โพสต์แนะนำ

วันอาทิตย์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2561

กวนอิมหลังสิงโต


พระโพธิสัตว์กวนอิม
ประทับนั่งเหนือสิงโตดั่นเมฆ



              พระโพธิสัตว์กวนอิม แกะสลักจากหินหยกขาว เขียนสีทับ ประทับนั่งปางมหาราชลีลาบนหลังสิงโตดั่นเมฆเหนือบัลลังก์บัวคว่ำ พระวรกายลงรักปิดทอง อาภรณ์เขียนสีทับลวดลายหลากสี ศิลปะช่างจีนแห่งราชวงศ์ถัง มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๔

*********

โพธิสัตว์กวนอิมหลังมังกร


พระโพธิสัตว์กวนอิม
ประทับนั่งเหนือหลังมังกร
            



             พระโพธิสัตว์กวนอิม แกะสลักจากหินหยกขาวเขียนสีทับ ประทับนั่งปางมหาราชลีลาบนหลังมังกร พระวรกายลงรักปิดทอง อาภรณ์ประดับเขียนสีทับด้วยลวดลายหลากสี ศิลปะช่างจีนแห่งราชวงศ์ถัง อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๔

*********

วันเสาร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2561

กวนอิมบัลลังก์สิงห์


พระโพธิสัตว์กวนอิม
ศิลปะสมัยราชวงศ์ถัง


พระโพธิสัตว์กวนอิม ปางเสวยสุข
ประทับบนหลังสิงโต แสดงพลังอำนาจ
แกะสลักจากหินหยกขาว ศิลปะจีนสมัยราชวงศ์ถัง
อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๔

*********

กวนอิมหยกขาว


พระโพธิสัตว์กวนอิม
ศิลปะสมัยราชวงศ์ถัง


พระโพธิสัตว์กวนอิม ปางประทานพร
บนบัลลังก์ดอกบัวคว่ำดอกบัวหงาย
แกะสลักจากหินหยกขาว ศิลปะจีนสมัยราชวงศ์ถัง
อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๔
              
****************

กวนอิมจากหินสบู่


พระโพธิสัตว์กวนอิม
ศิลปะสมัยราชวงศ์ถัง


พระโพธิสัตว์กวนอิม ปางเสวยสุข
ประทับบนโขดหินปางมหาราชลีลา
แกะสลักจากหินสบู่ ศิลปะจีนสมัยราชวงศ์ถัง
อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๔

*********

วันศุกร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2561

พระสมเด็จฯ๓๖


พระสมเด็จฯบางขุนพรหม
พิมพ์ปรกโพธิ์ วัดใหม่อมตรส


             คุณสมบัติประการหนึ่งของพระสมเด็จฯกรุพระเจดีย์ วัดบางขุนพรหมใน คือเนื้อแห้งและแกร่ง เนื้อหลักเป็นปูนเปลือกหอยกาบ เผาแล้วนำมาทุบโขลกจนเป็นผง เมื่อผ่านกระบวนการหมักแล้วนำมานวด คลุกเคล้าด้วยน้ำมันตั่งอิ้ว เนื้อจึงประสานเป็นหนึ่งเดียว ก่อนจะนำไปกดในแม่พิมพ์ แล้วตากจนแห้งก่อนจัดเตรียมเพื่อเข้าสู่พิธีพุทธาภิเษกที่มีเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต พฺรหฺมรํสี)เป็นองค์ประธาน


              พระสมเด็จฯบางขุนพรหม พิมพ์ปรกโพธิ์ จัดเป็นแบบพิมพ์หนึ่งที่ได้รับการรังสรรค์ออกมาเป็นลักษณะเฉพาะแบบลงตัว ตั้งแต่กรอบเส้นบังคับพิมพ์แบบสี่เหลี่ยมผืนผ้าตั้งขึ้น ถัดมาเป็นเส้นซุ้มครอบแก้วมีขนาดเรียวเล็กสม่ำเสมอ การตีวงโค้งด้านบนด้านขวาจะกินพื้นที่เข้าไปมากกว่า พื้นที่ภายในซุ้มต่ำกว่าด้านนอก

