โพสต์แนะนำ

วันอาทิตย์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

พระท่ากระดาน กรุเก่า


พระท่ากระดาน
ขุนศึกแห่งลุ่มน้ำแม่กลอง


พระท่ากระดาน พระเครื่องศิลปะสมัยสุพรรณภูมิ(อู่ทอง) สันนิษฐานว่ามีอายุอยู่ในพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๒๐ จัดเป็นหนึ่งในเบญจภาคีพระยอดขุนพลเนื้อชิน ที่ชาวเมืองกาญจนบุรีภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง 

พระท่ากระดาน สร้างจากเนื้อตะกั่วนิ่ม บางทีเรียกกันว่า ตะกั่วน้ำนม มีส่วนผสมของปรอท ส่วนใหญ่เท่าทีพบในสภาพเดิม จะถูกปิดทองด้านหน้าเต็มองค์อย่างประณีต แสดงให้เห็นว่าเป็นงานสร้างระดับสูง ด้วยพุทธปฏิมาที่งามสง่า น่าเกรงขาม และพุทธคุณทางคงกระพันชาตรี พระท่ากระดาน จึงได้รับการขนานนามเป็น “ขุนศึกแห่งลุ่มน้ำแม่กลอง”

พระท่ากระดาน กรุเก่าศรีสวัสดิ์ ด้านหน้าปิดทองมาแต่เดิม

พุทธศิลป์แบบนูนสูงด้านหลังเรียบ องค์พระประทับนั่งปางมารวิชัย พระเกศยาวเรียวต่อจากพระเมาลี  วงพระพักตร์ด้านบนเป็นกระจัง ถัดมาเป็นพระขนงแบบปีกกา พระนาสิกโคนเรียวปลายใหญ่คล้ายหยดน้ำ รับกับพระโอษฐ์ยิ้มแบบเครียด พระเนตรโคนใหญ่ปลายเรียว พระศอลึกลงไป

พระอังสา(บ่า)ผึ่งผาย พระพาหา(ไหล่ แขน)โค้งลงด้านซ้ายวางลงบนพระเพลา(ตัก)พระกรใหญ่ ด้านขวาวางทอดลงบนพระชานุ(เข่า)พระกรใหญ่เช่นกัน พระอุระ(อก)กว้าง ปรากฏเส้นสังฆาฏิวางพาดเฉียงจากด้านบนซ้ายลงไปยังพระอุทร(ท้อง) พระบาทขวาวางทาบบนพระชงฆ์(แข้ง)ซ้าย บนฐานสำเภาชั้นเดียว ด้วยพุทธลักษณ์เช่นนี้ ผู้เชี่ยวชาญทางพุทธศิลป์หลายท่านต่างให้ทัศนะว่า คล้ายพระผงสุพรรณ กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ สุพรรณบุรี

ด้านหลังพระท่ากระดาน จะปรากฏแอ่งจากการยุบตัวของเนื้อตะกั่ว

พระท่ากระดานมีขนาดหน้าตักกว้าง ๒.๘ ซ.ม.ความสูงจากฐานถึงปลายพระเกศไม่แน่นอน เนื่องจากพระเกศของพระท่ากระดานเป็นปลายเรียวยาว เมื่อผ่านกาลเวลามานานปลายพระเกศจึงหักบ้าง บิดบ้าง จนมีการขนานนามตามลักษณะพระเกศ เช่นเกศตูม เกศตรง เกศยาว และเกศคด เป็นต้น สำหรับองค์ที่นำมาลงไว้นี้เป็นแบบพระเกศตรง วัดความสูงจากฐานถึงยอดพระเกศได้ ๔.๕ ซ.ม.

การพิจารณาพระท่ากระดาน นอกจากรูปทรงตามมาตรฐานแล้ว สังเกตที่พื้นผิวของพระทั้งองค์ จะเป็นสนิมแดงเข้มจัดจนเป็นสีเปลือกมังคุด สนิมแดงนี้จะเกาะกุมองค์พระอย่างแนบสนิท ที่สำคัญ ผิวของสนิมแดงจะเหี่ยวย่นเป็น”ตามุ้ง” เหนือสนิมแดงจะปรากฏสนิมไข และสนิมแป้ง

ลักษณะของ"ตามุ้ง"เรียงตัวเกาะกันอย่างไม่เป็นระเบียบ

บริเวณด้านหน้าส่วนใหญ่มักปิดทับด้วยแผ่นทองคำเปลว ในองค์ที่ไม่ผ่านการใช้จะมีคราบฝ้าปกคลุมจนไม่เห็นเนื้อทองคำเปลว เรียกกันว่า “กรุทับทอง” แต่หากทำความสะอาดปัดคราบฝ้าแป้งออกจึงจะเห็นแผ่นทองคำที่มีสนิมออกแดงส้มปกคลุมอยู่ประปราย นอกจากนั้นในบางองค์จะพบสนิมไขดันทะลุแผ่นทองขึ้นมา เรียกว่า “ทองทับกรุ”

ส่วนด้านหลังของพระท่ากระดาน  จะปรากฏเป็นแอ่งยุบตัวลงไป เห็นได้ชัดบริเวณที่ตรงกับพระพักตร์ และด้านล่างบริเวณพระเพลา(ตัก) เนื่องจากเป็นตำแหน่งที่อยู่ลึกกว่าจุดอื่น ในขณะทำการหล่อองค์พระ แม่พิมพ์เป็นลักษณะคว่ำหน้า เนื้อตะกั่วที่เทลงในเบ้าพิมพ์ขณะยังร้อนอยู่จะราบเรียบเสมอกัน ต่อเมื่อความร้อนคลายตัวจนเนื้อตะกั่วเย็นลง จึงจะปรากฏการยุบตัวให้เห็นชัด ขณะเดียวกันโดยรอบขอบองค์พระด้านหลังจะสูงกว่าเนื้อด้านในโดยรวม

การยุบตัว รอยเหี่ยวย่น และพื้นผิว  เป็นส่วนสำคัญในการพิจารณา

ปัจจุบันพระท่ากระดาน จัดเป็นพระเครื่องที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับต้น ๆของเมืองไทย จึงมีของทำเลียนแบบออกมามากมายอย่างต่อเนื่อง แต่ฝีมือการทำ หากศึกษาอย่างละเอียดถี่ถ้วน ค่อย ๆพินิจพิจารณาก็จะเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน.



ร่วมกันศึกษาเพื่อการอนุรักษ์วัตถุโบราณ
.............จันทร์พลูหลวง................


*********


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น