โพสต์แนะนำ

วันเสาร์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2561

พระกรุวัดใหญ่ชัยมงคล


พระปางมารวิชัยเคลือบ
กรุวัดใหญ่ชัยมงคล พระนครศรีอยุธยา


              พระปางมารวิชัยเคลือบ หรือที่เรียกกันทั่วไปในหมู่ผู้นิยมสะสมพระเครื่องว่า “พระขุนแผนเคลือบ” กรุวัดใหญ่ชัยมงคล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  เป็นพระเครื่องที่เชื่อกันว่าสร้างในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมื่อคราวได้รับชัยชนะในศึกยุทธหัตถีเมื่อปีพ.ศ.๒๑๓๕ แตกกรุในราวปีพ.ศ.๒๔๔๐ และมีการลักลอบขุดเรื่อยมา จนต่อมาปีพ.ศ.๒๕๐๐ หลังการสำรวจของกรมศิลปากรเสร็จสิ้น จึงมีการปิดทับกรุพระเจดีย์อย่างถาวร

              พระเครื่องที่พบภายในพระเจดีย์วัดใหญ่ชัยมงคล มีด้วยกันหลายแบบพิมพ์ทรง แต่ที่เป็นพระปฏิมาปางมารวิชัยใต้เคลือบ มีอยู่ด้วยกัน ๓ พิมพ์ทรง คือ พิมพ์ห้าเหลี่ยมอกใหญ่ฐานสูง ห้าเหลี่ยมอกใหญ่ฐานเตี้ย และพิมพ์แขนอ่อน  ได้รับความนิยมสืบเนื่องนับจากอดีตถึงปัจจุบันทั้ง ๓ พิมพ์ทรง ในจำนวนนี้พระพิมพ์ห้าเหลี่ยมอกใหญ่ เป็นแบบพิมพ์ทรงเดียวกับพระพิมพ์ห้าเหลี่ยมอกใหญ่เนื้อดินเผา กรุวัดบ้านกร่าง อ.ศรีประจันต์  จ.สุพรรณบุรี ซึ่งท่านอาจารย์มนัส โอภากุล นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นสุพรรณบุรี ยืนยันว่า เริ่มมีการแตกกรุในช่วงปีพ.ศ.๒๔๔๐(1) เป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกับการแตกกรุของวัดใหญ่ชัยมงคล

พระวัดบ้านกร่าง พิมพ์ห้าเหลี่ยมอกใหญ่
ภาพจาก:หนังสือพระฯเมืองสุพรรณ ของ อ.มนัส โอภากุล

             ด้วยพุทธลักษณ์ แม้พระพิมพ์ห้าเหลี่ยมอกใหญ่จะสร้างในสมัยอยุธยา แต่ก็มีศิลปะสกุลช่างสุพรรณภูมิ(อู่ทอง)รวมอยู่ เมื่อพิจารณาจากพงศาวดารการเดินทัพของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชในครั้งศึกยุทธหัตถีที่หนองสาหร่าย จังหวัดสุพรรณบุรี จึงสันนิษฐานได้ว่า พระพิมพ์ห้าเหลี่ยมอกใหญ่และพิมพ์อื่น ๆของกรุวัดบ้านกร่าง ถูกสร้างเตรียมไว้เพื่อเป็นขวัญกำลังใจต่อบรรดาทหารหาญของพระองค์ก่อนสู้ศึก โดยสร้างเนื้อดินเผาที่ไม่ผ่านการกรองดินเพราะเป็นช่วงเวลาเร่งรีบ หลังได้รับชัยชนะด้วยการปลิดพระชนม์ชีพมังกะยอชวา อุปราชแห่งหงสาวดี จึงมีการนำแบบพิมพ์หลักไปเป็นต้นแบบการสร้างอย่างประณีตสวยงามมากขึ้น เพื่อบรรจุ ณ พระเจดีย์วัดใหญ่ชัยมงคล

ด้านหน้า พระปางมารวิชัย ห้าเหลี่ยม อกใหญ่ กรุวัดใหญ่ชัยมงคล
ปรากฏคราบกรุจากการออกไซด์ของแร่โลหะในดิน และรอยรานจากน้ำเคลือบ

              พระพิมพ์ปางมารวิชัย ห้าเหลี่ยมอกใหญ่ กรุวัดใหญ่ชัยมงคล เป็นงานสร้างพระพิมพ์ที่ใช้เทคนิคการเผาเคลือบแบบจีน ใช้เนื้อดินขาวและส่วนผสมมวลสารมงคล แล้วเผาเคลือบใสแบบราน ผิวพระบริเวณที่เคลือบจึงมีความใสเห็นรอยรานและเนื้อใน เป็นเทคนิคหนึ่งที่ได้รับความนิยมอยู่ในสมัยนั้น เมื่อนำพระเคลือบที่ได้ไปผ่านกระบวนการต่าง ๆจนบรรจุเข้ากรุในพระเจดีย์ อุณหภูมิจากความร้อนและเย็นอบอยู่ในภายกรุเป็นเวลานาน ออกไซด์ของแร่เหล็กและตะกั่วที่อยู่ในเนื้อดินและน้ำเคลือบ จะขึ้นมาปกคลุมผิวด้านบน กลายเป็นคราบกรุที่ใช้สำหรับการพิจารณา

ด้านหลังพระปางมรวิชัยเคลือบ เป้นรอยกดเนื้อพระลงบล็อก
หากส่องด้วยกล้องขยายจะพบรอยยุบย่นและรูพรุนปลายเข็มทุกอณู

              คราบของพระเคลือบกรุวัดใหญ่ชัยมงคล ในด้านหน้าส่วนของน้ำเคลือบ มีการเปลี่ยนแปลงอันเเกิดจากออกไซด์ของเหล็กและตะกั่ว เป็นจ้ำรูปทรงไม่แน่นอน ออกไซด์นี้จะเปลี่ยนสภาพเป็นสีดำด้านในภายหลัง และถูกเกาะกุมด้วยปรอทที่เกิดความร้อนชื้นภายในองค์พระเจดีย์ นอกจากนี้ยังมีคราบฝุ่นละอองที่เกาะติดแน่น ซึ่งจะพิจารณาได้ในพระเครื่องที่ไม่ผ่านการใช้ ส่วนพระที่ผ่านการใช้บูชา จะปรากฏเพียงคราบจ้ำดำคล้ำแต่ไม่ดำสนิทกระจายอยู่ทั่วองค์พระ ส่วนด้านหลังองค์พระที่ไม่ถูกน้ำเคลือบ เนื้อจะเรียบมีเพียงแอ่งจากการกดแม่พิมพ์ มีแบบที่เป็นรอยนิ้วและรอยกดเรียบ แต่จะไม่เป็นรูพรุนใหญ่ชัดเจน.


ศึกษาเพื่อการอนุรักษ์วัตถุโบราณ
........จันทร์พลูหลวง............

*********

เอกสารอ้างอิง
(1) มนัส โอภากุล.พระฯเมืองสุพรรณ.มนัสการพิมพ์.สุพรรณบุรี.พ.ศ.๒๕๓๖.

1 ความคิดเห็น: