โพสต์แนะนำ

วันพุธที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2562

คำสอน..หลวงพ่อ (1)


ธรรมปรัชญา
พระธรรมพุทธิมงคล


พระธรรมพุทธิมงคล (สอิ้ง สิรินนฺโท ป.ธ.๘) เจ้าอาวาสวัดป่าเลไลยก์วรวิหาร และเจ้าของโครงการผู้สร้างพระพุทธรูปแกะสลักหน้าผา “สมเด็จพระพุทธปุษยคีรีศรีสุวรรณภูมิ” ขนาดความสูง ๓๕ เมตร หน้าตักกว้าง ๒๕ เมตร ณ ภูผามังกรบิน เขตโบราณสถานเมืองอู่ทอง สุพรรณบุรี มีผลงานอันเกี่ยวเนื่องกับการบำรุงพระพุทธศาสนาทั้งในด้านการพัฒนา และการเผยแพร่ธรรมเป็นจำนวนมาก

ธรรมปรัชญาที่นำมาลงไว้นี้ประพันธ์โดย พระธรรมพุทธมงคล(สอิ้ง สิรินนฺโท ป.ธ.๘) ยังครั้งดำรงสมณศักดิ์พระราชปริยัติสุธี(พ.ศ.๒๕๓๙-๒๕๕๑) มีอยู่ด้วยกัน 3 เล่ม แบ่งเป็น เสียงพระ เสียงเพลง ภาค ๑ ศีลธรรมและมงคลภาษิต ,เสียงพระ เสียงเพลง ภาค ๒  ทศบารมี และทศพิธราชธรรม และเสียงพระ เสียงเพลง ภาค ๓ อนุปุพพีกถา และจตุราริยสัจ พลังเหนือชีวิต ธรรมปรัชญาทั้ง ๓ เล่มนี้ได้รับการตีพิมพ์ซ้ำอย่างต่อเนื่องเป็นจำนวนนับล้านเล่ม โดย “สยามสุวรรณภูมิ” ได้รับอนุญาตให้คัดลอกเผยแพร่ต่อพุทธศาสนิกชน ตั้งแต่วันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๖๒

เสียงพระ เสียงเพลง ภาค ๑
ศีล-ธรรม
                                                          
                                                ยกสิบนิ้ว           ประณม            ก้มศรีษะ
กราบคุณพระ                รัตนะ               อดิสัย
ยึดพระคุณ                    เป็นที่พึ่ง           หนึ่งในใจ
ขอปวงภัย                     หมู่มาร             อย่าราญรอน

                                                 ด้วยกุศล           ดลจิต               จึงคิดแต่ง
กลอนสำแดง                 หลักธรรม          คำสั่งสอน
ของสมเด็จ                    จอมมุนินทร์       ชินวร
กราบขอพร                    พระช่วย            อำนวยชัย

                                                จะขอเริ่ม           พรรณนา           ศีลห้าข้อ
แต่โดยย่อ                      พองาม             ตามวิสัย
เพื่อสะดวก                    แก่ปวงชน         ผู้สนใจ
จดจำไว้                         ปฏิบัติ              เพื่อขัดเกลา

                                                ในศีลห้า            ข้อหนึ่ง             พึงกำหนด
ขึ้นต้นบท                      “ปาณา”           ห้ามฆ่าเขา
ข้อที่สอง                       “อทินนา”          อย่าถือเอา
ของที่เขา                       มีให้                 อย่าใฝ่ปอง

                                                ข้อที่สาม           “กาเม”              เล่ห์สวาท
ต้องเว้นขาด                   คู่เขา               เราอย่าข้อง
ข้อที่สี่                           “มุสา”              อย่าคะนอง
คำพูดต้อง                     ตามสัตย์          อรรถกรรม

                                                ข้อที่ห้า             “สุรา”                 ท่านว่าไว้
ห้ามมิให้                       ดื่มเหล้า            ทั้งเช้าค่ำ
เฮโรอีน                         ยาบ้า                พาระยำ
ท่านแนะนำ                   ให้งด                เพื่อหมดเวร

                                                อันบาปกรรม     ทั้งห้า                ถ้าไม่ละ
บาปนั้นจะ                    ส่งวิบาก            ให้ยากเข็ญ
ตามประเภท                 เหตุที่ทำ            เป็นกรรมเวร
คิดให้เห็น                      เว้นให้ไกล         อย่าได้ทำ

