โพสต์แนะนำ

วันจันทร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2561

อริยสงฆ์สยาม ๓



หลวงพ่อเงิน พุทธโชติ
วัดบางคลาน อ.โพทะเล จ.พิจิตร






หลวงพ่อเงิน พุทธโชติ แห่งวัดบางคลาน จังหวัดพิจิตร เกิดในราวปีพ.ศ.๒๓๕๑ ในปลายแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ในวัยเด็กได้เข้ามาศึกษาในเมืองหลวง อายุ ๑๒ ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดตองปุ หรือวัดชนะสงคราม จนอายุได้ ๒๒ ปี ได้อุปสมบทที่วัดเดียวกัน ได้รับฉายา “พุทธโชติ” ได้รับการศึกษาอย่าถ่องแท้ในพระธรรมวินัย คัมภีร์มูลกัจจายน์ มนตร์คาถา และวิชชาต่าง ๆจนพร้อมมูล ภายหลังจึงจาริกกลับบ้านเกิดเมืองพิจิตร เป็นร่มโพธิ์แห่งวัดบางคลาน จนถึงในราวปีพ.ศ.๒๔๖๒ ท่านก็เดินทางมาถึงความพร้อมในสัจธรรมอันเป็นพุทธวัจนะ รวมอายุได้ ๑๑๑ ปี ๘๗ พรรษา

หลวงพ่อเงิน พุทธโชติ ท่านเป็นอริยะสงฆ์ 5 แผ่นดิน เป็นพระชั้นศิษย์ของ เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต พฺรหฺมรํสี) และหลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ เป็นสหธรรมิกกับสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้าพระองค์ที่ 8 นอกจากนี้ยังมีอริยะสงฆ์ที่อยู่ร่วมสมัย อาทิ หลวงปู่จีน วัดท่าลาด ฉะเชิงเทรา หลวงปู่นาค วัดห้วยจระเข้  นครปฐม หลวงปู่เอี่ยม วัดสะพานสูง นนทบุรี  หลวงพ่อม่วง วัดบ้านทวน กาญจนบุรี หลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก นครปฐม หลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย สมุทรปราการ

ส่วนพระอริยะที่อยู่ในชั้นศิษย์ อาทิ หลวงพ่อเนียม วัดน้อย สุพรรณบุรี หลวงพ่อโต วัดเนิน ชลบุรี หลวงปู่ภู วัดอินทรวิหาร หลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง ธนบุรี อาจารย์เปิง วัดชินวราราม ปทุมธานี หลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว กาญจนบุรี หลวงพ่ออยู่ วัดบางน้อย สมุทรสงคราม หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า  หลวงพ่อทัพ วัดทอง ธนบุรี หลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติ พระนครศรีอยุธยา หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว นครปฐม หลวงปู่เขียน วัดถ้ำขุนเณร พิจิตร สมเด็จพระสังฆราช แพ วัดสุทัศน์ สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 12 พระนคร หลวงพ่อฉุย วัดคงคาราม เพชรบุรี สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมหลวงชินวรณ์สิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้าพระองค์ที่ 11 หลวงปู่ไข่ วัดบพิตรภิมุข(เชิงเลน) พระนคร เป็นต้น

เมื่อดูรายนามรายพระนามของพระอริยะสงฆ์ข้างต้น จึงไม่แปลกใจเลยว่า เหตุใดเรื่องเล่าขานเกี่ยวกับหลวงพ่อเงิน พุทธโชติ แห่งวัดบางคลาน เมืองพิจิตร จึงเปี่ยมไปด้วยความยกย่องในวัตรปฏิบัติและองค์ความรู้สรรพวิชาอย่างดงาม เมตตาบารมีที่แผ่ไพศาลของท่านผ่านพระเครื่อง เครื่องรางของขลังไปสถิตคุ้มครองคนทุกหย่อมย่านที่เข้ามาอาศัยพึ่งใบบุญ จนถึงวันนี้เวลาที่ผ่านมานานนับร้อยปี บารมีของท่านยังคงติดตรึงฝังลึกอยู่ในสำนึกคนไทยจากรุ่นสู่รุ่นอย่างไม่เสื่อมคลาย.



น้อมกราบอริยะสงฆ์ต้นรัตนโกสินทร์
...........จันทร์พลูหลวง.............


*********

สุพรรณภูมิ ๑๐



ย้อนหลัง ๑๔ ศตวรรษ ก่อนกำเนิดรัฐสยาม


         จากเหรียญกษาปณ์สู่เตาเผา จีนเป็นชนชาติเดียวที่ปักหลักในแผ่นดินสุวรรณภูมิ ผ่านเหตุการณ์หลายยุคสมัยจนถึงการสถาปนารัฐสยามบนลุ่มน้ำท่าจีน

แหล่งโบราณคดีที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก สามารถบอกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของรัฐชาติสยามได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะแหล่งเตาเผาที่ตั้งอยู่เรียงรายริมแม่น้ำสุพรรณตลอดแนวทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออก ได้บอกให้รู้ถึงจุดเริ่มต้นการสร้างสรรค์ศิลปะหัตกรรมแขนงนี้ รวมถึงจุดเปลี่ยนแปลงจากอิทธิพลภายนอก ตั้งแต่การเข้ามาของกลุ่มชาติตะวันตกจากแถบลุ่มน้ำคงคา อิทธิพลขอมที่แผ่สยายเข้ามา จนถึงการหลั่งไหลของวัฒนธรรมจีน

แต่ละช่วงเวลา มิได้เป็นจุดเฉพาะของวัฒนธรรมใดวัฒนธรรมหนึ่ง หากแต่เป็นการผสมผสานความหลากหลายที่เกิดขึ้นในบริบทเดียวกัน แม้กระนั้นวัตถุโบราณบางชิ้นก็สามารถยืนยันถึงอายุสมัยได้ชัดเจน โดยเฉพาะเครื่องปั้นจีนที่สามารถนำใต้เคลือบลายและลักษณะความละเอียดหรือหยาบของภาชนะมาพิสูจน์ จนรู้ถึงอายุสมัยที่อ้างอิงได้ว่าอยู่ในช่วงราชวงศ์ใดของจีน และเป็นช่วงเวลาใดของสุพรรณภูมิ


ตัวอย่างรูปทรงและลวดลายโถเคลือบสมัยราชวงศ์หยวน
ภาพจาก:ของสะสมของเอกชนอนุญาตให้ใช้เพื่อประกอบบทความ

จากจุดการขุดค้นกำแพงเมืองโบราณสุพรรณภูมิด้านทิศตะวันออกพบเศษภาชนะกระเบื้องเคลือบในสมัยราชวงศ์ซ่ง(พ.ศ.๑๕๐๓-๑๘๒๒)และราชวงศ์หยวน(พ.ศ.๑๘๐๖-๑๙๑๓) เหนือขึ้นไปนอกเขตกำแพงเมืองยังพบเศษภาชนะเครื่องปั้นดินเผาที่มีอายุอยู่ในวัฒนธรรมทวารวดี ไล่ร่นลงมาถึงสุพรรณภูมิอันแสดงถึงเอกลักษณ์ในชิ้นงานที่ถูกบรรจงปั้นและผ่านการเผาด้วยเทคนิคที่ถูกพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเริ่มต้นแคว้นรัฐสยามมีชิ้นงานจำนวนมากที่บ่งบอกถึงถึงกาลเวลา และการนำเทคนิคจากเจ้าของนวัตกรรมมาสร้างสรรค์ชิ้นงานขึ้นที่นี่

ตลอดแนวแม่น้ำสุพรรณในเขตอำเภอเมืองทั้งบนบกและชายตลิ่งพบเศษภาชนะเครื่องปั้นดินเผา ที่เป็นของพื้นเมืองและเครื่องเคลือบจีนหลายยุคสมัยกระจายอยู่มากมาย ดังที่ อ.มนัส โอภากุล นักประวัติศาสตร์โบราณคดีเมืองสุพรรณ บรรยายไว้ว่า

