่นรักมีการหดตัวเป็นริ้วและพรุนพื้นผิวไม่สม่ำเสมอ เช่นเดียวกับแผ่นทองที่ถูกปิดทับมาเป็นเวลามากกว่า ๑๐๐ ปี ย่อมเซ็ตตัวตามผิวรัก และมีระเรื่อออกแดงที่เรียกว่าสนิมทองที่ผ่านมาเวลามานานนั่นเองครับ.


ศึกษาเพื่อการอนุรักษ์วัตถุโบราณ
........จันทร์พลูหลวง............

*********

วันพฤหัสบดีที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2561

พระหลวงพ่อเนียม ๓


พระพิมพ์พระเจ้าสิบพระองค์
หลวงพ่อเนียม วัดน้อย สุพรรณบุรี


              ในบรรดาพระเครื่องหลายแบบพิมพ์ทรงที่หลวงพ่อเนียม วัดน้อย สุพรรณบุรี สร้างขึ้นนั้น พระพิมพ์พระเจ้าสิบพระองค์ ซึ่งมีลักษณะสัณฐานเป็นทรงกลมแบน ภายในประดิษฐานองค์พระปฏิมากรด้านละ ๑๐ พระองค์ ด้วยลักษณะดังกล่าวจึงนิยมเรียกกันว่า “พระงบน้อย” มาตั้งแต่ครั้งการพบพระกรุทุ่งเศรษฐี เมืองกำแพงเพชร และหลวงพ่อเนียมได้นำมาเป็นแบบอย่างในการสร้าง จนได้รับความนิยมมากที่สุดพิมพ์หนึ่ง


              พระงบน้ำอ้อยที่หลวงพ่อเนียมสร้าง เป็นพระพิมพ์ปางสมาธิทรงสามเหลี่ยม พระเกศเรียวยาว ปลายพระเกศทำมุมชนกันทุกพระองค์ การสร้างใช้เนื้อตะกั่ว ดีบุก ผสมปรอท  หล่อแบบเบ้าประกบพิมพ์สองด้าน จึงปรากฏรอยขอบในพระพิมพ์นี้ทุกองค์ มีอยู่ ๒ ขนาด คือพิมพ์เล็ก เส้นผ่าศูนย์กลางกว้างประมาณ ๑.๘ ซ.ม. และพิมพ์ใหญ่เส้นผ่าศูนย์กลางกว้างประมาณ ๒.๒ ซ.ม.


              ในพระที่ไม่ผ่านการใช้บูชา ผิวขององค์พระปรากฏคราบปรอททั่วทั้งองค์ ส่วนใหญ่พิมพ์พระค่อนข้างลางเลือน แต่เนื้อพระที่ผ่านกาลเวลามานานกว่า ๑๐๐ ปี ทำให้เกิดการปรุพรุน และบางส่วนเกิดการยุบตัวจนเหนี่ยวรั้งเนื้อโลหะเขาเป็นริ้ว หรือเป็นเส้นตัดขวางแบบไม่สมดุล หากองค์พระผ่านการใช้บูชาติดตัวนาน คราบปรอทจะหายไป พื้นที่ส่วนต่ำจะออกดำคล้ำ ผิวที่ถูกสัมผัสบ่อยจะออกขาวแบบเงินยวง

              พระพิมพ์นี้ ได้รับความนิยมนับจากอดีตมาถึงปัจจุบัน คนส่วนใหญ่ที่เป็นสุภาพสตรีนิยมนำมาเลี่ยมทอง มีเส้นแบ่งพระแต่ละองค์เช่นเดียวกับกงล้อธรรมจักร แต่การเลี่ยมพระสมัยก่อนไม่นิยมให้มีแผ่นพลาสติกปิดองค์พระ เนื้อพระจึงสึกกร่อนเสียส่วนใหญ่ สำหรับองค์พระที่ได้รับการเก็บรักษาเป็นอย่างดีสภาพผิวจะยังคงสภาพเดิม ที่เปลี่ยนไปคือร่องรอยการหดตัวยุบตัวของโลหะตามกฎเกณฑ์ธรรมชาติครับ.


