โพสต์แนะนำ

วันศุกร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2561

พระสมเด็จฯวัดพลับ


พระสมเด็จวัดพลับ
สมเด็จพระสังฆราช(สุก ไก่เถื่อน)


             พระเครื่องที่พบในพระเจดีย์เก่ากรุกระรอกเผือกที่วัดราชสิทธารามฯ(วัดพลับ) ฝั่งธนบุรี  มีอยู่ด้วยกันหลายแบบพิมพ์ทรง อาทิ พิมพ์วันทาเสมา(พิมพ์ถือบัว) พิมพ์ตุ๊กตาใหญ่-เล็ก พิมพ์พุงป่องใหญ่-เล็กพิมพ์สมาธิใหญ่-เล็ก พิมพ์สมาธิเข่ากว้าง พิมพ์ปิดตา  และพิมพ์อื่น ๆ สร้างจากเนื้อปูนปั้น แกะแบบพิมพ์ขึ้นอย่างง่าย ๆ แต่ทรงคุณค่าทางภูมิปัญญา และความศรัทธาต่อมหาชนมาช้านาน

พระสมเด็จวัดพลับ พิมพ์ตุ๊กตาใหญ่ ด้านหน้า
             การสร้างพระสมเด็จวัดพลับ เป็นการแกะแม่พิมพ์แบบนูนต่ำเฉพาะส่วนขององค์พระ เมื่อจะทำการกดพิมพ์ ช่างจะนำเนื้อผงที่ผสมกันอย่างได้สัดส่วนแล้วมาปั้นแล้วกดลงไปในแบบพิมพ์ จากนั้นจึงกดแต่งด้านนอกให้เป็นหลังอูมหรือหลังนูน แล้วจึงเคาะออกจากแบบพิมพ์ ดังนั้นพระแต่ละองค์แม้จะเป็นพิมพ์เดียวกัน จึงอาจมีขนาดไม่เท่ากัน เพราะช่างแต่ละคนใช้ปริมาณของก้อนผงไม่เท่ากัน

ด้านหลัง พิมพ์ตุ๊กตาใหญ่
              นอกจากนั้น ความแน่นของเนื้อก็แตกต่างกันจากน้ำหนักการกดพิมพ์ของช่างแต่ละคน เมื่อพระผ่านการตากจนแห้งแล้วนำไปบรรจุกรุ ความแน่นของเนื้อจะมีส่วนสำคัญต่อการคงสภาพขององค์พระ จึงเห็นได้ว่าในบางองค์ด้านข้างองค์พระปริ บางองค์ปริมากจนแตกก็มี ส่วนบางองค์การกดพิมพ์ให้น้ำหนักพอดีและกดแต่งด้านหลังอย่างพิถีพิถัน พระในกลุ่มนี้จึงมีความสวยงาม พิมพ์ติดชัดเจน และเนื้อองค์แน่นไม่ปริแตกง่าย ทั้งนี้ทุกขั้นตอนตั้งแต่การผสมมวลสาร การกดแบบพิมพ์ และนำไปบรรจุกรุ จึงล้วนมีส่วนสำคัญที่มีผลต่อองค์พระทั้งสิ้น

ด้านหน้า พิมพ์ตุ๊กตาเล็ก
              พระสมเด็จวัดพลับ ผ่านการบรรจุภายในเจดีย์ที่ผ่านร้อนผ่านเย็นมาเป็นเวลานาน จึงเกิดคราบน้ำตามรูรั่วและรอยร้าวของพระเจดีย์ รวมถึงคราบฝุ่นละอองที่มีอุณหภูมิภายในเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา กลายเป็นคราบกรุที่นำมาศึกษากัน คราบกรุที่ปรากฏขึ้นบนผิวองค์พระ ในองค์ที่ไม่ผ่านการใช้บูชา เนื้อพระออกขาวอมเหลือง  คราบกรุเป็นสีน้ำตาลอ่อนเข้มและแห้งผาก เหนือคราบน้ำตาลปรากฏคราบฝ้ากระจายเคลือบเป็นหย่อม ๆ คราบฝ้านี้แท้ที่จริงก็คือคราบปรอทตายนั่นเอง นอกจากนั้นยังมีการงอกของเนื้อ และคราบฟองเต้าหู้ที่เกิดขึ้นจากการระเหิดของน้ำประสานภายใน และแห้งฝ่อเมื่อปะทะกับความร้อนอบอ้าวภายในกรุ
ด้านหลัง พิมพ์ตุ๊กตาเล็ก
              สมเด็จวัดพลับที่นำมาลงนี้ มีอยู่ด้วยการ ๒ พิมพ์คือพิมพ์ตุ๊กตาใหญ่ และพิมพ์ตุ๊กตาเล็ก อย่างละ ๓ องค์ เพื่อให้ได้เปรียบเทียบให้เห็นถึงขนาดและพิมพ์ทรง ที่มีความแตกต่างกันอยู่บ้าง เนื่องจากเป็นงานทำด้วยมือ ส่วนที่มีความเหมือนกันนั้นก็คือธรรมชาติของผิวองค์พระที่ได้รับการบรรจุไว้ภายในกรุนั่นเอง

เปรียบเทียบขนาดความแตกต่างระหว่างพิมพ์ตุ๊กตาใหญ่และตุ๊กตาเล็ก
              ในพระสมเด็จวัดพลับ องค์ที่ผ่านการใช้บูชา โดยเฉพาะในอดีตนิยมนำมาถูเหงื่อไคล พื้นที่ส่วนที่สูงจึงเกิดความมันเลื่อม เผยให้เห็นรอยแตกระแหงซึ่งกลายเป็นลายธรรมชาติขององค์พระ แต่ส่วนพื้นที่ต่ำจะยังคงมีธรรมชาติดั้งเดิมเหลืออยู่ ปัจจุบันนิยมเลือกสะสมกันในสภาพเดิม เพราะง่ายต่อการพิจารณา ลองศึกษาเปรียบเทียบกันดูครับ.


ศึกษาเพื่อการอนุรักษ์วัตถุโบราณ
........จันทร์พลูหลวง............

*********

3 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ30 พฤษภาคม 2565 เวลา 17:41

    ราคาเล่นหากันแล้วคับปัจุบันคับ

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ10 กันยายน 2566 เวลา 04:07

    กราบขอบพระคุณมากครับได้ความรู้และได้ประโยชน์ในการพิจารนาพระต่อไปครับ

    ตอบลบ
  3. ไม่ระบุชื่อ19 ตุลาคม 2566 เวลา 06:12

    พิมพ์ตุ๊กตาใหญ่ไม่ทราบราคาเท่าไหร่ครับ

    ตอบลบ