โพสต์แนะนำ

วันเสาร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2561

สุพรรณภูมิ ๑



เสียน เสียม เสี้ยม คือสุพรรณภูมิ


แต่เดิมนั้นตั้งธงกันว่า เสียน, เสียม เสี้ยม หรือสยาม คือสุโขทัย ความเข้าใจทางประวัติศาสตร์จึงคลาดเคลื่อน ต่อมานักประวัติศาสตร์หลายท่านแสดงความไม่แน่ใจ โดยเฉพาะจากงานวิจัยของสืบแสง พรหมบุญ ให้เหตุผลว่า “ผู้รู้ภาษาจีนแปลเอกสารจีนผิดพลาด เพราะในความจริงแล้ว พ่อขุนรามคำแหงไม่เคยไปเมืองจีนเลย”(1) ด้วยเหตุนี้รายละเอียดที่เป็นสุพรรณภูมิ จึงไปเป็นของสุโขทัยเสียทั้งหมด แม้กระนั้นก็ยังมีผู้คนอีกไม่น้อยที่สนใจในประวัติศาสตร์ชาติไทย ใคร่รู้ว่าอาณาจักรเก่าแก่นี้เป็นที่ใดกันแน่

บันทึก โจวต๋ากวาน ที่เดินทางเข้ามายังเขมรช่วงปีพ.ศ.1838 ตรงกับรัชกาลพ่อขุนรามคำแหง(พ.ศ.1822-1841) ระบุไว้ว่า “อาณาจักรเสียน อยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเขมร”(2) เป็นการยืนยันว่าคือที่ตั้งของ”สุพรรณภูมิ” มิใช่ “สุโขทัย”แน่ และในบันทึกของจีนสมัยราชวงศ์ชิงเรียก “สกก๊อตท้าย”ซึ่งน่าจะให้ความหมายว่า สุโขทัย มิใช่ สุพรรณภูมิ(3)

ต่อมาพบ “บันทึกย่อเผ่าชาวเกาะ” ของหวางต้ายวน ที่เดินทางมาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้บรรยายไว้ตอนหนึ่งซึ่งเป็นกุญแจสำคัญที่ไขไปสู่ความจริงว่า “เมื่อรัชกาลจื้อเจิ้ง ปีฉลู (ตรงกับพ.ศ.1892) เดือน 5 ฤดูร้อน เสียนยอมจำนนต่อหลอหู”(4) ข้อความนี้สอดคล้องกับห้วงเวลาที่ต่อมาในปีรุ่งขึ้นพ.ศ.1893 พระยารามก็สถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี และก้าวขึ้นสู่ปฐมบรมกษัตริย์แห่งอโยธยาศรีรามเทพนคร ทรงพระนามสมเด็จพระรามาธิบดี ซึ่ง”เสียน”ที่หวางต้ายวนเรียกนั้นย่อมไม่ใช่สุโขทัย เพราะสุโขทัยถูกผนวกเข้าเป็นประเทศราชของกรุงศรีอยุธยาในเวลาให้หลังจากนี้อีกนานถึง 29 ปี ในรัชกาลของขุนหลวงพ่องั่ว หรือสมเด็จพระบรมราชาธิราช ซึ่งเป็นเจ้าแผ่นดินเสียนมาแต่เดิม

นอกจากนั้นในบันทึกย่อเผ่าชาวเกาะ ยังอธิบายเพิ่มเติมว่า “....เมื่อใดก็ตามที่มีเหตุการณ์วุ่นวายขึ้นในเมืองอื่น พวกนี้จะลงเรือหลายร้อยลำที่บรรทุกสาคูจนเพียบแปร้ และเข้าโจมตีอย่างกล้าหาญ จนได้ทุกสิ่งที่ต้องการ”   จากความชำนาญของชาวเสียนในการรบพุ่งทางน้ำหรือทางทะเล และย่อมมีเป้าหมายในพื้นที่ที่ห่างไกลออกไปจนถึงขนาดต้องตุนสาคูซึ่งเป็นเสบียงจนเต็มลำเรือ จึงไม่มีเหตุผลว่า”เสียน”จะเป็นสุโขทัย เพราะสุพรรณภูมิ เป็นชายขอบทะเลและลดระดับเป็นลุ่มน้ำโบราณมาแต่ดั้งเดิม รวมถึงการเข้าครอบครองพื้นที่ภาคใต้ไปจรดปลายแหลมมลายู ซึ่งต้องทำสงครามแย่งชิงและปกป้องมาโดยตลอด

แม่น้ำจระเข้สามพันที่ไหลจากใต้ขึ้นสู่เหนือผ่านเมืองโบราณอู่ทอง 
ก่อนจะไปทางขวาเข้าเขตเมืองโบราณสุพรรณภูมิตามข้อสังเกตุในเอกสารสมัยราชวงศ์ชิง


มีบทความที่ ทักษิณ อินทโยธา ศึกษาออกมาระบุว่า “เอกสารสมัยราชวงศ์ชิงก็ว่า เสียนนั้นมีแม่น้ำเกิดจากภูเขาทางใต้ไหลขึ้นเหนือมาออกอ่าวไทย” และได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า “ ซึ่งแม่น้ำลักษณะดังกล่าวก็ไม่มีอยู่ในสุโขทัยหรือละโว้”(5)

เรื่องนี้ตีความไม่ยาก เพราะเสียน ที่โจวต๋ากวาน ระบุว่า “อยู่ตะวันตกเฉียงใต้ของเจินละ”นั้น มีชัยภูมิที่มีสายน้ำมหัศจรรย์ไหลจากใต้ขึ้นมาเหนือ ซึ่งก็คือ “แม่น้ำจรเข้สามพัน” ที่ไหลจากเขตภูเขาเป็นลำน้ำแควน้อยและแม่กลองทางด้านใต้ของสุพรรณภูมิ แล้วแยกตัวเป็นลำน้ำสายรองไหลย้อนขึ้นเหนือไปบรรจบกับลำน้ำท่าว้าบริเวณเมืองโบราณอู่ทองที่เป็นเมืองท่าชายทะเลเมื่อกว่า 2,000 ปีก่อน แล้วไหลขนานพื้นที่ดอนใกล้ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำท่าจีน(ท่าจีน-แม่น้ำสุพรรณ) ใกล้กับตำแหน่งที่ตั้งของเมืองสุพรรณภูมิ ก่อนจะไหลผ่านทุ่งโบราณสองพี่น้องซึ่งเป็นแอ่งกระทะขนาดใหญ่ไปบรรจบกับแม่น้ำท่าจีนผ่านมณฑลนครไชยศรีและออกสู่อ่าวไทย

            "หลักฐานอื่นที่มิใช่ของจีนก็มีเช่นจารึกภาษาจามในเมืองยาตรัง ที่จารึกว่า กษัตริย์ชัยปรเมศวรวรมันที่ ๑แห่งจัมปา ถวายทาสชาวเขมร,จีน,พุกาม และสยาม เป็นข้าวัดแห่งหนึ่งเมื่อ พ.ศ.๑๕๘๓” หรือจารึกนครวัดก็มีการกล่าวถึง “สยาม”เช่นกัน แสดงว่า สยามหรือที่จีนเรียกว่า “เสียน” นั้นมีอยู่ก่อนสุโขทัยหลายร้อยปีทีเดียว และก็ควรต้องอยู่ในภาคกลาง หรือภาคใต้ของไทย เมื่อพิจารณาประกอบคำบรรยายทั้งแม่น้ำ และที่ตั้งในเอกสารจีนซึ่งก็สอดรับกับเอกสารฝรั่งในยุคหลังอย่างจดหมายเหตุลาลูแบร์ที่บอกว่า “สยาม” นั้นแต่ก่อนเรียกว่า “สุพรรณ”(6)

           จึงเป็นข้อสรุปได้แล้วว่า เสียน เสียม เสียมก๊ก และเสี้ยมก๊ก  คือ “สุพรรณภูมิ”.


ความหมายผิด ชีวิตคลาดเคลื่อน
....วิญญู บุญยงค์...........

*************
เอกสารอ้างอิง

1.สืบแสง พรหมบุญ.ความสัมพันธ์ในระบบบรรณาการระหว่างจีนกับไทย.มูลนิธีโครงการตำราฯ.พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2525.                    หน้า 73-80.
2.เฉลิม ยงบุญเกิด.บันทึกว่าด้วยขนบธรรมเนียมประเพณีของเจินละ.พระนคร.ชวนพิศ.๒๕๑๐.
3.จดหมายเหตุจีนว่าด้วยกรุงสยามแต่โบราณ(เรียบเรียงจากจดหมายเหตุจีน 5 เรื่อง).
4.อาคม พัฒิยะ และนิธิ เอียวศรีวงศ์.ศรีรามเทพนคร.รวมบทความเรียงว่าด้วยประวัติศาสตร์อยุธยาตอนต้น.เรือนแก้วการ        พิมพ์.2527.
5-6.ผิน ทุ่งคา.พ่อขุนรามคำแหงไปเมืองจีนเอาเทคโนโลยีทำถ้วยชามกลับมาสุโขทัยจริงหรือ?.สโมสรศิลปวัฒนธรรม.5 ก.ค.60 . อ้าง    ถึง ทักษิณ อินทโยธา. แย้งข้อสรุปของคณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทยที่ว่าเสียนในเอกสารราชวงศ์หยวน                      หมายถึงสุโขทัย.ศิลปวัฒนธรรมปีที่ 9 ฉบับที่ 3 .มกราคม 2531:น.104-111.

