โพสต์แนะนำ

วันพฤหัสบดีที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

พระปิดตา ๑


ปิดตาหลวงพ่อแก้ว
พิมพ์ปั้น วัดปากทะเล

พระปิดตาที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับหนึ่งในปัจจุบัน คือพระปิดตาของหลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ ชลบุรี ได้รับการจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในเบญจภาคีพระปิดตา ประกอบด้วย ปิดตาหลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ ชลบุรี ปิดตาหลวงปู่จีน วัดท่าลาด ฉะเชิงเทรา ปิดตาหลวงปู่เอี่ยม วัดสะพานสูง นนทบุรี ปิดตาหลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว กาญจนบุรี และปิดตาหลวงปู่ไข่ วัดเชิงเลน กทม.

พระปิดตาทั้งห้านี้ แม้จะต่างวัด แต่มีความเหมือนกันอยู่ประการหนึ่งคือ สร้างจากเนื้อผงและมวลสารศักดิ์สิทธิ์ อาจมีความแตกต่างในรายละเอียดการสร้างที่แต่ละคณาจารย์ต่างมีสรรพวิชชาโดดเด่นกันไปเฉพาะทาง ดังเช่นพระปิดตาของหลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ ที่ได้รับการกล่าวขานมาแต่โบราณว่าให้คุณด้านมหาเสน่ห์ และเมตตามหานิยม

แม้ไม่อาจทราบอย่างชัดเจนว่า สูตรการสร้างพระปิดตาเนื้อผงของหลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ เป็นอย่างไร แต่สามารถเทียบเคียงกับสูตรการทำผงวิเศษ ๕ ประการของเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต พรหฺมรํสี) ที่หลวงพ่อแก้วมีอายุอยู่ร่วมสมัยกับพระองค์ท่าน ผงวิเศษที่ว่า ได้แก่ ผงอิธะเจ ผงปถมัง ผงมหาราช ผงพุทธคุณ และผงตรีนิสิงเห

คุณสมบัติของผงวิเศษให้คุณวิเศษแตกต่างกันไป เช่นผงอิธะเจให้คุณวิเศษด้านมหาเสน่ห์ ผงปถมังให้คุณวิเศษด้านคงกระพัน ผงมหาราชให้คุณวิเศษด้านอำนาจเมตตาปัดเป่าทุกข์ ผงพุทธคุณให้คุณวิเศษด้านเมตตามหานิยม และผงตรีนิสิงเหให้คุณวิเศษด้านป้องกันเขี้ยวงา โรคภัย และภูตผีปีศาจ


สำหรับพระปิดตาหลวงพ่อแก้ว เชื่อกันว่ามีส่วนผสมของผงวิเศษทั้ง ๕ ประการ แต่เน้นไปที่ผงอิธะเจ และผงพุทธคุณ จึงทำให้พระปิดตาของท่านมีคุณวิเศษด้านมหาเสน่ห์และเมตตามหานิยมอย่างโดดเด่น

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันพระปิดตาหลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ส่งผลให้เกิดการแลกเปลี่ยนเป็นมูลค่าสูงมาก เกินกว่ากำลังคนธรรมดาทั่วไปจะไขว่คว้าเป็นเจ้าของได้ แม้กระนั้นก็ยังมีทางเลือกที่จะได้ครอบครองพระปิดตาของท่านบางส่วนที่คนสามัญเอื้อมถึง นั่นก็คือ พระปิดตา พิมพ์ปั้น ที่ท่านได้สร้างขึ้นที่วัดปากทะเล จังหวัดเพชรบุรี ก่อนที่จะย้ายมายังจังหวัดชลบุรี


พระปิดตาพิมพ์ปั้นที่สร้างขึ้นที่วัดปากทะเลนี้ สร้างจากเนื้อผงวิเศษแบบเดียวกับที่วัดเครือวัลย์ทุกประการ ความแตกต่างอยู่การนำเนื้อผงวิเศษและมวลสารศักดิ์สิทธิ์มาผสมด้วยน้ำประสาน แล้วปั้นด้วยมือทีละองค์จนได้เป็นรูปทรงพระปิดตาลอยองค์ จากนั้นจึงใช้วัสดุคาดว่าน่าจะเป็นเส้นตอก ขีดลงไปยังตำแหน่งต่าง ๆให้เป็นนิ้วมือ สังฆาฏิ และจีวร เป็นต้น ดังนั้นพระปิดตาพิมพ์ปั้นลอยองค์ของหลวงพ่อแก้วจึงไม่เหมือนกันเลยสักองค์เดียว เพราะเป็นงานทำด้วยมือ(Handmade)นั่นเอง แตกต่างไปจากพระปิดตาที่สร้างขึ้นที่วัดเครือวัลย์เป็นงานที่กดเนื้อพระลงไปในแม่พิมพ์


