โพสต์แนะนำ

วันศุกร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2561

เครื่องปั้นชะเลียง๓

ไหทรงแจกันรูปทรงช้าง
สีขาวลายน้ำตาล(ลายน้ำทอง) ศิลปะสุโขทัย
ผลิตโดยช่างเมืองชะเลียง(ศรีสัชนาลัย)
อายุราวปลายพุทธศตวรรษที่18-19









ขอขอบคุณที่มา : Album Parot Samparn Photo.

หลวงพ่ออยู่ ๒๔๕๙


หลวงพ่ออยู่ วัดบางน้อย
เหรียญโบราณกว่า ๑๐๐ ปี

เหรียญหลวงพ่ออยู่ วัดบางน้อย อ.บางคณฑี จ.สมุทรสงคราม จัดเป็นเหรียญคณาจารย์เก่าแก่อีกเหรียญหนึ่ง สร้างขึ้นในปีพ.ศ.๒๔๕๙ เป็นเหรียญรูปทรงไข่ หูเชื่อม มีเนื้อเงิน และเนื้อทองแดง สำหรับเนื้อทองแดงเท่าที่พบมีการลงกาไหล่เงินและทอง

ลักษณะของเหรียญ ด้านหน้าองค์หลวงพ่ออยู่นั่งบนฐานเกสรเหนือบัว ๑๓ กลีบชั้นเดียว ปางมารวิชัย นุ่งห่มแบบรัดประคดพาดชายสังฆาฏิลงมา ด้านล่างของเหรียญเป็นเลขไทย ๒๔๕๙ ด้านบนเป็นอักขระขอม ด้านหลังเป็นยันต์อักขระรอบ ตอนบนระบุคำว่า “วัด..น้อย” ไม่มีคำว่า “บาง” เข้าใจว่าเป็นภาษาพูดที่ใช้แบบย่อตามภาษาชาวบ้านมาแต่เดิม


เหรียญหลวงพ่ออยู่ เป็นงานสร้างแบบฉลุแผ่นทองแดงเป็นรูปทรงไข่ก่อนจะนำไปปั้มกระแทก แล้วจึงเชื่อมหูโดยใช้โลหะเงินเป็นตัวประสานภายหลัง  ในเหรียญที่ไม่ได้ชุบกาไหล่จะเห็นรอยเชื่อมเป็นสีเงินหม่นชัดเจน แต่ในองค์ที่ชุบกาไหล่อาจดูไม่ถนัดนัก ลักษณะของกาไหล่แม้องค์พระจะได้รับการเก็บรักษามาดีมากเพียงใด แต่กาไหล่ก็จะหดตัวแนบสนิทกับเนื้อพระ สภาพพื้นเหรียญพิจารณาจากส่วนที่ไม่ค่อยถูกสัมผัสจะค่อนข้างเหี่ยวไปตามการรีดแผ่นทองแดง มองดูริ้ว ๆ บางส่วนเป็นตามุ้ง นอกจากนั้นยังเห็นเป็นรูพรุนเล็ก ๆทั่วทั้งองค์อันเป็นธรรมชาติของพระเหรียญที่ผ่านเวลามานาน


เหรียญรุ่นแรกหลวงพ่ออยู่ วัดบางน้อย แม้มูลค่าการแลกเปลี่ยนจะไม่สูงมาก แต่จัดเป็นเหรียญหายากที่ชาวสมุทรสงครามต่างหวงแหนมาก เพราะนอกจากความอ่อนช้อยของอักขระที่ช่างบรรจงออกแบบไว้ ความเป็นพระสงฆ์ที่เคร่งครัดในวัตรปฏิบัติ และในพิธีปลุกเสกยังเปี่ยมไปด้วยพลังพุทธคุณจากพระคณาจารย์ที่มีชื่อในเวลานั้น ได้แก่ หลวงพ่อรุ่ง วัดดอนยายหอม เป็นอาจารย์ของหลวงพ่อเงินวัดดอนยายหอม หลวงพ่อแท่น วัดป่าแป้น และหลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม ซึ่งเป็นทั้งศิษย์และร่วมปลุกเสกในพิธีนี้เช่นกัน จึงเป็นพระเหรียญเก่าที่น่าเสาะแสวงหาไว้บูชาอีกเหรียญหนึ่งครับ.