วันเสาร์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2561

ของเก่าเล่าอดีต ๑



เกษรสุพรรณ ของ”คฤหบดีเสือ”(1)
                                                                                             ...จันทร์พลูหลวง...
“พระเกษรสุพรรณ” เป็นชื่อเรียกพระเครื่ององค์ขนาดเล็กที่พบภายในปรางค์ประธานวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดสุพรรณบุรี ตามจารึกลานทองระบุมาแต่เดิมว่า“พระเกษร”จนปัจจุบันนิยมเอ่ยขานกันในชื่อ”พระผงสุพรรณ”  


พระผงสุพรรณ พิมพ์หน้าแก่ เนื้อสีแดง
พระผงสุพรรณ พิมพ์หน้าแก่ เนื้อสีเขียว
















สุพรรณภูมิ พุทธศักราช ๑๘๘๖

พระผงสุพรรณ  สร้างจากพระราชบัญชาของพระยาศรีธรรมโศกราช โดยการนำของฤาษีพิมพิลาไลย์และคณะ แล้วประทับนำฤกษ์ด้วยลายนิ้วมือพระมหาเถระปิยะทัศสะศรีสาริบุตร แล้วปลุกเสกหนึ่งไตรมาส ก่อนจะอัญเชิญมายังเมืองสุพรรณภูมิ ดังข้อความจารึกลานทองที่พบในปรางค์ใหญ่ระบุว่า

 “ศุภมัสดุ 1265 สิทธิการิยะแสดงบอกให้รู้ มีฤาษีทั้งสี่ตน พระฤาษีพิมพิลาไลย์เป็นประทาน เราจะทำด้วยฤทธิ์ทำด้วยเครื่องประดิษฐ์มีสุวรรณเปนต้น คือบรมกษัตริย์พระยาศรีธรรมโศกราชเป็นผู้ศรัทธา พระฤาษีทั้งสี่ตน จึงพร้อมกันนำเอาแต่ว่านทั้งหลาย พระฤาษีจึงอัญเชิญเทพยดามาช่วยกันทำพิธี ทำเป็นพระพิมพ์ไว้ สถาน ๑ แดง สถาน ๑ ดำ ให้เอาว่านทำเปนผงก้อนพิมพ์ด้วยลายมือของมหาเถระปิยะทัศสะศรีสาริบุตร คือเปนใหญ่เปนประทานในที่นั้น...เสกด้วยมนต์คาถาครบ ๓ เดือนแล้ว ท่านเอาไปประดิษฐ์สถานไว้ในสถูปใหญ่แห่งหนึ่งที่เมืองพันทูม ถ้าผู้ใดได้พบเห็นให้รีบเอาไปไว้สักการะบูชาเปนของวิเศษ...”(2)   
      
ราชสำนักจีนหนุนหลัง

พิเคราะห์จารึกนี้ได้ว่า ศุภมัสดุ 1265 เท่ากับพุทธศักราช 1886 อันตรงกับรัชกาลแผ่นดินขุนหลวงพ่องั่ว ซึ่งอยู่ในวัย 33 ชันษา เป็นพระเจ้าแผ่นดินสืบต่อจากพระราชบิดาที่ยิ่งใหญ่สืบทอดต่อกันมาในแผ่นดินสุพรรณภูมิ โดยมีราชสำนักจีนให้การสนับสนุนและเรียกนามแผ่นดินนี้ว่า”เสี้ยมก๊ก”อย่างต่อเนื่อง ดังหลักฐานจากหนังสือคิมเตี้ยซกทง ที่ขุนเจนจีนอักษร(สุดใจ)แปลถวายรัชกาลที่ ๕(3)ระบุใจความถึงความสัมพันธ์ระหว่างเสี้ยมก๊ก(สุวรรณภูมิ-สุพรรณภูมิ)กับราชสำนักจีน ที่มีมาก่อนรัชสมัยขุนหลวงพ่องั่ว อาทิ

“ในปี จุลศักราช 644 (พ.ศ.1825)พระเจ้าหงวนสี่โจ๊วฮ่องเต้ (แผ่นดินมองโกลเป็นใหญ่)รับสั่งให้ขุนนางก๊วนกุนโหว ชื่อหอจือจี่ เปนราชทูตไปเกลี้ยกล่อมเสี้ยมก๊ก” และ

“แผ่นดินจี่หงวนปีที่ ๓๐ กุ่ยจี๋สี่หง้วย จุลศักราช 655 (พ.ศ.1836) พระเจ้าหงวนสี่โจ๊วฮ่องเต้ รับสั่งให้ราชทูตไปทำพระราชไมตรีด้วยพระเจ้าเสี้ยมก๊ก”

และเพื่อเป็นการประกันความมั่นใจในความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ฝ่ายราชสำนักจีนซึ่งถือว่ามีอำนาจสูงกว่า ได้พยายามที่จะไม่ให้สุพรรณภูมิเปลี่ยนใจไปเข้ากับฝ่ายอื่น ดังบันทึกระบุว่า “แผ่นดินจี่หงวนปีที่ ๓๑ กะโหงวชิดหง้วย จุลศักราช 656(พ.ศ.1837) ในปีนี้พระเจ้าหงวนสี่โจ๊วฮ่องเต้สวรรคต พระเจ้าหงวนเสงจงฮ่องเต้ขึ้นเสวยราชสมบัติ แต่ยังไม่ได้เปลี่ยนนามแผ่นดิน เสี้ยมก๊กอ๋องกังมกติ๋ง (กังมกติ๋ง ยังหาคำแปลไม่ได้)มาเฝ้า พระเจ้าหงวนเสงจงฮ่องเต้รับสั่งกับเสี้ยมก๊กอ๋องกังมกติ๋งว่า แม้ท่านคิดว่าเปนไมตรีกันแล้วก็ควรให้ลูกชายหรือขุนนางมาเปนจำนำไว้บ้าง”

จึงเป็นที่เข้าใจได้ว่าประเพณีนำโอรสหรือเชื้อพระวงศ์หรือขุนนางสำคัญไปประจำไว้ราชสำนักจีน คงมีมาอย่างต่อเนื่อง  ส่วนหนึ่งจีนมองว่าเพื่อเป็นประกันความแปรพักตร์ ขณะที่เสี้ยมก๊กก็อาจมองเป็นการแทรกตัวเข้าไปเพื่อใกล้ชิดมหาอำนาจเสมือนหนึ่งเป็นแนวคุ้มกันและผลประโยชน์อื่นไปในที รวมถึงโอกาสในการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างหมู่เจ้าชายหรือเชื้อพระวงศ์ของอาณาจักรอื่น ๆที่เข้าไปพำนักในราชสำนักจีนเวลานั้น  กระนั้นสัมพันธภาพระหว่างราชสำนักจีนกับสุพรรณภูมิก็เป็นไปอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย

แม้บางช่วงเวลาสุพรรณภูมิจะเข้ารุกพื้นที่ดินแดนอื่นเพื่อขยายอิทธิพลออกไป แต่ทับซ้อนพื้นที่ผลประโยชน์ของราชสำนักจีนที่เข้าลงทุนไว้ก่อนหน้านี้ ราชสำนักจีนก็เลือกที่จะเกลี้ยกล่อมให้หยุดสงครามแทนที่จะใช้กำลังกับสุพรรณภูมิ  ดังจะเห็นได้จากครั้งที่พระราชบิดาขุนหลวงพ่องั่วยกทัพลงไปตีหัวเมืองมลายูอันเป็นพื้นที่สำคัญด้านการค้าทางทะเลและแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ จนทางราชสำนักจีน สมัยพระเจ้าหงวนเสง จงฮ่องเต้(สมัยมองโกล-ราชวงศ์หงวน)ต้องมีพระราชสาส์นมาเกลี่ยกล่อมให้หยุดรบ ดังในบันทึกหนังสือคิมเตี้ยซกทง ระบุว่า “ปีมะแมจุลศักราช 657 (พ.ศ.1838) เสี้ยมก๊ก(สุวรรณภูมิ-สุพรรณภูมิ)ให้ราชทูตนำราชสาสนอักษรเขียนด้วยน้ำทองมาถวาย ด้วยเสี้ยมก๊กกับม่าลี้อี้เอ้อก๊ก(มลายู)ทำสงครามโดยสาเหตุความอาฆาฏกัน เฉียวเถง(รัฐบาล)แต่งให้ราชทูตนำหนังสือตอบราชสาสนไปถึงเสี้ยมก๊กว่ากล่าวประนีประนอมให้เลิกสงครามกันเสียทั้งสองฝ่าย”(4)

จากนั้นในปีพ.ศ.1843 พระเจ้าแผ่นดินสุพรรณภูมิ ได้ไปเจริญความสัมพันธ์กับราชสำนักจีน ดังข้อความ “แผ่นดินไต๋เต็ก(นามแผ่นดินของพระเจ้าหงวนเสงจงฮ่องเต้) ตรงกับเดือนแปดปีชวด จุลศักราช 662 เสี้ยมก๊กอ๋องมาเฝ้า”(5)

การที่มีราชสำนักจีนเป็นกองหนุนเบื้องหลังมีผลต่อแสนยานุภาพทางการทหารของสุพรรณภูมิเช่นกัน  เพราะหลายครั้งมีการนำกองทัพม้าศึกและอาวุธยุทโธปกรณ์เข้ามาในสุพรรณภูมิเพื่อเสริมสร้างกำลัง  อาจเป็นด้วยเหตุนี้กระมังที่สุพรรณภูมิในรัชสมัยพระราชบิดา ลุถึงสมัยขุนหลวงพ่องั่ว จึงเป็นปึกแผ่นมั่นคงและประเทศอาณาเขตใกล้เคียงต่างยอมรับในบทบาทนี้

พระราชบิดาสร้าง ขุนหลวงพ่องั่วซ่อม

ความเป็นปึกแผ่นมั่นคงของสุพรรณภูมิ เห็นได้จากจารึก โบราณวัตถุ และโบราณสถาน โดยเฉพาะปรางค์ใหญ่วัดพระศรีรันตมหาธาตุ  ยืนยันถึงการสร้างมาเก่าก่อน แต่มามีการบูรณะในสมัยขุนหลวงพ่องั่ว ดังหลักฐานจารึกลานทองที่พบบนยอดนพศูล(6)ระบุว่า

“ความสำเร็จจงมี 
พระราชาผู้ยิ่งใหญ่กว่าพระราชาทั้งหลายในอโยธา ทรงพระนามว่าจักรพรรดิโปรดให้สร้างสถูปองค์นี้ขึ้นไว้ และทรงบรรจุพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้าไว้ภายใน แต่พระสถูปของพระองค์ชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา พระโอรสของพระองค์ผู้เป็นพระราชาเหนือพระราชาทั้งหลายในพื้นแผ่นดินทั้งมวลและเป็นราชาธิราชผู้ประเสริฐ โปรดให้ปฏิสังขรณ์ให้กลับคืนดีและทรงบรรจุพระวรธาตุของพระพุทธเจ้าไว้ในพระสถูปนั้น พระองค์ทรงเลื่อมใสในพระสถูป จึงทรงบูชาด้วยเครื่องบูชามีทองเป็นต้น แล้วตั้งความปรารถนาว่า ด้วยบุพกรรมแห่งข้านั้น ขอให้ข้าพึงเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาลเทอญ”(7)