“...ข้าพเจ้าพาศาสตราจารย์ซ็อง บ๊วซเซลิเยร์ ไปที่บ้านบางปูน...อยู่เหนือวัดพิหารแดงขึ้นไประมาณ ๑ กิโลเมตร ข้าพเจ้าชี้ให้ดูเศษกระเบื้องบนทางเดินซึ่งถูกขุดขึ้นมาถมเป็นถนนไปเชื่อมกับตำบลโพธิ์พระยาอยู่อย่างกลาดเกลื่อน และได้หยิบชิ้นส่วนส่งให้ศาสตราจารย์ ช็อง บ๊วซเซลิเยร์ ดูพร้อมกับถามว่าสมัยไหน ศาสตราจารย์ช็อง ตอบว่าสมัยทวารวดี และดูต่อไปอีก บอกว่าเศษเครื่องปั้นดินเผานั้นสมัยอยุธยาก็มี ศาสตราจารย์ ช็อง บ๊วซเซลิเยร์ ตื่นเต้นกับเครื่องปั้นดินเผาที่ท่าน้ำเป็นอันมาก เพราะเศษกระเบื้องดังกล่าวนั้น มีจำนวนมากมายเหลือคณานับ”(1)

  

 เศษเครื่องปั้นดินเผาและเครื่องถ้วยจีนส่วนหนึ่งที่แตกหัก

แหล่งโบราณคดีที่เป็นต้นทางจากหลายแหล่งบอกให้รู้ว่าความเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรมของ“สยาม”มีอยู่ต่อเนื่อง เฉพาะที่ได้รับการบันทึกไว้บางส่วนมาจากแหล่งโบราณคดีวัดพระนอน บริเวณบ้านบัวหลวง ริมแม่น้ำสุพรรณฝั่งตะวันออก ตำบลพิหารแดง พบเครื่องถ้วยจีนใต้เคลือบลายใบไม้สีน้ำเงินคราม กับกระเบื้องเนื้อละเอียดใต้เคลือบเขียวอ่อน แหล่งโบราณคดีวัดชีสุขเกษม ที่บ้านบางปูน ตำบลพิหารแดง พบเศษภาชนะดินเผาชนิดเคลือบน้ำตาลและดำเผาด้วยอุณหภูมิสูง อิทธิพลจากจีนแต่ทำที่นี่ แหล่งโบราณคดีบ้านบางปูน ริมแม่น้ำสุพรรณฝั่งตะวันตกติดวัดสว่างอารมณ์ ตำบลพิหารแดง เขตเมืองสุพรรณ พบเครื่องถ้วยจีนใต้เคลือบมีทั้งแบบสีเขียว และสีมะกอก กระจายอยู่ทั่วไปทั้งบนบนและในน้ำ โดยเฉพาะบริเวณตลิ่งริมน้ำพบมาก และพบลักษณะเฉพาะถิ่น รวมถึงที่ได้รับอิทธิพลจากจีน

แหล่งโบราณคดีบ้านธรรมกูล อยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสุพรรณ ติดกับวัดชีสุขเกษม พบเครื่องถ้วยจีนใต้เคลือบลายดอกหญ้า ใบไม้ ตัวหนังสือ และเครื่องเคลือบ เนื้อละเอียดออกเทาขาวเคลือบเขียวทั้งนอกและใน ซึ่งน่าจะเป็นต้นทางของเครื่องเคลือบสังคโลก แหล่งโบราณคดีวัดโพธิเจริญ ตั้งอยู่ที่บ้านสนามชัยฝั่งตะวันออกของแม่น้ำสุพรรณ ตำบลสนามชัย เมืองสุพรรณบุรี พบเศษภาชนะดินเผาทั้งเนื้อละเอียดและหยาบ มีแบบเนื้อแกร่งไม่เคลือบอันเป็นงานเลียนแบบเครื่องถ้วยจีน และยังพบเครื่องถ้วยจีนใต้เคลือบลายดอกไม้ ใบไม้สีน้ำเงิน และเครื่องเคลือบเขียวนอกเขียวใน แหล่งโบราณคดีวัดปู่บัว ที่บ้านสนามชัย ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำสุพรรณ ตำบลสนามชัย เมืองสุพรรณบุรี นอกเหนือจากภาชนะดินเผาท้องถิ่นแล้ว ยังพบเศษเครื่องถ้วยใต้เคลือบลายใบไม้ ดอกไม้ ดอกบัวสีน้ำเงิน  และเครื่องเคลือบเขียวนอกใน และชิ้นส่วนการหลอมลูกปัด

ยังรวมถึงแหล่งโบราณคดีวัดสำปะซิว ที่บ้านสนามชัย ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำสุพรรณพบเศษภาชนะดินเผาและเครื่องเคลือบแบบจีนเช่นเดียวกับแหล่งโบราณคดีวัดปู่บัว แต่มีพัฒนาการจากการพบเตาอิฐที่พัฒนาขึ้นมาแบ่งสัดส่วนห้องบรรจุเชื้อเพลิง ภาชนะ และปล่องไฟ โดยระบายความร้อนผ่านเฉียงขึ้น ยังรวมถึงแหล่งเตาเผาที่พบที่วัดลาวทอง และวัดโพธิ์คลาน ซึ่งมีทีเทคโนโลยีในลักษณะเดียวกัน(2)

บริเวณพื้นที่แผ่นดินและชายน้ำตลอดแม่น้ำสุพรรณในเขตตัวเมือง ไม่เฉพาะในเขตกำแพงเมืองสุพรรณภูมิเท่านั้น หากแต่ยังห่างออกไปหลายกิโลเมตรจากเขตกำแพงเมือง สามารถพบเศษภาชนะเครื่องเคลือบจีนกระจายอยู่ทั่วไป ตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซ่งใต้(พ.ศ.๑๗๖๐-๑๘๒๒) ราชวงศ์หยวน(พ.ศ.๑๘๐๖-๑๙๑๓) และราชวงศ์หมิง(๑๙๑๑-๒๑๘๗) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจีนได้ชักใบสำเภาเข้าสู่เส้นทางมังกรสยาม(แม่น้ำสุพรรณ)ก่อนการสถาปนารัฐแคว้นในสมัยราชวงศ์ซ่ง จนถึงช่วงการสถาปนารัฐแคว้นสยามในสมัยราชวงศ์หยวน  และยังคงมีกิจกรรมต่อเนื่องในสมัยราชวงศ์หมิง แม้จะมีการย้ายราชธานีแห่งใหม่ไปยังพระนครศรีอยุธยาแล้วก็ตาม


จักรพรรดิซ่งลี่จง เป็นฮ่องเต้องค์ที่ ๕ ของราชวงศ์ซ่งใต้ ครองราชย์ยาวนานถึง ๔๐ ปี 
ภาพจาก :  พิพิธภัณฑ์พระราชวังกรุงไทเป

หลักฐานทางโบราณคดีในตัวเมืองสุพรรณ และภาชนะเครื่องปั้นดินเผาเครื่องเคลือบที่พบในสำเภาโบราณหน้าอ่าวสยามก่อนหน้านี้ บ่งบอกได้เป็นอย่างดีว่า นอกจากจีนจะนำสินค้าเข้ามาขายยังสุพรรณภูมิแล้ว ส่วนหนึ่งได้ร่วมมือกับสยามทำการผลิตเครื่องเคลือบจีนขึ้นที่นี่ เพื่อสะดวกต่อการขนส่งระยะใกล้ในการค้าขายกับประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ต้องกลับไปไกลถึงเมืองจีนที่ต้องใช้เวลาในการเดินทางนานกว่าหลายเท่าตัว นอกจากนั้นสถานการณ์การเมืองภายในราชสำนักจีนที่มีการช่วงชิงกันอยู่ตลอดเวลาก็อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่เป็นตัวแปรสำคัญในการย้ายฐานผลิตเครื่องเคลือบมายังภูมิภาคเอเชียใต้

