โพสต์แนะนำ

วันพฤหัสบดีที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2561

กริ่งปวเรศ ๒๔๓๔


กริ่งปวเรศ ๒๔๓๔


              พระกริ่งปวเรศรุ่นนี้เป็นหนึ่งในหลายรุ่นของปีพ.ศ. ๒๔๓๔ เป็นพิธีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของการได้รับสมณุตมาภิเศกขึ้นเป็น “กรมพระ” ตามจารึกข้างขันน้ำพระพุทธมนต์ สะกดคำตามจารึกข้างขันน้ำพระพุทธมนต์ ว่า..


"ใน พระราชพิธีมหาสมณณุตมาพิเศกได้เลื่อนพระอิสริยยศ
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ ขึ้นเป็น
พระบรมวงศ์เธอ สมเด็จพระปวเรศวริยาลงกรณ์
วันที่ ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๓๔
พระราชพิธี ณ.วัดบวรนิเวศน์ บางลำพู"

              พระกริ่งรุ่นนี้เป็นพระกริ่งของปี ๒๔๑๖นำมาเข้าพิธีใหม่ และจะเหมือนกับพระกริ่งปีพ.ศ.๒๔๒๔ ที่พระหม่อมเจ้าภุชชงค์(สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์) มุฑิตาจิตสร้างถวายสมเด็จพระปิตุลาสมเด็จกรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์


              จุดสังเกต พระกริ่งรุ่นนี้เป็นสำริดสีออกเหลืองคล้ำ ด้านบนขวาบัวคู่หลังมีโค๊ดเมล็ดข้าว แต่ที่พิเศษสุดก้นองค์พระมีการตอกโค๊ดที่ริมขอบด้วยเลขไทยตามกำลังวัน นับเป็นครั้งแรกในประวัติการสร้างพระกริ่งที่มีการตอกตัวเลขลงใต้ก้นพระ ซึ่งต่อมาภายหลังบรรดาเกจิอาจารย์ใช้เป็นแบบอย่าง แต่บางอาจารย์ตอกเป็นเลขประจำตัวองค์พระแทน 


              นับเป็นของสูงที่ยังพอหาได้ไม่ยากจากผู้ที่ยังไม่ทราบว่าเป็นของอาจารย์ใดวัดอะไร เท่าที่ทราบเพราะเนื้อโลหะที่เก่าจนปฏิเสธไม่ได้ จึงมีนักพุทธพาณิชย์หาวัดหาอาจารย์ผู้สร้างเสร็จสรรพจนเลอะเทอะไปหมดด้วยความไม่รู้  รีบหาเก็บก่อนที่จะไม่มีในตลาดของเก่า จำกระแสเนื้อหาและตำหนิให้ดี โชคดีจะเป็นของผู้มีศีลธรรมที่จะได้ไว้ครอบครอง.

วันจันทร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2561

กริ่งปวเรศ-กรมหลวงฯ


กริ่งปวเรศ

กรมหลวงชินวรฯสร้าง

            รฤกมุฑิตาจิตรถวาย พระบรมวงศ์เธอกรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ วันที่ ๑๔ กันยายน พ.ศ.๒๔๒๔ หม่อมเจ้าพระภุชงค์ "สิริวฑฺฒโน" พระกริ่งปวเรศรุ่นนี้ พระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า วัดราชบพิธฯ สร้างถวายเนื่องในวันคล้ายวันเกิดของเสด็จลุง( กรมพระปวเรศ) ใช้พิมพ์เดิมของการเลื่อนพระอิสริยยศจากกรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธ์เป็น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์พ.ศ.๒๔๑๖ จากเดิมมีโค๊ตด้านเมล็ดข้าวบัวหลังด้านบนโค๊ตเดียวในรุ่นนี้มีเพิ่มอีกหนึ่งโค๊ตด้านบนด้านซ้ายมีโค๊ตรูปหยดน้ำ(เมล็ดงา) อยู่ติดกับรูอุดกริ่ง ก้นของกริ่งจะมีรอยบุ๋มไม่ตลอดตามภาพ ที่เป็นพิเศษของรุ่นนี้เป็นกริ่งกะไหล่ทองมีสองโค๊ตๆ เดิมเป็นโค๊ตของกรมพระยาปวเรศใช้ตอกบนบัวคู่หลังกริ่งที่สร้างถวายรัชกาลที่๕ในการทรงผนวชปี๒๔๑๖ 




            ข้อแนะนำถ้าผู้ใดมีขออย่าได้นำไปดัดแปลง หรือแต่งเพิ่มทำให้ตำหนิเดิมๆสูญหายหมด เจ้าของ ไม่รู้ว่าเป็นของวัดใดสร้างปีไหนไม่พบหลักฐาน เลยให้ช่างตกแต่งดัดแปลงจนหมดรูปเดิม ย้ายอาจารย์ย้ายวัดให้เสร็จ ผลออกมาเสียของพระกิ่งแต่ละอาจารย์ ย่อมทรงคุณค่ามีความวิเศษในตัวอยู่แล้ว นี่ก็เป็นพระกริ่งปวเรศอีกรุ่นหนึ่งที่แนะนำให้หาเก็บไม่จำเป็นจะต้องมีรุ่นที่เขานิยมกัน ราคาซื้อหากันนับสิบล้าน และไม่รู้ว่าจะแท้หรือไม่ และหาหลักฐานพิสูจน์ไม่ได้ รุ่นที่ในรูปมีหลักฐานที่เป็นจริงมีอยู่ ถ้าผู้ใดมีพระอยู่แล้วให้สบายใจมีของวิเศษในครอบครอง

*********

วันศุกร์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2561

ทุ่งโบราณสองพี่น้อง (๔)


สาวสองพี่น้อง..หัวกระไดไม่แห้ง
วิญญู บุญยงค์

ผู้หญิงชาวท้องทุ่งสองพี่น้องนับแต่สมัยโบราณถูกเลี้ยงดูมาอย่างนี้ จนเข้าตำราหัวกระไดไม่แห้งเช่นเดียวกับหญิงงามหลายพื้นที่ในแผ่นดินสุพรรณภูมิ

นับแต่โบราณมาจนถึงราวพ.ศ.๒๕๒๐ วิถีชีวิตชาวลุ่มน้ำในทุ่งโบราณสองพี่น้อง อยู่ร่วมกันแบบครอบครัวขยาย(Extended Family) มีคนรุ่นตายาย พ่อแม่ ลูก และหลาน อยู่ในบ้านเดียวกัน จะว่าไปแล้วก็เป็นวิถีสามัญของชาวตะวันออกที่มีความสัมพันธ์ระบบเครือญาติค่อนข้างใกล้ชิด หากจะไล่เรียงลำดับการขยายของครอบครัว อาจตั้งต้นได้จากคนรุ่นพ่อและแม่ มาร่วมกันใช้ชีวิตด้วยกัน เมื่อมีลูกก็เลี้ยงดูกันไป ส่วนใหญ่แล้วมีลูกมากตั้งแต่ ๔ คนไปจนถึง ๗ คน บางบ้านอาจมีถึง ๑๐ คนไปจนถึง ๑๒ คนก็ยังมี