ศึกษาเพื่อการอนุรักษ์วัตถุโบราณ
........จันทร์พลูหลวง............

*********


วันพฤหัสบดีที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2561

เหรียญหลวงปู่ไข่

เหรียญหลวงปู่ไข่ รุ่นแรก
วัดบพิตรภิมุข (เชิงเลน) กทม.



ในบรรดาคนที่ชอบพระเครื่องประเภทเหรียญ พระปั้มเนื้อทองแดงของหลวงปู่ไข่ อินทสโร วัดเชิงเลน หรือวัดบพิตรภิมุข ดูจะเป็นที่เสาะแสวงหากัน เพราะเชื่อกันว่าสร้างน้อยจึงหายาก ทำให้ปัจจุบันมีมูลค่าการแลกเปลี่ยนสูงลิบจนเป็นการยากที่คนฐานะทั่วไปจะครอบครองได้

เหรียญรุ่นแรกหลวงปู่ไข่ วัดเชิงเลน เป็นพระเครื่องที่มีการสร้างมากก่อนปี พ.ศ.๒๕๐๐ ว่ากันว่า สร้างในปีพ.ศ.๒๔๗๓ เป็นเหรียญปั้มหูในตัวรายละเอียดมีเฉพาะด้านหน้า กลางเหรียญเป็นรูปหลวงปู่ไข่แบบนูนต่ำนั่งในท่าสมาธิ  ด้านบนเป็นอักขระฉายาของท่าน ด้านหลังเหรียญไม่มีรายละเอียด


การพิจารณาพระเหรียญทองแดงเก่า นอกเหนือจากตำหนิพิมพ์ทรงทั่วไปที่เป็นเหรียญปั้มหูในตัวขอบข้างเลื่อยแล้ว  การเน้นรายละเอียดที่เนื้อพระก็มีส่วนสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน และอาจมีน้ำหนักมากกว่าหากต้องการจะแสวงหาพระแท้อายุถึง การดูเนื้อพระที่มีการสร้างก่อนปีพ.ศ.๒๕๐๐ มีหลักพิจารณาดังนี้

ประการแรก ให้ยกเหรียญส่องทำมุมเอียงกับแสง ส่องลงไปให้โฟกัสกับผิวพระอย่างชัดเจน จะพบว่ามีรูพรุนปลายเข็มทุกส่วนขององค์พระ รูพรุนนี้เกิดจาการหดตัวของโลหะและปฏิกิริยาการกัดกร่อนระหว่างธาตุในอากาศกับเนื้อโลหะ


ประการที่สอง พระเหรียญเก่ามักจะเกิดสภาพที่เรียกว่า “ตารางตามุ้ง”อย่างไม่เป็นระเบียบคือไม่เป็นเส้นตรงตัดสลับ แต่เส้นของตามุ้งจะบิดเฉไปตามการหดตัวของเนื้อโดยรวม นอกจากนั้นปัจจัยที่ต้องพิจารณาตามุ้งให้กระจ่าง ให้พิจารณาด้านบนของตามุ้งจะต้องเรียบมนไม่เป็นคมขึ้นมา เพราะในเหรียญปั้มที่มีอายุเพียง ๒๐-๓๐ ปี ก็มีตามุ้งเช่นกันแต่ส่วนบนจะเป็นขอบสันคมกว่า เหตุเพราะว่าอายุยังน้อยนั่นเอง.


ศึกษาเพื่อการอนุรักษ์วัตถุโบราณ
........จันทร์พลูหลวง............