อาจกล่าวได้ว่าระบบการค้าของราชวงศ์ซ่ง ได้เข้ามามีบทบาทในสยามนับตั้งแต่สมัยเริ่มต้น คือตั้งแต่ราวปีพ.ศ.๑๕๐๓-๑๘๒๒ แม้จะเป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่าราชสำนักจีนทั้งราชวงศ์ซ่งเหนือและซ่งใต้จะเกิดความอ่อนแอด้านการเมืองและการทหารจากอิทธิพลของแคว้นรัฐรายรอบที่แตกกันเป็นหลายแคว้นรัฐ แต่ศิลปะหัตถกรรมและการค้ากับต่างประเทศกลับเจริญรุ่งเรืองอย่างสวนทางกัน โดยเฉพาะช่วงสมัยราชวงศ์ซ่งใต้มีหลักฐานจากเศษกระเคลือบใต้เงาพบอยู่จำนวนมากบริเวณผืนดินและริมฝั่งแม่น้ำสุพรรณ

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีการพบชิ้นส่วนของกระเบื้องเคลือบศิลปะชั้นสูงเป็นเครื่องเคลือบขาวตลับลูกจันกลีบฟักทองถี่สมัยราชวงศ์ซ่งไต้ในเขตโบราณสถานเมืองหนองแจงที่อยู่ร่วมสมัยกับวัฒนธรรมทวารวดี ยังรวมถึงแหล่งโบราณคดีที่ไกลออกไปในบ้านผักหวาน ตำบลจระเข้สามพัน อำเภออู่ทอง เขตแนวเทือกขาสุดท้ายทอดติดกับพื้นที่ราบ เป็นชุมชนขนาดเล็ก บริเวณที่ราบเชิงเขาเส้นผ่าศูนย์กลางราว ๑๐๐ เมตร พบภาชนะคล้ายกับที่พบริมแม่น้ำสุพรรณ และแหล่งโบราณคดีบ้านโคกหินกอง ตั้งอยู่ในหุบเขา ตำบลวังคัน อ.ด่านช้าง มีลำห้วยทับละครไหลผ่านทางทิศใต้ พบภาชนะเก่ากว่าริมน้ำสุพรรณ และร่วมสมัย รวมถึงเครื่องถ้วยชามใต้เคลือบเขียว โดยผ่านเส้นทางลำน้ำกระเสียวขึ้นไป เป็นการบอกถึงฐานะชุมชนร่วมสมัยที่มีการไปหาสู่กันและแลกเปลี่ยนสินค้าจากผลพวงของนวัตกรรมใหม่จากภายนอก

เหรียญอีแปะจีนสมัยราชวงศ์ฮั่น มีอายุราว ๑,๕๐๐ ปี เป็นหลักฐานสำคัญอีกชิ้นหนึ่ง
ภาพจาก : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ยังมีสิ่งที่น่าสนใจมากกว่าอายุสมัยของเครื่องเคลือบจีนในสมัยราชวงศ์ซ่ง ที่ใช้เป็นพยานหลักฐานในระยะรัฐเริ่มต้นของสยาม มีการพบหลักฐานที่ย้อนเวลาขึ้นไปอีก ๒ ราชวงศ์หลักของจักรวรรดิจีน คือการพบเหรียญกษาปณ์จีน ที่เรียกกันว่า “เหรียญอีแปะ” อักษร “อู่จู” หรือ “ฮู้อู่จูเฉิ่น” สร้างในสมัยฮั่นหวู่ตี้ มีการใช้กันระหว่างพ.ศ.๔๒๕-๑๑๖๒  พบที่วัดสมอลม ตำบลสนามคลี อำเภอเมืองสุพรรณบุรี(3) และการขุดค้นพบเหรียญอีแปะจีน อักษรไคหยวนทงป่าว ในสมัยราชวงศ์ถัง(พ.ศ.๑๑๖๑-๑๔๕๐) ที่แหล่งโบราณคดีเมืองหนองแจง ตำบลไร่รถ อ.ดอนเจดีย์ ทั้งสองสมัยเมื่อนับอายุรวมกันก็ไม่น้อยกว่าพันปี

โดยรวมแล้ว จากหลักฐานของจีนที่พบเก่าสุดในเวลานี้ มีมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่น (พ.ศ.๔๒๕-๑๑๖๒) สมัยราชวงศ์ถัง (พ.ศ.๑๑๖๑-๑๔๕๐) ราชวงศ์ซ่ง (พ.ศ.๑๕๐๓-๑๘๒๒) จนถึงสมัยราชวงศ์หยวน (พ.ศ.๑๘๑๔-๑๙๑๑) อันเป็นระยะสถาปนาแคว้นรัฐสยาม ที่มีสุพรรณภูมิ เป็นศูนย์กลางการปกครอง รวมเวลาแล้วก็เข้าใกล้ ๑,๕๐๐ ปี

ประวัติศาสตร์สุพรรณภูมิ ยังคงผุดพรายขึ้นเป็นระยะ จากโบราณวัตถุชิ้นหนึ่ง ไปสู่หลักฐานใหม่ในชิ้นต่อไป มีทั้งที่ค้นพบนานแล้ว และที่ยังหลับใหลอยู่ใต้ผืนดิน รอวันเวลาที่จะลุกขึ้นมาประกาศตัวตนในฐานะที่..เคยอยู่ เคยมี และเคยเป็น.



สุพรรณภูมิ ประวัติศาสตร์จากหลักฐาน
.............วิญญ บุญยงค์.................

*********



อ้างอิง

1.มนัส โอภากุล.พระฯเมืองสุพรรณ,ฉบับหอการค้าจังหวัดสุพรรณบุรี.มนัสการพิมพ์.สุพรรณบุรี.พ.ศ.๒๕๓๖.หน้า ๘๙.

2.http://www.thaiheritage.net/nation/oldcity/suphanburi5.htm

3.ศิลปากร,กรม.โบราณคดีและประวัติศาสตร์เมืองสุพรรณบุรี.พิมพ์ครั้งที่ ๒.พ.ศ.๒๕๕๗.หน้า ๒๗. 


วันอาทิตย์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2561

คนโทน้ำเต้าสมัยราชวงศ์หมิง


ภาชนะเคลือบใส่น้ำทรงน้ำเต้าสองสี
รอบภาชนะใต้เคลือบลวดลายแดงเป็นภาพนกกระเรียน 
พืชพันธุ์และไม้ดอก ตรงคอมีที่จับเป็นมังกรสองด้าน
เป็นศิลปะจีนสมัยราชวงศ์หมิง ราวพุทธศตวรรษที่ 19-22








**********

วันศุกร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2561

ถาดกระเบื้องเคลือบสมัยจักรพรรดิเจียจิ้ง


ถาดกระเบื้องเคลือบ(Plate Porcelain)
ห้าสีใต้เคลือบกลุ่มคนในธรรมชาติที่มีแมกไม้ ลำธาร และสัตว์ป่า
เป็นยุคทองของงานเครื่องเคลือบ ในรัชสมัยจักรพรรดิเจียจิ้ง
ราชวงศ์หมิง มีอายุในพุทธศตวรรษที่ 21






*********

วันพฤหัสบดีที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2561

สุพรรณภูมิ ๙


กระเบื้องจีนอายุพันปี
หลักฐานใต้กำแพงเมืองสุพรรณ


เศษกระเบื้องเพียงชิ้นเดียวตอกลิ่มความลังเล สำหรับการตัดสินใจกำหนดให้ สุพรรณภูมิ เป็นรัฐเริ่มต้นของอาณาจักรสยาม

