โพสต์แนะนำ

วันพุธที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

ลอยกระทง


นางกษัตริย์คืนเดือนเพ็ญ
ศิลปะภาคใต้ นครศรีธรรมราช


ประติมากรรมกระเบื้องเคลือบสามสี รูปนางกษัตริย์แห่งเมือง12นักษัตร ลอยกระทงประทีปคืนเพ็ญเดือน12 ในแม่น้ำตาปี (เมืองนครศรีธรรมราช) อายุราวพุทธศตวรรษที่19-20 พบในแหล่งเตาเผากระเบื้องเคลือบในเขตเทือกเขานครศรีธรรมราช ศิลปะเมืองนครศรีธรรมราช  หลังจากเมืองภาคใต้ไปจรดปลายแหลมมาลายูตกอยู่ในอำนาจของ “เสียน” จนถึง “เสียนหลอหู” อาณาจักรซึ่งทรงอิทธิพลอยู่ทางตอนบน พื้นที่นี้มีความเจริญทางพุทธศาสนา ศิลปะ ประเพณี การเมืองการปกครอง และวัฒนธรรม



ประเพณีลอยประทีปบูชาพระคงคาที่ได้แบบอย่างมาจากลังกาและอินเดีย ตามตำราพุทธเถรวาทลอยกระทงด้วยเป้าประสงค์หลายประการ อาทิเพื่อขอขมาบูชาแม่น้ำ บูชาพระเกศาของพระพุทธเจ้า( พระจุฬามณี) บนสวรรค์ เพื่อต้อนรับองค์พระสัมมาสัมโพธิญาณเสด็จกลับจากเทวโลกหลังจากแสดงพระอภิธรรมโปรดพุทธมารดา เพื่อบูชาพระอุปคุตะเถระที่บำเพ็ญตะบะในท้องทะเล ภาคใต้ในสมัยโบราณกษัตริย์ ขุนนาง และชาวเมือง ไปลอยกระทงประทีปในแม่น้ำตาปี หรือแม่น้ำหลวง แม่น้ำสายใหญ่ที่สุดในภาคใต้มีต้นกำเนิดจากเขาหลวงอ.พิปูนจ.นครศรีธรรมราชลงสู่อ่าวไทยที่อ.บ้านดอนจ.สุราษฎร์ธานี


แม่น้ำตาปี มีการตั้งชื่อให้พ้องกับแม่น้ำ “ตาปติ” เช่นเดียวกับเมืองสุราษฎร์ธานีพ้องกับ “เมืองสุรัฏฐ”ในชมพูทวีป ที่มีต้นทางจากภูเขาสัตตปุระ ไหลสู่ปากแม่น้ำเมืองสุรัฏฐ หรืออ่าวแคมเบย์ มหาสมุทรอินเดีย ในสมัยโบราณชาวเดินเรือต่างชาติทั้งจากจีน อินเดีย อาหรับ เปอร์เซีย ต่างรู้จักกันดี โดยเฉพาะนักเดินเรือชาติกรีก ปโตเลมี(Cludius Ptolemy)ที่เข้ามาในแดนสุวรรณภูมิในปลายพุทธศตวรรษที่ 7 ได้เรียกแม่น้ำตาปีว่า แม่น้ำอัตตาบาส์. (ขอขอบคุณภาพประกอบจาก Album Pirun Wongsawarn)


*********

วันอาทิตย์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

ข่าว-ประวัติศาสตร์


สุจิตต์ ชี้ “เจ้านครอินทร์” ยิ่งใหญ่ ของจริง

สุจิตต์ กราด เจ้านครอินทร์แห่งสุพรรณเป็นเจ้าอาณาจักรสยามครั้งแรก แต่ไม่มีคนพูดถึง ชี้ให้ไปดูขุมทองที่กรุวัดราชบูรณะ และประจักษ์พยานรอบด้าน จะเข้าใจประวัติศาสตร์ที่แท้จริง
เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2561 เวลา 13.30-16.00 น. นายสุจิตต์ วงษ์เทศ นักเขียนนักประวัติศาสตร์-โบราณคดี ได้บรรยายในหัวข้อ “สุพรรณภูมิ : เอาเขมรคืนไปเอาความเป็นไทยใส่อยุธยา” จัดโดยชมรมโบราณคดี (สมัครเล่น) เมืองสุพรรณ  ณ หอประชุมวัดพระรูป เมืองสุพรรณบุรี โดยมีผู้สนใจมาร่วมงานและร่วมแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก
นอกเหนือจากประเด็นความเป็นมาจากต้นทางเมืองอู่ทองและเมืองนครปฐมจนมาถึงสุพรรณภูมิ ทางฟากตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นนามสืบเนื่องมาจาก “สุวรรณภูมิ”ในคัมภีร์อินเดียและลังกาแล้ว นายสุจิตต์ยังย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของกษัตริย์สุพรรณภูมิ นับตั้งแต่สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่๑(ขุนหลวงพ่องั่ว) จนถึงสมเด็จพระนครินทราธิราช(เจ้านครอินทร์) ที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างความเจริญรุ่งเรืองสู่อยุธยา แต่ที่ผ่านมามีผู้ให้ความสำคัญน้อย โดยเฉพาะพระนามเจ้านครอินทร์หายไปจากห้วงคำนึงของผู้คน ทั้งๆที่พระองค์สร้างชาติจนแผ่นดินเป็นปึกแผ่นมั่นคง
“เจ้านครอินทร์เป็นเจ้าอาณาจักรสยามตั้งแต่แรก แต่ไม่ใครพูดถึง ให้ไปดูหลักฐานเครื่องทองที่กรุวัดราชบูรณะว่ายุคสมัยของพระองค์มั่งคั่งแค่ไหน ซึ่งเจ้าสามพระยาทรงสร้างวัดราชบูรณะถวายเจ้านครอินทร์พระราชบิดาแต่ในบันทึกทั่วไปบอกแค่ว่าสร้างในคราวเจ้าอ้ายพระยากับเจ้ายี่พระยาสิ้นพระชนม์เท่านั้น”
นายสุจิตต์ ยังกล่าวด้วยว่า เจ้านครอินทร์ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ราชสำนักจีนในสมัยราชวงศ์หมิงให้การสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ระบบการค้าระหว่างสยามกับจีน รวมถึงนานาประเทศในเวลานั้นเข้ามาทำการค้าขาย จนอยุธยากลายเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญมากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
“ผมเคยเห็นบางหน่วยงานจัดนิทรรศการเกี่ยวกับสุพรรณบุรี กล่าวถึงขุนหลวงพ่องั่ว แต่ไม่มีเจ้านครอินทร์ ตัดเจ้านครอินทร์ออกไปเลย ผมไม่เข้าใจว่าเขาคิดอะไรกันอยู่”
ทั้งนี้ในการบรรยาย ได้มีผู้สนใจทั้งนักวิชาการ นักประวัติศาสตร์ ท้องถิ่น ศิลปิน นักเรียน นักศึกษา พระสงฆ์ ประชาชนชาวสุพรรณ จังหวัดใกล้เคียง และจากกรุงเทพมหานคร ต่างเดินทางมารับฟังคำบรรยาย และสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เมืองสุพรรณและร่องรอยวัฒนธรรมที่เชื่อมต่อในแต่ละช่วงเวลาระหว่างสุพรรณภูมิกับอยุธยา รวมถึงประเด็นต่าง ๆอย่างหลากหลาย.