                                                          ปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ และแผ่นจารึกลานทอง                                                           
: ภาพจากหนังสือโบราณคดีและประวัติศาสตร์เมืองสุพรรณบุรี สำนักศิลปากร ๒ สุพรรณบุรี

จึงแสดงให้เห็นว่าสถูปองค์เดิมก่อนที่จะมีการบูรณะสร้างขึ้นมาในสมัยพระราชบิดาขุนหลวงพ่องั่ว เมื่อขุนหลวงพ่องั่วขึ้นครองแผ่นดินสืบต่อมาจึงบูรณะขึ้นอีกครั้ง  มหาปรางค์ใหญ่ขนาดนี้ไม่มีทางที่กษัตริย์ระดับหัวเมืองประเทศราชจะทำได้ ต้องเป็นพระมหากษัตริย์ที่เกรียงไกรเป็นที่ยำเกรงเหนือพระราชาทั้งหลายในยามนั้นและต้องอยู่ในภาวะปลอดสงครามจึงจะกระทำการได้ลุล่วง  เมื่องานบูรณะเสร็จสิ้นจึงมีพระราชพิธีบวงสรวงอย่างยิ่งใหญ่ขึ้นดังที่ระบุถึงช่วงเวลาไว้ว่า “ศุภมัสดุ 1265”อันเป็นการนับตามปีมหาศักราชที่เทียบเคียงได้เป็นพ.ศ.1886  พระราชพิธีที่ยิ่งใหญ่นี้มีนัยยะอยู่ด้วยการหลายประการ อาทิ เป็นการแสดงให้ราชสำนักจีนเห็นถึงความเป็นปึกแผ่นมั่นคงเหนือดินแดนสุพรรณภูมิ ,เป็นการแสดงให้เห็นถึงการยอมรับของเมืองทางตอนบนเช่นสุโขทัย ลพบุรี เมืองตอนล่างเช่นนครศรีธรรมราช และหัวเมืองน้อยใหญ่ที่อยู่รายรอบ 

แม้ว่าจารึกลานทองจำนวนมากหายไปและถูกนำไปหลอมได้เนื้อทองคำหนักหลายสิบบาท(8)ในระหว่างกรุแตก แต่ประจักษ์พยานที่เป็นพระพุทธรูปศิลปะชัดเจน ทั้งสุโขทัย ลพบุรี และศรีวิชัย ก็บ่งบอกได้ว่ามีการอัญเชิญมาจากเจ้าหรือผู้แทนพระองค์ของเจ้าเมืองนั้น ๆ ซึ่ง ณ เวลานั้นอาจเป็นพันธมิตรกัน หรืออาจเป็นหัวเมืองประเทศราชของสุพรรณภูมิ เพราะไม่มีเหตุผลที่กษัตริย์สุพรรณภูมิจะนำพระพุทธรูปที่ไม่ใช่ศิลปะของสุพรรณภูมิ(อู่ทอง)มาบรรจุไว้ในองค์ปรางค์ซึ่งเป็นสัญลักษณ์สำคัญสูงสุดของเมือง  ประการสุดท้ายอาจเป็นการเฉลิมฉลองเมืองในวโรกาสที่ขุนหลวงพ่องั่วก้าวขึ้นเสวยราชย์เป็นกษัตริย์ต่อจากพระราชบิดา ขณะชนมายุได้ 33 พรรษา(9)

ศาสนาประสานการเมือง

นอกจากนั้น ข้อสังเกตจากจารึก การสร้างพระเครื่องมาบรรจุไว้ในปรางค์ใหญ่นี้ ยังได้ทำให้คนรุ่นปัจจุบันรู้ว่า เป็นการจารึกลานทองมาจากเมืองต้นทางแล้วอัญเชิญมาพร้อมกับพระว่าน พระเกษร และพระสังฆวานร และยังสันนิษฐานได้ว่า ขณะนั้น พระมหาเถระปิยะทัศสะศรีสาริบุตร ดำรงฐานะเป็นประมุขสงฆ์ที่ไม่เฉพาะเมืองใดเมืองหนึ่งแต่ครอบคลุมโดยรวม เนื่องจากทุกรัฐแคว้นล้วนนับถือศาสนาเดียวกัน พระมหาเถระปิยะทัศสะศรีสาริบุตร จึงน่าจะมีส่วนสำคัญในการสร้างความสมานฉันท์หรือความเป็นปึกแผ่นเดียวกันโดยมีสุพรรณภูมิกุมอำนาจสูงสุด การนำพระพุทธรูปและสิ่งสักการะของเมืองต่าง ๆเข้ามายังสุพรรณภูมิ จึงแสดงถึงความยอมรับ ความอ่อนน้อม ต่อผู้มีอำนาจสูงกว่า นั่นคือกษัตริย์สุพรรณภูมิ

“ผงสุพรรณ” จึงมิได้มีความหมายเป็นเพียงพระเครื่องกรุหลักและเป็นหนึ่งในพระเบญจภาคีที่ตรียัมปวายบัญญัติไว้เท่านั้น หากแต่ยังมีความหมายไปถึงห้วงเวลาของอดีตในสมัยอันยิ่งใหญ่ของอาณาจักรสุพรรณภูมิที่หลอมปนไปด้วย อำนาจ การเมือง การครอบครอง และความเป็นศูนย์กลางทางพุทธศาสนาอันมีอิทธิพลอย่างสำคัญยิ่งต่ออาณาจักรแว่นแคว้นต่าง ๆในเวลานั้น.

พระผงสุพรรณ ของคฤหบดีเสือ

พระผงสุพรรณทั้งสององค์ที่นำมาลงไว้นี้ เดิมเป็นของ“คฤหบดีเสือ” ผู้มีฐานะและกว้างขวางแห่งเมืองสุพรรณ เป็นบุคคลผู้มีอายุยืนถึง 6 แผ่นดิน(พ.ศ.2398-2494) และเป็นต้นตระกูล“บุญยงค์”ที่เชื้อสายกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ


ด้านหลังพื้นผิวเป็นลอนคลื่นตามแรงกด
แสดงคราบกรุเหลือง ราดำ ราขาว และรอยร่อน




















พุทธลักษณ์ขององค์พระนิยมเรียกกันว่าพิมพ์หน้าแก่ เนื้อเขียวและเนื้อแดง พระองค์เนื้อเขียวที่เห็นนั้นผิวนอกเป็นแผ่นราดำคราบเหลือง ประปรายด้วยราขาว และละอองปรอทธรรมชาติขึ้นปกคลุมผิวในสีเขียวหม่น  ส่วนพระองค์เนื้อแดงเป็นสีอิฐ ผิวบางส่วนยังมีรารักปกคลุมอยู่ รารักนี้เป็นแผ่นบางที่พร้อมจะหลุดร่อนออกไปได้ไม่ยาก บางส่วนบนพื้นผิวราดำก็จะพบราขาวและละอองปรอทธรรมชาติเกาะกุมอยู่บ้างเช่นกัน  พระผงสุพรรณทั้งสององค์เป็นพระเนื้อละเอียดและดูอ่อนนุ่มในสายตาแต่แข็งแกร่งที่เนื้อใน บางส่วนของผิวที่ถูกสัมผัสจะขึ้นเงามันวาวอย่างชัดเจน แสดงถึงความเก่าของอายุพระ 675 ปี(10)


ด้านหน้า แสดงการกดพิมพ์ลึกและคราบกรุ
ด้านหลังแสดงลายนิ้วมือและพื้นผิวไม่สม่ำเสมอ















จุดเด่นของพระทั้งสององค์นี้อยู่เส้นสายลายเสี้ยนติดละเอียดทั้งองค์พระและพื้นผนังชัดเจนทุกส่วน สันนิษฐานว่าอาจเป็นพระชุดแรก ๆที่ทำการกดลงไปบนแม่พิมพ์ซึ่งเป็นบล็อกไม้  และเนื่องจากเป็นพระที่ได้รับการเก็บไว้ภายในหีบบุเงินลายจีนมาเป็นอย่างดี พระทั้งสององค์จึงยังคงอยู่ในสภาพเดิม ที่เพิ่มเติมคือการหดตัวของเนื้อพระ ทำให้ส่วนที่เป็นองค์พระและฐานร่นรัดตัวเด่นชัด ขณะที่พื้นผิวโดยรอบทั้งด้านหน้าขอบข้างและด้านหลังเกิดเป็นริ้วรอยเหี่ยวย่นทุกอณู 

พระผงสุพรรณทั้งสององค์นี้จึงเป็นสิ่งที่ควรค่าต่อการศึกษาด้านรายละเอียดพิมพ์ทรง คราบกรุ และเนื้อหามวลสารที่ประกอบขึ้นเป็นองค์พระมาแต่โบราณ ปัจจุบันพระชุดนี้ได้รับการเก็บรักษาสืบต่อกันมา จนถึงทายาทรุ่นสามของ ”คฤหบดีเสือ”

อุปเท่ห์การใช้บูชา

จารึกลานทองระบุไว้ว่า  “....แม้จะมีอันตรายประการใดก็ดี ให้อาราธนาผูกไว้ที่คอ อาจคุ้มครองพยันตรายได้ทั้งปวง ถ้าผู้ใดออกรณรงค์สงครามประสิทธิด้วยสารทตราวุธทั้งปวง  เอาพระลงสรงน้ำมันหอมแล้วนั่งบริกรรมพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ  108 จบ พาหุง 13 จบ ใส่ขันสัมฤทธิ์ นั่งอธิษฐานเอาตามความปรารถนาเถิด ให้ทาทั้งหน้าและผม คอ น่าอก ถ้าจะใช้ในทางเมตตาให้มีสง่า เจรจาให้คนทั้งหลายเชื่อฟังยำเกรง ให้เอาพระไว้ในน้ำมันหอมเสกด้วยคาถาเนาว์หอระคุณ 13 จบ พาหุง 13 จบ พระพุทธคุณ 13 จบ ให้เอาดอกไม้ธูปเทียนบูชาทำพิธีในวันเสาร์ น้ำมันหอมเก็บไว้ใช้ได้เสมอ ทาริมฝีปาก หน้าผาก และผม ถ้าผู้ใดพบพระตามที่กล่าวมานี้ พระว่านก็ดี พระเกษรก็ดี  ทำด้วยแร่สังฆวานรก็ดี อย่าประมาทเลย อานุภาพพระทั้ง 3 อย่างนี้ ดุจกำแพงแก้ว กันอันตรายทั้งปวง แล้วให้ว่าคาถา ทเยสันตาจนจบ พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณจนจบ พาหุงไปจนจบ แล้วให้ว่าดังนี้อีก คะเตสิกเก กะระนังมะกา ไชยยังมังคะลัง นะมะพะทะ แล้วให้ว่า กิริมิถิ กุรุมุธุ เกเรเมเถ กะระมะถะ ประสิทธิแล. (11)