เพียงลงจากเรือน ผักปลาพืชพันธุ์ตามธรรมชาติมีอยู่อย่างเหลือเฟือในลุ่มน้ำโบราณ
ภาพจาก : Preaw Kritiya

การมีลูกมาก ไม่ได้เป็นภาระมากมายสำหรับคนในสมัยนั้น เพราะคำพูดที่ว่า “ทรัพย์ในดิน สินในน้ำ” หรือ “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว”ยังเป็นความจริงอยู่ ด้วยทุกหนแห่งยังมีทรัพยากรธรรมชาติอยู่อุดมสมบูรณ์ แม้ไม่มีเงินก็สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ลูกเด็กเล็กแดงที่เกิดมาได้สารอาหารจากนมมารดาเป็นหลัก เติบโตขึ้นมามีสุขภาพร่างกายแข็งแรง พอเริ่มรู้ประสาก็ติดตามผู้ใหญ่ออกทุ่งออกท่า หาผักหญ้าปลามาเป็นอาหารในครัวเรือน โตขึ้นก็รู้จักทำนาเก็บตุนข้าวเข้ายุ้งฉางกินพอชนปี ที่เหลือก็ขายออกไปเป็นรายได้เป็นกอบเป็นกำเข้ามาสู่ชานเรือน

เมื่อลูกชายเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ พ่อแม่จึงทำหน้าที่สู่ขอลูกสาวจากบ้านอื่นอาจเป็นคนที่ผู้ใหญ่หมายตาไว้ด้วยเหตุผลทางฐานะทางตระกูลหรือความเหมาะสมอื่น ๆในภาพรวม แต่โดยมากลูกชายก็มักหมายมั่นบางคนไว้ก่อนแล้ว หากฝ่ายหญิงมีใจฝ่ายชายก็ให้พ่อแม่ไปสู่ขอ แต่มีไม่น้อยที่ฝ่ายหญิงมี แต่พ่อแม่ของเธอเห็นตรงกันข้าม อาจด้วยเหตุผลของฐานะ ชาติตระกูล หรือเสียงเล่าลือของฝ่ายชายไม่เข้าตา เช่นเกรกมะเหรกเกเร หรือขี้เกียจแบบ“ไม่เอาถ่าน” และมีไม่น้อยจากเหตุผลหน้าตาขี้เหร่ เข้าทำนอง “ได้ลูกเสียหลาน” พ่อแม่ฝ่ายหญิงบางรายจึงทำตัวเป็น”ตะเข้ขวางคลอง” ทั้งวางท่า ทั้งขัดขวาง อาจถึงขั้นไล่ตะเพิดก็มีอยู่ไม่น้อย

นอกจากความชำนาญทางเกษตรกรรม ฝีมือเชิงช่างไม้ก็มีอยู่ในวิถีคนลุ่มน้ำ
ภาพจาก : Preaw Kritiya

            หากเป็นอย่างนี้ก็ต้องใช้เวลาสั่งสมความดีขจัดจุดขวางตาเพื่อให้ผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงเชื่อมั่น ยิ่งหากเป็นการชอบฝ่ายหญิงเพียงฝ่ายเดียว หรือมีคู่แข่งที่มีภาษีดูจะเหนือกว่า การสั่งสมความดีเพื่อรอวันฟ้าเปิดดูจะมีแรงบันดาลใจน้อยกว่า ชายกล้าแห่งท้องทุ่งจึงยุติปัญหาด้วยการ“ฉุด” หรือหากฝ่ายหญิงมีใจแต่พ่อแม่ไม่ยกให้เสียที ผสมกับความใจร้อนที่พร้อมจะ“ชิงสุกก่อนห่าม” ก็จะเกิดภาวะ“หนีตาม” เข้ามาแทน

            และทันทีที่เหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้น เสียงลือเสียงเล่าอ้างก็กระหึ่มไปทั้งบาง เป็น ท๊อก ออฟ เดอะ ทาวน์ ที่ต้องใช้เวลานานวันกว่าเสียงนั้นจะทุเลา ถึงเวลานั้นจึงจะมีการขอขมาลาโทษพ่อแม่ฝ่ายหญิง และมีไม่น้อยที่มีหลานเกิดใหม่มาร่วมเป็นประจักษ์พยานด้วย และหลานใหม่นี่แหละมักเป็นกาวใจได้เป็นอย่างดี คนที่เพิ่งเริ่มเป็นตายายคน ส่วนใหญ่มักใจไม่แข็งพอ

หลังแต่งงานหรือได้อยู่กินกันด้วยเหตุผลใดก็ตาม ส่วนใหญ่ลูกชายซึ่งเป็นเจ้าบ่าวต้องไปอยู่กับฝ่ายหญิง และกลายไปเป็นกำลังสำคัญช่วยครอบครัวฝ่ายหญิงทำมาหากิน อาจเป็นด้วยเหตุนี้กระมัง ฝ่ายชายที่เป็นเจ้าบ่าว จึงดูจะเป็น “บ่าว” สมกับตำแหน่ง เพราะต้องไปทำงานรับใช้ฝ่ายหญิงและครอบครัวของเธอ ดูไปแล้วก็เป็นคำที่เหมาะสมดี ยิ่งฝ่ายชายผ่านการบวชเรียนมาแล้ว ก็จะมีสติยับยั้งชั่งใจ หากมีปัญหาก็ค่อยคิดค่อยทำไม่ตัดสินใจอะไรบุ่มบ่าม ความเป็นผู้ชายยังมีความแข็งแรง มีกำลังทำงานได้มากกว่า หากขยันขันแข็งก็จะเป็นที่โปรดปรานของพ่อตาแม่ยาย พอให้ภรรยาได้หน้าได้ตาไปด้วย มีหลายครอบครัวที่สร้างตัวได้เพราะมีลูกเขยขยันและเป็นคนดี ด้วยคุณสมบัติแบบนี้ บวกกันมีภรรยาที่เป็นลูกอยู่เรือนกับพ่อแม่ ลูกเขยประเภทนี้มักก้าวขึ้นสู่ความเป็น“เจ้าเรือน”แทนพ่อฝ่ายหญิงที่ร่วงโรยไปตามวัย

ฝาเรือนลายปะกนในเรือนสะอาดเอี่ยมเนียนตา ผ่านการปัดเช็ดถูมาเป็นอย่างดี
ภาพจาก : Preaw Kritiya