นายสุจิตต์ วงษ์เทศ นักเขียน นักประวัติศาสตร์-โบราณคดี

ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล ภาควิชาประวัติศาสตร์
คณะมนุษยศาสตร์ รามคำแหง ร่วมตอบข้อซักถาม

ภาพจาก : Matichon Online


ภาพจาก : ชมรมโบราณคดี(สมัครเล่น)เมืองสุพรรณฯ

ภาพจาก : ชมรมโบราณคดี(สมัครเล่น)เมืองสุพรรณฯ




วันเสาร์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

Gandhara Terracotta


เทพธิดาคันธาราฐ
Gandhara Terracotta




หน้ากากเทพธิดา สร้างจากวัสดุดินเผาสมัยคันธารราฐ(Gandhara)
พบในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีอายุร่วมสมัยกับศิลปะกรีก-อินเดีย ราวคริสต์ศตวรรษที่ 1-2
Goddess mask, Gandhara terracotta Greek Art in1-2th A.D.

**********

วันพุธที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

พระศรีอาริย์คันธาระ


พระศรีอริยเมตไตรย
ศิลปะคันธาระ(Gandhara)


            
            พระศรีอริยเมตไตรย เป็นพระโพธิสัตว์ที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแห่งภัทรกัปนี้ นับจากพระศาสนาของพระศรีศากยมุนีโคตมสัมมาสัมพุทธเจ้าสิ้นสุดไปแล้วหลายล้านปี มนุษย์โลกจะทยอยเข้าสู่ความเสื่อมถอย อายุขัยจะลดลงเหลือ ๑๐ ปีเป็นยุคมิคสัญญี ผู้คนไร้ทางออกจนเกิดสังเวชใจหันกลับมาสร้างความดี จนอายุขัยเพิ่มขึ้น ๑ อสงไขยปี ก่อนจะลดลงเหลือ ๘๐,๐๐๐ ปี จึงจะบังเกิดพระโพธิสัตว์ที่บำเพ็ญบารมีมาแสนนานจนครบ ๘๐ อสงไขยแสนมหากัป บรรลุบุพเพนิวาสานุสติญาณในมัชฌิมยาม ถึงซึ่งพระสัพพัญญุตญาณ เป็นพระสัมมาสัมโพธิญาณพุทธเจ้า



            ปฏิมากรรมพระศรีอริยเมตไตรย ศิลปะสมัยคันธาระ(Gandhara) ในภาพเป็นงานหล่อขึ้นจากโลหะสำริด มีอายุอยู่ในคริสต์ศตวรรษที่ ๒ หรือราวพุทธศตวรรษที่ ๗-๘ พบในดินแดนแถบภาคใต้ของสยาม ที่ในอดีตมีการหลั่งไหลของวัฒนธรรมอินเดีย ผสมผสานทั้งพุทธและพราหมณ์(Hindu-Buddhism)อยู่เป็นเวลาช้านาน เชื่อว่าต้นแบบของปฏิมากรรมนี้นำมาจากอินเดีย เมื่อเข้าสู่สุวรรณภูมิจึงนำแร่โลหะที่มีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ในธรรมชาติมาสร้างหล่อ ภาคใต้ของสยามจึงเป็นแหล่งผลิตที่สำคัญ และยังส่งออกไปยังประเทศแคว้นรัฐที่นับถือในพุทธศาสนาอีกทอดหนึ่ง .(ขอขอบคุณภาพจาก : Album Pirun Wongsawarn)

ศึกษาเพื่อการอนุรักษ์วัตถุโบราณ

........จันทร์พลูหลวง............