*****


อ้างอิง-อธิบาย

(1) “คฤหบดี” เป็นคำเรียกถึงผู้ที่มีฐานะดี,มั่งมีทรัพย์,เศรษฐี มาแต่โบราณ ปัจจุบัน นิยมใช้คำว่า “คหบดี”
(2) ประชุมศิลาจารึก ภาค 3 หลักที่ 48.
(3) หนังสือเรื่องเสี้ยมก๊ก หลอฮกก๊ก เปนพระราชไมตรีกับกรุงจีน ข้าพระพุทธเจ้า ขุนเจนจีนอักษร (สุดใจ) แปลออกจาก   หนังสือคิมเตี้ยซกทงจีเล่ม ๕.
(4) จดหมายเหตุจีนว่าด้วยกรุงสยามแต่โบราณ ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๕.
(5) จดหมายเหตุจีนว่าด้วยกรุงสยามแต่โบราณ ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๕.
(6) แปลโดยนายฉ่ำ ทองคำวรรณ ผู้เชี่ยวชาญอักษรโบราณของกรมศิลป์.
(7) มนัส โอภากุล.พระเมืองสุพรรณฯ,มนัสการพิมพ์:2536,หน้า 104.อ้างอิง หนังสือโบราณคดีจากลายพระหัตถ์ของสมเด็จ,หน้า 323.
(8) มนัส โอภากุล.พระเมืองสุพรรณฯ.มนัสการพิมพ์:2536.หน้า 102.
(9) ขุนหลวงพ่องั่ว เสด็จพระราชสมภพปีพ.ศ.1853 สันนิษฐานครองราชย์เมืองสุพรรณภูมิ พ.ศ.1886 ขณะพระชนมายุ 33 พรรษา จนถึงพ.ศ.1893 สุพรรณภูมิ เป็นเมืองหนึ่งขึ้นตรงต่ออาณาจักรกรุงศรีอยุธยา นาน 20 ปี จนถึงพ.ศ.1913 จึงเสด็จขึ้นครองราชย์กรุงศรีอยุธยา จนสวรรคตในปีพ.ศ.1931 พระองค์จึงเป็นพระมหากษัตริย์ 2 ราชอาณาจักร
(10) พระผงสุพรรณ ได้รับการอัญเชิญบรรจุกรุภายในปรางค์ประธาน วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ในปีพ.ศ.1886 อยู่ภายในกรุเป็นเวลา 570 ปี ก่อนจะถูกคนลักลอบและเปิดกรุอย่างเป็นทางการในพ.ศ.2456 จนถึงปัจจุบัน พ.ศ.2561 เป็นเวลา 105 ปี รวมอายุพระผงสุพรรณ 675 ปี.
(11) ประชุมศิลาจารึก ภาค 3 หลักที่ 48.

วันเสาร์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2561

สายน้ำ...สุวรรณภูมิ (๒)


                                                                                               โดย...วิญญู บุญยงค์
**ก่อนเข้าเรื่อง**

“สายน้ำ...สุวรรณภูมิ” เกิดจากการศึกษาค้นคว้าข้อมูลและหลักฐานโบราณ รวบรวมและเรียบเรียงเป็นตอน โดยไม่ยึดกระแสหลักเป็นบรรทัดฐาน หากแต่คำนึงถึงความน่าจะเป็นภายใต้หลักฐานพยานที่บ่งชี้ ซึ่งแน่นอนว่าประวัติศาสตร์เป็นสิ่งยากต่อพิสูจน์ให้ได้ผลเต็มร้อย ดังนั้นข้อมูลจากบทความนี้อาจตรงใจหรือไม่ตรงใจต่อผู้อ่านทั้งหมด ซึ่งไม่สำคัญ แต่ความสำคัญอยู่ที่การนำไปสู่การวิเคราะห์และต่อยอดให้ได้ข้อมูลที่ใกล้เคียงความจริงมากที่สุด..และต้องขออภัยสำหรับตัวหนังสือที่อาจตกหล่นหรือไม่ต่อเนื่องกัน เนื่องจากยังไม่อาจควบคุมการจัดเรียงให้ดูดีกว่านี้.

สุวรรณภูมิ...สมัยแห่งการเฟื่องฟู

          ในช่วงเวลาของพุทธศตวรรษที่๓ เมืองโบราณสุวรรณภูมิมีศูนย์กลางอยู่ที่“สุวรรณปุระ”(โบราณสถานเมืองอู่ทอง) เป็นเมืองที่มีความเจริญจากการเป็นศูนย์กลางทางการค้าทางทะเลมีการหลั่งไหลจากพ่อค้านักเดินทางแถบอินเดียเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย


เมืองโบราณอู่ทอง (ภาพจาก:www.dasta.or.th)
          ว่ากันตามจริงแล้ว อินเดียติดต่อกับโลกภายนอกทั้งแถบตะวันตก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก่อนพุทธกาล โดยทิศตะวันออกและตะวันตกเป็นฝั่งทะเลเป็นแหล่งเผยแพร่อารยธรรมทั้ง ศาสนาพราหมณ์  ศาสนาเชน สินค้าและเครื่อง ประดับทั้งจากวัฒนธรรมเปอร์เชีย และอินเดีย ในช่วงพุทธกาล(ก่อน ค.ศ. 521-486)จักรพรรดิดาริอุสที่1(Darius-I) แห่ง จักรวรรดิเปอร์เซีย สามารถผนวกแคว้นคันธาระเป็นเขตปกครอง ถือเป็นยุคที่เมืองตักศิลาใช้ระบบการเงินตามแบบเปอร์เซีย จนเป็นที่รู้จักกันดีในดินแดนที่ห่างไกลออกไปในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เช่น เมโสโปเตเมีย อิยิปต์ และกรีก เป็นต้น  บันทึกเดินเรือของชาวยุโรประบุว่า  อินเดียมีเมืองท่าที่สำคัญหลายแห่งบางแห่งมีท่าเรือขนาดใหญ่ใช้สำหรับรองรับเรือสำเภาขนาดใหญ่ สินค้าของที่นี่มีทั้งจากอินเดียและจากวัฒนธรรมเปอร์เชีย  กรีก และโรมัน ที่มีร่องรอยของชุมชนโบราณ และการส่งผ่านเข้ามาโดยตรงที่เมืองท่าตักศิลาอยู่ทางตอนใต้ ก่อนจะลำเลียงล่องเรือจากลุ่มน้ำสินธุมาทางเอเชียตะวันออก


แผนที่แสดงที่ตั้งเมืองตักศิลา (ภาพจาก:sameaf.mfa.go.th)

           ราวปีพ.ศ.217 หรือ326 ปีก่อนคริสตกาล หลังจากพิชิตพื้นที่ตอนบนมาโดยตลอด กองทัพฟารัง(Phalanx)อันยิ่งใหญ่ของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชก็ยาตราทัพมาถึงลุ่มน้ำสินธุ ซึ่งเป็นแหล่งอารยธรรมโบราณ(โบราณสถานเมืองฮารัปปา-Harappaและเมืองโมเฮนโจ-ดาโร-Mohenjo-Daro) ใกล้กันเป็นเมืองตักศิลาของแคว้นคันธาระซึ่งมีความสำคัญ ในฐานะเป็นศุนย์กลางการค้าโบราณทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือของชมพูทวีป ที่ทางเหนือเชื่อมกับกัมโพชะและมคธ ทางตะวันตกเชื่อมกับเอเชียตะวันตกและอนุทวีป ใกล้กับเส้นทางแม่น้ำสินธุซึ่งเป็นประตูสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

          แม้พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ได้เข้ายึดพื้นที่ของเปอร์เซียและชมพูทวีปบางส่วนในแถบตะวันตกเฉียงเหนือและทิศเหนือ ก่อนจะถอยทัพกลับจากเหตุผลไม่ชัดเจน แต่อารยธรรมทั้งจากโรมันและเมืองขึ้นที่พระองค์ปราบอย่างราบคาบก็ติดตามมาสู่พื้นที่นี้อย่างมากมาย แคว้นคันธาระจึงกลายเป็นแหล่งผสมผสานทางวัฒนธรรม เกิดความหลากหลายทั้งความเชื่อ แนวคิด คตินิยม องค์ความรู้ และสินค้าหลากประเภทที่ส่งไปขายเป็นรายได้หลักของจักรวรรดิอินเดีย

      นอกจากอินเดียจะเจริญรุดหน้าจากการไหลบ่าทางวัฒนธรรม และจากการเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจทางการเมือง ซึ่งเวลานั้น หลังจากอเล็กซานเดอร์มหาราชยกทัพกลับ จันทรคุปต์เจ้าชายแห่งแคว้นเมาริยะได้ร่วมมือกับจานัคญะพราหมณ์ วางแผนยึดอำนาจราชวงศ์นันทะ ก้าวขึ้นสู่ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์เมาริยะ มีปาฏลีบุตรเป็นนครหลวงในแคว้นมคธ บันทึกโบราณยืนยันตรงกันว่าเวลานั้นอินเดียรับอิทธิพลจากโรมัน กรีก อิยิปต์ เปอร์เซีย จนเป็นแหล่งรวมสินค้านานาชนิดจากต่างแดนและที่ผลิตขึ้นได้เอง กลายเป็นสินค้าส่งออกที่นำรายได้มาสู่ราชสำนักปาฏลีบุตรอย่างมหาศาล โดยเฉพาะเส้นทางการค้าทางทะเลจากอินเดียสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในดินแดนสุวรรณภูมิ และต่อเนื่องมาถึงสมัยพระเจ้าพินทุสาร พระราชโอรส จนถึงรัชสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ที่นำพุทธศาสนามาประดิษฐานยังสุวรรณภูมิโดยผ่านกลไกทางการค้าของพ่อค้าอินเดีย 