ศึกษาเพื่อการอนุรักษ์วัตถุโบราณ
........จันทร์พลูหลวง............

*********

วันพุธที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2561

พระหลวงพ่อเนียม ๒


พระปิดตาสนิมแดง

หลวงพ่อเนียม วัดน้อย


             พระเครื่องที่สร้างโดยสูตรของหลวงพ่อเนียม วัดน้อย มีส่วนผสมของตะกั่ว ดีบุก และปริมาณปรอทค่อนข้างมาก เมื่อทำการหล่อแบบพิมพ์เสร็จ พระเครื่องที่ได้จะมีปรอทปกคลุมทั่วทั้งองค์พระ หากผู้ได้รับนำไปเก็บรักษาอย่างดีผิวปรอทจะยังคงมีอยู่ตามเดิมแม้จะผ่านเวลามานานกว่า ๑๐๐ ปีก็ตาม แต่หากนำไปใช้บูชาคล้องคอคราบปรอทจะหายไป ผิวองค์พระจะกลายเป็นสีคล้ำเกือบดำ พื้นผิวที่ถูกสัมผัสบ่อยจะออกสีเงินยวง  เนื่องจากสมัยก่อนนิยมนำพระมาถักคล้องคอเพื่อให้ผิวองค์พระสัมผัสกับผู้ใช้บูชาโดยตรง


             แต่ยังมีพระเครื่องหลวงพ่อเนียมอีกส่วนหนึ่ง ที่ได้รับการอัญเชิญไปบรรจุไว้ภายในกรุ ด้วยสภาพความร้อนอบอ้าวและชื้น จึงส่งผลให้ปฏิกิริยาทางเคมีในองค์พระเกิดความเปลี่ยนแปลง  โดยผิวขององค์พระจะกลายเป็นสนิมแดง นอกจากนี้ปรอทที่อยู่ภายในเนื้อองค์พระยังขับตัวออกมาภายนอกจนเกิดสนิมแดงปุ่มปมอยู่ทั่วไป แสดงให้เห็นว่าภายในองค์พระมีปริมาณปรอทอยู่เป็นจำนวนมากนั่นเอง 


             สำหรับพระปิดตาหลวงพ่อเนียมที่นำมาลงไว้นี้ เป็นพระที่เคยได้รับการอัญเชิญบรรจุภายในกรุ   จึงเกิดสนิมแดงที่ผุดพรายมาจากภายในและส่วนที่เคลือบองค์พระทั้งองค์  มีสนิมไขและสนิมแป้งกระจายเป็นกลุ่ม ปกคลุมด้วยคราบกรุ และราดำอีกชั้นหนึ่ง เหนือราดำยังมีปรอทธรรมชาติแวววาวอยู่ทั่วไป 


            ลักษณะองค์พระ เป็นพระปิดตาคว่ำหน้า วงพระกรซ้ายอยู่สูงกว่าด้านขวา องค์พระประทับนั่งลอยองค์ พระชงฆ์(แข้ง)ขวาพาดเฉียงขึ้นไปใกล้พระกัประ(ข้อศอกซ้าย) จึงทำให้องค์พระโดยรวมมีลักษณะเอียงขวา ด้านหลังองค์พระเป็นแบบเต็มองค์ แตกต่างไปจากพระปิดตาทั่วไปที่นิยมทำเป็นหลังแบบ หลังเรียบ และหลังอูม ด้านข้างองค์พระรอบองค์ปรากฏเส้นขอบซึ่งแสดงให้เห็นว่าเป็นการหล่อแบบเบ้าประกบ



             พระปิดตา เนื้อชินสนิมแดง ของหลวงพ่อเนียม องค์นี้จึงจัดเป็นพระเครื่องเนื้อโลหะที่ควรค่าต่อการศึกษาถึงกระบวนการสร้าง และปฏิกิริยาทางธรรมชาติที่มีผลต่อพื้นผิวโลหะเป็นอย่างมากครับ.

