โพสต์แนะนำ

วันจันทร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

พระกรุสุพรรณ


ขุนหลวงพ่องั่ว
กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ


ในบรรดาพระเครื่องภายในกรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ สุพรรณบุรี นอกเหนือจากพระผงสุพรรณ และพระพิมพ์อื่น ๆที่รู้จักกันแพร่หลายแล้ว ยังมีพระเนื้อชินเงินอีกชนิดหนึ่งที่ไม่ค่อยมีคนกล่าวถึง ในรอบ ๔๐ มานี้มีเพียงคนเดียวคือท่านอาจารย์มนัส โอภากุล ครูใหญ่ด้านโบราณคดีและวัตถุโบราณเมืองสุพรรณ อาจารย์มนัสเขียนไว้ในหนังสือ “พระฯเมืองสุพรรณ” ระบุถึงพระพิมพ์เนื้อชินเงินที่มีอยู่หลายพิมพ์ทรง และตั้งข้อสังเกตในพระเนื้อโลหะขนิดหนึ่งว่า


            “..ยังมีเนื้อพระอีกชนิดหนึ่งไม่รู้ว่าเนื้ออะไร ลักษณะของเนื้อเป็นเม็ด ๆ เหมือนทรายขาวสะอาด ข้าพเจ้าเคยเข้าใจเอาเองว่าเป็นส่วนผสมของอลูมิเนียม ถูกผู้รู้จากกรมโลหะกิจคัดค้านมา ก็ต้องยอมจำนนว่าไม่ใช่ทำด้วยอลูมิเนียม เนื้อดังกล่าวนี้มีจำนวนน้อย...”

พระดังกล่าวนั้น เท่าที่เคยพิจารณามีอยู่ด้วยกัน ๕-๖ พิมพ์ทรง แต่มีจำนวนน้อย จึงไม่ได้เป็นที่นิยมในวงการนักสะสมสักเท่าใด ทำให้ถูกมองข้ามไปอย่างน่าเสียดาย แต่หากผู้ที่มีความรู้ด้านวัตถุโบราณลักษณะนี้พบเห็น ก็เป็นเรื่องยากที่จะปล่อยให้หลุดมือ


ในบทความนี้ได้นำพระเครื่องลักษณะดังกล่าวของกรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุมาลงไว้พิมพ์หนึ่ง เป็นรูปทรงกรอบพิมพ์สี่เหลี่ยมผืนผ้า ขอบด้านบนทั้งสองด้านโค้งเข้าหากันไปจรดเกือบกึ่งกลาง มองดูส่วนบนคล้ายกลีบบัว ลงมาคั่นด้วยลายขอบก่อนถึงซุ้มเรือนแก้วทรงกลีบบัว

องค์พระตอนบนเป็นขอบกระจังสวมมงกุฎ หรือ “เทริดขนนก” ๕ กลีบลดหลั่นจากด้านริมไปถึงกลีบกลาง  กลีบส่วนกลางวิ่งตรงรับกับพระเกศที่ยาวไปชนซุ้มเรือนแก้วแล้วทะลุขึ้นไปชนขอบพิมพ์ด้านบนสุด ใต้ขอบกระจังลึกก่อนถึงพระนลาฏ(หน้าผาก)รับกับพระขนง(คิ้ว)คล้ายปีกกาไม่สมดุล พระพักตร์ตอบ พระเนตรปูนเล็กน้อย พระนาสิกยาวลงมาจากพระขนง(คิ้ว)จรดริมพระโอษฐ์ เป็นพระพักตร์แบบสุพรรณภูมิยุคต้น หรือบางทีเรียกว่า อู่ทอง-ลพบุรี 


พระศอเห็นเลือนราง พระอังสา(ไหล่)ทั้งสองด้านตั้งผึ่งผาย พระพาหาซ้ายวาดวงพระกรวางบนพระเพลา  พระพาหาขวาสอบลงมาใกล้ลำพระองค์ก่อนจะผายออกเล็กน้อยแล้ววางพาดพระชานุ(เข่า)ขวาเลยลงมาถึงฐานบัวคว่ำบัวหงายลักษณะแบบลอยองค์ ถัดลงไปมีฐานบัวรองรับที่ขอบพิมพ์อีกชั้นหนึ่ง