*********

วันพุธที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2561

เครื่องปั้นชะเลียง๒

ภาชนะไหบรรจุเหล้าทรงน้ำเต้า
ลายปลาและไม้เถาเขียนด้วยสีเข้มเขียว
ศิลปะช่างสุโขทัย ฝีมือช่างเมืองชะเลียง(ศรีสัชนาลัย)
อายุราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๑๙






ขอขอบคุณที่มา : Album Parot Samparn Photo.

เครื่องปั้นชะเลียง๑


ภาชนะใส่น้ำทรงแจกันรูปช้าง
ข้างไหสองด้านประดับด้วยลายปลา
เขียนลายด้วยสีเขียวเข้ม ศิลปะสุโขทัย
จากผลงานการผลิตโดยช่างเมืองชะเลียง (ศรีสัชนาลัย)

อายุราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๑๙







ขอขอบคุณที่มา : Album Parot Samparn Photo.


พระปิดตา ๓


พระปิดตาหลวงพ่อแก้ว
พิมพ์ใหญ่ หลังแบบ วัดเครือวัลย์



พระปิดตาหลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ ชลบุรี เป็นพระเครื่องที่ได้รับความนิยมในหมู่ผู้ชื่นชอบพระปิดตา ด้วยพุทธคุณที่เน้นเสน่ห์เมตตามหานิยมอันเป็นตำนานลือลั่นมาแต่อดีต


พระปิดตาของหลวงพ่อแก้ว มีอยู่ด้วยกันหลายรูปแบบพิมพ์ทรง จึงมีการแบ่งออกเป็นหลักกว้าง ๆว่าเป็นพิมพ์ใหญ่ พิมพ์กลาง และพิมพ์เล็ก ด้านหน้าเป็นรูปแบบเฉพาะของพระปิดตา ส่วนด้านหลังมีทั้งหลับแบบ หลังเรียบ และหลังยันต์


สำหรับพระที่นำมาลงไว้นี้ เป็นพระปิดตาพิมพ์ใหญ่ หลังแบบ เนื้อหามวลสารเป็นแบบเนื้อผงคลุกรักแล้วชุบรัก ด้านหลังกดด้วยพระปิดตาพิมพ์เล็ก แต่ในบางองค์ก็พบว่ากดด้วยพิมพ์กลาง และพิมพ์ใหญ่ ไม่แน่นอนตายตัว การพิจารณาพระเก่าได้อายุ นอกจากรูปแบบพิมพ์ทรงแล้ว เนื้อรักจะเกาะติดฝังแน่นกับเนื้อพระ เนื้อแผ่นรักจะไม่กระเดิด หากจะหลุดก็ร่อนออกไปเลย ส่วนเนื้อในออกสีน้ำตาลเกือบเข้มแต่หากถูกสัมผัสบ่อยก็จะออกเข้มแบบสีเนื้อกะลา และหากทิ้งไว้โดยไม่สัมผัสเนื้อที่เป็นสีกะลาจะออกเทา เมื่อถูกสัมผัสจึงจะกลับมาเป็นน้ำตาลเข้มแบบเดิมครับ.


ศึกษาเพื่อการอนุรักษ์วัตถุโบราณ
........จันทร์พลูหลวง............


*********


วันพฤหัสบดีที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2561

ศรีวิชัย ๕


พระโพธิสัตว์วัชรปาณี
ศิลปะสมัยศรีวิชัย (Srivijaya)



พระโพธิสัตว์วัชรปาณี ในพุทธมหายาน-วัชรยาน
ประทับนั่งแบบมหาราชลีลา พระผู้ขจัดความชั่วร้ายทั้งปวง
หล่อจากโลหะสำริด กะหลั่ยทอง ศิลปะสมัยศรีวิชัย
มีอายุระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๖
พบในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้




*********
ที่มา : Album Parot samparn/Parotboonta.

พระโพธิสัตว์กวนอิม


พระโพธิสัตว์กวนอิม
สมัยราชวงศ์ถัง (Chaina Tang)





พระโพธิสัตว์กวนอิม แกะสลักจากหินหยกเขียว
ปฏิมากรรมจีนตามแบบพุทธมหายาน
สมัยราชวงศ์ถัง พุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๔(ค.ศ.618-907)
มีขนาดหน้าตักกว้าง ๓๔ ซ.ม.ความสูงจากฐาน ๘๗ ซ.ม.

