โพสต์แนะนำ

วันจันทร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

พระกรุสุพรรณ


ขุนหลวงพ่องั่ว
กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ


ในบรรดาพระเครื่องภายในกรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ สุพรรณบุรี นอกเหนือจากพระผงสุพรรณ และพระพิมพ์อื่น ๆที่รู้จักกันแพร่หลายแล้ว ยังมีพระเนื้อชินเงินอีกชนิดหนึ่งที่ไม่ค่อยมีคนกล่าวถึง ในรอบ ๔๐ มานี้มีเพียงคนเดียวคือท่านอาจารย์มนัส โอภากุล ครูใหญ่ด้านโบราณคดีและวัตถุโบราณเมืองสุพรรณ อาจารย์มนัสเขียนไว้ในหนังสือ “พระฯเมืองสุพรรณ” ระบุถึงพระพิมพ์เนื้อชินเงินที่มีอยู่หลายพิมพ์ทรง และตั้งข้อสังเกตในพระเนื้อโลหะขนิดหนึ่งว่า


            “..ยังมีเนื้อพระอีกชนิดหนึ่งไม่รู้ว่าเนื้ออะไร ลักษณะของเนื้อเป็นเม็ด ๆ เหมือนทรายขาวสะอาด ข้าพเจ้าเคยเข้าใจเอาเองว่าเป็นส่วนผสมของอลูมิเนียม ถูกผู้รู้จากกรมโลหะกิจคัดค้านมา ก็ต้องยอมจำนนว่าไม่ใช่ทำด้วยอลูมิเนียม เนื้อดังกล่าวนี้มีจำนวนน้อย...”

พระดังกล่าวนั้น เท่าที่เคยพิจารณามีอยู่ด้วยกัน ๕-๖ พิมพ์ทรง แต่มีจำนวนน้อย จึงไม่ได้เป็นที่นิยมในวงการนักสะสมสักเท่าใด ทำให้ถูกมองข้ามไปอย่างน่าเสียดาย แต่หากผู้ที่มีความรู้ด้านวัตถุโบราณลักษณะนี้พบเห็น ก็เป็นเรื่องยากที่จะปล่อยให้หลุดมือ


ในบทความนี้ได้นำพระเครื่องลักษณะดังกล่าวของกรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุมาลงไว้พิมพ์หนึ่ง เป็นรูปทรงกรอบพิมพ์สี่เหลี่ยมผืนผ้า ขอบด้านบนทั้งสองด้านโค้งเข้าหากันไปจรดเกือบกึ่งกลาง มองดูส่วนบนคล้ายกลีบบัว ลงมาคั่นด้วยลายขอบก่อนถึงซุ้มเรือนแก้วทรงกลีบบัว

องค์พระตอนบนเป็นขอบกระจังสวมมงกุฎ หรือ “เทริดขนนก” ๕ กลีบลดหลั่นจากด้านริมไปถึงกลีบกลาง  กลีบส่วนกลางวิ่งตรงรับกับพระเกศที่ยาวไปชนซุ้มเรือนแก้วแล้วทะลุขึ้นไปชนขอบพิมพ์ด้านบนสุด ใต้ขอบกระจังลึกก่อนถึงพระนลาฏ(หน้าผาก)รับกับพระขนง(คิ้ว)คล้ายปีกกาไม่สมดุล พระพักตร์ตอบ พระเนตรปูนเล็กน้อย พระนาสิกยาวลงมาจากพระขนง(คิ้ว)จรดริมพระโอษฐ์ เป็นพระพักตร์แบบสุพรรณภูมิยุคต้น หรือบางทีเรียกว่า อู่ทอง-ลพบุรี 


พระศอเห็นเลือนราง พระอังสา(ไหล่)ทั้งสองด้านตั้งผึ่งผาย พระพาหาซ้ายวาดวงพระกรวางบนพระเพลา  พระพาหาขวาสอบลงมาใกล้ลำพระองค์ก่อนจะผายออกเล็กน้อยแล้ววางพาดพระชานุ(เข่า)ขวาเลยลงมาถึงฐานบัวคว่ำบัวหงายลักษณะแบบลอยองค์ ถัดลงไปมีฐานบัวรองรับที่ขอบพิมพ์อีกชั้นหนึ่ง

พุทธลักษณ์ของพระพิมพ์ทรงเครื่องนี้ มีความสง่างามอย่างมีเอกลักษณ์เฉพาะ ตามคติพุทธและพราหมณ์(Hindu Buddhism) ที่ผู้ปกครองสูงสุดของอาณาจักรมีฐานะเป็นทั้ง “ธรรมราชา” และเทวราชา”ในเวลาเดียวกัน เมื่อถูกพบภายในปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ที่มีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์อันยาวนานบนแผ่นดินสุพรรณภูมิ จึงได้รับการกำหนดพิมพ์ทรงเฉพาะผู้รู้ในอดีตว่าเป็นพระพิมพ์ “ขุนหลวงพ่องั่ว” อย่างแท้จริง




พระพิมพ์ขุนหลวงพ่องั่ว กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุนี้ เป็นพุทธศิลป์ที่อาจเป็นต้นแบบของ พระผงสุพรรณพิมพ์หน้าแก่ ที่สร้างบรรจุไว้ภายในกรุเดียวกัน นอกจากนั้นพระเครื่องที่อยู่ในสมัยเดียวกันยังเห็นได้ชัดจาก พระท่ากระดาน เนื้อชินตะกั่ว กรุศรีสวัสดิ์และกรุหลักเมืองกาญจน์ ยังรวมถึงพระพิมพ์เนื้อดินเผาที่เรียกว่า”ขุนแผนไข่ผ่าซีก” กรุวัดพระรูป สุพรรณบุรี เป็นต้น 


ศึกษาเพื่อการอนุรักษ์วัตถุโบราณ
........จันทร์พลูหลวง............

*********




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น