สังคมลุ่มน้ำในท้องทุ่งโบราณ ผู้ชายเป็นใหญ่ในการทำมาหากิน ส่วนฝ่ายหญิงเป็นใหญ่ในเรือน แม้ไม่มีกฎหมายประกาศใช้บังคับ แต่ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในเรือนชาน เว้นแต่ฝ่ายชายไปได้เมียเป็นหญิงมีฐานะทางบ้านหรือมีกิจการที่สร้างรายได้มาก เมื่อนั้นฝ่ายหญิงมักเสียงดังกว่า แต่ในวิถีทั่วไปของสังคมท้องถิ่น ผู้หญิงจะได้รับการเลี้ยงดูจากผู้เป็นมารดาให้เป็นแม่ศรีเรือน บ้านเรือนแต่ละหลังแม้ฐานะต่างกันแต่มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือความสะอาดสะอ้านของบ้านเรือน พื้นกระดานถูกถูทุกวันจนขึ้นมัน ฝาโอ่งและขัน ไม่เว้นแม้แต่โอ่งลายมังกรเซี่ยงไฮ้ก็ต้องได้รับการขัดถูจนมันวาวเช่นกัน  สิ่งของเครื่องใช้ถูกจัดวางอย่างเป็นระเบียบ ทั้งกิริยามารยาท ทั้งเสน่ห์ปลายจวักที่ลูกผู้หญิงจะได้รับการพร่ำสอนจากผู้เป็นแม่ผู้เป็นต้นแบบจนชำนาญ จนมีคำพูดติดปากกันมาว่า “ดูช้างให้ดูหาง ดูนางให้ดูแม่” ผู้หญิงชาวท้องทุ่งสองพี่น้องนับแต่สมัยโบราณถูกเลี้ยงดูมาอย่างนี้ จนเข้าตำรา“หัวกระไดไม่แห้ง” เช่นเดียวกับหญิงงามหลายพื้นที่ในแผ่นดินสุพรรณภูมิ

โอ่งน้ำฝาโอ่งขันน้ำหน้าชานเรือน เป็นด่านแรกที่บอกถึงคุณสมบัติของผู้อยู่เรือน
ภาพจาก : Preaw Kritiya

ความภาคภูมิใจประการหนึ่งของคนเป็นพ่อแม่ คือการได้เป็นปู่ย่าหรือตายาย มีหลานตัวเล็ก ๆมาให้เชยชม เป็นทั้งค่านิยมและความสุขที่มาพร้อมกัน ถึงเวลานี้คนที่เป็นพ่อแม่จะต่อเพิงพะไลยื่นออกจากตัวเรือนเดิมให้มีพื้นที่เฉพาะสำหรับลูกสาวลูกเขย แต่หากฐานะดีขึ้นมาหน่อยก็ให้แยกไปปลูกเรือนใหม่ใกล้กับเรือนใหญ่ ให้อยู่ในอาณาบริเวณเดียวกัน เป็นจุดเริ่มของครอบครัวขยาย และจะขยายในรุ่นหลาน รุ่นเหลน และรุ่นต่อ ๆไป

ความสุขของคนทุ่งโบราณสองพี่น้อง คือการอยู่กันพร้อมหน้าทุกมื้ออาหาร เป็นการไล่เรียงหน้าตาลูกหลานว่ามากันครบหรือยัง จากนั้นกับข้าวทั้งผัดเผ็ดปลาย่างน้ำพริกผักต้มกับอาหารชามโปรดต้มยำปลาช่อนมีไข่ปลาลอยฟ่องแทรกตัวในช่องว่างชิ้นเนื้อพุงมันปะปนท่อนตะไคร้ใบมะกรูด จะถูกลำเลียงวางอยู่กลางวง ขาดไม่ได้คือน้ำปลาถ้วยใหญ่มีกระเทียมหอมพริกหยวกย่างไฟถ่านบีบมะนาวแล้วใส่ทั้งซีกตามลงไป...เป็นอาหารมื้อใหญ่ในวันวาน ที่แม้จะผ่านมาเนิ่นนาน แต่ใครต่อใครหลายคน...ยังรำลึกเห็นเป็นภาพจำ...จนวันนี้...!

*********

วันพฤหัสบดีที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2561

ทุ่งโบราณสองพี่น้อง (๓)



ว่ายน้ำได้..พายเรือเป็น
วิญญู บุญยงค์

ในช่วงสมัยก่อนจนราวปีพ.ศ. ๒๕๒๐ บริเวณพื้นที่ตอนล่างของตัวจังหวัดสุพรรณบุรี ครอบคลุมเขตอำเภอบางปลาม้า และอำเภอสองพี่น้อง พื้นที่ลุ่มที่มีชื่อเป็นทางการว่า”ทุ่งโบราณสองพี่น้อง”รถยนต์ยังมีน้อยมาก ถนนเป็นเส้นเล็ก ๆที่พัฒนาขึ้นมาจากทางเกวียน สองข้างถนนเป็นแนวนาข้าวเขียวขจี เมื่อเข้าสู่ฤดูน้ำต้นข้าวแตกปล้องสูงขึ้นตาม ทางถนนหนทางจึงมีสภาพเป็นคลองไปในตัวมีต้นข้าวบอกเป็นเส้นแนว ทั่วท้องทุ่งโบราณเต็มไปด้วยน้ำ ไม่ต่างไปจากทะเลน้ำจืด มองไปสุดลูกหูลูกตาก็ยังเป็นน้ำ ที่เห็นเป็นแนวคั่นอยู่บ้างก็เป็นส่วนของหมู่บ้านและโคกดอน

เรืออีแป่ะหน้าเรือน พาหนะพื้นบ้านที่มีอยู่ทุกครัวเรือน
ภาพจาก : กฤติยา กิตติสุขเจริญ

หน้าน้ำในทุ่งโบราณสองพี่น้อง น้ำขึ้นและทรงตัวอยู่ ๓ เดือนตั้งแต่เดือน ๑๒(พฤศจิกายน) จนถึงเดือนยี่(มกราคม) สภาพพื้นที่ทั่วไประดับน้ำจะอยู่ที่ประมาณ ๒ เมตร แต่บางแห่งก็ลึกตื้นตามสภาพพื้นที่ลุ่มมากน้อย เด็ก ๆ จะถูกสอนให้”ว่ายน้ำได้”มาตั้งแต่วัยเริ่มเดิน ข่าวคราวเรื่องเด็กจมน้ำจึงไม่ค่อยปรากฏ โตขึ้นมาหน่อยก็ถูกสอนให้“พายเรือเป็น” 

ทั้ง “ว่ายน้ำได้”และ “พายเรือเป็น” เป็นสิ่งสำคัญลำดับต้นที่ผู้ใหญ่คอยจัดแจงพร่ำสอน เพราะทั้งสองสิ่งต้องถูกหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวสำหรับคน ๆหนึ่งที่เกิดและเติบโตมาในวิถีนี้  เป็นการลดภาระความห่วงใยความปลอดภัยของชีวิตเด็ก ๆในยามที่บางบ้านต้องทิ้งลูกหลานไว้ตามลำพัง หากตกน้ำก็พอจะกะทุ่มแหวกว่ายขึ้นมาได้ ส่วนการ“พายเรือให้เป็น” ถือเป็นศิลปะเฉพาะที่ต้องวาดฝีพายจ้วงลงน้ำแบบตั้งฉาก แล้วโน้มด้ามพายเข้าหาตัว พร้อม ๆไปกับการเคลื่อนตัวของลำเรือ เมื่อจะพายจ้วงน้ำไปสุดปลาย ก่อนยกขึ้นผู้พายจะค่อย ๆหงาย ใบพายให้ทแยงเป็นหางเสือคอยบังคับเรือให้ไปตามทิศทางที่ต้องการ  