              ภายในกรอบซุ้มครอบแก้ว ด้านบนเป็นใบโพธิ์สองฝั่งคั่นกลางด้านพระเกศปลายแหลม ด้านละ ๗ ใบ พระพักตร์ของพระพิมพ์นี้มีการออกแบบให้ปรากฏพระเนตร พระนาสิก และพระโอฐ พระกรรณทั้งสองข้างด้านบนผาย ด้านล่างทิ้งตรงลงมาจรดพระอังสาทั้งสองด้าน พระศอกลืนหายไปกับผนัง พระอังสาซ้ายแคบกว่าด้านขวา ลำพระองค์นูนต่ำ ประทับนั่งแบบสมาธิปลายพระบาทซ้ายคลายออกไปจรดเส้นแซมของฐานชั้นที่ ๓ เส้นแซมนี้ยังมีปรากฏในฐานชั้นที่ ๒ ส่วนชั้นที่ ๑ เป็นแผ่นกระดานมีร่องกลางยาวขนาน ด้านหลังปาดเรียบ


              พระสมเด็จฯบางขุนพรหม องค์นี้จัดเป็นพระองค์หนึ่งที่มีองค์ประกอบของเส้นสายแบบบอบบาง เมื่อพิจารณาควบคู่ไปกับผิวที่มีวรรณะขาวออกเหลืองแห้ง แต่มีความนุ่มนวลอยู่ในตัว ประกอบกับคราบกรุสีน้ำตาลอ่อน-แก่ ในบางตำแหน่งทั้งด้านหน้าและด้านหลัง เพิ่มความเข้มขลังที่มีกาลเวลากว่า ๑๐๐ ปีเป็นสิ่งยืนยัน จึงจัดเป็นพระสมเด็จฯบางขุนพรหมที่มีความสวยงามทั้งเนื้อหาและพิมพ์ทรงอย่างลงตัวครับ.

ศึกษาเพื่อการอนุรักษ์วัตถุโบราณ
........จันทร์พลูหลวง............

*********

วันจันทร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2561

พระสมเด็จฯ๓๕


พระสมเด็จฯบางขุนพรหม
พิมพ์ใหญ่ วัดใหม่อมตรส

             พระสมเด็จฯบางขุนพรหม เป็นพระเครื่องที่เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต พฺรหฺมรํสี)สร้างขึ้นตามที่เสมียนตราด้วงโยมอุปัฏฐากนิมนต์ให้พระองค์มาเป็นประธานจัดสร้าง มีจำนวน ๘๔,๐๐๐ องค์ แต่การสร้างมีระยะเวลาค่อนข้างจำกัด เจ้าประคุณสมเด็จฯจึงทรงอนุญาตให้ขรัวตาพลอยนำพระสมเด็จฯวัดระฆังมารวมด้วยจำนวนหนึ่ง ส่วนพระสมเด็จฯบางขุนพรหมที่สร้าง ก็ใช้ทั้งแบบพิมพ์ของวัดระฆัง และแบบพิมพ์ที่ทำขึ้นใหม่ พระสมเด็จฯในกรุนี้จึงมีความหลากหลายอยู่พอสมควร


              สำหรับพระสมเด็จฯบางขุนพรหม ที่อัญเชิญมาลงไว้นี้ เป็นพระสมเด็จฯพิมพ์ใหญ่ เป็นพิมพ์ของบางขุนพรหมโดยตรง ซึ่งได้รับความนิยมและการยอมรับอย่างแพร่หลาย ลักษณะของแบบพิมพ์เป็นการแกะพิมพ์ค่อนข้างตื้น เส้นซุ้มโดยรอบมีลักษณะฐานกว้างบนแคบ จึงมองดูเหมือนเส้นซุ้มบาง เอกลักษณ์ของเส้นซุ้มยังอยู่ตอนบนส่วนครอบนั้นเป็นเส้นล้ม

              องค์พระประทับนั่งสมาธิ พระพักตร์ผลมะตูมพระเกศโคนใหญ่ปลายเรียวจรดซุ้ม พระอุระเป็นรูปตัววี พระพาหาและวงพระกรด้านขวาองค์พระวาดเป็นวงโค้ง พระชานุซ้ายยกสูงกว่าด้านขวา เส้นฐานทั้ง ๓ ชั้นมีการบิดตัวเป็นเอกลักษณ์ของพระที่ผ่านการบรรจุอยู่ในพระเจดีย์ ส่วนด้านหลังปาดเรียบ