ศึกษาเพื่อการอนุรักษ์วัตถุโบราณ

........จันทร์พลูหลวง............

*********

พระหลวงพ่อเนียม ๑


พระประธานใหญ่
หลวงพ่อเนียม วัดน้อย

             พระเครื่องตระกูล หลวงพ่อเนียม วัดน้อย อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี เป็นพระหล่อโบราณจากเนื้อตะกั่ว ดีบุก ผสมปรอท ในองค์ที่ผสมตะกั่วมากเนื้อจะออกนิ่ม ส่วนองค์ที่ผสมปรอทมากเนื้อจะแข็ง มีอยู่ด้วยกันหลายแบบพิมพ์ทรง อาทิ พิมพ์พระประธานใหญ่-เล็ก พิมพ์งบน้ำอ้อยใหญ่-เล็ก พิมพ์เศียรโล้น พิมพ์ปิดตา พิมพ์ปรุหนัง พิมพ์พระเจ้าห้าพระองค์ และพิมพ์คลองตะเคียน เป็นต้น

ด้านหน้าพระพมพ์ประธานใหญ่ ปรากฏคราบฝ้าไข
และปรอททั่วไป จากการเก็บรักษามาอย่างดี

              พระพิมพ์หล่อโบราณของหลวงพ่อเนียม ไม่เน้นความประณีตบรรจงนัก แต่คงไว้ซึ่งความน่าเกรงขาม สำหรับพิมพ์พระประธานใหญ่ ที่นำมาลงไว้นี้ พุทธปฏิมาปางมารวิชัย ประทับนั่งบนฐานแกะลาย ๓ ชั้นลดหลั่นแบบพระประธานพระอุโบสถ แบบพิมพ์เบ้าประกบ ขนาดฐานกว้างประมาณ ๒.๓ ซ.ม.สูงจากฐานถึงยอดพระเกศ ๔.๕-๔.๗ ซ.ม. ปกติมีทั้งพระเกศสั้นแบบบัวตูมและพระเกศยาว สำหรับองค์นี้เป็นแบบพระเกศตูม

ด้านหลังฐานสามชั้น ที่เห็นสีขาวเป็นคราบไขและปรอท

              ลักษณะเด่นในพระเครื่องหลวงพ่อเนียม วัดน้อย หากเป็นพระที่เก็บรักษามาเป็นอย่างดีจะยังมีผิวปรอทให้เห็นอยู่ทั่ว แต่หากผ่านการใช้ผิวปรอทจะกลับดำ เมื่อนำมาขีดกับกระดาษจะเกิดสีดำ ส่วนเนื้อพระจะออกสีเงินยวง ผิวพระโดยรวมเกิดการยุบตัวจากระยะเวลาที่ผ่านมานานกว่าร้อยปี มีคราบไขขาว

ด้านข้าง เห็นรอยเบ้าประกบ

ในองค์ที่สมบูรณ์เห็นเส้นสายรายละเอียดชัดเจน

              พระเครื่องของหลวงพ่อเนียม วัดน้อย เป็นพระที่ได้รับการยอมรับว่ามีพุทธคุณทั้งแคล้วคลาด คงกระพัน และเมตตามหานิยม ผู้ที่มีโอกาสครอบครองจึงหวงแหน และเก็บรักษาเป็นอย่างดี ดังเช่นองค์ที่นำมาลงนี้เป็นสมบัติเก่าแก่ของคนรุ่นเหลนชาวอ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี ที่ได้รับสืบทอดเป็นมรดกต่อกันมาหลายชั่วอายุคน ได้กรุณานำมาให้ถ่ายภาพเผยแพร่ จึงขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้ครับ.

ศึกษาเพื่อการอนุรักษ์วัตถุโบราณ
........จันทร์พลูหลวง............

*********