สำหรับพระปิดตาพิมพ์ปั้นลอยองค์ที่นำมาลงไว้นี้ มีขนาดหน้าตักและส่วนสูงเท่ากันคือ ๓X๓ ซ.ม. จัดเป็นพระปิดตาที่ปั้นขึ้นอย่างสวยงามแล้วขีดแต่งจนเป็นรูปทรงที่สมบูรณ์ที่สุดองค์หนึ่ง จากนั้นจึงทาด้วยน้ำรักสีดำแล้วปิดแผ่นทองทับด้านหน้าอีกชั้นหนึ่ง บางส่วนที่เนื้อรักหลุดออกไป พบเนื้อด้านในออกสีคล้ำแห้ง หรือที่เรียกกันว่า สีกะลา ซึ่งเป็นสีที่เชื่อกันว่าสร้างด้วยเนื้อผงผสมกับรัก หรือผงคลุกรัก

พระปิดตาหลวงพ่อแก้ว พิมพ์ปั้นลอยองค์ วัดปากทะเล ยังมีรูปแบบพิมพ์ทรงอีกหลากหลาย ค่อย ๆหมั่นศึกษาเสาะหากันไป เพราะหากจะกล่าวไปแล้วพระปืดตาพิมพ์ปั้นของที่นี่ เป็นพระที่สร้างขึ้นมาก่อนด้วยศิลปกรรมแบบพื้นบ้านให้ความหมายถึงจิตวิญญาณ และความศรัทธาในพุทธศาสนาอย่างเต็มเปี่ยม มากไปกว่านั้น หากผู้ใดมีโอกาสครอบครอง ก็เท่ากับได้ของวิเศษอันเป็นมงคลที่มีองค์เดียวในโลก นั่นเอง.


ร่วมกันศึกษาเพื่อการอนุรักษ์วัตถุโบราณ
.............จันทร์พลูหลวง................

*********

ข้อมูลประกอบบทความ
-หนังสือสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) : ผู้ทรงคุณวิเศษเมตตามหาบารมี”.2554.

วันพุธที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

รูปปั้นเล่าจื้อ


รูปปั้นกระเบื้องเคลือบบุคคลสำคัญของจีน 
เป็นศิลปกรรมสมัยราชวงศ์ชิง ราวพุทธศตวรรษที่ 22 
"เล่าจื้อ"เป็นนักปรัชญาเจ้าลัทธิเต๋าชาวจีนที่มีชื่อเสียงที่สุดท่านหนึ่ง
 เป็นผู้เขียนตำรา "เต๋าเต็กเก็ง"มีชีวิตอยู่ในช่วงก่อนปีค.ศ. 500 
ในระหว่างที่จีนเกิดสงครามกลางเมืองหรือยุคซุ่นชิว






***********

อริยสงฆ์สยาม ๑๐

สมเด็จพระสังฆราช
(แพ ติสฺสเทโว)



สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ประสูติเมื่อวันพุธ เดือน ๑๒ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีมะโรง จุลศักราช ๑๒๑๘ ตรงกับวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๓๙๙ ทรงดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๘๑ สถิต ณ วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร ทรงดำรงตำแหน่ง ๖ ปี สิ้นพระชนม์ในวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๘๗ รวมพระชันษาได้ ๘๙ ปี.

พระนางพญา ๒


นางพญา อกนูนใหญ่
ด้านหลังพิมพ์สังฆาฏิ


ขึ้นชื่อว่าพระนางพญา ใครต่อใครต่างก็ต้องการครอบครอง โดยเฉพาะสุภาพสตรี กับนาม "นางพญา" ดูจะเป็นที่ไขว่คว้ากันมาก เพราะเชื่อกันว่าเป็นเสน่ห์เมตตามหานิยม และอำนาจ แต่ในความเป็นจริงสุภาพบุรุษโดยเฉพาะข้าราชการทหาร ตำรวจ ต่างก็เสาะแสวงหากันอยู่ไม่น้อย ด้วยเรื่องราวที่มีการเล่าต่อ ๆกันมาในด้านความเหนียว และคงกระพันชาตรี พระนางพญาจึงกลายเป็นพระที่มีพุทธคุณครบเครื่อง และเป็นที่เลื่องลือมานับแต่ครั้งที่เกิดการแตกกรุใหม่ ๆ


พระนางพญา เป็นพระเนื้อดินตระกูลเดียวที่ไม่ผ่านการกรองดินดังเช่นพระรอด พระซุ้มกอ  และพระผงสุพรรณ อาจเป็นเพราะอยู่ในช่วงภาวะสงครามที่การสร้างเป็นไปอย่างรีบเร่ง ดินที่นำมาใช้จึงถูกผสมคลุกเคล้าไปกับมวลสารมงคลในทันที แต่หากจะกล่าวไปแล้ว เนื้อของพระนางพญาที่ไม่ผ่านการกรอง ก็เป็นเสน่ห์เฉพาะตัวไปอีกเช่นกัน เพราะเม็ดกรวดแต่ประเภทและสีที่คละเคล้ากันมีความแตกต่างกันอย่างลงตัว และกลายเป็นลายแทงให้ผู้ศึกษาเนื้อพระนางพญาใช้เป็นจุดสำคัญในการพิจารณาไปในตัว ที่สำคัญการมีเม็ดกรวดผสมอยู่กับเนื้อดินต้องมีปริมาณหรือสัดส่วนที่ลงตัว ไม่มากเกินไปหรือน้อยเกินไป หากสัดส่วนใดไม่สมดุล พระองค์นั้นอาจถูกตั้งข้อสังเกตได้