                                                การเบียดเบียน   ชีวิต                 ปลิดชีพเขา
ทำให้เรา                       อายุน้อย           ถอยลงต่ำ
ปราศจาก                      อนามัย             ไข้ประจำ
ผู้ใดทำ                          กรรมนี้ไว้           ชีพไม่ยืน

                                                ปล้นสดม          โกงกิน                ทรัพย์สินเขา
จะร้อนเร่า                     จิตใจ                 ไม่แช่มชื่น
บางคราวรวย                 ก็อย่าหวัง          ว่ายั่งยืน
ต้องเป็นอื่น                    และจนลง          อย่าสงกา

                                                การสมสู่            คู่ครอง               ของผู้อื่น
ก็จะชื่น                         ชั่วประเดี๋ยว       จริงเจียวหนา
ผลของกรรม                  ทำให้มี              ไพรีมา
เบียฬบีทา                     ปองชีวิต             คิดผูกเวร

                                                การพูดหลอก     ลวงใคร             ให้หลงผิด
โทษจะติด                     ตามตน             ให้คนเห็น
จะถูกคู่                         ใส่ความ            ตามประเด็น
เท็จจริงเป็น                    อย่างไร             เขาไม่ฟัง

                                                การดื่มเหล้า       เมายา              ว่าให้คิด
ถ้าเสพติด                     ทษร้าย              เมื่อภายหลัง
ต้องเสื่อมทรัพย์             อับโชค              โรคประดัง
ทอนกำลัง                     ปัญญา             พาให้ทราม

                        เรื่องศีลห้า         ว่าให้ฟัง            โดยสังเขป
ใช่แนมเหน็บ                 โกรธเกลียด       คิดเหยียดหยาม
ว่าให้ฟัง                        ฝากให้คิด         พินิจความ
หากเห็นงาม                 ประพฤติเถิด      เกิดมงคลฯ

    ***

                                                จะรักษา            ศีลห้า                ดังว่านั้น
ให้คงมั่น                       ศักดิ์สิทธิ์           สัมฤทธิ์ผล
จำต้องมี                       คุณธรรม           ประจำตน
ตามยุบล                      โบราณ              ท่านสอนมา

                                                ข้อที่หนึ่ง           พึงระวัง             ยั้งความโกรธ
ไม่เหี้ยมโหด                  ใฝ่จิต                ริษยา
รู้โอบอ้อม                      อารี                  มีเมตตา
กรุณา                           เป็นธรรม          ประจำใจ

                                                สองเลี้ยงชีพ      โดยสัมมา          อาชีวะ
รู้สละ                            รู้ประหยัด         อัชฌาสัย
ข้อที่สาม                       คู่ครอง              ของใครใคร
ไม่สนใจ                        ยินดีอยู่             แต่คู่ตน

                                                ข้อที่สี่                มีสัตย์               ประหยัดปาก
ไม่พูดมาก                     กลอกกลับ        ให้สับสน
ข้อที่ห้า                         สติตั้ง                ระวังตน
อยากก็ทน                     หักห้าม             ไม่ตามใจ

                                                ท่านผู้ใด            ใจบุญ               รู้คุณค่า
ของศีลห้า                     เบญจธรรม       ดังคำไข
ประพฤติมั่น                  อยู่เสมอ           ไม่เผลอใจ
จะต้องได้                      ผลดี                 มีแก่ตน

                                                อานิสงส์            ข้อที่หนึ่ง            นั้นพึงรู้
ชีพจะอยู่                       วัฒนา               อย่าฉงน
อนามัย                         สมบูรณ์            จำรูญชนม์
ถึงร้อยฝน                      เทียวนะ            จึงจะตาย

                                                ข้อที่สอง            สมบัติ               พัสถาน
จะโอฬาร                      ล้นหลาก           มีมากหลาย
ยามใช้สอย                   ไม่ขาดแคลน     แสนสบาย
ใช้จนตาย                      ไม่จน               เพราะผลบุญ

                                                ข้อที่สาม           จะไม่มี              ไพรีร้าย
มาปองหมาย                 ชีวิต                 คิดเฉียวฉุน
จะได้คู่                          เป็นศรี              มีแต่คุณ
ไม่หันหุน                       กลับหลอก        คิดนอกใจ

