โพสต์แนะนำ

วันพุธที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

พระนางพญา ๒


นางพญา อกนูนใหญ่
ด้านหลังพิมพ์สังฆาฏิ


ขึ้นชื่อว่าพระนางพญา ใครต่อใครต่างก็ต้องการครอบครอง โดยเฉพาะสุภาพสตรี กับนาม "นางพญา" ดูจะเป็นที่ไขว่คว้ากันมาก เพราะเชื่อกันว่าเป็นเสน่ห์เมตตามหานิยม และอำนาจ แต่ในความเป็นจริงสุภาพบุรุษโดยเฉพาะข้าราชการทหาร ตำรวจ ต่างก็เสาะแสวงหากันอยู่ไม่น้อย ด้วยเรื่องราวที่มีการเล่าต่อ ๆกันมาในด้านความเหนียว และคงกระพันชาตรี พระนางพญาจึงกลายเป็นพระที่มีพุทธคุณครบเครื่อง และเป็นที่เลื่องลือมานับแต่ครั้งที่เกิดการแตกกรุใหม่ ๆ


พระนางพญา เป็นพระเนื้อดินตระกูลเดียวที่ไม่ผ่านการกรองดินดังเช่นพระรอด พระซุ้มกอ  และพระผงสุพรรณ อาจเป็นเพราะอยู่ในช่วงภาวะสงครามที่การสร้างเป็นไปอย่างรีบเร่ง ดินที่นำมาใช้จึงถูกผสมคลุกเคล้าไปกับมวลสารมงคลในทันที แต่หากจะกล่าวไปแล้ว เนื้อของพระนางพญาที่ไม่ผ่านการกรอง ก็เป็นเสน่ห์เฉพาะตัวไปอีกเช่นกัน เพราะเม็ดกรวดแต่ประเภทและสีที่คละเคล้ากันมีความแตกต่างกันอย่างลงตัว และกลายเป็นลายแทงให้ผู้ศึกษาเนื้อพระนางพญาใช้เป็นจุดสำคัญในการพิจารณาไปในตัว ที่สำคัญการมีเม็ดกรวดผสมอยู่กับเนื้อดินต้องมีปริมาณหรือสัดส่วนที่ลงตัว ไม่มากเกินไปหรือน้อยเกินไป หากสัดส่วนใดไม่สมดุล พระองค์นั้นอาจถูกตั้งข้อสังเกตได้


สำหรับองค์ที่นำมาลงไว้นี้ เป็นพระนางพญา พิมพ์อกนูนใหญ่ ค่อนไปทางอ้วน บางทีเรียกกันว่า”พิมพ์อ้วน”ก็มี พระนางพญาองค์นี้มีขนาดกว้าง ๒.๒ ซ.ม.สูง ๓.๒ ซ.ม.หนาประมาณ ๐.๙ ซ.ม. ขอบพระทุกด้านถูกตัดรับกับสัดส่วนองค์พระ หรือที่เรียกว่า “ตัดขอบชิด” อาจเป็นจินตนาการของช่างผู้ทำการกดแบบพิมพ์ต้องการตกแต่งให้เป็นแบบใหม่ดูบ้าง จึงเกิดเป็นองค์พระที่มีเอกลักษณ์เฉพาะขึ้นมา

พระนางพญา พิมพ์อกนูนใหญ่องค์นี้ พระพักตร์กลมมนใหญ่ปรากฏพระเนตร พระนาสิก และพระโอษฐ์ลาง ๆ พระกรรณทั้งสองด้านยาวลงจรดพระอังสา และเป็นเส้นเดียวกันที่ยาวขึ้นไปบนพระนลาฏ(หน้าผาก)เป็นกระจังหน้า เหนือขึ้นไปเป็นพระเกศโคนใหญ่ปลายเรียว พระอังสา(บ่า)กว้าง พระอุระใหญ่ล้นนูนขึ้นมา อันเป็นที่มาของชื่อแบบพิมพ์ทรง


เส้นจีวรลากจากพระอังสาซ้ายลงใต้ซอกพระพาหา(แขนท่อนบน)ขวาเป็นเส้นลึกชอนเข้าไป ชายสังฆาฏิพาดเฉียงขวาลงไปถึงพระอุทร(ท้อง) พระพาหาด้านซ้ายบางกว่าด้านขวา วงพระกรซ้ายวางลงเป็นแนวโค้งรับกับพระอุทร พระกัประซ้าย(ข้อศอกซ้าย)ปรากฏเส้นชายจีวรลงไปยังพระชานุ(เข่า)ซ้าย พระกรขวาวางพาดลงบนพระชานุ พระเพลา(ตัก)ด้านบนปรากฏพระชงฆ์(แข้ง)ซ้ายวางพาดไปทางขวาเป็นเส้นบาง ส่วนด้านล่างเป็นเส้นฐานหนากว่า รวมแล้วเป็นพุทธศิลป์ปางมารวิชัย ที่มีความเอิบอิ่มสมบูรณ์

ในพระองค์นี้ นอกจากจะมีลักษณะพิเศษเพิ่มเติมจากการตัดชิดแล้ว ด้านหลังยังปรากฏเป็นลายหลังกระดาน มีพระนางพญาพิมพ์สังฆาฏิวางขวางกลางครึ่งพระองค์  แตกต่างไปจากพระบางองค์ที่พบในลักษณะคล้ายกันแต่พระด้านหลังจะวางอยู่ตรงกลางแนวเดียวกับด้านหน้า


การพิจารณาความเก่าของเนื้อพระนางพญา อยู่ที่ความกร่อน และการยุบย่นของผิวทุกอณูโดยรวม และทั่วทั้งองค์ปรากฏเม็ดผดขึ้น นอกจากนั้นตามรอยครูดที่ปาดแบบชิดองค์เผยให้เห็นเส้นทิวเล็กที่ลู่ไปตามรอยตัดเป็นเส้นที่หดตัวบิดรูปอย่างชัดเจน ส่วนที่เป็นเม็ดแร่มีการหดตัวของดินรอบข้าง เช่นเดียวกับส่วนที่เป็นรูโพรงตรงปากรูก็จะหดตัวโดยรอบเช่นกัน

พระนางพญา ยังสังเกตได้จากคราบกรุบนพื้นผิว ที่เห็นได้ชัดบริเวณตามซอกที่ไม่ถูกสัมผัส มักพบคราบกรุสีออกน้ำตาลและถูกคลุมทับด้วยราดำ คราบกรุที่มีลักษณะอย่างนี้ แม้จะผ่านการล้างกี่ครั้งก็ตาม เมื่อเนื้อพระแห้งตัวดีแล้ว คราบกรุก็จะกลับปรากฏขึ้นมาใหม่ เป็นลักษณะเฉพาะของพระกรุที่มีอายุหลายร้อยปีนั่นเองครับ.


ศึกษาเพื่อการอนุรักษ์วัตถุโบราณ
..........จันทร์พลูหลวง..........

*********

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น