ภาพชินตาที่ผู้เฒ่าแม่แก่ไม่เคยปล่อยเวลาให้เดินเล่นไปวัน ๆ
ภาพจาก : กฤติยา กิตติสุขเจริญ

พื้นบ้านเขาเรียก “พายคัด” เรื่องหัดพายเรือ นับเป็นภาระปากเปียกปากแฉะสำหรับผู้ใหญ่ โดยเฉพาะผู้ใหญ่เป็นผู้หญิงอย่าง ย่า ยาย หรือ แม่ ที่คอยตะโกนสอนจากชานเรือน ใครพายผิด หรือพายงัด ทั้งจอดเรือเทียบแล้วหัวเรือกระแทกชานเรือน เป็นต้องถูกตะโกนก่นด่าแบบไม่ออมเสียง เรียกได้ว่าด่ากันจนน้ำหมากกระจาย เป็นที่ขบขันของบรรดากองเชียร์เด็ก ๆในวัยเดียวกัน

ในทุ่งย่านบ้านสองพี่น้อง เรือที่ใช้งานของแต่ละบ้าน มีอยู่ด้วยกันหลายประเภท แยกออกไปตามลักษณะการใช้งาน บรรดาแม่บ้านหรือย่ายายนิยมใช้เรือ “อีแป่ะ” หรือ “เรือป๊าบ”คล้าย“เรือแตะ” เป็นเรือหัวท้ายสอบ ความยาวเรียกกันเป็นศอกเช่น ๖ ศอก ๘ ศอก ท้องเรือกลมแบนกว้าง  มีกระทงหัวท้ายด้านละ ๒ กระทง ระดับสูงเกือบชิดขอบเรือ ตรงกลางลดระดับปูแผ่นกระดานตามทางยาวของเรือขวางกับกระดูกงู นั่งได้ ๓-๖ คนตามขนาดเรือ บางทีชาวบ้านที่ค้าขายตามลำพังคนเดียว เช่นขายผักที่ไปรับมาจากตลาด ขายขนมปลากริมไข่เต่า หรือแม้แต่ก๋วยเตี๋ยวเรือ ก็เป็นเรือประเภทนี้ เพราะพายซอกแซกเข้าไปในหมู่บ้านได้ง่าย

ตลาดบางลี่ย่านการค้าโบราณ ร้านค้าย้ายขึ้นชั้น ๒ ทางเดินต่อเชื่อมตลอดแนว
            ในอดีตหน้าร้านเป็นที่จอดเรือพายชาวบ้าน มีเรือรับจ้างหางยาวคอยให้บริการ
                 ภาพจาก: "น้ำ:บ่อเกิดวัฒนธรรมไทย"ดร.สุเมธ ชุมสายฯสมาคมสถาปนิกสยาม,กรุงเทพฯ.2539.

หากเป็นเรือสำหรับใช้งานบรรทุกของหรือใช้เกี่ยวหญ้ามาเลี้ยงวัวควาย อาจใช้เรือประเภทเดียวกันแต่มีขนาดใหญ่กว่ายาวประมาณ ๙-๑๑ ศอก แต่บางทีก็ใช้ “เรือแตะ”ที่มีการเสริมกาบให้สูงขึ้นมาอีกเพื่อให้บรรทุกของได้ปริมาณมากหรือกันไม่ให้ของตกหล่น ส่วนมากพ่อบ้านหรือลูกชายวัยทำงาน นำไปใช้ในชีวิตประจำวัน

ยังมีเรืออีกประเภทหนึ่งเรียกว่า “เรือบด” เป็นเรือที่มีลักษณะเพรียว มีหงอนเรือหัวท้ายต่อด้วยกระทง  ตรงกลางลดระดับปูพื้นขวางกระดูกงูท้องเรือแคบ นั่งได้ไม่เกิน ๒ คน ใช้งานเวลาที่ต้องการความรวดเร็วในการเดินทาง นอกจากนั้นยังมีเรือลักษณะเดียวกัน แต่นั่งได้คนเดียวคือ “เรือเข็ม”เดินทางได้เร็วกว่า เพราะมีขนาดเล็กเรียวและน้ำหนักเบา เรือทั้งสองประเภทนี้ผู้ใช้ต้องมีความคล่องตัว เพราะเรือโคลงง่าย แต่หากใช้เป็นแล้ว ในบรรดาเด็ก ๆถือว่า เท่ห์อย่าบอกใคร

ยังมีเรือประเภทอื่น ๆ ที่ใช้งานตามอาชีพเฉพาะ เช่นเรือกระแชง เรือเอี้ยมจุ๊นแบบมีหลังคาโค้ง เป็นเรือขนาดใหญ่สำหรับบรรทุกสินค้าจำนวนมาก เช่นข้าว ถ่าน เกลือ หรือผลิตผลชาวไร่จำพวกแตงโม สมัยที่หลวงพ่อสด วัดปากน้ำภาษีเจริญ ครอบครัวของท่านมีอาชีพค้าขายข้าวก็ใช้เรือประเภทนี้  แต่โดยมากในฤดูน้ำเรือประเภทนี้จะใช่เส้นทางที่เป็นลำคลองเดิม ในทุ่งนี้ก็จะใช้คลองสองพี่น้องเพราะท้องน้ำลึก ต่อเนื่องออกไปแม่น้ำจีน แล้วลัดเลาะออกไปได้อีกหลายเส้นทางทั้งจังหวัดใกล้เคียงและเมืองบางกอก

คลองสองพี่น้อง ต้นทางมาจากแม่น้ำจรเข้สามพัน เป็นเส้นเลือดสายหลัก
              ของชาวทุ่งโบราณ สองพี่น้อง ตลอดทางมีลำคลองแยกย่อยอีกหลายสาย
ภาพจาก : แดงต้อย มาลี

ในอดีต วิถีน้ำกับเรือพายเป็นของคู่กัน จนกล่าวได้ว่า ไม่มีใครที่ว่ายน้ำไม่เป็น เช่นเดียวกับไม่มีใครที่พายเรือไม่ได้ เป็นความเคยคุ้นและหอมจรุงไปด้วยกลิ่นไอของท้องน้ำตั้งแต่รุ่งเช้ายันย่ำค่ำ อันเป็นวิถีรายวันของชาวคุ้งย่านในแถบบางนี้ 

แต่ก็มีบางครั้งที่สีสันแห่งวันเกิดขึ้นอย่างไม่ตั้งใจ ด้วยแม่บ้านและลูกหลาน ตระหนกกับท่าทีพายเรือแบบจ้ำพรวดของผู้เป็นพ่อมาแต่ไกล พวกเขาคงสงสัยว่าเหตุใดจึงต้องรีบร้อนจ้ำจ้วงน้ำขนาดนั้น จนเรือมาถึงเรือน ก็ได้คำตอบว่า ระหว่างพายกลับจากวัดมา ดันมีฟองพรายน้ำขนาดลูกมะพร้าวผุดขึ้นจนเรือเอียง บอกพรางขณะที่ผู้เป็นพ่อยังยืนเกร็งขนลุกขนชันอย่างเสียทรง แต่แม่บ้านและลูกหลานกลับหัวร่อขำชอบอกชอบใจ เพราะเข้าใจได้ว่า..ตะเข้คงเหงาใจ..จึงผุดพรายขึ้นมาทายทัก..!


