โพสต์แนะนำ

วันอาทิตย์ที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

มหาอุตม์ตะกรุดโทน



มหาอุตม์ตะกรุดโทน
หลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว

ด้านหน้าพระปิดตามีเชือกมงคลพันติดตะกรุดเป็นมหาอุตม์


ตามปกติพระปิดตาหลวงปู่ยิ้ม จันฺทโชติ วัดศรีอุปลาราม (วัดหนองบัว) ตำบลหนองบัว เขตเมืองกาญจนบุรี เป็นหนึ่งในเบญจภาคีพระปิดตา ที่ได้รับความนิยมมาตั้งแต่ครั้งสมัยที่หลวงปู่ยังมีชีวิตอยู่ ปัจจุบันเป็นของหายาก ส่วนใครที่ครอบครองต่างก็หวงแหน

สำหรับพระปิดตาที่นำมาลงไว้นี้ มีความพิเศษกว่าองค์อื่น ตรงที่เป็นพระปิดตาภควัมปติ พิมพ์ชะลูดนิยม แต่พันเชือกมงคลเป็นมหาอุตม์ ผูกติดกับตะกรุดดอกใหญ่ 

โดยพระปิดตาเป็นพิมพ์ชะลูด ซึ่งเป็นพิมพ์นิยมของหลวงปู่ยิ้ม องค์พระมาตรฐานมีขนาดหน้าตักกว้าง 2.3 ซ.ม.สูง 2.5 ซ.ม. พนมมือสูงขึ้นไปจรดพระพักตร์ส่วนบน พระอังสา(ไหล่)เชื่อมต่อกับพระศอ(คอ)ทั้งสองข้างลงมายังพระพาหา(แขน)ก่อนจะถึงพระกัประ(ข้อศอก) วางเหนือพระชานุ(เข่า)ทั้งสองด้าน แล้วหักขึ้นไปพนมมือด้านบน ส่วนของพระเพลา(ตัก)พระบาทซ้ายวางบนพระบาทขวา ระหว่างพระบาทบนล่างปรากฏแอ่งทรงรีเรียงกัน 2 แอ่ง

ส่วนตะกรุด เป็นตะกรุดหวายพอกเนื้อผงคลุกรัก ซึ่งเป็นเนื้อเดียวกับพระปิดตา รวมถึงด้ายควั่นที่ถักเป็นเส้นเชือกก็เคลือบเนื้อผงคลุกรักเช่นกัน แนวของเส้นเชือกที่พาดผ่านองค์พระ มีผลให้องค์พระปิดตากลายเป็นมหาอุตม์หรือพระปิดทวารทั้งเก้าไปในตัว

ด้านหลังดอกตะกรุดพันเชือกมงคล


ตามตำนานเล่ากันว่า เนื้อของพระปิดตาหลวงปู่ยิ้มสร้างจากผงว่านพุทธคุณ ๑๐๘ ผสมคลุกเคล้ารักและยางไม้ จนเกิดความเหนียวข้น แล้วปั้นก้อนกลมกดลงในแม่พิมพ์ที่ออกแบบอย่างง่าย ๆ แต่มีความเข้มขลังอยู่ในตัว เมื่อนำองค์พระไปตากจนแห้งดีแล้ว จึงนำมาประกบตรงกลางดอกตะกรุดหวายที่เคลือบผงคลุกรักมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑ ซ.ม.ยาว ๗ ซ.ม.แล้วพันด้วยเชือกด้ายควั่นให้องค์พระติดสนิทก่อนพันปลายเชือกทั้งสองด้านไปตามตะกรุดหวายทั้งด้านบนและด้านล่าง แล้วนำไปชุบรักอีกครั้งเพื่อให้ทุกส่วนติดแนบสนิทกันยิ่งขึ้น ตัวตะกรุดหวายเมื่อผ่านการพอกเนื้อผงคลุกรักแล้วจะมีความยาวเพิ่มขึ้นเป็น ๗.๒ ซ.ม.