พระเจ้าอโศกมหาราช

          อินเดียมีโอกาสดีที่ดินแดนทั้งด้านตะวันตกและตะวันออกติดต่อกับทะเลโดยรอบ และยังมีส่วนสำคัญที่ตอนบนของประเทศเป็นจุดเชื่อมต่อของอารยธรรมที่มาพร้อมกับเส้นทางการค้า(Trade Route) โบราณเกือบทุกสาย โดยเฉพาะเส้นทางสายเครื่องหอม ที่เป็นเส้นทางการค้า ระหว่าง อินเดีย อาหรับ และเอเชียตะวันออก ซึ่งรุ่งเรืองอย่างมากในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่3(300 ปีก่อนคริสตศักราชจนถึงคศ.ที่2) โดยเฉพาะจากทางใต้ของอาหรับไปยังแถบเมดิเตอร์เรเนียน สินค้าที่สำคัญคือกำยาน ทางด้านเหนือเป็นเส้นทางสายไหม(Silk Road ,Silk Route)เป็นเส้นทางการค้าขายที่เชื่อมระหว่างโลกตะวันออกและโลกตะวันตกเข้าด้วยกัน โดยจีนเริ่มมาตั้งสมัยราชวงศ์ฮั่น(ในราว206ปีก่อนคริสตศักราช-ค.ศ.220) มุ่งขยายสู่เอเชียกลาง(114ก่อนคริสตศักราช)และพัฒนาอย่างต่อเนื่องโดยมีคู่ค้าหลักคือ เปอร์เซีย กรีก ซีเรีย โรมัน อาร์มิเนีย อินเดีย และบักเตรีย เป็นอาทิ

         ดังนั้น ผลพวงของการเชื่อมต่อทางการค้าระหว่างอินเดียกับกรีก โรมัน และขยายไปยังอาหรับ สู่ตะวันออกไกล รวมถึงแอฟริกาตะวันออก จึงส่งผลให้ อารยธรรมโรมัน กรีก เมโสโปเตเมีย จีน อิยิปต์ เปอร์เชีย และอื่นๆ ไหลสู่อินเดียที่เปรียบเสมือนเมืองหน้าด่านการค้าทางทะเล และนั่นจึงทำให้เกิดเส้นทาง"สายเครื่องเทศ" หรือ"การค้าสำเภา" หรือ "เส้นทางลมทะเล"ทำให้การเดินทางของสินค้าที่ฉาบปนด้วยวัฒนธรรม ความเชื่อ และองค์ความรู้ จากอีกซีกโลกหนึ่ง ไหลบ่าเข้าสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะที่ความเป็นดินแดนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความพร้อมในฐานะดินแดนใหม่อันอุดมสมบูรณ์จากทรัพยากรท้องถิ่น ผลิตผลจากที่นี่ก็ไหลกลับขึ้นไปตอบสนองความต้องการของประเทศต้นทางเช่นกัน( According to Vadime Elisseeff.2000)


ส่วนหนึ่งของลูกปัดที่มากับเส้นทางสายเครื่องเทศ จัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์แห่งชาติอู่ทอง

       จากการศึกษาพบว่า ราชสำนักอินเดียใช้กลไกทางการค้าผ่านกลุ่มคนวรรณะแพศย์ที่ได้รับการศึกษาโดยตรงจากสำนักพราหมณ์ กลุ่มพ่อค้าเหล่านี้จึงรู้จักเรียนรู้และเสาะแสวงหาช่องทาง จนกลายเป็นคหบดี เศรษฐี และเจ้าของพื้นที่เกษตรกรรมในดินแดนใหม่ ขณะที่คนในพื้นที่ให้การยอมรับในฐานะผู้มาจากวัฒนธรรมที่แปลกแต่ดูดีกว่า จึงเกิดการส่งผ่านผลผลิตเชิงเกษตรกรรม เครื่องปั้นดินเผา และของป่าจำพวกเครื่องเทศเครื่องหอมและทรัพยากรที่หาได้จากธรรมชาติไปตามเส้นทางสายเครื่องเทศยังท่าการค้าที่อินเดีย ก่อนจะส่งต่อพ่อค้าขึ้นไปทางเหนือรวมถึงเส้นทางสายไหม และขากลับจึงนำสิ่งของเครื่องใช้ทั้งผ้าทอเนื้อดี เครื่องนุ่งห่ม เครื่องประดับ จนถึงลูกปัดจำพวกหินอาเกต หินคาเนเลียน และลูกปัดแก้วกลับเข้ามาถวายราชสำนักสุวรรณปุระ และค้าขายกับชาวชุมชนในแถบนี้ ดังจะพบเครื่องใช้เครื่องประดับ มากมายจากการขุดค้นทางโบราณคดีที่อู่ทองและพื้นที่ใกล้เคียง

เส้นทางการเดินเรือ
          การเดินทางมายังสุวรรณภูมิเพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนาของคณะสมณทูต ในพุทธศตวรรษที่ 3 หากนำทฤษฎีการขุดค้นที่บ้านนาลาวลงไปใต้พื้นดินลึก 2 เมตร แล้วปรากฏซากหอยทะเลกระจายอยู่ทั่วไป ซึ่งนักโบราณคดียืนยันว่าในราวกว่า 2,000 ปีที่นี่เป็นทะเล แสดงให้เห็นว่าช่วงเวลานั้นบริเวณหน้าเมืองสุวรรณปุระยังคงเป็นชายหาดริมทะเลยังไม่มีแม่น้ำจระเข้สามพัน แต่การเดินทางมาของคณะสมณะทูตใช่ว่าจะตัดตรงจากอ่าวเบงกอล(Bay of Bengal)ผ่านอ่าวเมาะตะมะมายังเมืองสุวรรณภูมิได้ เพราะยังมีแนวเทือกเขาตะนาวศรีและป่าดงดิบขวางเส้นทางอยู่

       จากผลการศึกษาพบว่า พ่อค้าจากอินเดียจะแล่นเรือเลียบชายฝั่งอ่าวเบงกอลซึ่งเป็นอ่าวทะเลกว้างใหญ่กินพื้นที่ประชิดตะวันออกเฉียงเหนือของมหาสมุทรอินเดีย รายรอบด้วยประเทศอินเดีย ศรีลังกา บังกลาเทศ รัฐเบงกอลตะวันตก(อินเดียเหนือ) พม่า และไทย ตลอดระยะทางมีแม่น้ำหลายสายไหลลงสู่อ่าวนี้ เช่นแม่น้ำคงคา แม่น้ำพรหมบุตร แม่น้ำสินธุ แม่น้ำโคทาวารี แม่น้ำมหานที แม่น้ำกฤษณา และแม่น้ำกาเวรี  โดยมีเมืองท่าการค้าทางทะเลอยู่เป็นระยะ เช่น กัททะลูร์ เจนไน (เมืองท่าอินเดียที่เคยเป็นเมืองหลวงของรัฐทมิฬนาฑู), กากีนาทะ(ยังไม่ทราบ) มะจิลีปัตนัม(ยังไม่ทราบ),วิศาขปัตนัม(Visakhapatnamมืองท่าอินเดียอยู่ทางตอนเหนือของอมราวดี),พาราทิพ(ยังไม่ทราบ), โกลกตา-กัลกัตตา (Calcattaเป็นเมืองหลวงของรัฐเบงกอลตะวันตก),จิตตะกอง(เมืองหลวงและเมืองท่าของบังคลาเทศ)และเข้ามาถึงอ่าวเมาะตะมะในลุ่มน้ำอิรวดี มีดากอน(ต่อมาคือย่างกุ้ง-พม่า)เป็นเมืองท่า แล้วเลาะผ่านเข้ามาทางเมืองท่าที่อยู่เรียงราย เช่น เมืองเย้  เมืองทวาย เมืองมะริด และเมืองตะนาวศรี ลงไปที่ด่านสิงขรเป็นเส้นทางน้ำผ่านถึงกันทั้งจากฝั่งอันดามัน และเข้าสู่อ่าวไทยที่กุยบุรี ก่อนจะเลาะวกอ่าวไทยผ่านไปทางพริบพรี(เพชรบุรี) เมืองราชบุรี เมืองนครชัยศรี แล้วเข้าถึงเมืองสุวรรณภูมิอย่างไม่ยากนักเพราะระดับน้ำทะเลยังมีความลึกอยู่

เส้นทางการค้าในสมัยโบราณ สีแดงเส้นทางสายไหม สีฟ้าเส้นทางสายเครื่องเทศ (ภาพจาก วิกิพีเดีย)

     การเดินทางของพ่อค้าวาณิชจะใช้ประโยชน์จากอิทธิพลลมมรสุมเป็นสำคัญ ซึ่ง สุจิตต์ วงศ์เทศ นักประวัติศาสตร์และโบราณคดีอธิบายว่า "เนื่องด้วยลมมรสุมที่ไม่รุนแรงและคาดการณ์ได้ล่วงหน้า เอื้อต่อนักเดินเรือในการแล่นไปมาระหว่างภูมิภาคตะวันออกและตะวันตกในช่วงฤดูมรสุม 2 ช่วงคือ ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ระหว่างกลางเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนตุลาคม มีแหล่งกำเนิดจากบริเวณมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งพัดออกจากศูนย์กลางเป็นลมตะวันออกเฉียงใต้ และเปลี่ยนเป็นลมตะวันตกเฉียงใต้เมื่อพัดข้ามเส้นศูนย์สูตร ช่วยในการเดินเรือจากมหาสมุทรอินเดียเข้ามาสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้...และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือราวกลางเดือนตุลาคมถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ มีแหล่งกำเนิดจากบริเวณความกดอากาศสูงบนซีกโลกเหนือแถบประเทศมองโกเลียและจีน ช่วยในการเดินทางจากทะเลจีนใต้ลงมาแถบคาบสมุทรมาลายู และพาเรือไปยังฝั่งมหาสมุทรอินเดีย"