                                                ข้อที่สี่               พูดอะไร             ใครก็เชื่อ
คนไม่เบื่อ                      ระอา                เมื่อปราศรัย
จะเชิญชวน                    ชายหญิง          ทำสิ่งใด
เขาเต็มใจ                      พร้อมพรัก         สมัครทำ

                                                 ข้อที่ห้า             อานิสงส์            จงประจักษ์
จะมีหลัก                       จรรยา               ท่าคมขำ
มีสติ                             มั่นคง                ความทรงจำ
ปัญญาล้ำ                     เลิศสัตว์             ในปฐพี

                                                หากเห็นจริง       หญิงชาย           ทั้งหลายเอ๋ย
อย่าละเลย                    พยายาม           ตามวิถี
ประพฤติเถิด                  เกิดผล             กุศลมี
เป็นความดี                    ติดอาสน์          ทุกชาติไป

                                                ก่อนจบกลอน     สอนสั่ง             ลงครั้งนี้
ข้อความมี                     ผิดพลาด          ขาดตรงไหน
ขอปวงปราชญ์               ยกโทษ            โปรดอภัย
เพราะยังไม่                   เจนจัด             สันทัดกลอน

                                                ตอนใดดี            มีสาระ             เป็นประโยชน์
ขอได้โปรด                    จดจำ               ทำและสอน
เพื่อให้โลก                    วัฒนา              สถาพร
ขอจบกลอน                  พาที                 เท่านี้เอยฯ

 ***

วันอาทิตย์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2562

มเหนทรบรรพต-ชัยวรมันที่ ๒-เมืองโบราณอู่ทอง


มเหนทรบรรพต-ชัยวรมันที่ ๒-เมืองโบราณอู่ทอง


Aerial view of Mahendraparvata. (Archaeology Development Foundation)

 มเหนทรบรรพต หนึ่งในสี่เมืองของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๒ บนรอยต่อทางวัฒนธรรม สู่เมืองโบราณอู่ทอง

เมื่อวันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๖๒ ที่ผ่านมา CNN รายงานความคืบหน้าถึงการสำรวจเมืองโบราณ ”มเหนทรบรรพต”ที่ดำเนินการมาตั้งแต่พ.ศ.๒๕๕๕-๒๕๕๘ โดยใช้เทคโนโลยีไลดาร์และการสแกนพื้นที่ด้วยเลเซอร์ทางอากาศ จึงทำให้เห็นภาพชัดของเมืองโบราณแห่งนี้ปรากฏเป็นเส้นทางหลักไปสู่มเหนทรบรรพต รวมถึงรายละเอียดสำคัญในการสร้างเมืองภายในเส้นตรงทั้งสี่ทิศกับระบบเส้นทางเป็นตาราง ในรายงานระบุว่าเป็นการจัดผังเมืองแบบตารางหมากรุก(city grid system)ที่ใหญ่ที่สุดและเป็นแห่งแรกของเขมร รวมทั้งภายในยังระบุถึงสภาพการเป็นกำแพงล้อมวัด ปราสาท เขื่อน และอ่างเก็บน้ำที่ยังสร้างไม่เสร็จ นับเป็นความก้าวหน้าอีกขั้นตอนหนึ่ง หลังจากก่อนหน้านี้ไม่มีใครกล้าเข้าไปสำรวจเพราะกลัวระเบิดที่ฝ่ายเขมรแดงฝังไว้ทั่วบริเวณ

อันที่จริงเมืองโบราณ “มเหนทรบรรพต” แม้จะไม่เคยมีการสำรวจอย่างจริงจังมาก่อน แต่นักประวัติศาสตร์ในอดีตได้ทำการศึกษาจากจารึกจนทราบว่าเมืองนี้มีอยู่จริง และมีความสำคัญต่อสมัยเริ่มต้นของจักรวรรดิเขมร ในรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๒(พ.ศ.๑๓๔๕-๑๓๙๓)ภายหลังการล่มสลายของอาณาจักรเจนละในรัชสมัยพระเจ้ามหิปติวรมันในปีพุทธศักราช ๑๓๔๕