*********



วันพุธที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2561

ทุ่งโบราณสองพี่น้อง (๒)


หัวน้ำขึ้น-ข้าวฟางลอย
วิญญู บุญยงค์

คนสองพี่น้องรู้ดีว่า ในราวปลายเดือน ๙ เมื่อประชากร“มด”ชักแถวขึ้นสู่เสาเรือน ก็ถึงเวลาของการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตจากฤดูแล้งเข้าสู่ช่วงหัวน้ำขึ้นของฤดูน้ำ ลำเรือที่เกยไว้บนคานแคร่ใต้ถุนเรือน จะถูกยกลากออกมาปัดกวาดขูดชันเก่าที่กะเทาะหลุดเป็นกระเปาะ แล้วนำเศษผ้าอุดไปตามร่องไม้ก่อนผสมชันยาตามร่องแนวให้ถ้วนทั่วทั้งลำเรือ พร้อม ๆกับซ่อมแซมแผ่นกระดานที่หลุดหายหรือผุพัง แล้วทาน้ำมันเคลือบจนเรือที่เก่าโทรมมีราศีขึ้นมา เตรียมพร้อมต่อการใช้งานหรืออาจครื้มใจอวดโฉมประชันกับเรือเพื่อนบ้านอย่างกลาย ๆ


โรงเลี้ยงวัวควายยกระดับขึ้นเมื่อเข้าสู่ช่วงหัวน้ำขึ้น วิถีชีวิตของคนทุ่งโบราณสองพี่น้อง
        ในภาพเป็นคอกควายบ้านนายชิด ริมถนนราษฎร์อุทิศ  ระหว่างบ้านสองพี่น้อง-อำเภอเก่า
ภาพจาก : หนังสือ "น้ำ : บ่อเกิดวัฒนธรรมไทย" ดร.สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา,สถาคมสถาปนิกสยาม,2539.

ไม่เว้นแม้แต่โรงวัวโรงควายถูกย้ายขึ้น มีสะพานทอดต่อถึงชานเรือน อีกด้านทำสะพานทางขึ้นซึ่งทางนี้จะถูกใช้งานเพียงสองครั้งในช่วงหัวน้ำขึ้นกับเมื่อน้ำแห้งแล้ว ลำไผ่กระดานเก่าถูกรื้อออกมาใช้วางพาดขวางรอดโรงเรือน พอใช้ไปจนสิ้นฤดูกาล พูดได้ว่าในหน้าน้ำนี้คือช่วงเวลาที่บรรดามนุษย์ชาวนาทำหน้าที่รับใช้วัวควาย ทั้งทำความสะอาดโรงเรือนยามกลางวัน ก่อควันไฟกาบมะพร้าวกันยุงยามพลบค่ำ และคอยหาหญ้าสดหญ้าฟางเป็นอาหารบำรุงบำเรอทั้งวัน จัดเป็นช่วงราชาของสัตว์เลี้ยงใช้งานที่แสนซื่อสัตย์ในยามนี้

อีกไม่กี่วันต่อมา พื้นดินเริ่มชุ่มชื้น แล้วน้ำก็ค่อยซึมผ่านขึ้นมาพร้อมกับไหลเอ่อมาจากทุกทิศทาง เป็นปรากฏการณ์ที่ดำรงอยู่เช่นนี้มาเนิ่นนานของทุกปี ในวาระการเปลี่ยนผ่านจากฤดูแล้งสู่ฤดูน้ำ เป็นความเคยคุ้นที่คนรุ่นปู่ย่าตาทวดคอยสอนสั่งถึงวิถีที่เปลี่ยนแปลงด้วยการลงมือทำให้ลูกหลานเห็นถึงการปรับตัวไปเป็นชาวน้ำอย่างไม่ติดขัดเคอะเขิน

ตาข่ายตะคัดที่เก็บไว้ ถูกนำมาออกมาปะชุนให้พร้อมต่อการนำไปดักปลานานาพันธุ์ ที่ขึ้นชื่อลือชาเห็นจะเป็นปลาสลิด ปลากระดี่ ปลาตะเพียน และปลาอื่น ๆก็มี แต่บางทีก็ได้งูน้ำติดมาด้วย ส่วนแม่บ้านก็เตรียมกากน้ำปลาที่เกรอะไว้สำหรับโยนอ่อยให้ปลามารวมกันแล้วใช้เบ็ดตก ในทุก ๆวันจะได้ทั้งปลาสลิด ปลาหมอ ปลาตะเพียน และอื่น ๆ ไม่ต้องไปที่ไหนไกล บางวันเพียงตกกันบนชานบ้านก็เหลือเกินแกง หรือหากรำคาญเด็กเล่นเจี๊ยวจ๊าวบนเรือน ก็พายเรือออกไปซุกตามดงข้าวอ่อยเหยื่อลงไป หย่อนเบ็ดลงสักพักก็ได้พอมื้อเย็น

ดงข้าวที่ว่า เป็นข้าวฟางลอย พันธุ์ข้าวเก่าแก่ที่มีอยู่คู่กับสยามมาแต่โบราณ ไม่มีใครตอบได้ว่าเกิดขึ้นมาเมื่อใด แต่เป็นภูมิปัญญาของบรรพชนด้านการอนุรักษ์สายพันธุ์ข้าว ที่วันนี้สูญพันธุ์ไปแล้วจากนวัตกรรมการพัฒนา