ระบบการค้าและเงินตรา
       ในระยะแรกเริ่มหลังผ่านระบบการค้าแบบการแลกเปลี่ยนสินค้าต่อสินค้าแล้ว สุวรรณภูมิ ได้เริ่มใช้ระบบเงินตราเป็นแผ่นดินเผามีแบบพิมพ์สิงห์ศากยวงศ์ประทับลงไป ถือเป็นเหรียญกษาปณ์ยุคแรก ซึ่งต่อมามีการพัฒนาขึ้นตามลำดับจากรูปแบบเหรียญอาหรับ โรมัน จนถึงสมัยทวารวดีมีการทำเหรียญโลหะเงินมาปั้มสัญลักษณ์ลงไป และพัฒนาสืบเนื่องผ่านห้วงเวลาทั้งความสุขสงบและสงครามจนถึงสมัยการสถาปนาเมืองใหม่ที่ย้ายไปยังฝั่งตะวันตกของแม่น้ำท่าจีน
เหรียญกษาปณ์จีนสมัยราชวงศ์ฮั่น
     ในช่วงพุทธศตวรรษที่4-6 นอกเหนือจากระบบการค้าที่ผ่านกลไกจากพ่อค้าอินเดีย เปอร์เชีย อาหรับ และประเทศทางแถบตะวันตกเฉียงเหนือขึ้นไป ระยะเวลานี้จักรวรรดิจีนได้เริ่มแผ่สยายลงมายังดินแดนสุวรรณภูมิ จดหมายเหตุจีนบันทึกสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันตก(พ.ศ.337-568) มีศูนย์กลางอำนาจในแถบลุ่มน้ำฮวงโห โดยใช้ความสัมพันธ์ทาง การฑูตในเชิงพาณิชย์กับสุวรรณภูมิ เรียกว่า"การค้าสำเภา"(Junk Trade) โดยเฉพาะในรัชสมัยจักรพรรดิฮั่นอู่ตี้(พ.ศ.388-457) ได้เปิดระบบการค้าไปยังเอเชียกลางที่เรียกว่า"เส้นทางสายไหม" และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เรียกว่า "การค้าสำเภา" ถือเป็นรัชสมัยที่จีนเริ่มทำเหรียญกษาปณ์ขึ้นใช้ภายในประเทศและเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน  สินค้าของจีนที่สำคัญในเวลานั้นได้แก่ เกลือ เหล็ก สุรา ดังหลักฐานที่พระอธิการวีระ จนฺทธมฺโม ได้พบเหรียญกษาปณ์จีนสมัยเดียวกันนี้ที่วัดสมอลม ตำบลสนามคลี อำเภอเมืองสุพรรณบุรี เมื่อปีพ.ศ.2518

       ด้วยปัจจัยของความเป็นดินแดนใหม่ จึงมีผลให้"สุวรรณภูมิ"ในพุทธศตวรรษที่ 3-6 เจริญรุดหน้าแบบก้าวกระโดด แต่ในที่สุดก็ตกเป็นเป้าหมายการโจมตีเพื่อช่วงชิงผลประโยชน์เหนือดินแดน จนนำไปสู่ภาวะสงครามและการเปลี่ยนแปลงทั้งองคาพยพ.../





อ้างอิง

-คณาจารย์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2550). วรรณคดีบาลี. กรุงเทพฯ. กองวิชาการ 
       มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
-ซิว ซูหลุน,(แปล).ถังซำจั๋ง:จดหมายเหตุการณ์เดินทางสู่ดินแดนตะวันตกของมหาราชวงศ์ถัง.กรุงเทพฯ:
     สำนักพิมพ์มติชน,2549.
-พระไตรปิฎกมหามกุฏราชวิทยาลัย. พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมสมันตปาสาทิกาแปล อรรถกถาพระวินัย. กรุงเทพฯ กองตำรา มหามกุฏราชวิทยาลัย.
-พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต). (2550). พจนานุกรมพุทธศาสน์ฉบับประมวลศัพท์. กรุงเทพมหานคร.
-ปวินท์ มินทอง กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และแอฟริกา.6 กันยายน2554.
-มนัส โอภากุล .พระฯเมืองสุพรรณ.2536.
-วารสารประจําปี ของพระนักศึกษา-นักศึกษา มหาวิทยาลัยเมืองพาราณสี. สิทธารถสาร. ฉบับปีที่ 11 เดือน มิถุนายน พ.ศ.2550.
-เสถียรพงษ์ วรรณปก.พระเจ้าจันทรคุปต์อัยกาของพระเจ้าอโศกมหาราช. ลานธรรมจักร.2015.
-เสถียรพงษ์ วรรณปก. พระพุทธศาสนา:ทรรศนะและวิจารณ์. กรุงเทพมหานคร :สํานักพิมพ์มติชน, 2543.
-สุจิตต์ วงศ์เทศ.อิทธิพลภายใต้ลมมรสุม. สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์,2011/04
-Dani,Ahmad Hasan.The Historic City of Taxila.Tokyo:Cen for EastAsian Studies,1986.
-Jha,D.N.Ancient India in Historical Outline.New Delhi:Manohar Publishers&Distributors,2006.
-Bimala Charan Law.(1923). The Life and Work of Buddhaghosa. Calcutta : Thacker, Spink & Co.

     

วันพฤหัสบดีที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2561

สายน้ำ...สุวรรณภูมิ (๑)

                                                                                             โดย..วิญญู บุญยงค์
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
**ก่อนเข้าเรื่อง**
“สายน้ำ...สุวรรณภูมิ” เกิดจากการศึกษาค้นคว้าข้อมูลและหลักฐานโบราณ รวบรวมและเรียบเรียงเป็นตอน โดยไม่
ยึดกระแสหลักเป็นบรรทัดฐาน หากแต่คำนึงถึงความน่าจะเป็นภายใต้หลักฐานพยานที่บ่งชี้ ซึ่งแน่นอนว่าประวัติ-
ศาสตร์เป็นสิ่งยากต่อพิสูจน์ให้ได้ผลเต็มร้อย ดังนั้นข้อมูลจากบทความนี้อาจตรงใจหรือไม่ตรงใจต่อผู้อ่านทั้งหมด 
ซึ่งไม่สำคัญ แต่ความสำคัญอยู่ที่การนำไปสู่การวิเคราะห์และต่อยอดให้ได้ข้อมูลที่ใกล้เคียงความจริงมากที่สุด.
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

สุวรรณภูมิ..ศูนย์กลางการค้าทางทะเล

               สุวรรณภูมิ เป็นชื่อที่มีการกล่าวขานจากนักประวัติศาสตร์ นักโบราณคดี และผู้คนทั่วโลก
ที่สนใจวิถีวัฒน์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในสมัยประวัติศาสตร์ จากการศึกษาขุดค้นและวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญทางโบราณคดี มีข้อสรุปที่บ่งบอกได้ว่า “สุวรรณภูมิ” มีบทบาทอยู่ ๒ สถานะ, สถานะที่ ๑ คือบทบาทของการเป็นดินแดน และสถานะที่ ๒ คือบทบาทของความเป็นอาณาจักร ซึ่งทั้ง ๒ สถานะ มีการเปลี่ยนแปลงไปตามความเปลี่ยนแปลงด้านธรณีวิทยา และการเปลี่ยนแปลงไปตามอิทธิพลการเมืองของอาณาจักรที่อยู่ใกล้เคียงและห่างไกลออกไป

               นักวิชาการและผู้เชียวชาญทางประวัติศาสตร์โบราณคดีทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศที่เข้ามาสำรวจบริเวณพื้นที่เมืองโบราณอู่ทอง ในจังหวัดสุพรรณบุรี ตั้งแต่ช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๔ จนถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๕ต่างมีความเห็นไปในทางเดียวกันว่า “...อู่ทอง เป็นเมืองโบราณสมัยประวัติศาสตร์ยุคแรกของประเทศไทย เป็นที่เชื่อกันว่าเมืองโบราณอู่ทองแห่งนี้ เป็นจุดเริ่มต้นของการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในดินแดนสุวรรณภูมิ นอกจากนี้ ยังเป็นศูนย์กลางการค้าทางทะเลที่สำคัญ”


  
             เป็นเรื่องที่น่าคิดว่า “การเป็นศูนย์กลางการค้าทางทะเลที่สำคัญ” นั่นก็หมายความว่า ณ ที่นี่เคยเป็นเมืองท่าชายฝั่งที่มีการเดินทางมาค้าขายจากคนไกลโพ้นทวีป เมื่อเข้าไปสืบค้นข้อมูลเชิงประจักษ์ก็พบว่าแหล่งพื้นที่ลุ่มน้ำมีซากฟอสซิลของสัตว์น้ำทะเลกระจายอยู่ทั่วไป เช่นในแถบจังหวัดปทุมธานีมีการสะสมของฟอสซิลหอยทะเล เหนือขึ้นไปทางจังหวัดลพบุรีแถบอำเภอพัฒนานิคมก็พบซากหอยทะเลในถ้ำเพิงผาหลายแห่ง ยิ่งไปกว่านั้น ในปีพ.ศ.๒๕๕๔ ก็ได้มีการพบฟอสซิลซากหอยทะเลอยู่เต็มภูเขาด่าง ต.ห้วยเขย่ง อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ซึ่งนักธรณีวิทยายืนยันว่าพื้นที่เหล่านี้เคยเป็นทะเลมาก่อน   และเมื่อตรวจสอบข้อมูลจากแผนที่โบราณซึ่งย้อนหลังไปราว ๕,๐๐๐ ปี ก็พบว่า อู่ทองเป็นดินแดนที่ติดชายทะเลมาก่อนจริงตอกย้ำด้วยการขุดสำรวจของ พรชัย สุจิตต์ เมื่อปีพ.ศ.2529 ในการลงพื้นที่ภาคสนามที่บ้านนาลาว อำเภออู่ทอง โดยขุดลงไปลึกราว 2 เมตร ก็พบซากหอยทะเล จึงนำมาสู่ข้อสรุปว่ากว่า 2,000 ปีที่ผ่านมาน้ำทะเลขึ้นมาถึงอู่ทอง (โบราณคดีเมืองสุพรรณ,กรมศิลปากร.2557) ดังนั้นพื้นที่ที่อยู่ต่ำลงไป แม้จะมีพื้นดินอยู่บ้างแต่ส่วนใหญ่เป็นลักษณะป่าชายเลน ลงไปทางตอนใต้ก็ยังคงเป็นเกาะน้อยใหญ่