สำหรับองค์ที่นำมาลงไว้นี้ เป็นพระนางพญา พิมพ์อกนูนใหญ่ ค่อนไปทางอ้วน บางทีเรียกกันว่า”พิมพ์อ้วน”ก็มี พระนางพญาองค์นี้มีขนาดกว้าง ๒.๒ ซ.ม.สูง ๓.๒ ซ.ม.หนาประมาณ ๐.๙ ซ.ม. ขอบพระทุกด้านถูกตัดรับกับสัดส่วนองค์พระ หรือที่เรียกว่า “ตัดขอบชิด” อาจเป็นจินตนาการของช่างผู้ทำการกดแบบพิมพ์ต้องการตกแต่งให้เป็นแบบใหม่ดูบ้าง จึงเกิดเป็นองค์พระที่มีเอกลักษณ์เฉพาะขึ้นมา

พระนางพญา พิมพ์อกนูนใหญ่องค์นี้ พระพักตร์กลมมนใหญ่ปรากฏพระเนตร พระนาสิก และพระโอษฐ์ลาง ๆ พระกรรณทั้งสองด้านยาวลงจรดพระอังสา และเป็นเส้นเดียวกันที่ยาวขึ้นไปบนพระนลาฏ(หน้าผาก)เป็นกระจังหน้า เหนือขึ้นไปเป็นพระเกศโคนใหญ่ปลายเรียว พระอังสา(บ่า)กว้าง พระอุระใหญ่ล้นนูนขึ้นมา อันเป็นที่มาของชื่อแบบพิมพ์ทรง


เส้นจีวรลากจากพระอังสาซ้ายลงใต้ซอกพระพาหา(แขนท่อนบน)ขวาเป็นเส้นลึกชอนเข้าไป ชายสังฆาฏิพาดเฉียงขวาลงไปถึงพระอุทร(ท้อง) พระพาหาด้านซ้ายบางกว่าด้านขวา วงพระกรซ้ายวางลงเป็นแนวโค้งรับกับพระอุทร พระกัประซ้าย(ข้อศอกซ้าย)ปรากฏเส้นชายจีวรลงไปยังพระชานุ(เข่า)ซ้าย พระกรขวาวางพาดลงบนพระชานุ พระเพลา(ตัก)ด้านบนปรากฏพระชงฆ์(แข้ง)ซ้ายวางพาดไปทางขวาเป็นเส้นบาง ส่วนด้านล่างเป็นเส้นฐานหนากว่า รวมแล้วเป็นพุทธศิลป์ปางมารวิชัย ที่มีความเอิบอิ่มสมบูรณ์

ในพระองค์นี้ นอกจากจะมีลักษณะพิเศษเพิ่มเติมจากการตัดชิดแล้ว ด้านหลังยังปรากฏเป็นลายหลังกระดาน มีพระนางพญาพิมพ์สังฆาฏิวางขวางกลางครึ่งพระองค์  แตกต่างไปจากพระบางองค์ที่พบในลักษณะคล้ายกันแต่พระด้านหลังจะวางอยู่ตรงกลางแนวเดียวกับด้านหน้า


การพิจารณาความเก่าของเนื้อพระนางพญา อยู่ที่ความกร่อน และการยุบย่นของผิวทุกอณูโดยรวม และทั่วทั้งองค์ปรากฏเม็ดผดขึ้น นอกจากนั้นตามรอยครูดที่ปาดแบบชิดองค์เผยให้เห็นเส้นทิวเล็กที่ลู่ไปตามรอยตัดเป็นเส้นที่หดตัวบิดรูปอย่างชัดเจน ส่วนที่เป็นเม็ดแร่มีการหดตัวของดินรอบข้าง เช่นเดียวกับส่วนที่เป็นรูโพรงตรงปากรูก็จะหดตัวโดยรอบเช่นกัน

พระนางพญา ยังสังเกตได้จากคราบกรุบนพื้นผิว ที่เห็นได้ชัดบริเวณตามซอกที่ไม่ถูกสัมผัส มักพบคราบกรุสีออกน้ำตาลและถูกคลุมทับด้วยราดำ คราบกรุที่มีลักษณะอย่างนี้ แม้จะผ่านการล้างกี่ครั้งก็ตาม เมื่อเนื้อพระแห้งตัวดีแล้ว คราบกรุก็จะกลับปรากฏขึ้นมาใหม่ เป็นลักษณะเฉพาะของพระกรุที่มีอายุหลายร้อยปีนั่นเองครับ.


ศึกษาเพื่อการอนุรักษ์วัตถุโบราณ
..........จันทร์พลูหลวง..........