ในทางประวัติศาสตร์ หัวใจที่เข้าถึงความเป็นจริงมากที่สุด คือการศึกษาข้อมูลที่เคยมีการบันทึกไว้ในอดีตแล้วนำมาเปรียบเทียบวิเคราะห์เพื่อกลั่นเฉพาะเนื้อหาที่แท้จริงออกมา เช่นเดียวกับการขุดค้นทางโบราณคดีจำเป็นต้องมีองค์ประกอบหลายอย่างเข้ามาอ้างอิง ดังนั้นข้อมูลที่ได้มักเป็นข้อสันนิษฐานเสียเป็นส่วนใหญ่ และระยะเวลาที่ประเมินก็กว้างเกินกว่าจะหาข้อสรุปได้แบบกระชับ

การประเมินอายุทางโบราณคดี หากเป็นเรื่องทั่วไปที่ไม่ได้คาบเกี่ยวกับช่วงเวลาสำคัญก็คงไม่มีข้อขัดแย้งเกิดขึ้น หากแต่เป็นห้วงของความละเอียดอ่อนอย่างกรณี การหาข้อพิสูจน์ของรัฐเริ่มต้นในอาณาจักรสยามซึ่งมีระยะเวลาช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อไม่เกิน ๑๐๐ ปี อันนี้แหละคือปัญหา หากไม่มีข้อมูลต้นทางของฐานที่มั่นเดิม เราจะรู้ได้อย่างไรว่า “ขุนหลวงพ่องั่ว” เป็นใคร อยู่ดี ๆก็ไปกรุงศรีอยุธยา พอพระราเมศวรถวายราชสมบัติให้ ท่านก็ขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมราชาธิราช


ซ่งไท่จู่ฮ่องเต้ จักรพรรดิพระองค์แรกของราชวงศ์ซ่งเหนือ 
(พ.ศ.๑๕๐๓-๑๕๑๙) ภาพจาก : พิพิธภัณฑ์พระราชวังกรุงไทเป

แต่ถือเป็นโชคดีของชนชาวสยาม ที่พระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ ๕ ทรงรับสั่งให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ดูแลเอกสารโบราณจากพงศาวดารจีน จนในที่สุดก็ได้ข้อมูลของ “เสียน” ที่เป็นรัฐแรกเริ่มของอาณาจักรสยาม ดังที่ได้อธิบายไว้ใน “สุพรรณภูมิ ๑-๘”

ใน “สุพรรรณภูมิ ๙” จึงขอนำเรื่องการขุดค้นทางโบราณคดีในบริเวณเมืองโบราณสุพรรณภูมิ ของสำนักศิลปากรที่ ๒ กรมศิลปากร ซึ่งมีส่วนสำคัญที่สามารถนำมาเป็นองค์ประกอบของการเป็นรัฐแรกเริ่มสุพรรณภูมิ

ในการขุดค้นกำแพงเมืองโบราณสุพรรณภูมิ ด้านทิศเหนือ ใต้ และตะวันออก ของสำนักศิลปากรที่ ๒ กรมศิลปากร ก่อนหน้านี้มีการวิเคราะห์ โดยแบ่งชั้นทับถมทางโบราณคดีออกเป็น ๔ ชั้น(1) ที่น่าสนใจคือชั้นที่ ๒ จัดอยู่ในชั้นดินที่ ๓ มีการพบเศษเครื่องปั้นดินเผาและภาชนะอื่น ๆที่มีในสยาม และอีกส่วนหนึ่งเป็น “..เครื่องถ้วยจีนเคลือบสีเขียวสมัยราชวงศ์หยวน...”(พ.ศ.๑๘๑๔-๑๙๑๑) ในชั้นที่ ๓ จัดอยู่ในชั้นดินที่ ๔ พบเศษเครื่องปั้นดินเผาและภาชนะในสยามเช่นกัน ส่วนของต่างประเทศ “..พบเศษภาชนะดินเผาเนื้อแกร่งและเนื้อกระเบื้องซึ่งมีแหล่งผลิตในประเทศจีนสมัยราชวงศ์สุ้ง...” (ซ่ง,ซ้อง พ.ศ.๑๕๐๓-๑๘๒๒) ราชวงศ์หยวน (พ.ศ.๑๘๑๔-๑๙๑๑)” และสำหรับชั้นที่ ๔ จัดอยู่ในชั้นดินที่ ๕ และ ๖ พบเศษภาชนะดินเผาเครื่องปั้นของสยาม และ “...ยังพบเศษเครื่องถ้วยจีนเคลือบขาวแบบชิงไป๋ สมัยราชวงศ์สุ้ง และเครื่องถ้วยจีนเคลือบเขียวเซลาดอน ราชวงศ์หยวน...” และเมื่อนำข้อมูลทั้งหมดมาประมวลภาพรวมเข้าด้วยกัน จึงมีการสันนิษฐานว่า “..กำแพงเมืองโบราณอาจสร้างอยู่ในช่วงระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๐”

จากข้อมูลข้างต้น ก็ทำให้ทราบอายุคร่าว ๆของกำแพงเมืองสุพรรณภูมิ ที่มีอายุตั้งแต่ พ.ศ.๑๘๐๑-๑๙๙๙ ซึ่งเป็นความหมายของพุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๐ ตามที่กรมศิลปากรสันนิษฐาน

แต่เมื่อพิจารณาข้อมูล เศษเครื่องกระเบื้องเคลือบของราชวงศ์ซ่ง ซึ่งไม่มีรายงานระบุว่าเป็นหัตถกรรมในช่วงเวลาใดของราชวงศ์นี้ เพราะราชวงศ์ซ่ง มี ๒ ระยะ กล่าวคือ ราชวงศ์ซ่งเหนือ (พ.ศ.๑๕๐๓-๑๖๗๐) และราชวงศ์ซ่งใต้ (พ.ศ.๑๗๐๕-๑๘๒๒) รวมตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางนานถึง ๓๑๙ ปี แต่ก็พอมีหลักฐานข้อมูลในบันทึกของชาวตะวันตกออกมาให้เห็นอยู่แม้จะไม่ระบุโดยตรงว่าราชวงศ์ซ่งติดต่อกับสยาม แต่ก็มีระบบการค้าเป็นตัวเชื่อมอย่างไม่อาจปฏิเสธ โดยแฟร์แบงค์กับไรสชาวร์ (2) สองนักประวัติศาสตร์จีนชาวตะวันตกมองว่า “ สมัยซ่งถือเป็นจุดกำเนิดของ การปฏิวัติพาณิชยกรรม ในประเทศ โดยในสมัยซ่งใต้ การค้าภายในประเทศกับต่างประเทศมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยพ่อค้าจีนมีการค้าผ่านทางทะเลกับเกาหลี ญี่ปุ่น และดินแดนในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้...สำหรับสาเหตุสำคัญที่การค้าทางทะเลขยายตัวขึ้นอย่างมากก็เนื่องมาจาก เส้นทางการค้าทางบกที่เรียกว่าเส้นทางสายไหม ตกไปอยู่ภายใต้การควบคุมของอาณาจักรซีเซี่ยและจิน ทำให้พ่อค้าชาวจีนต้องหันไปใช้เรือขนส่งสินค้าแทน ผลที่ตามมาก็คือ พ่อค้าทางทะเลเพิ่มขึ้นอย่างมาก ส่วนเมืองต่าง ๆ ริมชายฝั่งทะเลก็เพิ่มความสำคัญขึ้นเรื่อย ๆ..”