               การเป็นดินแดนที่อยู่ติดชายฝั่งทะเลของอู่ทอง ยังบ่งชี้ได้จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์มากมายเกี่ยวกับการตั้งชุมชนในราว 3,500 ปีในสมัยก่อนอารยธรรม ตั้งแต่ยุคหินใหม่ ลงมาถึงยุคสำริดและเหล็กจนพัฒนาสู่การเป็นชุมชนเมืองชายฝั่งทะเลที่มีการค้าสำเภากับเมืองอื่น ๆ ในราว 2,500 ปี 

               ช่วงเวลาคาบเกี่ยวระหว่างสมัยก่อนประวัติศาสตร์ จนเข้าสู่สมัยต้นประวัติศาสตร์ วิถีชีวิตของผู้คนที่นี่เปลี่ยนแปลงไปอย่างเชื่องช้าแต่มั่นคงในเชิงชุมชน ด้วยเหตุผลของการตั้งอยู่ในทำเลที่ดี ที่ด้านหลังเป็นแนวภูเขาสูงใหญ่ แล้วค่อย ๆลดระดับเป็นเชิงเขาเลื่อนสู่ที่ราบ ก่อนจะเป็นทะเลอันกว้างใหญ่

              ด้วยชัยภูมิเช่นนี้ ส่งผลให้ดินแดนนี้มีความอุดมสมบูรณ์จากทรัพยากรจากป่าและท้องทะเล   สภาพของดินภูเขาที่เต็มไปด้วยแร่ธาตุสำคัญเอื้ออำนวยให้เกิดผลผลิตที่เป็นสมุนไพร และเครื่องเทศ อันเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อระบบสุขภาพของผู้คนในเวลานั้น สภาพของการเป็นขุนเขาที่เอื้อประโยชน์ต่อชุมชนอย่างเหลือล้น มีผลให้คนในชุมชนเกิดการยอมรับในบริบทของผืนป่าด้านบน ขณะเดียวกันก็เกิดความศรัทธาและเกรงกลัวในสิ่งเร้นลับที่ไม่อาจพิสูจน์ กลายเป็นความเชื่อที่ต้องบวงสรวงบอกกล่าวทั้งเจ้าป่า เจ้าเขา ภูตผี ที่กระจายอยู่ทั่วแนวเขาทั้งต้นไม้ ลำธาร และทะเล เพื่อให้ช่วยค้ำชูชีวิตขณะยังมีลมหายใจ และหนุนนำต่อเนื่องไปถึงชีวิตหลังความตาย เทือกเขาหลังแนวเมืองโบราณอู่ทองจึงกลายเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์มานับแต่บรรพกาล  ดังเราจะเห็นร่องรอยจากแหล่งโบราณคดีหินตั้งในสมัยก่อนประวัติศาสตร์จนถึงสุสานฝังศพในสมัยปัจจุบัน

             เมื่อเริ่มเข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์ ยอดภูเขาศักดิ์สิทธิ์ยังเอื้อประโยชน์ต่อการสังเกตการณ์ และระแวดระวังภัยจากศัตรูภายนอก ขณะเดียวกันก็ช่วยให้พ่อค้าและนักเดินทางที่มาจากทางตะวันตกและตะวันออก สังเกตเห็นเป้าหมายได้ในระยะไกล ด้วยความพร้อมในชัยภูมิพื้นที่ราบหลังพิงเขา มีด้านหน้าเป็นชายฝั่งทะเล ประกอบกับผืนแผ่นดินใหญ่ด้านทิศตะวันออกและทิศเหนือมีชุมชนเล็กใหญ่เกิดขึ้นมากมาย ชัยภูมิของที่นี่จึงเหมาะสมต่อการเป็นตลาดกลางทางการค้าอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง และนั่นก็ทำให้ที่นี่เจริญรุ่งเรืองจนกลายเป็นอาณาจักรโบราณที่ชื่อว่า “สุวรรณภูมิ”

ภาพจาก-รายงานการศึกษาที่มีผลต่อการล่มสลายของเมืองโบราณอู่ทอง สำนักงานทรัพยากรธรณี เขต 3

           “สุวรรณภูมิ”เป็นดินแดนใหม่ที่เกิดขึ้นล่าสุดราวสมัยพุทธกาล เมื่อเทียบกับตะวันตกที่เริ่มต้นมาราว๔,๐๐๐ปี ขณะที่อาณาจักรจีนโบราณเริ่มต้นราว ๒,๓๐๐ ปี และชมพูทวีปเริ่มต้นราว ๒,๐๐๐ปีก่อนพุทธกาล ด้วยเหตุผลนี้พ่อค้านักเดินทางจากดินแดนที่เจริญขึ้นก่อน จึงมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนให้นวัตกรรมและองค์ความรู้ใหม่ไหลบ่าสู่สุวรรณภูมิ นำมาสู่ภาวะรุ่งเรืองแบบก้าวกระโดด จนพัฒนาชุมชนเข้าสู่การเป็นชุมชนเมืองเริ่มแรกของดินแดนแถบนี้

สุวรรณภูมิ...การหยั่งรู้ของพระเจ้าอโศกมหาราช

            ดินแดนสุวรรณภูมิ ปรากฏขึ้นเป็นหลักฐานจากคัมภีร์มหาวงศ์ ที่ศ.ดร.ที.ดับบลิว.รีส เดวิดส์ ข้าหลวงอังกฤษ ผู้ก่อตั้งสมาคมบาลีปกรณ์(Journal of the Pali Text Society)แปลพระคาถาบาลีของลังการะบุถึงการส่งสมณะทูตออกไป 9 เส้นทางจากพระราโชบายของพระเจ้าอโศกมหาราช ภายหลังกระทำสังคายนาพระไตรปิฏกครั้งที่ ๓ ในนครปาฏลีบุตร ช่วงปีพุทธศักราช ๒๙๕ ในจำนวนนี้มี ๒ เส้นทางที่เกี่ยวข้องกับสุวรรณภูมิ คือ “เส้นทางที่ ๘ ส่ง พระโสณะ และพระอุตตระเถระ ไปสุวรรณภูมิ” และ “เส้นทางที่ ๙ ส่งพระมหินทะเถระ ไปยังลังกาทวีป

สิงห์ศากยวงศ์ สัญลักษณ์ของพุทธศาสนาสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช

            สอดคล้องกับคัมภีร์สุวรรณปุระวงศ์ คัมภีร์ปรัมปราปุสตกะ คัมภีร์สีกิริยา ที่ระบุว่า “พระมหินทเถระ พระราชโอรสพระเจ้าอโศกมหาราช  พระสังฆมิตตาเถรี พระธิดาพระเจ้าอโศกมหาราช  และเจ้าชายสุมิตร โอรสของพระสังฆมิตตาเถรี หรือพระราชนัดดาพระเจ้าอโศกมหาราช  พร้อมคณะธรรมทูต เสด็จมายังลังกาทวีปเมื่อพ.ศ.๒๙๖ เพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนายังอาณาจักรสิงหลในรัชกาลของพระเจ้าเทวานัมปิยะติสสะ (พ.ศ.๒๙๓-๓๕๓)โดยนำกิ่งพันธุ์มหาโพธิ์จากพุทธคยาไปถวายและถูกปลูกลงที่เมืองหลวงอนุราชปุระ”

            สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์(ป.อ.ปยุตโต) เมื่อครั้งยังดำรงสมณศักดิ์พระพรหมคุณาภรณ์ ได้รจนาความเป็นมาของพระราชโอรสและพระราชธิดาของพระเจ้าอโศกมหาราช จากคัมภีร์อรรถกถาและฎีกาว่า “พระเจ้าอโศกมหาราช เมื่อยังเป็นราชกุมาร ได้รับพระราชบัญชาให้ไปเป็นอุปราชครองแคว้นอวันตี ที่เมืองอุชเชนี ระหว่างทางก่อนถึงอุชเชนี อโศกกุมารได้แวะที่เมืองเวทิส และ ณ ที่นี้อโศกกุมารได้ พบกับธิดาเศรษฐีนามว่าเวทิสา และได้เธอเป็นคู่ครอง นําไปอยู่ด้วยที่นครอุชเชนีแล้วประสูติโอรสนามว่าเจ้าชายมหินทะ และต่อมาอีก ๒ พรรษา มีราชธิดานามว่าสังฆมิตตา เจ้าชายมหินทะและเจ้าหญิงสังฆมิตตานี้ ต่อมาได้ อุปสมบท พระมหินทเถระพร้อมด้วยคณะภิกษุสงฆ์ได้นําพระพุทธศาสนาไปประดิษฐานในลังกาทวีป และพระสังฆมิตตาเถรีก็ได้นําภิกษุณีสงฆ์ไปประดิษฐานในลังกาทวีปนั้นตามต่อมา”

            คัมภีร์พุทธศาสนายังบอกด้วย เมื่อประดิษฐานพระพุทธศาสนาในลังกาแล้ว พระมหินทะเถระ พร้อมคณะทั้งหมด จึงเดินทางต่อมายังกรุงสุวรรณปุระ   หากเป็นเช่นนั้นพระโสณะเถระและพระอุตระเถระ ซึ่งได้เดินทางมาก่อนหน้านี้แล้ว น่าจะมีส่วนสำคัญในการประสานระหว่างเจ้าผู้ครองนครสุวรรณปุระกับคณะของพระมหินทะเถระ บทบาทของพระโสณะและพระอุตระจึงเป็นทั้งสมณะทูตและงานการเมืองไปพร้อมกัน  จากนั้นเจ้าชายสุมิตรได้อภิเษกกับพระธิดาของพระเจ้ากรุงสุวรรณปุระ ตำนานจากคัมภีร์ยังระบุด้วยว่า ต่อมาเจ้าชายสุมิตร พระราชนัดดาของพระเจ้าอโศกมหาราช ได้ขึ้นครองราชย์สืบมา และทรงเป็นผู้สถาปนา “ราชวงศ์สุวรรณปุระ”ขึ้นใน “สุวรรณภูมิ”
นอกจากคัมภีร์พุทธศาสนา ยังปรากฏจารึกศิลาภาษาสันสกฤตคำว่า “ปุษยคีรี” ที่พบอยู่บริเวณเมืองโบราณอู่ทอง คล้ายกับจารึกจากภูเขาศักดิ์สิทธิ์ ๒ แหล่งในชมพูทวีปคือ “ปุษปคีรี”มหาวิหารบนเนินเขาลังกุฎี (Langudi Hill)ในรัฐโอริสาที่สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช และอีกแห่งปรากฏ”ปุษปคีรี”ที่เมืองนาคารชุนโกณฑะ ในรัฐอานธรประเทศ ซึ่งนัยยะสำคัญของจารึกศิลา “ปุษยคีรี”ที่พบในเขตโบราณเมืองอู่ทองได้ให้ความหมายเชิงประจักษ์ว่า “พุทธศาสนาได้ถูกประกาศขึ้น ณ ดินแดนแห่งนี้แล้ว”นั่นเอง