*********

วันอังคารที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

เหรียญหล่อหลวงพ่อทา

เหรียญหลวงพ่อทา

วัดพะเนียงแตก รุ่น ๒


หลวงพ่อทา โสณุตฺตโร วัดพะเนียงแตก จังหวัดนครปฐม เป็นพระอริยสงฆ์ต้นรัตนโกสินทร์ เกิดเมื่อปีพ.ศ.๒๓๖๖ มีอายุยืนนานถึง ๙๖ ปี ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์สุดท้ายที่ "พระครูอุตรการบดี" ดำรงตำแหน่ง "เจ้าคณะแขวงรองเมืองนครไชยศรี และพระอุปัชฌาย์ทางตอนเหนือขององค์พระปฐมเจดีย์ในสมัยรัชกาลที่ ๕


หลวงพ่อทา ท่านเป็นพระที่เคร่งครัดในวัตรปฏิบัติ รอบรู้ในปริยัติธรรม วิปัสสนา กัมมัฏฐาน ทั้งคาถาอาคม และมนตรา เล่ากันสืบเนื่องมาว่า สมัยก่อนพวกนักเลงเสือร้ายชุกชุม มักจะชอบมารวมตัวกันในงานวัด ดังคราวหนึ่งวัดพะเนียงแตกสมัยนั้นยังมีชื่อว่าวัดปทุมคงคามีงานประจำปี บรรดานักเลงเกิดมีเรื่องวิวาทกัน หลวงพ่อทาจึงเดินไปเอามือปิดกระบอกพลุขณะที่มีผู้จุดชนวนไว้ ปรากฏว่าพลุระเบิดคากระบอก แต่หลวงพ่อทากลับไม่เป็นอะไร  เหล่าเสือร้ายนักเลงเถื่อนจึงต่างยอมศิโรราบและเกรงกลัวท่านมาก ถึงกับขนานนาม “หลวงพ่อเสือ” แต่นั้นมาวัดนี้ก็ถูกเรียกขานเป็น วัดพะเนียงแตก


หลวงพ่อทา เป็นพระแห่งราชสำนักจึงเข้าร่วมพระราชพิธีครั้งสำคัญเสมอมา เป็นที่โปรดปรานของสมเด็จพระพุทะเจ้าหลวง รัชกาลที่ ๕ เป็นอย่างมาก ท่านมีอายุอยู่ร่วมสมัยกับพระอริยสงฆ์องค์สำคัญหลายรูป ที่อาวุโสกว่าท่านก็เห็นจะเป็น เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต พฺรหฺรํสี) วัดระฆัง ธนบุรี สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๘ หลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ ชลบุรี หลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน พิจิตร หลวงปู่จีน วัดท่าลาด ฉะเชิงเทรา หลวงปู่นาค วัดห้วยจระเข้ นครปฐม และหลวงปู่เอี่ยม วัดสะพานสูง นนทบุรี



ส่วนพระอริยสงฆ์ที่มีอายุรุ่นคราวเดียวหรือใกล้เคียงกับท่าน องค์สำคัญ และเป็นที่รู้จักกันดีได้แก่ หลวงพ่อม่วง วัดบ้านทวน กาญจนบุรี และหลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย สมุทรปราการ เป็นต้น ส่วนพระชั้นศิษย์ได้แก่ หลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง หลวงพ่อเต๋ วัดสามง่าม หลวงพ่อวงษ์ วัดทุ่งผักกูด  นครปฐม หลวงพ่อแดง วัดทุ่งคอก สุพรรณบุรี และหลวงพ่อเที่ยง วัดม่วงชุม กาญจนบุรี

วัตถุมงคลที่หลวงพ่อทา ได้สร้างไว้มีทั้งพระเครื่อง และเครื่องรางของขลัง ปัจจุบันใครมีต่างก็เก็บรักษาไว้อย่างหวงแหน ส่วนใครที่ยังไม่มีต่างก็พยายามไขว่คว้าให้ได้ แต่ถึงทุกวันนี้หากจะได้มาก็ต้องแลกเปลี่ยนด้วยมูลค่าที่สูงมาก พระเครื่องที่ท่านสร้างเป็นเหรียญหล่อรุ่นแรก ออกที่วัดบางหลวง ในราวปีพ.ศ.๒๔๔๐ ซึ่งครั้งหนึ่งท่านเคยเป็นเจ้าอาวาสอยู่นั่น และสร้างอีกครั้งเป็นเหรียญหล่อรุ่น ๒ ที่วัดพะเนียงแตก นอกจากนั้นยังมีพระปิดตามหาอุตม์ และเครื่องรางต่าง ๆอีกเป็นจำนวนมาก


สำหรับเหรียญหล่อที่นำมาลงไว้นี้ เป็นเหรียญหล่อรุ่น ๒ ออกที่วัดพะเนียงแตก ในราวปีพ.ศ.๒๔๕๐ ห่างจากเหรียญหล่อรุ่นแรกราว ๑๐ ปี เหรียญรุ่นนี้มีทั้งแบบหูในตัวและไม่มีหู ในที่นี่เป็นแบบหูในตัว เป็นเหรียญหล่อรูปทรงชะลูดคล้ายห้าเหลี่ยมตอนบนขยักเป็นซุ้มมีหูในตัว ด้านในมีเส้นซุ้มอีกชั้นวิ่งขนานตามแนวซุ้มนอก ด้านบนจึงมีลักษณะคล้ายประภามณฑล องค์พระประทับนั่งขัดสมาธิเพชร บนฐานสองชั้น  ด้านหลังเป็นเส้นซุ้มเช่นเดียวกับด้านหน้า ตรงกลางเป็นอักขระขอม “อุ” และ “มิ”