พระเจ้ามหิปติวรมัน น่าจะขึ้นครองราชย์ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ภายหลังถูกกองทัพศรีวิชัยจากคาบสมุทรยกมาโจมตี มีเรื่องเล่าว่าพระองค์ถูกนำตัวไปประหาร จากบันทึกของ อบู ซาอิด ฮะซัน เล่าถึงเรื่องเล่าของพ่อค้าอาหรับชื่อสุไลมาน รับรู้จากการเดินทางมาค้าขายในพ.ศ.๑๓๙๔ ว่า กษัตริย์เขมรผู้ยังทรงพระเยาว์รับสั่งอยากเห็นพระเศียรของราชาแห่งศรีวิชัย(ซาบัค)ใส่จานมา เมื่อเรื่องนี้ล่วงรู้ไปถึงราชาแห่งซาบัค พระองค์จึงยกทัพเข้าโจมตีเขมรแล้วตัดเศียรยุวกษัตริย์ใส่โหลดองให้ราชสำนักเขมรดูเป็นเยี่ยงอย่าง

แม้จะเป็นเรื่องเล่าแต่นักประวัติศาสตร์ในอดีตได้วิเคราะห์เหตุการณ์และต่างยอมรับว่าน่าเชื่อถือ ด้วยครั้งนั้นมีการนำเจ้าชายเขมรไปยังราชสำนักไศเรนทร์ และเป็นที่เชื่อกันว่าในคราวนั้น เจ้าชายชัยวรมัน เป็นผู้ถูกนำไปเป็นตัวประกันภายหลังจากพระองค์ได้รับการเสนอให้เป็นกษัตริย์ทรงพระนามพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 จารึกระบุว่าพระองค์คือเหลนของพระเจ้านฤบดินทรวรมันแห่งอนินทิตะปุระ ราชาผู้สืบเชื้อสายมาจากฟูนัน

เมื่อพระองค์ถูกส่งตัวกลับมา จึงประกอบพระราชพิธีประกาศอิสรภาพเขมร ไม่ขึ้นตรงต่อราชสำนักไศเรนทร์ จารึกสด็อกก๊อกธมที่หลุยส์ ฟิโนต์ แปลไว้ระบุว่า พระองค์สร้างเมืองหลวงแห่งแรกชื่อ อินทรปุระ ทางตะวันออกของกัมปงจามริมแม่น้ำโขงตอนล่าง มีพราหมณ์ผู้ใกล้ชิดชื่อ ศิวไกวัลย์เป็นผู้เอื้อประโยชน์ให้เกิดลัทธิ เทวราชาเพื่อให้พระองค์กลายเป็นกษัตริย์พระผู้เป็นเจ้า พระองค์สร้างศิวลึงค์ หรือราชลึงค์ มีวิหารครอบบนยอดเขา เรียกว่าภูเขาวิหารจนกลายมาเป็นต้นแบบของราชาในไศวนิกายที่ต้องมีภูเขาสูงประดิษฐานศิวลึงค์ประจำองค์ราชาเพื่อให้พราหมณ์ประกอบพิธีกรรม

พระองค์สร้างเมืองหลวงแห่งที่ ๒ คือเมืองหริหราลัย อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองเสียมราฐ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นการป้องกันภัยจากการรุกรานของอาณาจักรทางใต้ เมืองหลวงแห่งที่ ๓ ชื่อ อมเรนทรปุระในประวัติศาสตร์ยังไม่ชัดเจนว่าตั้งอยู่ตรงจุดใด และสร้างเมืองที่ ๔ คือ มเหนทรบรรพต มีความหมายว่าเป็นภูเขาของพระอินทร์ผู้เป็นใหญ่ บนยอดเขาพนมกุเลน โบราณสถานที่มีรายงานผลความคืบหน้าจากการสำรวจ ซึ่งส่วนหนึ่งระบุว่าบางส่วนของเมืองยังสร้างไม่เสร็จ

จารึกระบุถึงบั้นปลายพระชนม์ชีพของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๒ พระองค์ย้ายไปประทับที่เมืองหริหราลัยแถบกัมพูชาทางเหนือและสิ้นพระชนม์ในพ.ศ.๑๓๙๓ มีการตั้งข้อสังเกตจากนักประวัติศาสตร์ว่า เมืองหริหราลัยนี้ เป็นเมืองที่อยู่ใกล้แหล่งหินทรายแถบพนมกุเลน และยังอยู่ใกล้ช่องเขาที่เป็นเส้นทางไปสู่ที่ราบสูงโคราช และลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นเส้นทางไปสู่เมืองต่าง ๆของทวารวดี

Jean Boisslier ขณะทำการสำรวจเจดีย์เมืองโบราณอู่ทอง
ภาพจาก:หนังสืออู่ทองและเรื่องราวสุวรรณภูมิ 