ข้าวฟางลอย เป็นพันธุ์ข้าวที่แตกปล้องทอดยอดขึ้นตามความสูงของน้ำ ภายในปล้องมีฟองน้ำเป็นเส้นใยละเอียด ช่วยให้ต้นข้าวลอยน้ำได้ แม้ว่าน้ำจะขึ้นสูงมากเท่าใดลำต้นของข้าวก็จะแตกปล้องอย่างทะเยอทะยานให้ยอดข้าวสูงกว่าน้ำเสมอ มิต่างไปจากดอกทานตะวันที่เผชิญหน้าเอาชนะแสงสุริยันอย่างไม่ลดละจนย่ำค่ำ  ฝรั่งมังค่าที่เคยเข้ามาในสยามนับแต่สมัยแผ่นสมเด็จพระนารายณ์เมื่อราว ๓๓๐ ปีก่อน อย่างนายทหารฝรั่งเศส เชอวาลิเยร์ เดอ ฟอร์บัง(Chevalier de Forbin) และราชทูตพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ซีมง เดอ ลา ลูแบร์(Simon de La Loubere) ยังต้องบันทึกเรื่องข้าวฟางลอยไว้ในจดหมายเหตุว่าเป็น “พันธุ์ข้าวมหัศจรรย์”ที่เกิดมาไม่เคยพบเคยเห็นมาก่อน


นาข้าวในทุ่งสองพี่น้องยังคงมีอยู่ แต่วิถีชีวิตและพันธุ์ข้าวดั้งเดิมเปลี่ยนไป

พันธุ์ข้าวมหัศจรรย์นี้ มิได้เป็นเพียงพืชพันธุ์ที่เติบโตสูงขึ้นตามน้ำเพียงอย่างเดียว หากแต่ยังเป็นดัชนีชี้ความเป็นไปในวิถีชาวน้ำอย่างมีสมดุล ลำต้นและก้านใบที่แข็งแรงพอต่อการต้านแรงลมบ่งบอกถึงความอุดมในแร่ธาตุที่พัดพามากับสายน้ำ ต้นข้าวที่แช่อยู่ในน้ำก่อกำเนิดตะไคร่แพงตอนซึ่งเป็นอาหารหลักของสัตว์น้ำพวกฝูงปลาที่แหวกว่ายมาจากทุกทิศทาง ผสมพันธุ์ และวางไข่โดยอาศัยกอข้าวเป็นแหล่งกำเนิดชีวิตใหม่ที่มีอาหารอันอุดมรอท่าอยู่ การถือกำเนิดและเติบโตของต้นข้าวจึงเอื้อต่อความเป็นไปในระบบนิเวศน้ำ และท้ายที่สุดก็ส่งผลประโยชน์โดยตรงต่อชาวน้ำในทุ่งโบราณสองพี่น้องถ้วนทั่วทุกตัวคน

บันทึกโบราณของชาติต่าง ๆที่เดินทางเข้ามาในแผ่นดินสยาม ครั้งสมัยแคว้นรัฐเริ่มต้นอย่างสุพรรณภูมิ-โยชฌราช นับตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๙ เป็นต้นมาจนเข้าสู่สมัยอยุธยา นอกเหนือจากไม้สัก ไม้ฝาง ช้างป่า และเครื่องเทศแล้ว “ข้าว” เป็นสินค้าส่งออกปริมาณมหาศาล ผ่านระบบการค้าสำเภาที่เข้ามาค้าขายกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน และข้าวที่ว่านั้น ส่วนใหญ่ก็คือผลผลิตจาก “ข้าวฟางลอย” นี่เอง

ผู้เฒ่าในวัยปู่ย่าเคยสาธยายตั้งข้อสังเกตว่า  “ถ้าไม่มีหน้าน้ำ(ฤดูน้ำ)ผู้คนจะอยู่กันอย่างไร จะหาผักหญ้าปูปลากุ้งหอยสดกันที่ไหน ปลาตากแห้งทั้งปลาช่อน ปลาสลิด ปลาฉลาด หรือแม้แต่กะปิน้ำปลาที่จะถนอมทำรักษาเก็บไว้กินทั้งปีจะเอามาจากไหน  ลูกหลานที่มีดกเดื่อนจะเอาอะไรที่ไหนกิน” คำพูดที่ไม่ต้องการคำตอบ กล่าวจบก็ยิ้มกริ่ม เป็นความภูมิใจแบบอิน ๆที่แฝงมากับสายตา และมุมปากอันอ่อนโยน...ของคนเมื่อครั้งกระโน้น...คนทุ่งโบราณสองพี่น้อง.


*********

วันอังคารที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2561

ทุ่งโบราณสองพี่น้อง (๑)


ท่าจีน-จรเข้สามพัน
วิญญู บุญยงค์

ทุ่งโบราณสองพี่น้องในอดีต บริเวณวัดสองพี่น้อง
ภาพถ่ายเก่าจากศาลาการปรียญวัดสองพี่น้อง
    
         สองพี่น้อง เป็นชื่อของแหล่งย่านนามบางและผู้คนที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่ราบลุ่มแอ่งกระทะโบราณ อันเกิดจากอิทธิพลการเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลกที่ยุบตัวลงมานาน จนกลายเป็นแอ่งพื้นที่ลุ่มขนาดใหญ่รองรับมวลน้ำมหาศาลที่ไหลบ่ามาแต่ละปี

ในราว ๒,๐๐๐ ปี ขณะที่ทะเลได้ถอยร่นลงไปในระดับใกล้เคียงกับขอบอ่าวไทยในปัจจุบัน  ประกอบกับอาจเกิดปรากฏการณ์แผ่นดินไหวหรือการยุบตัวของเปลือกโลก ส่งผลให้ป่าโบราณกลายเป็นแอ่งกระทะหรือทะเลสาบขนาดใหญ่กักเก็บน้ำที่ไหลมาจากทางตอนบนของประเทศตามเส้นทางของแม่น้ำท่าจีน และยังมีอีกส่วนหนึ่งซึ่งเป็นส่วนหลักที่ไหลมาจากแม่น้ำแม่กลองโดยมีต้นทางจากเขตภูเขาแถบตะวันตกทั้งจากประเทศเมียนมาร์และพื้นที่ภูเขาในจังหวัดกาญจนบุรี ทุ่งโบราณสองพี่น้องจึงดำรงอยู่ภายใต้อิทธิพลของลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลอง จนเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ทางด้านทรัพยากรน้ำและแร่ธาตุที่ถูกพัดพามากับสายน้ำ กลายเป็นแหล่งพืชพันธุ์ธัญญาหารและสัตว์น้ำที่หล่อเลี้ยงผู้คนมายาวนาน

ทะเลข้าวในทุ่งสองพี่น้อง ภาพชินตาที่มาแต่อดีต

การยืนยันถึงการเป็นแหล่งอาศัยของผู้คน เห็นได้จากเครื่องมือเครื่องใช้โบราณจากแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่กระจายตัวตามแนวสันขอบกระทะและพื้นที่สูงพ้นน้ำ ด้านทิศเหนือและทิศตะวันตกพบในเขตตัวเมืองสุพรรณบุรี เมืองอู่ทอง ไปจนถึงบ้านดอนตาเพชรในเขตอำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี ด้านทิศเหนือไปทางตะวันออกพบในเขตบางปลาม้า และอำเภอสองพี่น้อง ส่วนทางตอนใต้พบในเขตพื้นที่ดอนทั้งในเขตอำเภอสองพี่น้อง ขยับร่นออกไปในเขตอำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม โดยเกิดจากแม่น้ำจรเข้สามพันที่ต่อเนื่องมาจากอิทธิพลของลุ่มน้ำแม่กลองจากต้นทางจังหวัดกาญจนบุรี