ภาพสำเภาโบราณที่จีนใช้ตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถัง 
ภาพจาก อ.ประพฤทธิ์ กุศลรัตนเมธี 
ผู้เชี่ยวชาญด้านการสืบค้นประวัติศาสตร์จีนที่เกี่ยวข้องกับไทย

จึงพอสรุปได้ว่า จีนมีการติดต่อกับสยามทางการค้าในสมัยราชวงศ์ซ่งใต้ แม้จะไม่มีข้อมูลยืนยันชัดเจนว่า เป็นการติดต่อกันในระดับราชวงศ์ต่อราชวงศ์ หรือพ่อค้าจีนต่อราชสำนักสยาม แต่ก็ถือได้ว่ามีการติดต่อกันในระหว่างพ.ศ.๑๖๗๐-๑๘๒๒ สอดคล้องกับการล่มสลายของอิทธิพลขอมนับตั้งแต่สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ในราวปีพ.ศ.๑๗๕๐ เป็นต้นมา จนเกิดรัฐแคว้นใหม่ขึ้น ในจำนวนนี้มี สุพรรณภูมิในลุ่มน้ำเจ้าพระยา และสุโขทัยทางตอนเหนือ รวมอยู่ด้วย

นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตประการหนึ่งว่าเครื่องกระเบื้องเคลือบในสมัยราชวงศ์ซ่งที่พบระหว่างขุดค้นทางโบราณคดีบริเวณกำแพงเมืองโบราณสุพรรณภูมิเท่านั้น ในเมืองอื่นพบเพียงเครื่องเคลือบสมัยราชวงศ์หยวน ราชวงศ์หมิง และราชวงศ์ชิง อาทิ “ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พบไหแปดเหลี่ยมจากวัดมหาธาตุและไหทรงกลมจากป้อมเพชร ที่จังหวัดเชียงใหม่พบไหทรงกลมจากเวียงท่ากาน ที่จังหวัดลำพูน พบไหทรงกลมและทรงแปดเหลี่ยมจากพระธาตุหริภุญชัย และที่จังหวัดสุโขทัย พบไหทรงกลมจากกรุวัดพระพายหลวง”(3) โดยอยู่ในสมัยราชวงศ์หยวนและหมิง ซึ่งน่าเข้าไปจากต้นทางเมืองสุพรรณภูมิที่ควบคุมพื้นที่ทะเลทั้งแถบอันดามันและอ่าวไทยในช่วงพุทธศตวรรษที่๑๘ เป็นต้นมา


จักรพรรดิซ่งเกาจง ฮ่องเต้พระองค์แรกราชวงศ์ซ่งใต้ 
(พ.ศ.๑๗๐๕-๑๗๓๐) ภาพจาก : พิพิธภัณฑ์พระราชวังกรุงไทเป

ส่วนกรณีราชวงศ์หยวน (พ.ศ.๑๘๑๔-๑๙๑๑) ถือเป็นที่ชัดเจนแล้วจาก “หยวนสือลู่” ที่มีการแปลไว้ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยหลวงเจนจีนอักษร(สุดใจ) เป็นผู้แปล ที่ระบุว่าราชวงศ์หยวน มีการติดต่อกับราชสำนักสยามผ่านพระราชพิธีทางการทูตนับตั้งแต่ปีพ.ศ.๑๘๒๕ จนถึงพ.ศ.๑๘๔๓(4)

ถึงเวลานี้ “หยวนสือลู่” หรือพงศาวดารราชวงศ์หยวนยืนยันถึงการมีรัฐสุพรรณภูมิบนแผ่นดินสยามอย่างน้อยในปีพ.ศ.๑๘๒๕ นับตั้งแต่ราชสำนักหยวนส่งราชทูตมาเจริญสัมพันธไมตรีกับพระเจ้ากรุงสยามเป็นครั้งแรก และหลักฐานจากเศษกระเบื้องเคลือบในสมัยราชวงศ์ซ่ง ซึ่งย้อนเวลาขึ้นไปอีกอย่างน้อยถึงปีพ.ศ.๑๗๐๕ หรือตั้งแต่ต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๘ เพียงเท่านี้ ก็พอจะให้ภาพชัดถึงความเป็นจุดเริ่ม “อาณาจักรสยาม” ได้แล้วกระมัง.



เศษกระเบื้องหลักฐานการสร้างชาติ
...........วิญญู บุญยงค์.............

*********



อ้างอิง

1.ฉันทัส เพียรธรรม.เอกสารประกอบการเสวนา “ปักหมุดเส้นเวลาย้อนอดีตเมืองโบราณสุพรรณภูมิฯ”(20 เม.ย.2561).การสังเคราะห์องค์ความรู้ปรวัติศาสตร์รัฐสุพรรณภูมิ จังหวัดสุพรรณบุรี ด้วยกระบวนการการมีส่วนร่วม.หน้า283-284.

2.วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี.ราชวงศ์ซ่ง อ้างถึง แฟร์แบงค์ และไรสชาวร์.

3.อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช.ลวดลายกับการกำหนดอายุไหลายคราม สมัยราชวงศ์หยวนที่พบในประเทศไทย. http://www.damrong-journal.su.ac.th/upload/pdf/58_8.pdf.

4.ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๕.จดหมายเหตุว่าด้วยกรุงสยามแต่โบราณ(เรียบเรียงจากจดหมายเหตุจีน ๕ เรื่อง).แปลโดย หลวงเจนจีนอักษร(สุดใจ).

วันพุธที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2561

อริยสงฆ์สยาม ๒



พระพุทธวิถีนายก
หลวงปู่บุญ (ขันฺธโชติ) วัดกลางบางแก้ว




รูปหล่อโลหะ หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว สร้างในพ.ศ.๒๔๕๐ 
ด้รับการกล่าวขานว่า เป็นฝีมือการปั้นและหล่อที่สวยงามที่สุดองค์หนึ่ง


หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว เกิดเมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ.๒๓๙๑ ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ตำบลบ้านนางสาว ตลาดใหญ่ มณฑลนครไชยศรี (ปัจจุบันโอนไปขึ้นกับอ.กระทุ่มแบน สมุทรสาคร)  เมื่อวัยเด็กเกิดปรากฏการณ์ "ตายแล้วฟื้น" บิดามารดาจึงตั้งชื่อให้ท่านว่า "บุญ"

อายุได้ ๒๒ ปี อุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดกลางบางแก้ว  มีพระปลัดปาน เจ้าอาวาสวัดตุ๊กตา เป็นพระอุปัชฌาย์ โดยมีคณะสงฆ์ ๔ รูปร่วมให้สรณคมณ์กับศีล และสวดกรรมวาจา ประกอบด้วย พระปลัดทอง เจ้าอาวาสวัดกลางบางแก้ว พระอธิการทรัพย์ เจ้าอาวาสวัดงิ้วราย พระครูปริมานุรักษ์ วัดสุประดิษฐาราม และพระอธิการจับ เจ้าอาวาสวัดมอญ ได้รับฉายาว่า “ขันฺธโชติ”

หลวงปู่บุญ ท่านเป็นศิษย์สายตรงของพระปลัดทอง เจ้าอาวาสวัดกลางบางแก้ว และพระปลัดปาน เจ้าอาวาสวัดตุ๊กตา ทั้งพื้นฐานปริยัติธรรม และวิปัสสนากรรมฐาน ตลอดจนคาถาอาคม ก็เริ่มต้นมาจากพระอาจารย์ทั้งสองรูปนี้ จากนั้นก็เสาะแสวงหาพระอาจารย์ร่ำเรียนจนเชี่ยวชาญทุกศาสตร์ จนถึงพ.ศ.๒๔๒๙ ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระอธิการปกครองวัดกลางบางแก้ว