*********

ที่มา : Album Parot Samparn/Parotboonta.

อริยสงฆ์สยาม ๑๒


รูปหล่อหลวงปู่ทอง
วัดราชโยธา ๒๔๖๙


รูปหล่อโลหะหลวงปู่ทอง ขนาดหน้าตัก ๗ นิ้ว 
สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ 


หลวงปู่ทอง วัดราชโยธา เกิดในสมัยปลายรัชกาลที่ ๒ ในปีพ.ศ.๒๓๖๓ อุปสมบทในปีพ.ศ.๒๓๘๔ ณ วัดบางเงินพรม ตลิ่งชัน ได้รับฉายา “อายะนะ” หลังจากศึกษาพระธรรมวินัยแล้วจึงออกธุดงควัตร และได้เป็นศิษย์ของหลวงปู่แสง วัดเกาะ(ปัจจุบันเรียกวัดมณีชลขันธ์) ลพบุรี ซึ่งเป็นสำนักเดียวกับที่เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต พฺรหฺมรํสี)เคยไปร่ำเรียนรุกขมูลและศึกษาวิปัสสนากรรมฐานนานถึง ๓ ปี(1)

หลังจากนั้นหลวงปู่ทองก็ร่ำเรียนสรรพวิชชาอีกหลายพระอาจารย์จนมีชื่อเสียงโด่งดัง และกลับมาประจำวัดเงินบางพรม ตลิ่งชัน เช่นเดิม ต่อมาเมื่อพระยาราชโยธา(เนียม สิงหเสนี)และพระยาสุเรนทร์ราชเสนา(พึ่ง สิงหเสนี) หลานปู่ของเจ้าพระยาบดินทรเดชา(สิงห์ สิงหสนี) สร้างวัดลาดบัวขาวขึ้นในปีพ.ศ.๒๔๑๕จึงได้นิมนต์หลวงปู่ทอง จากวัดเงินบางพรม มาเป็นเจ้าอาวาสวัดลาดบัวขาว ซึ่งต่อมาชาวบ้านเรียกกันว่า “วัดราชโยธา”ตามยศของผู้สร้าง


หลวงปู่ทอง ครองวัดราชโยธา มานานถึง ๖๕ ปี จึงมรณภาพด้วยโรคชราในปีพ.ศ.๒๔๘๐ รวมอายุได้ ๑๑๗ ปี ๙๖ พรรษา ในสมัยรัชกาลที่ ๘ เป็นอริยสงฆ์องค์สำคัญของกรุงรัตนโกสินทร์ที่มีอายุยืนยานถึง ๗ แผ่นดิน.


จันทร์พลูหลวง เรียบเรียง.

*********
ข้อมูลประกอบบทความ

วิญญู บุญยงค์.สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต พฺรหฺมรํสี): ผู้ทรงคุณวิเศษเมตตามหาบารมี.๒๕๕๔.


วันศุกร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2561

ศรีวิชัย ๔


พระโพธิสัตว์ปัทมปาณี
ศิลปะสมัยศรีวิชัย (Srivijaya)



พระโพธิสัตว์ปัทมปาณี ในคติพุทธมหายาน-วัชรยาน ประทับนั่งแบบมหาราชลีลา
พระหัตถ์ถือดอกบัว เนื้อโลหะสำริดกาหลั่ยทอง ศิลปะสมัยศรีวิชัย (Srivijaya)
อายุระหว่างพุทธศตวรรษที่13-16

*********

ที่มา : Album Parot samparn/Parotboonta.