ช่วงระหว่างปีพ.ศ.๒๕๐๗-๒๕๐๙ ช็อง บวซเซริเยร์ (Jean Boisslier) นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศสได้เข้ามาทำการสำรวจเมืองโบราณอู่ทอง ได้พบประติมากรรมปูนปั้นและศิลปกรรมอื่น ๆ ที่เจดีย์หมายเลข ๑๕ และ ๒๘ มีอิทธิพลเขมรแบบกุเลนและพะโคในปลายพศว.ที่ ๑๔ และต้นพศว.ที่ ๑๕ ซึ่งฉีกตัวออกจากศิลปะทวาราวดีที่มีอยู่เดิมอย่างชัดเจน รวมถึงความเกี่ยวข้องกับอาณาจักรศรีวิชัยที่ปรากฏอยู่ในรูปแบบอาคารจำลองและพระพิมพ์ดินดิบจารึกอักษรเทวนาครี อันเป็นรูปแบบการสร้างพระพิมพ์ของศรีวิชัยด้วย

เรื่องราวของกษัตริย์ผู้บุกเบิกจักรวรรดิเขมร จะเกี่ยวพันกับเมืองโบราณอู่ทองมากน้อยเพียงใดยังไม่มีหลักฐานมากนัก แต่อิทธิพลทางศิลปกรรมเขมรที่นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศสสำรวจนี้ มีอายุอยู่ในรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๒ ต่อเนื่องถึงพระเจ้าชัยวรมันที่ ๓ พระราชโอรสของพระองค์.


*****
    

วันจันทร์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2562

กษัตริย์ในจารึกแผ่นทองแดง


พระราชฐานะ
ของกษัตริย์ในจารึกแผ่นทองแดง
วิญญู บุญยงค์

จารึกแผ่นทองแดง
ภาพจาก:db.sac.or.th

         ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ ๑๐ ถือเป็นยุครุ่งเรืองของกัมพูชามีกษัตริย์ปกครอง ๖ พระองค์ ในจำนวนนี้ มีพระเจ้าชัยวรมันที่ ๔ (พ.ศ.๑๔๗๑-๑๔๘๕)ครองราชย์โดยเข้ายึดกรุงยโสธร และแย่งชิงราชสมบัติจากพระเจ้าอีศานวรมันที่ 2 (พ.ศ.๑๔๖๕-๑๔๗๑) หลังจากนั้นทรงย้ายเมืองหลวงไปตั้งใหม่ที่เกาะแกร์ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ หลังสิ้นรัชกาลพระราชโอรสของพระองค์ขึ้นครองราชย์ต่อทรงพระนาม "พระเจ้าหรรษาวรมันที่ ๒"

         พระเจ้าหรรษาวรมันที่ ๒ พระองค์นี้เอง ที่อาจเป็น “พระเจ้าศรีหรรษาวรม” ที่ปรากฏพระนามอยู่ใน “จารึกแผ่นทองแดง”ของเมืองอู่ทอง

         การพบจารึกแผ่นทองแดงภาษาสันสกฤตอักษรปัลลวะที่นางแถม เสือดำ ขุดได้บริเวณเมืองอู่ทองเก่าเมื่อปีพ.ศ.๒๕๐๐ มีการแปลความออกมาว่า

         พระเจ้าศรีหรรษาวรม เป็นพระราชนัดดาของพระเจ้าศรีอีศานวรม ได้ส่งสีวิกา อันประดับด้วยรัตนะเป็นต้น พร้อมด้วยฟ้อนรำและดนตรีเป็นอาทิ เป็นทักษิณาถวายแด่พระศรีมัตอัมราตเกศวร และภายหลังท้าวเธอได้ถวายของควรแก่การอุปกรณ์อันประเสริฐ และหมู่คนมีความสามารถในฟ้อนรำและขับร้อง เป็นต้น แด่พระศิวลึงค์ ซึ่งแทนองค์ศรีธาเรศวร

         ศ.ยอร์ช เซเดส์ เสนอว่า “พระเจ้าศรีอีศานวรม” เป็นพระนามของกษัตริย์ขอม ที่ครองราชย์อยู่ระหว่างพ.ศ.๑๑๕๔-๑๑๗๘ หากเป็นเช่นนั้นกษัตริย์ขอมพระองค์นี้ก็คือ “พระเจ้าอีศานวรมันที่ ๑” ซึ่งพระองค์เป็นพระราชโอรสของพระเจ้ามเหนทรวรมัน(เจ้าชายจิตรเสน)