พุทธลักษณ์ของพระพิมพ์ทรงเครื่องนี้ มีความสง่างามอย่างมีเอกลักษณ์เฉพาะ ตามคติพุทธและพราหมณ์(Hindu Buddhism) ที่ผู้ปกครองสูงสุดของอาณาจักรมีฐานะเป็นทั้ง “ธรรมราชา” และเทวราชา”ในเวลาเดียวกัน เมื่อถูกพบภายในปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ที่มีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์อันยาวนานบนแผ่นดินสุพรรณภูมิ จึงได้รับการกำหนดพิมพ์ทรงเฉพาะผู้รู้ในอดีตว่าเป็นพระพิมพ์ “ขุนหลวงพ่องั่ว” อย่างแท้จริง




พระพิมพ์ขุนหลวงพ่องั่ว กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุนี้ เป็นพุทธศิลป์ที่อาจเป็นต้นแบบของ พระผงสุพรรณพิมพ์หน้าแก่ ที่สร้างบรรจุไว้ภายในกรุเดียวกัน นอกจากนั้นพระเครื่องที่อยู่ในสมัยเดียวกันยังเห็นได้ชัดจาก พระท่ากระดาน เนื้อชินตะกั่ว กรุศรีสวัสดิ์และกรุหลักเมืองกาญจน์ ยังรวมถึงพระพิมพ์เนื้อดินเผาที่เรียกว่า”ขุนแผนไข่ผ่าซีก” กรุวัดพระรูป สุพรรณบุรี เป็นต้น 


ศึกษาเพื่อการอนุรักษ์วัตถุโบราณ
........จันทร์พลูหลวง............

*********




วันศุกร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

เครื่องปั้นชะเลียง ๘


กุณฑีลายน้ำตาล

กุณฑีหรือภาชนะสำหรับใส่น้ำ(สุรา)
พื้นสีขาวลวดลายน้ำตาลพันธุ์ไม้เถา
กลางภาชนะประกอบด้วยลายปลาสองด้าน
ปากใส่น้ำด้านบนมีสองชั้น ก้นภาชนะลายฟันปลา
ศิลปะสุโขทัย ผลิตจากเตาเผาศรีสัชนาลัย(เมืองชะเลียงเก่า)
อายุราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๒๐ 








*********
Photo By : Parot Samparn Album.

เครื่องปั้นชะเลียง ๗


กาน้ำช่างชะเลียง

กาน้ำสีขาวน้ำตาล ปากบนแคบ มีหูจับ และพวยรินน้ำ
ด้านบนรอบตัวกาน้ำช่างรังสรรค์ลวดลายอ่อนช้อย
ประกอบด้วยลายปลา และพันธุ์ไม้เถา
ผลิตโดยช่างเมืองชะเลียง เตาศรีสัชนาลัย

อายุราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๒๐







*********
Photo By : Parot Samparn Album.

เครื่องปั้นชะเลียง ๖


ไหเหล้ารูปมังกร

ไหภาชนะบรรจุน้ำ หรือสุรา สีขาวดำ 
รูปมังกรมีหูจับ และพวยรินน้ำ
ปากใส่น้ำด้านบนผายบานเล็กน้อย 
รองรับด้วยลายเขียนดอกบัวบาน
กลางภาชนะสองด้านประกอบด้วยลวดลาย
ปลา พืชพันธุ์ไม้เถา และดอกไม้
ศิลปะสุโขทัยเตาศรีสัชนาลัย 
อายุราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๒๐     










*********

Photo By : Parot Samparn Album.



อริยสงฆ์สยาม ๑๑


ครูบาศรีวิชัย
ตนบุญแห่งล้านนา



รูปหล่อโลหะขนาด ๗ นิ้ว สร้างเมื่อปีพ.ศ.๒๔๘๒ โดยช่างหลวง

ครูบาศรีวิชัย เกิดเมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๒๑ ที่บ้านปาง ตำบลแม่ตืน อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน อายุ ๑๘ ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณรต่อมาอายุได้ ๒๑ ปี เข้าอุปสมบทที่วัดบ้านโฮ่งหลวง อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน ได้รับฉายาว่า “สิริวิชโยภิกขุ” โดยมีครูบาสมณะ วัดบ้านโฮ่งหลวง เป็นพระอุปัชฌาย์ จากนั้นได้ศึกษากัมมัฏฐานคาถาอาคมกับพระอุปัชฌาย์ และครูบาอุปละวัดดอยแต อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน

นอกจากวัตรปฏิบัติตามกิจของสงฆ์แล้ว ครูบาศรีวิชัย ฉันอาหารเพียงมื้อเดียว ไม่ฉันเนื้อสัตว์ รวมทั้งหมาก เมี่ยง บุหรี่ ท่านได้ตั้งปณิธานทางธรรมเพื่อสู่นิพพานเพียงสิ่งเดียว ทางด้านการพัฒนาในปีพ.ศ.๒๔๗๗ ได้นำชาวบ้านสร้างทางขึ้นดอยสุเทพ ระยะทาง ๑๑ ก.ม.ใช้เวลาเพียง ๕ เดือน ๒๒ วันจึงแล้วเสร็จ นอกจากนั้นยังตระเวนบูรณะวัดวาอารามในล้านนา รวมถึงสร้างสะพานข้ามลำน้ำปิง