เหรียญหล่อรุ่น ๒ สร้างแบบการหล่อโบราณจากเบ้าประกบหน้าหลัง เนื้อโลหะทองผสม บางองค์แก่ทองคำ พื้นรอบองค์พระด้านหน้า และรอบตัวอักขระด้านหลัง ไม่ราบเรียบเป็นคลื่นเล็กน้อย ในพระที่ไม่ผ่านการใช้จะปรากฏคราบขึ้นมาปกคลุม วรรณะภายนอกจึงคล้ำไปทางน้ำตาลเข้ม อาจมีสนิมเขียวแซมประปราย แต่หากถูกสัมผัสมือจะเกิดความมันวาวขึ้นมาอันเป็นธรรมชาติของพระโบราณอายุกว่า ๑๐๐ ปี นอกจากนั้นทุกส่วนขององค์พระแม้จะมีรอยขรุขระมากน้อยเพียงใด แต่จะไม่มีความคมเกิดขึ้นเลย เมื่อสัมผัสเหรียญหล่อจะค่อนข้างลื่นมือจากการคลายตัวของสารโลหะในเนื้อพระที่ออกมาคลุมองค์พระนั่นเอง ลักษณะนี้จึงคล้ายกับพระสมเด็จฯที่มีการคลายตัวของน้ำมันตังอิ้ว นอกจากนี้หากใช้กล้องส่องที่มีกำลังขยายสูงจะพบว่าพื้นผิวทุกส่วนของเหรียญหล่อมีรอยยุบย่นขรุขระอยู่ทุกอณู ในทางวิทยาศาสตร์เรียกว่า “การแลกเปลี่ยนอิเลคตรอนระหว่างเนื้อโลหะกับธาตุอากาศ” จึงทำให้เกิดลักษณะพื้นผิวอย่างนี้

ปัจจุบัน เหรียญหล่อรุ่น ๒ ของหลวงพ่อทา ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก บางท่านให้ความสำคัญมากกว่าเหรียญรุ่นแรก ด้วยเหตุที่เหรียญรุ่นนี้สร้างที่วัดพะเนียงแตกเป็นครั้งแรกโดยตรง จึงเรียกกันว่าเป็นเหรียญรุ่นแรกของวัดพะเนียงแตก และด้วยความนิยมที่ทวีมากขึ้นตามลำดับ จึงมีการสร้างเลียนแบบออกมาเป็นจำนวนมาก ผู้สนใจจึงควรศึกษาข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆด้วยตนเอง ทั้งจากตำรา และผู้ที่มีความรอบรู้เชื่อใจได้ จึงจะมีโอกาสครอบครองพระเครื่องอันทรงคุณค่า ที่หลวงพ่อทาได้มอบไว้เป็นสมบัติทางพุทธศาสนาแก่ลูกหลานในวันนี้ครับ.


ศึกษาเพื่อการอนุรักษ์วัตถุโบราณ
..........จันทร์พลูหลวง..........

*********

พระกำแพง ๒


พระซุ้มกอดำ พิมพ์ใหญ่


ตามปกติพระตระกูลกำแพงเพชรที่พบกันอยู่ทั่วไป มีเนื้อหลักอยู่ ๒ สี คือ สีแดง และสีดำ และเมื่อเอ่ยถึงพระซุ้มกอดำจะคิดไปถึงพระซุ้มกอที่ไม่มีกนก เหตุผลก็เพราะส่วนใหญ่แล้วพระกำแพงซุ้มกอที่ไม่มีกนกมักเป็นสีดำ แต่ในความเป็นจริงมีทั้งสีดำและสีแดงอิฐ เช่นเดียวกับพระพิมพ์ที่มีกนกก็มีทั้งสองสีนี้อยู่ด้วยเช่นกัน รวมถึงยังมีสีแยกย่อยออกไปอีกหลายโทน

พระกำแพงพิมพ์ซุ้มกอสีดำที่นำมาลงไว้นี้ เป็นพระพิมพ์ใหญ่ นิยม มีความแตกต่างไปจากพระซุ้มกอมีกนกอย่างสิ้นเชิงทั้งองค์พระปฏิมาและรายละเอียดในพิมพ์ทรง จัดเป็นพุทธศิลป์เชียงแสนที่มีต้นเค้าค่อนไปทางลังกาตามศิลปะโปโลนนารุวะ ด้วยเหตุที่ในรัชสมัยพระมหาธรรมราชาลิไท ทรงอาราธนาพระสงฆ์จากลังกาเข้ามา จึงคาดว่าอิทธิพลของศิลปะจะเข้ามาทางนี้ในรัชสมัยของพระองค์

พระซุ้มกอดำ พบพร้อมกับพระซุ้มกอมีกนกและพระกำแพงพิมพ์อื่น ๆ จากกรุพระบรมธาตุ ตั้งแต่คราวที่เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต พฺรหฺมรํสี) มากำแพงเพชรในปีพ.ศ.๒๓๙๒ และต่อมาพบอีกหลายกรุในบริเวณทุ่งเศรษฐี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นที่ตั้งของวัดสายอรัญญิก หรือวัดที่เน้นไปทางวิปัสสนากรรมฐาน