ในปี พ.ศ. ๒๔๒๙ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอธิการปกครองวัดกลางบางแก้ว และสมณศักดิ์อื่นตามลำดับ จนถึงปีพ.ศ. ๒๔๕๙ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ที่ “พระครูอุตรการบดี” และเป็นเจ้าคณะแขวงในคราวเดียวกัน พ.ศ.๒๔๖๒ ขึ้นเป็นพระครูสัญญาบัตรที่ “พระครูพุทธวิถีนายก” ปกครองคณะสงฆ์ทั้งจังหวัดนครปฐม และสุพรรณบุรี ในช่วงนี้ท่านเดินทางมาเมืองสุพรรณบุรีอยู่บ่อยครั้ง ได้รับการถวายพระเครื่อง พระบูชา จากกรุปรางใหญ่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุไปไม่น้อย มีทั้งที่อยู่สภาพดีท่านก็นำขึ้นแท่นสักการบูชา ที่แตกหักหมดสภาพก็ให้ลูกศิษย์ป่นผสมกับพระเครื่องและเครื่องรางขลังที่ท่านทำ เมื่อบวกรวมกับวิชาความรู้ในศาสตร์อาคมของท่านกับพลังพุทธคุณอันเข้มขลังของพระสุพรรณ ทำให้พระเครื่องและเครื่องรางของขลังของหลวงปู่บุญ เกิดอภินิหารศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เลื่องลือไปทุกสารทิศ

หลวงปู่บุญ ขันฺธโชติ เป็นพระดีพระปฏิบัติชอบ ได้รับพระกรุณาธิคุณโปรดฯให้เลื่อนเป็นพระราชาคณะในราชทินนามที่ “พระพุทธวิถีนายก” ในปีพ.ศ.๒๔๗๑ นับเป็นอริยสงฆ์แห่งราชสำนัก ซึ่งท่านคุ้นเคยกันดีกับสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรณ์สิริวัฒน์ (หม่อมเจ้าภุชงค์) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ในคราวเลื่อนเป็น “พระพุทธวิถีนายก” เข้าสู่วัย ๘๑ ปีท่านเห็นว่าชราแล้วจึงทูลขอลาออกงานบริหารกิจการสงฆ์ ในคราวนั้นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า พระองค์ที่ ๑๑ ตรัสถามอายุ หลวงปู่บุญตอบไปว่า ๘๑ ปีแล้ว พระองค์รับสั่งว่า ” อยู่ไปก่อนเถิด” ถือเป็นการให้ความสำคัญกับหลวงปู่บุญอย่างมาก จนล่วงไปอีก ๓ ปี ในพ.ศ.๒๔๗๔ จึงได้รับการโปรดฯพระราชทานพระบรมราชานุญาตยกเป็น กิตติมศักดิ์ ท่านจึงได้พักผ่อนเต็มที่และมีเวลาปฏิบัติกิจของสงฆ์อย่างเต็มกำลัง จนถึงวันที่ ๓๐ มีนาคม พ.ศ.๒๔๗๘ ท่านจากไปด้วยอาการสงบ สิริรวมอายุนับได้ ๘๗ ปี ๖๕ พรรษา

หลวงปู่บุญ ท่านเป็นพระในชั้นศิษย์ของพระอริยสงฆ์ของสยามประเทศอีกหลายรูป อาทิ หลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน ,สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๘ ,หลวงปู่จีน วัดท่าลาด, หลวงปู่นาค วัดห้วยจระเข้, หลวงปู่เอี่ยม วัดสะพานสูง, หลวงพ่อม่วง วัดบ้านทวน, หลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก, หลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย, หลวงปู่เนียม วัดน้อย, หลวงพ่อโต วัดเนิน, หลวงปู่ภู วัดอินทร์ และหลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง.

            สหธรรมิกร่วมสมัยกับท่าน อาทิ อาจารย์เปิง วัดชินวราราม, หลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว,หลวงพ่ออยู่ วัดบางน้อย, หลวงปู่ศุข ปากคลองมะขามเฒ่า, หลวงพ่อทัพ วัดทอง, หลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติ, หลวงปู่เขียน วัดถ้ำขุนเณร, สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว) สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ ๑๒, หลวงพ่อฉุย วัดคงคาราม, หลวงปู่ไข่ วัดเชิงเลน, สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรณ์สิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ ๑๑, หลวงพ่ออิ่ม วัดหัวเขา, หลวงพ่อคง บางกะพ้อม และหลวงพ่อโหน่ง วัดคลองมะดัน  

            จึงไม่เป็นที่แปลกแต่อย่างใด ที่หลวงปู่บุญ หรือ พระพุทธวิถีนายก ที่ชาวสยามเคารพบูชา จะทรงเกียรติภูมิทั้งองค์ความรู้ในศาสตร์ธรรมอย่างลึกซึ้งทั้งวิปัสสนาและคันธะธุระ ว่ากันว่า ท่านสำเร็จอภิญญาสมาบัติ จากพื้นฐาน“เตโชกสิณ” ก็น่าจะเป็นความจริง เพราะเพียงเห็นดวงตาของท่านในรูปภาพ ก็เหมือนถูกสะกดตรึงให้นิ่งสงบ เมื่อผนวกกับเรื่องเล่าขานที่ท่านล่วงรู้ว่าลูกศิษย์ของท่านกำลังจะไปปล้น ท่านมองจนลูกศิษย์ทั้งสองคนทรุดฮวบลงไปนั่งกับพื้นทีเดียว เป็นเพียงส่วนหนึ่งในตำนานเรื่องเล่าขานของหลวงปู่บุญเท่านั้นครับ.


บุญเหลือล้นคนพุทธศาสนา
.......จันทร์พลูหลวง.........



โถห้าสีสมัยจักรพรรดิยงเจิ้ง

โถกระเบื้องเคลือบห้าสี
ลายพันธุ์ไม้ ดอกไม้ นกบินมาชื่นชมเกษร 
ด้านบนมีฝาปิดลายดอกไม้
เป็นหัตถศิลป์ในรัชสมัยจักรพรรดิยงเจิ้ง 
ราชวงศ์ชิง มีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 23












*********




วันอังคารที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2561

อริยสงฆ์สยาม ๑



สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 8 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์(พ.ศ.๒๔๓๔-๒๔๓๕)




รูปหล่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ขนาด ๗ นิ้ว


สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ประสูติตรงกับวันที่ ๑๔ กันยายน พ.ศ.๒๓๕๒ ตรงกับวันเริ่มสวดมนต์ตั้งพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงได้รับพระราชทานนามว่า พระองค์เจ้าฤกษ์  เมื่อพระชันษาครบ ๒๐ ปี ในพ.ศ.๒๓๗๒ ทรงผนวชโดยมีสมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช(ด่อน)เป็นพระอุปัชฌาย์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นนุชิตชิโนรส เป็นพระกรรมวาจารย์ และพระวินัยรักขิต วัดมหาธาตุ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ต่อมาทรงเข้าถือธรรมเนียมธรรมยุติกนิกาย ตามพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงสมณศักดิ์เสมอพระราชาคณะชั้นสามัญ ในปีพ.ศ.๒๓๙๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯสถาปนา เป็นพระเจ้าวรวงษ์เธอ กรมหมื่นบวรรังสีสุริยพันธุ์ ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุติ

ในปีพ.ศ.๒๔๓๔ ทรงเข้าพระราชพิธีมหาสมณุตภิเษก เป็นกรมสมเด็จพระปวเรศวริยาลงกรณ์ บวรรังษีสุริยพันธุ์ ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช จนถึงวันที่ 28 กันยายน พ.ศ.๒๔๓๕ สิ้นพระชนม์ รวมพระชนม์ได้ ๘๓ ชันษา

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ทรงเป็นปราชญ์ทางภาษาบาลีที่สำคัญที่สุดพระองค์หนึ่ง นอกจากนั้นยังมีพระปรีชาสามารถในด้านต่าง ๆอีกมากมาย อาทิ

ด้านสถาปัตยกรรม ทรงเป็นผู้ออกแบบพระปฐมเจดีย์องค์ปัจจุบัน เมื่อปีพ.ศ.๒๓๙๖ ขณะดำรงพระอิสริยยศ พระเจ้าวรวงษ์เธอ กรมหมื่นบวรรังสีสุริยพันธุ์ เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต ด้านโบราณคดี ทรงอ่านอักษรขอม และจารึกเป็นจำนวนมาก อาทิ จารึกสุโขทัยหลักที่ ๒ ศิลาจารึกวัดศรีชุม ด้านประวัติศาสตร์ ทรงนิพนธ์ลิลิตพงศาวดารเหนือ เรื่องพระปฐมเจดีย์  ด้านดาราศาสตร์ ทรงคำนวณปฏิทินทางจันทรคติ ออกมาเป็นพระนิพนธ์ตำราปฏิทินปักขคณนา