ยอร์ช เซเดส์ 
ภาพจาก:วิกิพีเดีย
         พระเจ้าอีศานวรมันที่ ๑ ได้ชื่อว่าเป็น ผู้รบชนะฟูนันทั้งหมดหลังจากโจมตีอนินทิตะปุระเมืองของเจ้าชายพลทิตย์ที่สืบเชื้อสายมาจากฟูนันแล้ว ทรงสร้างเมืองหลวงอยู่ริมแม่น้ำสตึงเสนในนามอีศานปุระก่อนจะขยายดินแดนมาทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือครอบคลุมพื้นที่ ๓ รัฐคือ จักรันตะปุระ อโมฆปุระ และพิมายปุระ ทางใต้ขยายไปถึงจันทบุรี จนจรดพรมแดนอาณาจักรมอญทวารวดีลุ่มเจ้าพระยา ซึ่งการขยายอาณาเขตมาเพียงจรดพรมแดนของทวารวดีโดยไม่รุกล้ำเข้ามาอาจมีนัยสำคัญที่ยังไม่มีคำตอบ แต่อาจกล่าวได้ว่าอาณาจักรเจนละหรือในสมัยนี้เรียกว่าอีศานปุระเป็นพันธมิตรกับทวารวดีลุ่มเจ้าพระยา

         จากการตรวจสอบข้อมูลในงานของ ศ.ดี.จี.อี.ฮอล นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษที่เข้ามาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ ระบุว่า ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๐ พระเจ้าชัยวรมันที่ ๔ ครองราชย์โดยแย่งชิงราชสมบัติ เข้ายึดกรุงยโศธร แต่ต่อมาไปสร้างเมืองใหม่ที่เกาะแกร์ ทางตะวันออกเฉียงเหนือ ต่อมาพระเจ้าหรรษาวรมันที่ ๒ ครองราชย์ แล้วถูกพระเจ้าราเชนทรวรมันที่ (พ.ศ.๑๔๘๗-๑๕๑๑)ถอดออกจากบัลลังก์

D.G.E.Hall
ภาพจาก : วิกิพีเดีย
         หากเป็นเช่นนั้นก็หมายความว่า พระเจ้าหรรษาวรมันที่ 2 ครองราชย์ที่เมืองเกาะแกร์ ระหว่างพ.ศ.๑๔๘๕-๑๔๘๗ อาจเป็นเพียง ๑ ปี หรือกว่า ๒ ปี แล้วถูกโค่นอำนาจ สอดคล้องกับการพบจารึกแผ่นทองแดงบริเวณเมืองเก่าอู่ทอง ที่มีการอ่านและตีความเป็นอักษรหลังปัลลวะ ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕

         ส่วนในจารึกที่ระบุถึงการนำขบวนเสลี่ยง นักดนตรี และนางรำ ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ให้รายละเอียดและความหมายสอดคล้องกันว่า ลักษณะเช่นนี้ในสมัยโบราณ เป็นการแสดงถึงเจ้าผู้ครองนครหนึ่งแสดงความอ่อนน้อมไปยังอีกเจ้าผู้ครองนครหนึ่ง ในอดีตก็มีการดำเนินการเช่นนี้ในการส่งไปราชสำนักจีน ดังเอกสารทางประวัติศาสตร์จีนสมัยสามก๊กระบุว่า ในปีพ.ศ.๗๖๘ พระเจ้าฟันจัน(ฟูนัน) ส่งทูตไปยังจีนโดยมีนักดนตรีเป็นส่วนหนึ่งในบรรณาการไปด้วยและ ปีพ.ศ.๑๓๔๓ อิเหมาชุน(I-Mou-hsun) รัชทายาทของโก๊ะล่อฝงกษัตริย์น่านเจ้าที่ครอบครองปยู(Pyu) “ส่งนักดนตรีชาวปยูไปเป็นกำนัลยังราชสำนักจีนสมัยราชวงศ์ถัง และ พ.ศ.๑๓๔๔-๑๓๔๕ กษัตริย์ของปยูส่งคณะทูตพร้อมด้วยนักดนตรี ๓๕ คนไปยังราชสำนักจีนเป็นต้น.   
                    
*************