การที่พระกำแพงซุ้มกอดำมีพุทธศิลป์แบบเชียงแสนลังกาวงศ์  องค์พระประธานจึงได้รับการออกแบบให้ผึ่งผายใหญ่ล่ำ เหนือพระเศียรเป็นรัศมีตั้งขอบขึ้นแล้วลาดเอียงเข้าหาพระพักตร์ เช่นเดียวกับขอบด้านนอกทุกส่วนลาดเอียงเข้าหาองค์พระเช่นกัน พุทธลักษณ์โดยรวม พระเกศทรงดอกบัวตูม ลงมาเป็นพระเมาลี พระเศียร และหน้ากระจัง พระพักตร์เกลี้ยงกลมมนทรงไข่ พระอังสา(บ่า)แผ่กว้าง พระอุระกว้างสอบลง ลำพระองค์ทั้งสองด้านเฉียงออกเล็กน้อยชนกับผนังใน  พระพาหา(ไหล่-แขนท่อนบน)หนาคล้ายมีกล้าม วางผายออก ถัดไปเป็นวงพระกร(แขนท่อนล่าง)ลดขนาดลงแต่มีความหนาเช่นกัน ก่อนเป็นพระหัตถ์นูนเด่นกลางพระองค์เหนือพระเพลา ประทับนั่งแบบขัดสมาธิราบบนฐานเขียง ความโดดเด่นของพระซุ้มกอดำ จึงอยู่ที่รายละเอียดของพระประธานที่มีความสง่างามจากการออกแบบให้เป็นนูนต่ำในตำแหน่งกึ่งกลางเหนือผนังโดยรอบ


เมื่อพิจารณาสภาพผิวสีดำของพระซุ้มกอแล้ว พบว่าไม่เป็นสีดำสนิท หากแต่ดำหม่นปนเทา ซึ่งน่าจะเกิดจากการคลายตัวของน้ำว่านมงคลบางชนิดออกมาเคลือบองค์พระ ในพระซุ้มกอดำบางองค์ที่พบหากสภาพสึกจะเห็นเนื้อในแห้งคล้ายสีกะลา ดังนั้นสีดำที่เห็นจึงน่าจะเป็นสีจากปฏิกิริยาทางธรรมชาติ ส่วนเนื้อพระซุ้มกอดำเป็นพระเนื้อละเอียดและแน่น พื้นผิวโดยรวมมองดูเรียบ แต่หากใช้กล้องส่องดูก็จะพบความเหี่ยวทั้งเป็นริ้วและขรุขระทั่วทั้งองค์ นอกจากนั้นบริเวณที่เป็นส่วนลึกเช่นซอกพระพาหา จะพบราดำเกาะตัวเหนือคราบกรุน้ำตาล

นอกจากพระซุ้มกอดำ พิมพ์ใหญ่แล้ว ยังมีขนาดกลางอีกพิมพ์หนึ่ง ก็ได้รับความนิยมเช่นกัน นอกจากนั้นยังพบในพระซุ้มกอขนาดเล็กที่ด้านหลังเป็นพิมพ์พระปางเปิดโลก และแบบหลังก้นหอย อาจมีน้อยจึงไม่ค่อยได้รับความนิยม แต่หากมีโอกาสพบและพิจารณาสภาพธรรมชาติเป็นแบบเดียวกันก็จะถือว่าโชคดี เพราะไม่ว่าจะเป็นพระพิมพ์แบบใด นิยมหรือไม่ แต่เป็นพระที่สร้างขึ้นในเวลาเดียวกัน มีอายุความเก่าเท่ากัน โดยเฉพาะพุทธคุณด้านโชคลาภ เมตตามหานิยม และคงกระพัน มีเหมือนกันทุกประการ นั่นเองครับ.



ร่วมกันศึกษาเพื่อการอนุรักษ์วัตถุโบราณ
.............จันทร์พลูหลวง................

*********



วันจันทร์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

พระนางพญา ๑


นางพญา พิมพ์เข่าโค้ง


พระนางพญา เริ่มเป็นที่รู้จักของผู้คนเมื่อคราวสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ ๕ เสด็จประพาสเมืองพิษณุโลกในปีพ.ศ.๒๔๔๔ เพื่อทรงหล่อพระพุทธชินราชจำลองไปประดิษฐานยังวัดเบญจมบพิตร ในคราวนั้นทางวัดนางพญาได้จัดเตรียมสร้างพลับพลาที่ประทับ พระกรุนางพญาจึงแตกขึ้นมาขณะขุดหลุมเตรียมปักเสา เมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จพระราชดำเนิน ทางวัดจึงทูลเกล้าฯถวายไปเป็นจำนวนมาก

ต่อมามีการพบเพิ่มเติมแต่ผู้คนสมัยนั้นไม่ได้ตื่นเต้นอะไรนัก เพราไม่มีค่านิยมนำพระหรือของวัดเข้าบ้าน พระที่พบจึงถูกนำไปกองไว้ตามพระเจดีย์เก่า หรือใส่ไหฝังไว้ตามไร่นาไม่นำเข้าบ้าน อาจมีนัยยะที่ต้องการให้พระคุ้มครองอาณาบริเวณพื้นที่ก็เป็นได้ ในระยะต่อมาจึงมีการพบพระนางพญาบรรจุในไหอยู่ตามท้องนาบ้าง โคนต้นไม้บ้างนั่นเอง