พระปิดตา ๔

ปิดตาหลวงปู่จีน

พิมพ์แข้งหมอนใหญ่


ประวัติความเป็นมาของหลวงปู่จีน มีเพียงคำบอกเล่าสืบต่อกันมาว่า ท่านเกิดในราวปีพ.ศ.๒๓๕๗ เมื่ออุปสมบทแล้วท่านธุดงค์จาริกเรื่อยมาจนถึงวัดท่าลาด ใช้สรรพวิชชาที่ร่ำเรียนมาสั่งสอนและรักษาผู้คนจนชื่อเสียงเลื่องลือไปทั่วแปดริ้ว ต่อมาชาวบ้านร่วมกันอาราธนาให้ท่านปกครองวัดสืบมาตั้งแต่ราวปีพ.ศ.๒๓๙๗ จนถึงพ.ศ.๒๔๔๐ ได้มรณกรรมที่วัดท่าลาดนั่นเอง

ตลอดการครองวัดท่าลาด นอกจากเมตตาช่วยเหลือผู้คนแล้วท่านได้สร้างพระปิดตา และเครื่องรางของขลังอีกหลายอย่าง แจกจ่ายให้นำไปบูชาใช้ติดตัว เช่นตะกรุด ผ้ายันตร์ และสีผึ้งทาปาก เป็นต้น ส่วนที่ได้รับความนิยมมากที่สุดเห็นจะเป็นพระปิดตา สร้างกันหลายพิมพ์เช่น พิมพ์แข้งหมอน พิมพ์เม็ดกระบก พิมพ์กลีบบัว และพิมพ์ไม้ค้ำเกวียน แต่ละพิมพ์ก็มีหลายแบบแยกย่อยออกไปอีก


สำหรับพระปิดตาองค์ที่นำมาลงนี้ เรียกว่า พระปิดตาพิมพ์แข้งหมอนใหญ่  สร้างจากเนื้อผงวิเศษและมวลสารอันเป็นมงคลแล้วใช้น้ำรักเป็นน้ำประสานที่เรียกกันว่า “เนื้อผงคลุกรัก” พระปิดตาของท่านเป็นพระแบบเนื้อละเอียดเนียมนุ่มตาแต่หากใช้กล้องส่องที่พื้นผิวจะพบรอยยุบย่นและรูพรุนอยู่ทั่วไป เป็นพระปิดตารูปทรงออกแบบง่าย ๆแต่แฝงพลัง และความเข้มขลังอยู่ในที

องค์พระเป็นแบบเศียรโล้น พระกรรณ(หู)แนบข้างพระปราง(แก้ม) พระกรรณซ้ายสั้นกว่าด้านขวา ส่วนของลำพระองค์ไม่ปรากฏ พบแต่เพียงส่วนที่เป็นพระพาหาและวงพระกร(ต้นแขนถึงปลายแขน)มาบรรจบกันแบบพนมมือ ปลายพระหัตถ์ชนอยู่ใต้พระหนุ(คาง)



จุดสังเกต พระพาหาหรือต้นแขนด้านขวาองค์พระค่อนข้างอวบกว่าด้านซ้าย ใต้พระกัประ(ข้อศอก)ขวามีเส้นลางๆลงมาจรดพระชานุ(เข่า) ซอกพระพาหาด้านขวากว้างและลึกกว่าด้ายซ้าย วงพระกรด้านซ้ายบางกว่าด้านขวา พระเพลาด้านซ้ายหนากว่าด้านขวา และด้วยเอกลักษณ์ที่พระเพลาเป็นเส้นนูนติดกันเหมือนหมอนจึงเป็นที่มาของชื่อพิมพ์นั่นเอง องค์พระประดิษฐานภายในเส้นซุ้มขยักเว้าตามรูปทรงพระ มีเนื้อส่วนเกินนอกซุ้มโดยรอบ ส่วนด้านหลังองค์พระนูนอูม

ปัจจุบันพระปิดตาหลวงปู่จีน วัดท่าลาด พิมพ์แข้งหมอนใหญ่ ได้รับความนิยมมากที่สุดพิมพ์หนึ่ง และเป็นหนึ่งในเบญจภาคีพระปิดตา เช่นเดียวกับปิดตาหลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ ปิดตาหลวงปู่ไข่ วัดเชิงเลน ปิดตาหลวงปู่เอี่ยม วัดสะพานสูง และปิดตาหลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว พระปิดตาของหลวงปู่จีนนี้บางองค์ถูกนำไปปิดทองทับหลังได้รับจากมือหลวงปู่จีน จัดเป็นพระเครื่องหายากอีกองค์หนึ่งครับ.


ศึกษาเพื่อการอนุรักษ์วัตถุโบราณ
........จันทร์พลูหลวง............

*********

วันพฤหัสบดีที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2561

พระปิดตา ๒

ปิดตาหลวงพ่อแก้ว
พิมพ์ใหญ่ หลังแบบ


พระปิดตาหลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ มีอยู่ด้วยกันหลายเนื้อหามวลสาร อาทิ เนื้อผงขาว เนื้อผงคลุกรัก และเนื้อว่าน ส่วนด้านพิมพ์ทรงมีหลายพิมพ์ อาทิ พิมพ์ใหญ่ พิมพ์กลาง พิมพ์เล็ก และพิมพ์จิ๋ว แต่ละพิมพ์ยังแยกย่อยออกไปตามลักษณะสัญลักษณ์ด้านหลังองค์พระ เช่น หลังแบบ หลังเรียบ หลังอูม และหลังยันต์ เป็นต้น 



พระปิดตาหลวงพ่อแก้วองค์ที่นำมาลงไว้นี้ เป็นเนื้อผงวิเศษคลุกรัก เนื้อพระจึงออกสีน้ำตาลหม่นหรือคล้ำหรือที่เรียกว่า”เนื้อกะลา” ในบางองค์พบเป็นสีออกเทาหม่นก็มี เป็นแบบพิมพ์ใหญ่มีฐานและขอบ ด้านหลังปั้มด้านหน้าของพระปิดตาพิมพ์ใหญ่ลงไปจึงทำให้เห็นเป็นหลังแบบขนาดใหญ่ ชุบรักจีนทับอีกชั้น  เรียกว่า “ผงคลุกรักชุบรัก” และปิดแผ่นทองทับด้านหน้า


พระปิดตาหลวงพ่อแก้วมวลสารผงคลุกรักชุบรักนี้ เมื่อผ่านกาลเวลามานาน ผิวรักจะหลุดร่อนออกไปโดยเฉพาะบริเวณที่ถูกสัมผัสบ่อย ส่วนรักที่ยังไม่หลุดออกไปเนื้อรักจะแนบสนิทกับเนื้อพระไม่มีร่องรอยกระเดิดให้เห็น สำหรับเห็นเนื้อในที่นอกจากจะออกสีน้ำตาลคล้ำแล้ว ผิวของเนื้อในจะเป็นปุ่มปมอันเกิดจากการหดตัวของมวลสารต่าง ๆไม่เรียบเสมอกัน และบริเวณผิวพื้นทุกอณูจะพบเป็นรอยพรุนปลายเข็ม เป็นจุดหนึ่งของการพิจารณาพระเครื่องโบราณที่มีอายุมากกว่า ๑๐๐ ปีครับ.


ศึกษาเพื่อการอนุรักษ์วัตถุโบราณ
........จันทร์พลูหลวง............

*********

ศรีวิชัย ๓



พระโพธิสัตว์ปัทมปาณี
ศิลปะสมัยศรีวิชัย (Srivijaya)



พระโพธิสัตว์ปัทมปาณี หล่อด้วยเนื้อโลหะสำริดกาหลั่ยทอง
ศิลปะสมัยศรีวิชัย อายุราวพุทธศตวรรษ13-16
ความสูงรวมฐาน32cm. ความสูงรวมฐาน 38cm.

*********
ที่มา : Album Parot samparn/Parotboonta.