              วรรณะขององค์พระออกขาวเหลือง ในพระองค์นี้ทั้งด้านหน้าและด้านหลังปรากฏคราบกรุคลุมอยู่บาง ๆแต่ชัดเจน ออกสีเหลืองน้ำตาลอ่อนและเข้ม เมื่อถูกสัมผัส จะมีความฉ่ำมันวาว เนื้อมีความแห้งและแข็งแกร่ง แต่ก็เปราะจึงต้องระมัดระวังในการอาราธนาบูชา จัดเป็นพระเครื่องของเจ้าประคุณสมเด็จฯอีกองค์หนึ่งที่ควรค่าต่อการศึกษาครับ.

ศึกษาเพื่อการอนุรักษ์วัตถุโบราณ
........จันทร์พลูหลวง............

*********

วันศุกร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2561

พระสมเด็จฯ๓๔


พระสมเด็จฯเกศไชโย พิมพ์เจ็ดชั้น 

ผู้สร้าง     : สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี)
สถานที่   : วัดไชโยวรวิหาร อ่างทอง
ศิลปะ     : รัตนโกสินทร์
อายุ        : พุทธศตวรรษที่ ๒๔



ศึกษาเพื่อการอนุรักษ์วัตถุโบราณ

........จันทร์พลูหลวง............

*********

วันจันทร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2561

พระสมเด็จฯ๓๓


สมเด็จฯวัดระฆัง
พิมพ์ทรงฐานแซม

             พระสมเด็จฯวัดระฆัง พิมพ์ฐานแซม ที่อัญเชิญมาลงไว้นี้เป็นแบบพิมพ์ที่ได้รับความนิยมอีกพิมพ์หนึ่ง เนื้อในขาวหม่นอมเขียวเล็กน้อย ได้รับการลงรักน้ำเกลี้ยงทั้งด้านหน้าและด้านหลัง เมื่อรักหลุดร่อนออกไปจึงเห็นเนื้อในที่มีความหนึกนุ่มตามคุณสมบัติของพระสมเด็จฯวัดระฆัง  และเมื่อพิจารณามวลสารพบก้อนผงเก่าฝังอยู่ รวมถึงผงตะไบเงิน และผงตะไบทอง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวัตถุมงคลที่เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต พฺรหฺมรํสี)นำมาเป็นส่วนผสมในองค์พระ



              พระสมเด็จฯวัดระฆังองค์นี้ มีขนาด ๒.๓ ซ.ม.สูง ๓.๕ ซ.ม.ทั้งการกดพิมพ์และการตัดขอบสมดุลได้สัดส่วนค่อนข้างสมบูรณ์ และยังมีข้อสังเกตด้วยว่า หลังการกดพิมพ์แล้วนำองค์พระไปตากในสาดหรือกระด้ง อาจถูกคว่ำด้านหน้าลงอย่างไม่ตั้งใจเพราะเป็นการตากจำนวนมาก จึงพบว่าบริเวณพระพักตร์(หน้า) พระอุระ(อก) วงพระกร (แขนท่อนล่าง) พระชานุ(เข่า)ทั้งสองด้าน ตลอดจนหัวฐานทั้ง ๓ ชั้น มีลักษณะแบนเรียบลงไป ซึ่งเกิดขึ้นจากขั้นตอนการตากขณะองค์พระยังไม่แห้งนั่นเอง


              องค์พระได้รับการเก็บรักษาโดยไม่ผ่านการใช้ แต่จากผิวองค์พระที่ถูกคราบฝุ่นเกาะกุมผสมกับการระเหิดของน้ำตั่งอิ้วภายใน คราบจึงฝังอยู่บนผิวเป็นเวลานาน แต่ก็ไม่ได้ทำให้ความสวยงามตามธรรมชาติบกพร่องไป กลับทำให้กลายเป็นสิ่งที่น่าศึกษาถึงความเป็นมาและการเก็บรักษาได้อีกทางหนึ่งครับ.

ศึกษาเพื่อการอนุรักษ์วัตถุโบราณ
........จันทร์พลูหลวง............

*********