พระนางพญาที่พบนั้น มีอยู่ด้วยกันหลายพิมพ์ ได้แก่ พิมพ์เข่าโค้ง พิมพ์เข่าตรง พิมพ์อกนูนใหญ่ พิมพ์อกนูนเล็ก พิมพ์สังฆาฏิ และพิมพ์เทวดา เป็นต้น นอกจากนั้นในพระนางพญาทุกแบบพิมพ์ยังมีอยู่หลายเนื้อแบ่งเป็น ๓ ประเภทหลักคือ เนื้อหยาบ เนื้อละเอียด และเนื้อละเอียดปนหยาบ  ส่วนสีของพระนางพญายังมีอยู่ด้วยกันหลากหลายแตกต่างกันไปตามความแรงอ่อนของไฟที่เผาเช่น สีออกเขียวมีเขียวตับเป็ดหรือเขียวตากบ เขียวหินครก เขียวมะกอก ส่วนสีอื่นเช่น สีดอกพิกุล สีหัวไพล สีอิฐ สีแดง  สีขมิ้นชัน สีน้ำตาลเข้ม และสีดำ เป็นต้น


การพิจารณาพระนางพญา ต้องเข้าใจถึงอายุพระที่มีตำนานเล่าขานมาว่าสร้างโดยพระวิสุทธิกษัตรีย์ พระมเหสีในสมเด็จพระมหาธรรมราชา และทรงเป็นพระราชมารดาสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระนางพญาจึงมีอายุอยู่ในราว ๔๐๐ ปีโดยประมาณ ตามศิลปะแบบอยุธยา ดังนั้น ทั้งเนื้อหา พิมพ์ทรง และร่องรอยต่าง ๆ ต้องมีความเป็นธรรมชาติสมเหตุผลกับกาลเวลา

พระนางพญา นอกจากรูปทรงสัณฐานเป็นสามเหลี่ยมมีความหนา องค์พระสามารถตั้งบูชาได้ ส่วนเนื้อหานอกจากมวลสารอันเป็นมงคลเช่น ว่าน และเกสรดอกไม้ตามสูตรการสร้างแล้ว เนื้อหลักเป็นดินและกรวด จึงทำให้พระนางพญามีความแข็งแกร่งจากกรวดที่เข้าไปเสริมให้โครงสร้างพระแข็งแรง และมีความหนึกนุ่มจากเนื้อดินและว่านเกสร โดยเฉพาะองค์พระที่ผ่านการใช้บูชา ส่วนกรวดที่พบในองค์พระมีสัณฐานทั้งกลม รี และเหลี่ยมไม่แน่นอน แต่จะไม่มีความคม มีทั้งสีน้ำตาล ขาวใส ขาวขุ่น และดำ


สำหรับองค์ที่นำมาลงนี้ เป็นพระนางพญา พิมพ์เข่าโค้ง สีออกเขียวคล้ำ เนื้อละเอียดปนหยาบ มีความเงาวาวอันเนื่องมาจากผ่านการใช้บูชา  ด้านข้างขององค์พระและด้านล่างมีรอยตัดแบบชิดทั้งองค์ รอยตอกเป็นเส้นใหญ่มีระยะห่าง  องค์พระลอยตัวไม่มีฐาน ประทับนั่งปางมารวิชัย พระหัตถ์ขวาพาดลง พระหัตถ์ซ้ายวางโค้งเหนือพระเพลาที่โค้งรับอยู่ด้านล่าง

ส่วนสำคัญที่ต้องนำมาพิจารณาเพิ่มเติม คือคราบกรุของพระนางพญาที่มีความแตกต่างกันใน ๒ แบบ คือกลุ่มแรก พระนางพญาที่พบอยู่ตามพื้นดินบริเวณวัดนางพญา พระกลุ่มนี้จะมีคราบกรุเหมือนคราบดินออกน้ำตาลอ่อนและเข้มสลับกันไป เป็นคราบที่เกาะติดฝังแน่นไม่สามารถล้างออกได้ง่ายและคราบนี้ยังมีความยุบย่นเป็นริ้วอยู่ทั่วไป ใต้คราบกรุยังพบราดำ มีข้อสังเกตว่าราดำที่พบตามซอกจะมีมิติเหนือพื้นผิว แต่บริเวณที่เนื้อพระถูกสัมผัส ราดำจะแนบสนิทลงไปในเนื้อ และมีส่วนให้ผิวของเนื้อเข้มขึ้นไปตามสีของราดำด้วยเช่นกัน


ส่วนอีกกลุ่ม เป็นพระนางพญาที่พบอยู่ในไห พระกลุ่มนี้จะมีความสมบูรณ์มากกกว่า เนื่องจากไม่ผ่านการใช้งาน สภาพขององค์พระยังดูชัดเจนสวยงามทุกส่วน แต่มีจุดที่พิจารณาได้คือคราบกรุที่เป็นฝ้าละอองหรือที่เรียกว่าคราบแคลเซียม เหนือคราบนี้เป็นราดำกระจายอยู่ทั่วไป เห็นได้จากบริเวณซอก หรือตามหลุมแอ่งตลอดทั่วทั้งองค์พระ นอกจากนั้นสภาพพื้นผิวทั้งองค์จะปรากฏรอยผดขนาดเล็ก

พระนางพญา เป็นพระเครื่องอันทรงคุณค่า ว่ากันว่าเบื้องหลังความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรสยามในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทั้งอำนาจทางการทหารและการทูตการค้ากับต่างชาติ ส่วนหนึ่งมาจากพระนางพญา ที่บรรดาเหล่าข้าราชการในพระองค์อาราธนาเป็นอำนาจบารมีทั้งแคล้วคลาด คงกระพันชาตรี และเมตตามหานิยม.


