โพสต์แนะนำ

วันอาทิตย์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2562

มเหนทรบรรพต-ชัยวรมันที่ ๒-เมืองโบราณอู่ทอง


มเหนทรบรรพต-ชัยวรมันที่ ๒-เมืองโบราณอู่ทอง


Aerial view of Mahendraparvata. (Archaeology Development Foundation)

 มเหนทรบรรพต หนึ่งในสี่เมืองของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๒ บนรอยต่อทางวัฒนธรรม สู่เมืองโบราณอู่ทอง

เมื่อวันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๖๒ ที่ผ่านมา CNN รายงานความคืบหน้าถึงการสำรวจเมืองโบราณ ”มเหนทรบรรพต”ที่ดำเนินการมาตั้งแต่พ.ศ.๒๕๕๕-๒๕๕๘ โดยใช้เทคโนโลยีไลดาร์และการสแกนพื้นที่ด้วยเลเซอร์ทางอากาศ จึงทำให้เห็นภาพชัดของเมืองโบราณแห่งนี้ปรากฏเป็นเส้นทางหลักไปสู่มเหนทรบรรพต รวมถึงรายละเอียดสำคัญในการสร้างเมืองภายในเส้นตรงทั้งสี่ทิศกับระบบเส้นทางเป็นตาราง ในรายงานระบุว่าเป็นการจัดผังเมืองแบบตารางหมากรุก(city grid system)ที่ใหญ่ที่สุดและเป็นแห่งแรกของเขมร รวมทั้งภายในยังระบุถึงสภาพการเป็นกำแพงล้อมวัด ปราสาท เขื่อน และอ่างเก็บน้ำที่ยังสร้างไม่เสร็จ นับเป็นความก้าวหน้าอีกขั้นตอนหนึ่ง หลังจากก่อนหน้านี้ไม่มีใครกล้าเข้าไปสำรวจเพราะกลัวระเบิดที่ฝ่ายเขมรแดงฝังไว้ทั่วบริเวณ

อันที่จริงเมืองโบราณ “มเหนทรบรรพต” แม้จะไม่เคยมีการสำรวจอย่างจริงจังมาก่อน แต่นักประวัติศาสตร์ในอดีตได้ทำการศึกษาจากจารึกจนทราบว่าเมืองนี้มีอยู่จริง และมีความสำคัญต่อสมัยเริ่มต้นของจักรวรรดิเขมร ในรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๒(พ.ศ.๑๓๔๕-๑๓๙๓)ภายหลังการล่มสลายของอาณาจักรเจนละในรัชสมัยพระเจ้ามหิปติวรมันในปีพุทธศักราช ๑๓๔๕

พระเจ้ามหิปติวรมัน น่าจะขึ้นครองราชย์ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ภายหลังถูกกองทัพศรีวิชัยจากคาบสมุทรยกมาโจมตี มีเรื่องเล่าว่าพระองค์ถูกนำตัวไปประหาร จากบันทึกของ อบู ซาอิด ฮะซัน เล่าถึงเรื่องเล่าของพ่อค้าอาหรับชื่อสุไลมาน รับรู้จากการเดินทางมาค้าขายในพ.ศ.๑๓๙๔ ว่า กษัตริย์เขมรผู้ยังทรงพระเยาว์รับสั่งอยากเห็นพระเศียรของราชาแห่งศรีวิชัย(ซาบัค)ใส่จานมา เมื่อเรื่องนี้ล่วงรู้ไปถึงราชาแห่งซาบัค พระองค์จึงยกทัพเข้าโจมตีเขมรแล้วตัดเศียรยุวกษัตริย์ใส่โหลดองให้ราชสำนักเขมรดูเป็นเยี่ยงอย่าง

แม้จะเป็นเรื่องเล่าแต่นักประวัติศาสตร์ในอดีตได้วิเคราะห์เหตุการณ์และต่างยอมรับว่าน่าเชื่อถือ ด้วยครั้งนั้นมีการนำเจ้าชายเขมรไปยังราชสำนักไศเรนทร์ และเป็นที่เชื่อกันว่าในคราวนั้น เจ้าชายชัยวรมัน เป็นผู้ถูกนำไปเป็นตัวประกันภายหลังจากพระองค์ได้รับการเสนอให้เป็นกษัตริย์ทรงพระนามพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 จารึกระบุว่าพระองค์คือเหลนของพระเจ้านฤบดินทรวรมันแห่งอนินทิตะปุระ ราชาผู้สืบเชื้อสายมาจากฟูนัน