ตำรับการสร้างพระปิดและเนื้อผงพอกตะกรุดนี้ เชื่อว่าเป็นสูตรเดียวกับการสร้างพระตระกูลสมเด็จฯ พระปิดตาของหลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ รวมถึงตะกรุดพอกผงโสฬส ของหลวงปู่เอียม วัดสะพานสูง แตกต่างกันที่ส่วนผสมหรือกระบวนการทำที่มีลักษณะเฉพาะตัวของอริยสงฆ์แต่ละรูป เมื่อผ่านกาลเวลามากว่า ๑๐๐ ปี เนื้อพระปิดตา รวมถึงเนื้อตะกรุดที่พอกด้วยผงวิเศษ จะเกาะติดและหดตัวจนย่นยับเป็นแบบหนังช้าง ซึ่งลักษณะเดียวกันนี้ก็ปรากฏอยู่ในพระปิดตาหลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ และปิดตาของหลวงปู่เอี่ยม วัดสะพานสูง เช่นกัน จัดเป็นเนื้อพระและตะกรุดที่เก่าแก่หายากที่สุดในบรรดาพระพิมพ์สมัยโบราณ


ภาพแสดงด้านหน้าและด้านข้าง

การสร้างพระปิดตาและตะกรุดรวมกันนี้ เชื่อว่าเป็นการสร้างให้วัตถุมงคลมีคุณสมบัติ เป็นเมตตามหานิยม แคล้วคลาด และมหาอุตม์ ปกป้องคุ้มครองภัยไปพร้อมกัน มีการบอกเล่าสืบทอดกันมาว่า พระปิดตาตะกรุดของหลวงปู่ยิ้มชุดนี้ สร้างขึ้นจำนวนหนึ่งเพื่อ ให้นำไปใช้แก่บรรดาทหารในกิจการป้องกันภัยแห่งชาติที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในรัชสมัยล้นเกล้าฯรัชกาลที่ ๕ เช่นในปีพ.ศ.๒๔๓๓ สยามมีข้อพิพาทกับอังกฤษจนต้องเสียฝั่งซ้ายแม่น้ำสาละวินให้แก่ประเทศอังกฤษ เหตุการณ์ครั้งนั้นนับเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ทั้งทางด้านรัฐศาสตร์ เศรษฐกิจ  และทรัพยากรป่าไม้อันอุดมสมบูรณ์

อีกครั้งในช่วงวิกฤติการณ์ร.ศ.๑๑๒ ที่สยามรับมือกับฝรั่งเศส ซึ่งเป็นเหตุการณ์ยืดเยื้อตั้งแต่ปีพ.ศ.๒๔๒๙ จนถึงปีพ.ศ. ๒๔๓๖ ที่ฝรั่งเศสนำเรือรบฝ่าแนวต้านมาที่ปากน้ำสมุทรปราการ เพื่อบีบบังคับให้สยามยกดินแดนในลาวให้ ในช่วงนี้เองที่บรรดาทหารและชาวเมืองบางกอก ต่างเสาะหาพระเครื่อง เครื่องรางของขลังไว้ป้องกันภัย พระเครื่องในเจดีย์ต่าง ๆ จึงถูกรื้อค้นอย่างหนัก หากเป็นฝ่ายทหารจะโชคดีหน่อยที่บรรดาพระสงฆ์องค์สำคัญ ๆในเวลานั้นสร้างพระเครื่องกับเครื่องรางส่งเข้ามายังส่วนกลาง ให้นำไปใช้เป็นขวัญกำลังใจ และพระมหาอุตม์ตะกรุดโทนของหลวงปู่ยิ้ม ชุดนี้ก็อยู่ในจำนวนนั้นด้วยเช่นกัน

ด้วยเหตุนี้ พระปิดตามหาอุตม์ตะกรุดโทนของหลวงปู่ยิ้มในลักษณะนี้ จึงไม่ค่อยปรากฏให้เห็นแพร่หลายกันเท่าใดนัก แต่หากใครได้รับตกทอดเป็นมรดก ต่างก็ครอบครองบูชาอย่างหวงแหน มีโอกาสพบเห็นก็อย่าปล่อยให้หลุดมือไป การพิจารณาพระเครื่องชุดนี้ให้ดูที่ความเก่าของเนื้อหาและการหดตัวของเนื้อผงคลุกรักที่มีผลทำให้เนื้อพระและผิวตะกรุดแลดูขรุขระ หรือที่เรียกว่า”ย่นแบบหนังช้าง”ทั่วทั้งองค์ เป็นการย่นยับอย่างไม่เป็นระเบียบ ด้วยเพราะเกิดจากการหดตัวตามธรรมชาตินั่นเอง.


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น