ด้านศาสนา ท่านได้รวบรวมคัมภีร์ใบลานสำคัญที่กระจัดกระจายมาสังคายนาเป็นหมวดหมู่ เพื่อเป็นหลักฐานทางศาสนาและเป็นหลักในธรรมวินัยเป็นจำนวนมาก ในจำนวนนั้นมีทั้ง พระวินัย นิกาย อภิธรรม ธรรมบท สุตตสังคหะ สมันตปาสาทิกา วิสุทธิมรรค ธรรมสวนะชาดก ธรรมโตนา สัททา กัมมวาจา มหาวรรค ธรรมบารมี ธรรมตำนาน และชาดก  รวมทั้งสิ้น ๓๔๔ มัด หรือ ๕,๔๐๘ ผูก

ท่านได้เมตตาสั่งสอนบรรดาศิษย์และบุคคลทั่วไป ซึ่งได้มีการนำไปถ่ายทอดไว้อย่างกว้างขวาง ดังนี้

“เครื่องประดับขัตติยะนารีทั้งหลาย มีแก้วแหวนเงินทอง เป็นตัณหากามคุณ เหมือนดั่งน้ำผึ้งแช่ยาพิษ สำหรับนำความทุกข์มาใส่ตัวโดยบ่มีประโยชน์สิ่งใดเลย แม่น้ำคงคา ยมุนา อิรวดี มหิ มหาสรพู ซึ่งเป็นแม่น้ำใหญ่ทั้ง ๕ แม่น้ำนี้ แม้นจักเอามาอาบให้หมดทั้ง ๕ แม่น้ำนี้ ก็บ่ออาจจะล้างบาป คือความเดือดร้อนภายในให้หายได้ ลมฝนลูกเห็บ แม้นจะตกลงมาหลายห่า เย็นและหนาวสักปานใด ก็บ่อาจเย็นเข้าไปถึงภายในให้หายจากความทุกขเวทนาได้ ศีล ๕ เป็นอริยทรัพย์ เป็นต้นเหตุแห่งความบริสุทธิ์ เป็นน้ำทิพย์สำหรับล้างบาป คือความเดือดร้อนภายในให้หายได้ เมื่อศีลบริสุทธิ์แล้ว สมาธิ ความตั้งมั่นก็จะมีมา แล้วให้ปลุกปัญญา ปัญญาก็จักเกิดมีขึ้นได้ คือให้หมั่นรำลึกถึงตัวตนอยู่เสมอว่า บ่ใช่ตัว บ่ใช่ตน จนเห็นแจ้งด้วยปัญญาของตน จึงเป็นสมุทเฉทประหารกิเลสหมดแล้ว จิตเป็นวิมุติ หลุดพ้นความทุกข์ทั้งมวลได้”

ครูบาศรีวิชัยถึงแก่กาลมรณภาพในวันที่ ๒๒ มีนาคม พ.ศ.๒๔๘๑ ขณะมีอายุ ๖๐ ปี ๙ เดือน ๑๑ วัน ได้รับการขนานนามด้วยความศรัทธาของผู้คนทั้งปวงว่า “เป็นตนบุญแห่งล้านนา”


จันทร์พลูหลวง เรียบเรียง.

*********






วันพุธที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

เครื่องปั้นชะเลียง๕



ไหภาชนะบรรจุเหล้า(น้ำ)
รูปปลามีลายเขียนสีด้วยสีเขียวเข้มออกดำ 
รูปปลาว่ายน้ำอยู่สองด้าน ฐานไหเขียนลายดอกบัวบาน 
ศิลปะสุโขทัยผลิตโดยช่างเมืองชะเลียง( ศรีสัชนาลัย)
อายุราวปลายพุทธศตวรรษที่18-19






ขอขอบคุณที่มา : Album Parot Samparn Photo.

เครื่องปั้นชะเลียง๔


ภาชนะดินเผาตะเกียง
สีขาวน้ำตาล( ลายน้ำทอง)
ลายปลาและพรรณไม้เถาว์ 
ศิลปะสุโขทัย
ผลิตโดยช่างเมืองชะเลียง(ศรีสัชนาลัย)
อายุราวปลายพุทธศตวรรษที่18-19








ขอขอบคุณที่มา : Album Parot Samparn Photo.