ศิลาจารึก"ปุษยคิริ" ที่พบบริเวณเมืองโบราณอู่ทอง

            นักวิชาการด้านโบราณคดี ตั้งข้อสังเกตว่า หินที่สลักคำว่า”ปุษยคีรี” น่าจะมาจากผนังหินหรือเป็นส่วนหนึ่งของผนังถ้ำ ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกับคณะสงฆ์ที่มาเผยแผ่ศาสนารวมถึงคนในพื้นที่ที่มีความศรัทธาในพุทธศาสนาเข้าบรรพชาอุปสมบทจะใช้ถ้ำหรือเพิงผาเป็นที่พำนัก  ซึ่งเชื่อกันว่าเพิงผาบนยอดเขาทำเทียมที่เป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์มาแต่โบราณ และเคยเป็นที่พำนักของพระโสณะและพระอุตระเถระ

            เช่นเดียวกับในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชที่ทรงอุปถัมภ์ในทำนองนี้ ดังถ้ำแห่งเขาบาราบาร์ที่มีคำจารึกตอนหนึ่งว่า “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ทรงอภิเษกแล้วได้ ๑๙ พรรษา ถ้ำในเขตขลติกะแห่งนี้ ซึ่งเป็นที่โปรดปรานยิ่ง อันข้าฯพระราชทานแล้ว เพื่อเป็นที่พักพิงแห่งเหล่าบรรพชิตทั้งหลาย ให้พ้นจากอุทกภัยในฤดูฝน” หรือแม้ในสมัยต่อมาก็ปรากฏจารึกกษัตริย์ของอินเดียและบรรดาหมู่เสนาอำมาตย์อุปถัมภ์หมู่สงฆ์ด้วยการขุดแต่งถ้ำให้เป็นที่พำนักเช่นกัน  ส่วนจังหวัดสุพรรณบุรี ตลอดแนวเทือกเขาเมืองอู่ทองยังปรากฏร่องรอยของการใช้ถ้ำเป็นที่พักสงฆ์อยู่มากมายตั้งแต่ครั้งอดีตและต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

            ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม นักวิชาการด้านมนุษยวิทยาและโบราณคดีคนสำคัญของเมืองไทย ให้ความเห็นตอกย้ำต่อเรื่องนี้ว่า “จารึกปุษยคิริ เป็นหลักฐานสำคัญอีกชิ้นหนึ่งที่ยืนยันว่า พระเจ้าอโศกมหาราช ได้ส่งสมณทูตมาเผยแผ่ศาสนาที่อู่ทอง”

            แม้หลักฐานทางโบราณคดีและคัมภีร์พุทธศาสนา จะยืนยันตรงกัน แต่ก็ยังมีข้อสังเกตว่า เหตุใดการอภิเษกระหว่างเจ้าชายสุมิตร กับราชธิดาของพระเจ้ากรุงสุวรรณปุระจึงเกิดขึ้น ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ยืนยันว่า แม้พระพุทธศาสนาจะเจริญรุ่งเรืองในแผ่นดินพระเจ้าอโศกมหาราชเป็นอย่างมาก แต่พระองค์ก็ทรงวิตกว่าในกาลเบื้องหน้าอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือล่มสลายลงไปได้ เพราะชมพูทวีปมีความหลากหลายทางความเชื่อ นอกจากพระพุทธศาสนาแล้ว ยังมีศาสนาพราหมณ์ ศาสนาเชน ดาบส อาชีวก ปริพาชก และอื่น ๆ อีกมากมาย  นอกจากนั้นรัฐต่าง ๆที่แม้จะถูกรวมตัวกันเป็นอินเดียหนึ่งเดียวตั้งแต่สมัยพระเจ้าจันทรคุปต์ พระปิตะมหาอัยกา พระเจ้าพินทุสาร พระราชบิดา จนขยายอาณาเขตเป็นจักรวรรดิยิ่งใหญ่ในสมัยพระองค์แต่วันหนึ่งก็อาจมีการเปลี่ยนอำนาจจากการช่วงชิงทั้งภายในและภายนอกราชอาณาจักร ถึงเวลานั้นพุทธศาสนาอาจมีภัย  ทางเดียวที่จะอนุรักษ์ศาสนาให้ดำรงอยู่ ก็คือการเผยแผ่ธรรมมะของพระพุทธองค์ออกไปยังดินแดนห่างไกล เพื่อให้เป็นหลักชัยแห่งการตั้งมั่นของพุทธศาสนาต่อไป

            และก็เป็นไปตามที่พระองค์มีพระราชดำริ คัมภีร์พุทธศาสนา ระบุว่า “ในปลายพระชนม์ชีพ พระองค์ทรงถูกพระราชนัดดา เจ้าชายสัมปทิ จับกักขัง ทรงหมดพระราชอำนาจ สิ้นพระเกียรติ แม้มีพระราชประสงค์จะทำบุญก็ถูกขัดขวาง

            จากมหาราชผู้เกรียงไกร  ในที่สุดก็เสด็จสวรรคตภายในที่คุมขังในปีพ.ศ.๓๑๒

            หลังจากนั้นกษัตริย์แห่งราชวงศ์เมาริยะ ก็ไม่ได้มีความศรัทธาต่อพุทธศาสนาหันไปนับถือศาสนาอื่น และบางช่วงเวลายังทำร้ายพระพุทธศาสนา  ราชวงศ์เมาริยะดำเนินมาจนถึงรัชกาลพระเจ้าพฤหัสรถ แผ่นดินมคธก็อยู่ในภาวะอ่อนแอจนยากจะเยียวยา คัมภีร์ยังระบุด้วยว่าในที่สุด “เสนาบดีวรรณะพราหมณ์ชื่อ ปุษยมิตร ก็แย่งชิงราชสมบัติ แล้วสถาปนาราชวงศ์ศุงคะ ขึ้นในปีพ.ศ.๓๕๘”

            ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางอำนาจ การช่วงชิงที่ไม่เคยหมดสิ้น และการล้มล้างพุทธศาสนาเกิดขึ้นในอินเดียตลอดช่วงเวลานั้น แต่สำหรับที่นี่  นับตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๓ เป็นต้นมา พุทธศาสนาในสุวรรณภูมิกลับหยั่งรากลึกลงในสุวรรณปุระและแว่นแคว้นใกล้เคียง ขณะเดียวกันยุคทองทางการค้าก็เกิดขึ้นในเวลานี้เช่นกัน  /.

เอกสารอ้างอิง

-ก่องแก้ว วีระประจักษ์, “เอกสารการวิเคราะห์จารึกบนเศษภาชนะดินเผามีจารึกพบ ที่คันดินคูเมืองอู่ทองปี ๒๕๕๓”,๒๕๕๔.
-ฌอง บวสเซอริเยร์, ความรู้ใหม่ทางโบราณคดีจากเมืองอู่ทอง,พระนคร: ศิวพร, ๒๕๑๑, ๒๐-๒๒.
-ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา.เรื่องเมืองอู่ทอง จาก รายงานเสด็จตรวจ ราชการเมืองสุพรรณบุรี”,โบราณวิทยาเมือง  อู่ทอง.กรุงเทพฯ: ศิวพร, 2509, 224.    
-วสันต์ เทพสุริยานนท์, โบราณคดีเมืองอู่ทอง .กรุงเทพฯ: สหมิตรพริ้นติ้ง๒๕๔๕,๑๒๗-๑๕๐.
-พระพรหมคุณาภรณ์( ป.อ.ปยุตฺโต).จารึกอโศก รัฐศาสตร์แห่งธรรมาธิปไตย.สมุทรปราการ: สำนักพิมพ์ผลิธัมม์,๒๕๕๒.
-ผาสุก อินทรวุธ.ทวารวดี การศึกษาวิเคราะห์จากหลักฐานโบราณคดี.กรุงเทพ:โรงพิมพ์อักษรสมัย,๒๕๔๒.
-ศักดิ์ชาย สายสิงห์.ทวารวดี ศิลปกรรมยุคแรกเริ่มในดินแดนไทย.กรุงเทพฯ:มหาวิทยาลัยศิลปากร,๒๕๔๓.
-ศิลปากร,กรม.โบราณคดีและประวัติศาสตร์เมืองสุพรรณ.กรุงเทพฯ:หจก.สารรังสรรค์,๒๕๔๒        
-ศิลปากร,กรม.โบราณคดีเมืองอู่ทอง.นนทบุรี:โรงพิมพ์สหมิตรพริ้นติ้ง,๒๕๔๕.                                        
-ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม.ประวัติศาสตร์ โบราณคดี:เมืองอู่ทอง.กรุงเทพฯ:เมืองโบราณ,๒๕๔๙.                         
-สุภัทรดิศ ดิศกุล,มจ.ศิลปะในประเทศไทย.กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,๒๕๓๙.          
-สันติ์ ไทยานนท. คันดินคูเมืองอู่ทอง: ข้อมูลใหม่จากการขุดค้นทางโบราณคดี.ดำรงวิชาการ.๒๕๕๖.
-สฤษ์ดิ์พงศ์ ขุนทรง, “โบราณคดีทวารวดี: ข้อมูลใหม่จากการขุดค้นเมืองนครปฐมและเมืองขีดขิน,”เอกสารประกอบการ-เสวนาในโครงการเสวนาเพื่ออนุรักษ์และพัฒนา มรดกวัฒนธรรม วัฒนธรรมเสวนา” (Cultural Dialogues) ครั้งที่ ๗ ณ หอประชุม มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ, ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๕๔.
-อภิรัฐ เจะเหล่า รายงานเบื้องต้นการขุดกู้โครงกระดูกบริเวณคูเมืองโบราณอู่ทองสำนักศิลปากรที่ ๒ สุพรรณบุรี, ๒๕๕๓.