ด้านวิทยาศาสตร์ ทรงจัดทำ จดหมายเหตุบัญชีน้ำฝน ที่มาจากการเก็บสถิติด้วยพระองค์เองเป็นเวลา 45 ปี ด้านกวีนิพนธ์ ทรงพระนิพนธ์ไว้ทั้งภาษาไทยและภาษาบาลี  อาทิ พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กาพย์เสด็จนครศรีธรรมราช ลิลิตพงศาวดารเหนือ ด้านพระศาสนา ทรงเป็นองค์ประธานชำระพระไตรปิฎก และจัดพิมพ์พระไตรปิฎกเป็นภาษาไทยครั้งแรก ทรงกำหนดพระราชบัญญัติและประกาศคณะสงฆ์ต่อเนื่อง และทรงสร้าง “พระกริ่งปวเรศ” ที่เป็นตำนานมาถึงปัจจุบัน.


**********



วันจันทร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2561

สุพรรณภูมิ ๘



ช้างสยามสร้างกำแพงจีน


คำว่า “ช้าง” ถูกเรียกในภาษาจีนกลางว่า “เซียง” ส่วนชาว "สยาม" จีนเรียกว่า “เซียน”(หนึ่งในหลายสำเนียง) สองคำนี้จึงอาจมีความหมายถึงการอยู่ร่วมกันเป็นความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดระหว่างชาวสยามกับช้างที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก ดังที่“หยางฝู”ได้บันทึกไว้ในหนังสืออี้อู้จื้อในสมัยฮั่นตะวันออก(พ.ศ.๕๖๘-๗๖๓)ตอนหนึ่งว่าที่นี่ “...มีประชากรจำนวนมาก นิยมล่าช้าง หากจับได้ก็ใช้ขับขี่ ถ้าตายก็เอางา...(1)

ช้างจึงเป็นสิ่งที่มีอยู่มากและอยู่กันมานานบนแผ่นดินสยาม และเนื่องจากช้างเป็นสัตว์ขนาดใหญ่ที่มีความอดทนสูงและฉลาดอย่างเลอเลิศ ดังที่ อริสโตเติล ปรัชญาเมธีกรีกโบราณ เคยกล่าวไว้ว่า “ช้างเป็นสัตว์ซึ่งเหนือกว่าสัตว์ทั้งปวงทั้งในด้านไหวพริบและจิตใจ”(1) จึงเห็นได้ว่านับแต่โบราณทุกรัฐแคว้นแถบเอเชียใต้ต่างฝึกช้างเพื่อใช้ในการศึกสงคราม สร้างเมือง และอีกหลายกรณี



 ช้างมีบทบาทสำคัญต่อสยามนับแต่การสร้างชาติจนถึงทูตสันถวไมตรี
ภาพจาก : ศูนย์บริบาลช้าง Elephant Nature Park เชียงใหม่

สยามกับราชสำนักจีนมีราชไมตรีกันมานานทั้งด้านการทูตและการค้า  ส่วนใหญ่ช้างจึงถูกนำมาเป็นส่วนหนึ่งของการเจริญสัมพันธไมตรี แต่จะว่าไปแล้วแม้สยามจะมีความสัมพันธ์กับจีนมาอย่างยาวนาน แต่การส่งช้างไปจีนก็ใช่ว่าจะปรากฏบ่อยนัก หากประมวลหลักฐานความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับจีนที่พบจากโบราณวัตถุก็นับได้ตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่นในพุทธศตวรรษที่ ๖ เรื่อยมาจนถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๘ในราชวงศ์ซ่ง และเห็นหลักฐานเป็นรูปธรรมจากพระราชพงศาวดารจีนสมัยราชวงศ์หยวนในต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๙ แต่ก็ยังไม่ปรากฏว่าสยามส่งช้างไปจีน

หลักฐานจริง ๆนั้นมีช่วงเข้าสู่ต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ของจักรวรรดิต้าหมิง ปรากฏบันทึกการส่งช้างไปยังราชสำนักจีนเป็นครั้งแรกในการเจริญความสัมพันธ์ทางการทูต  เป็นการส่งไปโดยพระราชบัญชาของสมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้า(ขุนหลวงพ่องั่ว)โดยผู้ที่นำไปคือองค์รัชทายาท

บันทึกจากพงศาวดารจีนในสมัยราชวงศ์หมิง ได้ถูกนำมาแปลความอย่างน้อย ๓ ครั้ง ในครั้งแรก (2) ระบุว่า “แผ่นดินหงบู๊ปีที่ ๔ ซินหาย(ปีกุน จ.ศ.๗๓๓พ.ศ.๑๙๑๔) เสี้ยมหลอฮกก๊ก เซียนเลียดเจี่ยวปี่เองี่ย(1) ให้ราชทูตเชิญพระราชสาสนแลพาช้างกับเต้าหกเท้า...” การแปลครั้งต่อมา(3)ระบุราชทูตพระนามว่า “เจ้าอังกุ” ขณะที่การแปลครั้งล่าสุด(4)ขยายพระนามออกไปว่า “เจ้าเอี้ยนกูหมาน” และได้ให้ความหมายว่าคือ “เจ้าอินทรกุมาร”

เจ้าอินทรกุมาร ภายหลังก็คือ เจ้านครอินทร์ นั่นเอง ซึ่งเวลานั้นอยู่ในวัยเพียง ๑๒ ชันษาเป็นหัวหน้าคณะราชทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับปฐมกษัตริย์แห่งจักรวรรดิต้าหมิง และได้รับความชื่นชมจากฮ่องเต้จูหยวนจาง เป็นอย่างมากทรง “..รับสั่งให้เจ้าพนักงานเอาแพรม้วนประทานไปให้อ๋อง กับประทานผ้าม้วนให้ราชทูตด้วย”(5)



ถิ่นอาศัยของช้างเอเชีย แดงเข้ม-ปัจจุบัน ,แดงอ่อน-อดีต
ภาพและคำบรรยาย :วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ถือเป็นครั้งแรกที่พระเจ้าแผ่นดินสยามส่งช้าง ซึ่งเป็นสัตว์สำคัญของราชสำนักที่มีไว้ใช้ทั้งการสงคราม และใช้งานลากจูง เมื่อมาตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใด ราชสำนักไทยต้องส่งช้างไปให้ต้าหมิง และพบกับข้อเท็จจริงว่าในอดีตอาณาจักรจีนเคยมีช้าง แต่ประชากรช้างลดจำนวนลงอย่างรวดเร็วจากเหตุผลของสงครามระหว่างรัฐต่าง ๆที่ดำเนินมาอย่างยาวนาน และผลจากการเบียดพื้นที่ช้างเพื่อใช้เป็นพื้นที่ทำกิน ในที่สุดช้างก็สูญพันธุ์ เหลือเพียงบางส่วนในแถบมณฑลยูนนานซึ่งอยู่ห่างไกลจากเมืองหลวงมาก

จีนไม่ใช้ช้างทำการรบ อาจเพราะความไม่ถนัดมาแต่บรรพชน ชาวจีนหลากชาติพันธุ์นิยมการต่อสู้บนหลังม้า และชำนาญในการควบคุมม้ามากกว่าสัตว์อื่นใด