พื้นที่ดอนในเขตอำเภอสองพี่น้อง  บริเวณวัดคลองมะดันเป็นขอบกระทะน้ำท่วมไม่ถึง

การเป็นพื้นที่แอ่งกระทะและพื้นที่แอ่งรับน้ำจากลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลอง เห็นได้จากในทุกปีราวปลายเดือนสิงหาคม(เดือน ๙ ไทย) มวลน้ำจากทางเหนือไหลลงมาตามแม่น้ำเจ้าพระยาแล้วแยกตัวเข้าแม่น้ำท่าจีนบริเวณปากคลองมะขามเฒ่า เขตจังหวัดชัยนาท แล้วไหลลงมาเข้าเขตสุพรรณบุรีผ่านอำเภอเดิมบางนางบวช สามชุก ศรีประจันต์ เมืองสุพรรณบุรี บางปลาม้า และสองพี่น้อง เรียกบริเวณที่น้ำไหลผ่านจังหวัดสุพรรณบุรีว่า “แม่น้ำสุพรรณ” อีกทางหนึ่งไหลมาจากแม่น้ำจรเข้สามพัน จากต้นทางปากแม่น้ำแม่กลอง ไหลย้อนขึ้นบริเวณเขื่อนวชิราลงกรณ์เรียกว่า “ลำน้ำทวน” แล้วไหลจากตอนใต้ขึ้นสู่ตอนเหนือที่เรียกกันว่าสายน้ำมหัศจรรย์ ตลอดเส้นทางเรียกว่า แม่น้ำจรเข้สามพัน มีลำน้ำสายเล็กแตกตัวแยกย่อยเป็นแพรกออกไปอีกหลายเส้นทาง

ทางแถบตะวันออก เส้นทางสายหลักลงไปทางอำเภอกำแพงแสนเขตจังหวัดนครปฐม จนไปถึงเมืองเก่านครปฐม ถัดขึ้นมาแยกตัวทางด้านตะวันออกเช่นกันบริเวณบ้านหัววัง ตำบลบ่อสุพรรณลงไปทางทิศใต้ของ อ.สองพี่น้องผ่านตำบลท่าไชย ตำบลศรีสำราญ เข้าคลองมะดัน แล้วไปชนกับคลองสองพี่น้องที่บ้านบางใหญ่ฝั่งตรงข้ามวัดสองพี่น้อง

คลองสองพี่น้อง บริเวณด้านใต้ตลาดบางลี่
จากบริเวณบ้านหัววัง บ่อสุพรรณ แม่น้ำจรเข้สามพันยังไหลย้อนขึ้นไปจนถึงตำบลจรเข้สามพัน อำเภออู่ทอง แล้วแยกตัวออกเป็นสองเส้นทาง โดยตอนบนแยกตัวจากบริเวณเยื้องกับร.พ.อู่ทอง แตกเป็นคลองย่อยขึ้นไปถึงขอบคูเมืองโบราณอู่ทอง ผ่านศาลเจ้าพ่อพระยาจักร วัดอู่ทอง จนไปชนกับคลองคุณฑีที่รองรับน้ำจากส่วนนี้ไหลไปตามเส้นทางลำน้ำท่าว้าออกไปยังเขตอำเภอสามชุก จากจุดแยกคลองคุณฑีในอำเภออู่ทองน้ำยังคง ไหลลงไป ผ่านวัดยางยี่แส วัดบ้านกล้วย และวัดไผ่ลูกนก

ส่วนเส้นทางสายล่างซึ่งเป็นสายหลักตรงจุดเยื้องกับร.พ.อู่ทอง หักขวาไปทางตะวันออก มีชื่อเรียกตามย่านที่ผ่านเช่น คลองนาลาว คลองบางบอน ไปชนกับเส้นบนบริเวณหมู่ที่ ๕ ตำบลวัดโบสถ์ อำเภอบางปลาม้า นับจากจุดนี้เริ่มเรียกว่า “คลองสองพี่น้อง” ผ่านลงไปในเขตอำเภอสองพี่น้อง ตามศาสนสถานรายทางเช่นวัดดอนสงวน วัดบางบอน วัดท่าจัด วักโคกงูเห่า ตลาดบางลี่ (แหล่งการค้าชุมชนชาวจีนโบราณ) วัดแม่พระประจักษ์(แห่งภูเขาคาร์แมล) วัดสองพี่น้อง วัดทองประดิษฐ์ วัดบางสาม (ชุมชนตลาดเก่าแก่) จนไปชนกับแม่น้ำสุพรรณ(ท่าจีน)บริเวณตำบลบางเลน ทางตะวันออกของอำเภอสองพี่น้อง

คลองสองพี่น้องกับสภาพบ้านเรือนที่เปลี่ยนไป

ทุ่งโบราณสองพี่น้องจึงเป็นแหล่งรับน้ำจากอิทธิพลของสองลุ่มน้ำสำคัญ  เกิดกลายเป็นทะเลสาบขนาดใหญ่ ประกอบกับเป็นช่วงเวลาที่น้ำทะเลหนุน บริเวณพื้นที่ลุ่มจึงเริ่มเจิ่งนองในปลายเดือน ๙(สิงหาคม) พร้อมกับการปรับเปลี่ยนในวิถีชีวิตผู้คนที่เริ่มเขาสู่ฤดูน้ำ นับจากนี้ไปอีกนานจนถึงเดือนมีนาคม(เดือน ๔ ไทย)ของปีถัดไป

ระหว่างนี้ชาวนาจึงกลายไปเป็นชาวน้ำ คลื่นชีวิตทุกโมงยามเลื่อนไหลไปตามกลไกธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลง มันเป็นอย่างนั้น และเป็นอย่างนั้นมา...เนิ่นนาน.