เมื่อพระองค์ถูกส่งตัวกลับมา จึงประกอบพระราชพิธีประกาศอิสรภาพเขมร ไม่ขึ้นตรงต่อราชสำนักไศเรนทร์ จารึกสด็อกก๊อกธมที่หลุยส์ ฟิโนต์ แปลไว้ระบุว่า พระองค์สร้างเมืองหลวงแห่งแรกชื่อ อินทรปุระ ทางตะวันออกของกัมปงจามริมแม่น้ำโขงตอนล่าง มีพราหมณ์ผู้ใกล้ชิดชื่อ ศิวไกวัลย์เป็นผู้เอื้อประโยชน์ให้เกิดลัทธิ เทวราชาเพื่อให้พระองค์กลายเป็นกษัตริย์พระผู้เป็นเจ้า พระองค์สร้างศิวลึงค์ หรือราชลึงค์ มีวิหารครอบบนยอดเขา เรียกว่าภูเขาวิหารจนกลายมาเป็นต้นแบบของราชาในไศวนิกายที่ต้องมีภูเขาสูงประดิษฐานศิวลึงค์ประจำองค์ราชาเพื่อให้พราหมณ์ประกอบพิธีกรรม

พระองค์สร้างเมืองหลวงแห่งที่ ๒ คือเมืองหริหราลัย อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองเสียมราฐ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นการป้องกันภัยจากการรุกรานของอาณาจักรทางใต้ เมืองหลวงแห่งที่ ๓ ชื่อ อมเรนทรปุระในประวัติศาสตร์ยังไม่ชัดเจนว่าตั้งอยู่ตรงจุดใด และสร้างเมืองที่ ๔ คือ มเหนทรบรรพต มีความหมายว่าเป็นภูเขาของพระอินทร์ผู้เป็นใหญ่ บนยอดเขาพนมกุเลน โบราณสถานที่มีรายงานผลความคืบหน้าจากการสำรวจ ซึ่งส่วนหนึ่งระบุว่าบางส่วนของเมืองยังสร้างไม่เสร็จ

จารึกระบุถึงบั้นปลายพระชนม์ชีพของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๒ พระองค์ย้ายไปประทับที่เมืองหริหราลัยแถบกัมพูชาทางเหนือและสิ้นพระชนม์ในพ.ศ.๑๓๙๓ มีการตั้งข้อสังเกตจากนักประวัติศาสตร์ว่า เมืองหริหราลัยนี้ เป็นเมืองที่อยู่ใกล้แหล่งหินทรายแถบพนมกุเลน และยังอยู่ใกล้ช่องเขาที่เป็นเส้นทางไปสู่ที่ราบสูงโคราช และลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นเส้นทางไปสู่เมืองต่าง ๆของทวารวดี

Jean Boisslier ขณะทำการสำรวจเจดีย์เมืองโบราณอู่ทอง
ภาพจาก:หนังสืออู่ทองและเรื่องราวสุวรรณภูมิ 

ช่วงระหว่างปีพ.ศ.๒๕๐๗-๒๕๐๙ ช็อง บวซเซริเยร์ (Jean Boisslier) นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศสได้เข้ามาทำการสำรวจเมืองโบราณอู่ทอง ได้พบประติมากรรมปูนปั้นและศิลปกรรมอื่น ๆ ที่เจดีย์หมายเลข ๑๕ และ ๒๘ มีอิทธิพลเขมรแบบกุเลนและพะโคในปลายพศว.ที่ ๑๔ และต้นพศว.ที่ ๑๕ ซึ่งฉีกตัวออกจากศิลปะทวาราวดีที่มีอยู่เดิมอย่างชัดเจน รวมถึงความเกี่ยวข้องกับอาณาจักรศรีวิชัยที่ปรากฏอยู่ในรูปแบบอาคารจำลองและพระพิมพ์ดินดิบจารึกอักษรเทวนาครี อันเป็นรูปแบบการสร้างพระพิมพ์ของศรีวิชัยด้วย

เรื่องราวของกษัตริย์ผู้บุกเบิกจักรวรรดิเขมร จะเกี่ยวพันกับเมืองโบราณอู่ทองมากน้อยเพียงใดยังไม่มีหลักฐานมากนัก แต่อิทธิพลทางศิลปกรรมเขมรที่นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศสสำรวจนี้ มีอายุอยู่ในรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๒ ต่อเนื่องถึงพระเจ้าชัยวรมันที่ ๓ พระราชโอรสของพระองค์.


*****
    

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น