เมื่อมาพิจารณาปัจจัยรอบด้าน ก็พบว่าในรัชสมัยจูหยวนจาง หมิงไท่จงฮ่องเต้ นอกจากการพัฒนาประเทศอย่างรอบด้านทั้งการปฏิรูประบบขุนนาง การพัฒนาด้านเกษตรแม่น้ำคูคลอง การกำหนดเกณฑ์ภาษี อุตสาหกรรมการทอผ้าไหม การผลิตเครื่องเคลือบดินเผา การทำเหมืองเหล็ก การหล่อเครื่องทองเหลือง การผลิตกระดาษ และการต่อเรือ  พันธกิจที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือการสร้างกำแพงเพื่อป้องกันศัตรูภายนอก อันเป็นหนึ่งในระบบการป้องกันภัยจากภายนอกที่สั่งสมมาทุกราชวงศ์

กำแพงเมืองจีนมีสร้างมาก่อนสมัยฉินซีฮ่องเต้ (๗๖๔-๗๔๙ ก่อนพุทธกาล)เพื่อให้ยากต่อการเข้าถึงของพวกมองโกลและแมนจู โดยเป็นการสร้างต่อจากแนวกำแพงเดิมที่สร้างมาจากรัฐต่าง ๆในสมัย “เจ็ดมหานครรัฐยุคจั้นกั๋ว” และมีการสร้างต่อเนื่องผ่านสมัยราชวงศ์ต่าง ๆนับตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่น ราชวงศ์สุย ราชวงศ์ถัง ราชวงศ์หยวน ราชวงศ์หมิง จนถึงราชวงศ์ชิง เป็นเวลากว่า ๒,๐๐๐ ปี 

เมื่อไม่นานมานี้ มีการเปิดเผยระยะทางของกำแพงเมืองจีน จากการสำรวจของนักโบราณคดี ระหว่างปีพ.ศ.๒๕๕๑-๒๕๕๕ และประกาศอย่างเป็นทางการจากสำนักงานมรดกวัฒนธรรมแห่งชาติจีน เมื่อวันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๕๕ ว่ามีความยาวถึง ๒๑,๑๙๖.๑๘ กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ ๑๕ มณฑลทั่วประเทศ



 กำแพงเมืองจีนหนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ของโลกที่สร้างมานานกว่า ๒,๐๐๐ ปี
ภาพจาก : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ในระยะทางที่ยาวขนาดนี้ มีการสร้างมากที่สุดในสมัยราชวงศ์หมิง(1368-1644/๑๙๑๑-๒๑๘๗) และส่วนใหญ่ที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบันก็เป็นกำแพงในสมัยนี้เช่นกัน เนื่องจากสร้างด้วยวัสดุที่แข็งแรงทนทานกว่าเป็นระยะทางรวม ๗,๓๐๐ กิโลเมตร ที่เริ่มต้นนับจากด่านเจียอี้กวนมณฑลกันซู่ทางภาคตะวันตก จนถึงริมแม่น้ำยาลู่ของมณฑลเหลียวหนิงทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผ่านพื้นที่ ๙ มณฑลนครและเขตปกครองตนเอง รวมระยะทาง ๑๔,๐๐๐ ลี้ (๗,๓๐๐ ก.ม.) จึงเป็นที่มาของคำว่า “กำแพงหมื่นลี้”

การที่กำแพงเมืองจีนใช้เวลาการสร้างมาต่อเนื่องเป็นเวลากว่า ๒,๐๐๐ ปี เพราะการก่อสร้างเป็นไปอย่างยากลำบากโดยเฉพาะพื้นที่บางแห่งเป็นภูเขาสูงชัน และด้วยสภาพป่าอันสลับซับซ้อนแม้จะใช้คนงานเป็นจำนวนมหาศาล แต่ก็ไม่พอเพียงต่อการลำเลียงขนส่งวัสดุอุปกรณ์ และช้างจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทางการจีนต้องการ โดยเฉพาะช้างจากสยามในฐานะประเทศที่มีความสัมพันธ์กันมานาน

ในช่วงปีพ.ศ.๑๙๓๑ สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้า (ขุนหลวงพ่องั่ว) จึงส่งช้างล็อตใหญ่ไปจีนเป็นจำนวนที่ไม่เคยมีการบันทึกมาก่อน คือเป็นจำนวนมากถึง ๓๐ เชือก และด้วยความที่จีนไม่มีผู้ชำนาญในการเลี้ยงหรือบังคับช้าง ขุนหลวงพ่องั่วจึงส่งคนเลี้ยงไปร่วมกับคณะราชทูตอีกจำนวน ๖๐ คน ดังมีบันทึกไว้ในพงศาวดารว่า

“แผ่นดินหงบู๊ปีที่ ๒๑ โบ้วสิน(ตรงกับปีมะโรงจ.ศ.๗๕๐/พ.ศ.๑๙๓๑) ราชทูตเสี้ยมหลอก๊กนำช้างสามสิบช้าง กับคนหกสิบคนมาถวาย..”(6)

จูหยวนจาง จักรพรรดิต้าหมิง ที่จิตรกรเขียนให้มีนรลักษณ์เป็นมังกร
ภาพจาก :วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ไม่มีบันทึกเพิ่มเติมว่าช้างทั้ง ๓๐ เชือก และควาญช้างทั้ง ๖๐ คน มีชีวิตอยู่กันอย่างไร ได้กลับมาสยามหรือไม่ แต่ผลจากครั้งนั้นทำให้ระดับความสัมพันธ์ของ ๒ ราชวงศ์ยิ่งกระชับแน่นแฟ้นขึ้น ระบบการค้าขายแลกเปลี่ยนเป็นไปอย่างคล่องตัวในระดับมั่งคั่ง 

กล่าวได้ว่า ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้า หรือที่ราชสำนักจีนเรียกพระองค์ว่า “สมเด็จเจ้าพระยาสุรินทราราช” ถือเป็นยุครุ่งเรืองของสยาม ภายหลังการย้ายจากสุพรรณภูมิมาตั้งฐานที่มั่นในพระมหานครศรีอยุธยา และความรุ่งเรืองภายใต้ผลประโยชน์ร่วมกันนี้ ได้ทอดเงาสืบเนื่องมาถึงแผ่นดินสมเด็จพระนครินทราธิราช หรือเจ้าอินทรกุมาร ราชทูตสยามที่นำช้างไปถวายจักรพรรดิหงหวู่ แห่งจักรวรรดิต้าหมิงนั่นเอง.


ช้างสยามอีกหนึ่งต้นทางสุพรรณภูมิ
............วิญญู บุญยงค์............

******


เชิงอรรถ

(1)อ.ประพฤทธิ์ ศุกลรัตนเมธี ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ เป็นผู้แปลจากหนังสืออี้อู้จื้อ

(2)เสี้ยมหลอฮกก๊ก หมายถึงพระเจ้าแผ่นดินสยาม,เซียนเลียดเจี่ยวปี่เองี่ย หมายถึง สมเด็จเจ้าพระยา คือขุนหลวงพ่องั่ว

อ้างอิง

1.วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี อ้างจาก O'Connell, Caitlin (2007). The Elephant's Secret Sense: The Hidden Lives of the Wild Herds of Africa. New York City: Simon & Schuster. pp. 174, 184. ISBN 0743284410.

2,5,6.ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๕.จดหมายเหตุว่าด้วยกรุงสยามแต่โบราณ(เรียบเรียงจากจดหมายเหตุจีน ๕ เรื่อง).แปลโดย หลวงเจนจีนอักษร(สุดใจ).

3.ต้วน ลี เซิง,รศ.หมิงสือลู่ (บันทึกเกี่ยวกับราชวงศ์หมิง).หนังสือพลิกต้นตระกูลไทย.สำนักพิมพ์พิราบ.พิมพ์ครั้งที่ 2.พ.ศ.2521.

4.ประพฤทธิ์ กุศลรัตนเมธี,(ผู้แปลหมิงสือลู่).หมิงสือลู่ - ชิงสือลู่ บันทึกเรื่องจริงแห่งราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิงฯ.มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี.2559.