วันพุธที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

ลอยกระทง


นางกษัตริย์คืนเดือนเพ็ญ
ศิลปะภาคใต้ นครศรีธรรมราช


ประติมากรรมกระเบื้องเคลือบสามสี รูปนางกษัตริย์แห่งเมือง12นักษัตร ลอยกระทงประทีปคืนเพ็ญเดือน12 ในแม่น้ำตาปี (เมืองนครศรีธรรมราช) อายุราวพุทธศตวรรษที่19-20 พบในแหล่งเตาเผากระเบื้องเคลือบในเขตเทือกเขานครศรีธรรมราช ศิลปะเมืองนครศรีธรรมราช  หลังจากเมืองภาคใต้ไปจรดปลายแหลมมาลายูตกอยู่ในอำนาจของ “เสียน” จนถึง “เสียนหลอหู” อาณาจักรซึ่งทรงอิทธิพลอยู่ทางตอนบน พื้นที่นี้มีความเจริญทางพุทธศาสนา ศิลปะ ประเพณี การเมืองการปกครอง และวัฒนธรรม



ประเพณีลอยประทีปบูชาพระคงคาที่ได้แบบอย่างมาจากลังกาและอินเดีย ตามตำราพุทธเถรวาทลอยกระทงด้วยเป้าประสงค์หลายประการ อาทิเพื่อขอขมาบูชาแม่น้ำ บูชาพระเกศาของพระพุทธเจ้า( พระจุฬามณี) บนสวรรค์ เพื่อต้อนรับองค์พระสัมมาสัมโพธิญาณเสด็จกลับจากเทวโลกหลังจากแสดงพระอภิธรรมโปรดพุทธมารดา เพื่อบูชาพระอุปคุตะเถระที่บำเพ็ญตะบะในท้องทะเล ภาคใต้ในสมัยโบราณกษัตริย์ ขุนนาง และชาวเมือง ไปลอยกระทงประทีปในแม่น้ำตาปี หรือแม่น้ำหลวง แม่น้ำสายใหญ่ที่สุดในภาคใต้มีต้นกำเนิดจากเขาหลวงอ.พิปูนจ.นครศรีธรรมราชลงสู่อ่าวไทยที่อ.บ้านดอนจ.สุราษฎร์ธานี


แม่น้ำตาปี มีการตั้งชื่อให้พ้องกับแม่น้ำ “ตาปติ” เช่นเดียวกับเมืองสุราษฎร์ธานีพ้องกับ “เมืองสุรัฏฐ”ในชมพูทวีป ที่มีต้นทางจากภูเขาสัตตปุระ ไหลสู่ปากแม่น้ำเมืองสุรัฏฐ หรืออ่าวแคมเบย์ มหาสมุทรอินเดีย ในสมัยโบราณชาวเดินเรือต่างชาติทั้งจากจีน อินเดีย อาหรับ เปอร์เซีย ต่างรู้จักกันดี โดยเฉพาะนักเดินเรือชาติกรีก ปโตเลมี(Cludius Ptolemy)ที่เข้ามาในแดนสุวรรณภูมิในปลายพุทธศตวรรษที่ 7 ได้เรียกแม่น้ำตาปีว่า แม่น้ำอัตตาบาส์. (ขอขอบคุณภาพประกอบจาก Album Pirun Wongsawarn)


*********

วันอาทิตย์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

ข่าว-ประวัติศาสตร์


สุจิตต์ ชี้ “เจ้านครอินทร์” ยิ่งใหญ่ ของจริง

สุจิตต์ กราด เจ้านครอินทร์แห่งสุพรรณเป็นเจ้าอาณาจักรสยามครั้งแรก แต่ไม่มีคนพูดถึง ชี้ให้ไปดูขุมทองที่กรุวัดราชบูรณะ และประจักษ์พยานรอบด้าน จะเข้าใจประวัติศาสตร์ที่แท้จริง
เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2561 เวลา 13.30-16.00 น. นายสุจิตต์ วงษ์เทศ นักเขียนนักประวัติศาสตร์-โบราณคดี ได้บรรยายในหัวข้อ “สุพรรณภูมิ : เอาเขมรคืนไปเอาความเป็นไทยใส่อยุธยา” จัดโดยชมรมโบราณคดี (สมัครเล่น) เมืองสุพรรณ  ณ หอประชุมวัดพระรูป เมืองสุพรรณบุรี โดยมีผู้สนใจมาร่วมงานและร่วมแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก
นอกเหนือจากประเด็นความเป็นมาจากต้นทางเมืองอู่ทองและเมืองนครปฐมจนมาถึงสุพรรณภูมิ ทางฟากตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นนามสืบเนื่องมาจาก “สุวรรณภูมิ”ในคัมภีร์อินเดียและลังกาแล้ว นายสุจิตต์ยังย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของกษัตริย์สุพรรณภูมิ นับตั้งแต่สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่๑(ขุนหลวงพ่องั่ว) จนถึงสมเด็จพระนครินทราธิราช(เจ้านครอินทร์) ที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างความเจริญรุ่งเรืองสู่อยุธยา แต่ที่ผ่านมามีผู้ให้ความสำคัญน้อย โดยเฉพาะพระนามเจ้านครอินทร์หายไปจากห้วงคำนึงของผู้คน ทั้งๆที่พระองค์สร้างชาติจนแผ่นดินเป็นปึกแผ่นมั่นคง
“เจ้านครอินทร์เป็นเจ้าอาณาจักรสยามตั้งแต่แรก แต่ไม่ใครพูดถึง ให้ไปดูหลักฐานเครื่องทองที่กรุวัดราชบูรณะว่ายุคสมัยของพระองค์มั่งคั่งแค่ไหน ซึ่งเจ้าสามพระยาทรงสร้างวัดราชบูรณะถวายเจ้านครอินทร์พระราชบิดาแต่ในบันทึกทั่วไปบอกแค่ว่าสร้างในคราวเจ้าอ้ายพระยากับเจ้ายี่พระยาสิ้นพระชนม์เท่านั้น”
นายสุจิตต์ ยังกล่าวด้วยว่า เจ้านครอินทร์ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ราชสำนักจีนในสมัยราชวงศ์หมิงให้การสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ระบบการค้าระหว่างสยามกับจีน รวมถึงนานาประเทศในเวลานั้นเข้ามาทำการค้าขาย จนอยุธยากลายเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญมากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
“ผมเคยเห็นบางหน่วยงานจัดนิทรรศการเกี่ยวกับสุพรรณบุรี กล่าวถึงขุนหลวงพ่องั่ว แต่ไม่มีเจ้านครอินทร์ ตัดเจ้านครอินทร์ออกไปเลย ผมไม่เข้าใจว่าเขาคิดอะไรกันอยู่”
ทั้งนี้ในการบรรยาย ได้มีผู้สนใจทั้งนักวิชาการ นักประวัติศาสตร์ ท้องถิ่น ศิลปิน นักเรียน นักศึกษา พระสงฆ์ ประชาชนชาวสุพรรณ จังหวัดใกล้เคียง และจากกรุงเทพมหานคร ต่างเดินทางมารับฟังคำบรรยาย และสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เมืองสุพรรณและร่องรอยวัฒนธรรมที่เชื่อมต่อในแต่ละช่วงเวลาระหว่างสุพรรณภูมิกับอยุธยา รวมถึงประเด็นต่าง ๆอย่างหลากหลาย.



นายสุจิตต์ วงษ์เทศ นักเขียน นักประวัติศาสตร์-โบราณคดี

ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล ภาควิชาประวัติศาสตร์
คณะมนุษยศาสตร์ รามคำแหง ร่วมตอบข้อซักถาม

ภาพจาก : Matichon Online


ภาพจาก : ชมรมโบราณคดี(สมัครเล่น)เมืองสุพรรณฯ

ภาพจาก : ชมรมโบราณคดี(สมัครเล่น)เมืองสุพรรณฯ