ร่วมกันศึกษาเพื่อการอนุรักษ์วัตถุโบราณ

.............จันทร์พลูหลวง................

*********

วันอาทิตย์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

พระสมเด็จฯ๑๗


พระสมเด็จฯวัดระฆัง พิมพ์ฐานแซม


พระสมเด็จฯวัดระฆัง ที่สร้างโดยเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต พฺรหฺมรํสี) องค์นี้จัดอยู่ในแบบพิมพ์ฐานแซม วรรณะขาวอมเหลือง ผ่านการใช้บูชามาบ้างจึงเห็นถึงความหนึกนุ่มฉ่ำใส ที่เกิดจากสภาพอากาศภายนอกแทรกตัวเข้าไปในเนื้อพระ ประกอบกับความร้อนและเหงื่อจากผู้ที่นำไปบูชาย่อมทำให้องค์พระเกิดความฉ่ำยิ่งขึ้น

พระองค์ในภาพ กรอบนอกองค์พระตัดแบบชิดเส้นกรอบบังคับพิมพ์ แต่ยังเห็นแนวเส้นกรอบด้านขวาองค์พระลงมาจากมุมบนวางแนบคู่กับเส้นซุ้มด้านล่าง ส่วนเส้นบังคับซ้ายลงมาชนเส้นซุ้มระดับปลายฐานชั้นที่ ๒ เส้นซุ้มโดยรวมหนาใหญ่แบบเส้นผ่าหวาย สำหรับองค์พระ เส้นฐาน และเส้นแซม เป็นไปตามแบบพิมพ์นิยม มีส่วนที่พิเศษเพิ่มขึ้นคือประทับนั่งแบบขัดสมาธิเพชร  


ในพระสมเด็จฯวัดระฆัง พิมพ์ฐานแซมองค์นี้ สภาพผิวพระโดยรวมยุบตัวทั่วทั้งองค์ บ่งบอกว่าเนื้อพระก่อนนำลงกดในแบบพิมพ์ค่อนข้างเหลว ส่วนเนื้อหามวลสารมีการกระจายตัวทั้งเศษผงถ่าน เกสรดำ ส้ม น้ำตาล ด้านหลังปรากฏรอยปูไต่ หนอนด้น แอ่งรอบมวลสารเก่า หลุม และโพรงเกสร ตามลักษณะธรรมชาติของพระสมเด็จฯวัดระฆัง


ส่วนด้านข้างทั้งสอง ด้านบน และด้านล่าง เป็นรอยตอกตัด ครูดกับเนื้อพระ ทำให้ผิวด้านขอบมีรอยลู่และช่องอากาศเกิดขึ้น เมื่อเวลาผ่านไปนานเกิดการหดตัวยุบตัว จึงเห็นรอยแอ่งรอยเว้าและรอยลู่ชัดเจนมากขึ้น นอกจากนั้นสภาพื้นผิวทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ปรากฏรอยพรุนปลายเข็มทั่วทุกอณูเช่นกัน



ในอดีตมีความพยายามของผู้นิยมเสาะหาพระสมเด็จฯวัดระฆัง เมื่อได้มาก็นำองค์พระมาถูกกับเหงื่อไคลตามผิวหน้า หรือบางครั้งหนักไปกว่านั้นก็นำใบตองแห้งมาขัดให้เกิดความมัน จนปัจจุบันองค์พระที่ถูกนำไปกระทำอย่างนั้น กลายเป็นพระดูยากไปเลย พระสมเด็จฯที่สวยงามอย่างแท้จริงดูกันที่ความเป็นธรรมชาติ ผิวขององค์พระที่ผ่านมานานย่อมมีร่องรอยปรากฏให้เห็น แต่การถูกนำไปขัดถูกย่อมทำให้ร่องนั้นตื้นหรือจนกระทั่งหายไป


การพิจารณาพระสมเด็จฯวัดระฆัง นอกจากเนื้อหามวลสาร และพิมพ์ทรงแล้ว ในส่วนของร่องรอยธรรมชาติที่ผ่านกาลเวลา จึงย่อมเป็นปัจจัยสำคัญในการพิจารณาครับ.


ร่วมกันศึกษาเพื่อการอนุรักษ์วัตถุโบราณ
.............จันทร์พลูหลวง................

*********
ข้อมูลประกอบบทความ
-หนังสือสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) : ผู้ทรงคุณวิเศษเมตตามหาบารมี”.2554.