โพสต์แนะนำ

วันศุกร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2561

พระปิดตา ๔

ปิดตาหลวงปู่จีน

พิมพ์แข้งหมอนใหญ่


ประวัติความเป็นมาของหลวงปู่จีน มีเพียงคำบอกเล่าสืบต่อกันมาว่า ท่านเกิดในราวปีพ.ศ.๒๓๕๗ เมื่ออุปสมบทแล้วท่านธุดงค์จาริกเรื่อยมาจนถึงวัดท่าลาด ใช้สรรพวิชชาที่ร่ำเรียนมาสั่งสอนและรักษาผู้คนจนชื่อเสียงเลื่องลือไปทั่วแปดริ้ว ต่อมาชาวบ้านร่วมกันอาราธนาให้ท่านปกครองวัดสืบมาตั้งแต่ราวปีพ.ศ.๒๓๙๗ จนถึงพ.ศ.๒๔๔๐ ได้มรณกรรมที่วัดท่าลาดนั่นเอง

ตลอดการครองวัดท่าลาด นอกจากเมตตาช่วยเหลือผู้คนแล้วท่านได้สร้างพระปิดตา และเครื่องรางของขลังอีกหลายอย่าง แจกจ่ายให้นำไปบูชาใช้ติดตัว เช่นตะกรุด ผ้ายันตร์ และสีผึ้งทาปาก เป็นต้น ส่วนที่ได้รับความนิยมมากที่สุดเห็นจะเป็นพระปิดตา สร้างกันหลายพิมพ์เช่น พิมพ์แข้งหมอน พิมพ์เม็ดกระบก พิมพ์กลีบบัว และพิมพ์ไม้ค้ำเกวียน แต่ละพิมพ์ก็มีหลายแบบแยกย่อยออกไปอีก


สำหรับพระปิดตาองค์ที่นำมาลงนี้ เรียกว่า พระปิดตาพิมพ์แข้งหมอนใหญ่  สร้างจากเนื้อผงวิเศษและมวลสารอันเป็นมงคลแล้วใช้น้ำรักเป็นน้ำประสานที่เรียกกันว่า “เนื้อผงคลุกรัก” พระปิดตาของท่านเป็นพระแบบเนื้อละเอียดเนียมนุ่มตาแต่หากใช้กล้องส่องที่พื้นผิวจะพบรอยยุบย่นและรูพรุนอยู่ทั่วไป เป็นพระปิดตารูปทรงออกแบบง่าย ๆแต่แฝงพลัง และความเข้มขลังอยู่ในที

องค์พระเป็นแบบเศียรโล้น พระกรรณ(หู)แนบข้างพระปราง(แก้ม) พระกรรณซ้ายสั้นกว่าด้านขวา ส่วนของลำพระองค์ไม่ปรากฏ พบแต่เพียงส่วนที่เป็นพระพาหาและวงพระกร(ต้นแขนถึงปลายแขน)มาบรรจบกันแบบพนมมือ ปลายพระหัตถ์ชนอยู่ใต้พระหนุ(คาง)



จุดสังเกต พระพาหาหรือต้นแขนด้านขวาองค์พระค่อนข้างอวบกว่าด้านซ้าย ใต้พระกัประ(ข้อศอก)ขวามีเส้นลางๆลงมาจรดพระชานุ(เข่า) ซอกพระพาหาด้านขวากว้างและลึกกว่าด้ายซ้าย วงพระกรด้านซ้ายบางกว่าด้านขวา พระเพลาด้านซ้ายหนากว่าด้านขวา และด้วยเอกลักษณ์ที่พระเพลาเป็นเส้นนูนติดกันเหมือนหมอนจึงเป็นที่มาของชื่อพิมพ์นั่นเอง องค์พระประดิษฐานภายในเส้นซุ้มขยักเว้าตามรูปทรงพระ มีเนื้อส่วนเกินนอกซุ้มโดยรอบ ส่วนด้านหลังองค์พระนูนอูม

ปัจจุบันพระปิดตาหลวงปู่จีน วัดท่าลาด พิมพ์แข้งหมอนใหญ่ ได้รับความนิยมมากที่สุดพิมพ์หนึ่ง และเป็นหนึ่งในเบญจภาคีพระปิดตา เช่นเดียวกับปิดตาหลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ ปิดตาหลวงปู่ไข่ วัดเชิงเลน ปิดตาหลวงปู่เอี่ยม วัดสะพานสูง และปิดตาหลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว พระปิดตาของหลวงปู่จีนนี้บางองค์ถูกนำไปปิดทองทับหลังได้รับจากมือหลวงปู่จีน จัดเป็นพระเครื่องหายากอีกองค์หนึ่งครับ.


ศึกษาเพื่อการอนุรักษ์วัตถุโบราณ
........จันทร์พลูหลวง............

*********

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น