โพสต์แนะนำ

วันจันทร์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2562

กษัตริย์ในจารึกแผ่นทองแดง


พระราชฐานะ
ของกษัตริย์ในจารึกแผ่นทองแดง
วิญญู บุญยงค์

จารึกแผ่นทองแดง
ภาพจาก:db.sac.or.th

         ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ ๑๐ ถือเป็นยุครุ่งเรืองของกัมพูชามีกษัตริย์ปกครอง ๖ พระองค์ ในจำนวนนี้ มีพระเจ้าชัยวรมันที่ ๔ (พ.ศ.๑๔๗๑-๑๔๘๕)ครองราชย์โดยเข้ายึดกรุงยโสธร และแย่งชิงราชสมบัติจากพระเจ้าอีศานวรมันที่ 2 (พ.ศ.๑๔๖๕-๑๔๗๑) หลังจากนั้นทรงย้ายเมืองหลวงไปตั้งใหม่ที่เกาะแกร์ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ หลังสิ้นรัชกาลพระราชโอรสของพระองค์ขึ้นครองราชย์ต่อทรงพระนาม "พระเจ้าหรรษาวรมันที่ ๒"

         พระเจ้าหรรษาวรมันที่ ๒ พระองค์นี้เอง ที่อาจเป็น “พระเจ้าศรีหรรษาวรม” ที่ปรากฏพระนามอยู่ใน “จารึกแผ่นทองแดง”ของเมืองอู่ทอง

         การพบจารึกแผ่นทองแดงภาษาสันสกฤตอักษรปัลลวะที่นางแถม เสือดำ ขุดได้บริเวณเมืองอู่ทองเก่าเมื่อปีพ.ศ.๒๕๐๐ มีการแปลความออกมาว่า

         พระเจ้าศรีหรรษาวรม เป็นพระราชนัดดาของพระเจ้าศรีอีศานวรม ได้ส่งสีวิกา อันประดับด้วยรัตนะเป็นต้น พร้อมด้วยฟ้อนรำและดนตรีเป็นอาทิ เป็นทักษิณาถวายแด่พระศรีมัตอัมราตเกศวร และภายหลังท้าวเธอได้ถวายของควรแก่การอุปกรณ์อันประเสริฐ และหมู่คนมีความสามารถในฟ้อนรำและขับร้อง เป็นต้น แด่พระศิวลึงค์ ซึ่งแทนองค์ศรีธาเรศวร

         ศ.ยอร์ช เซเดส์ เสนอว่า “พระเจ้าศรีอีศานวรม” เป็นพระนามของกษัตริย์ขอม ที่ครองราชย์อยู่ระหว่างพ.ศ.๑๑๕๔-๑๑๗๘ หากเป็นเช่นนั้นกษัตริย์ขอมพระองค์นี้ก็คือ “พระเจ้าอีศานวรมันที่ ๑” ซึ่งพระองค์เป็นพระราชโอรสของพระเจ้ามเหนทรวรมัน(เจ้าชายจิตรเสน)

ยอร์ช เซเดส์ 
ภาพจาก:วิกิพีเดีย
         พระเจ้าอีศานวรมันที่ ๑ ได้ชื่อว่าเป็น ผู้รบชนะฟูนันทั้งหมดหลังจากโจมตีอนินทิตะปุระเมืองของเจ้าชายพลทิตย์ที่สืบเชื้อสายมาจากฟูนันแล้ว ทรงสร้างเมืองหลวงอยู่ริมแม่น้ำสตึงเสนในนามอีศานปุระก่อนจะขยายดินแดนมาทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือครอบคลุมพื้นที่ ๓ รัฐคือ จักรันตะปุระ อโมฆปุระ และพิมายปุระ ทางใต้ขยายไปถึงจันทบุรี จนจรดพรมแดนอาณาจักรมอญทวารวดีลุ่มเจ้าพระยา ซึ่งการขยายอาณาเขตมาเพียงจรดพรมแดนของทวารวดีโดยไม่รุกล้ำเข้ามาอาจมีนัยสำคัญที่ยังไม่มีคำตอบ แต่อาจกล่าวได้ว่าอาณาจักรเจนละหรือในสมัยนี้เรียกว่าอีศานปุระเป็นพันธมิตรกับทวารวดีลุ่มเจ้าพระยา

         จากการตรวจสอบข้อมูลในงานของ ศ.ดี.จี.อี.ฮอล นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษที่เข้ามาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ ระบุว่า ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๐ พระเจ้าชัยวรมันที่ ๔ ครองราชย์โดยแย่งชิงราชสมบัติ เข้ายึดกรุงยโศธร แต่ต่อมาไปสร้างเมืองใหม่ที่เกาะแกร์ ทางตะวันออกเฉียงเหนือ ต่อมาพระเจ้าหรรษาวรมันที่ ๒ ครองราชย์ แล้วถูกพระเจ้าราเชนทรวรมันที่ (พ.ศ.๑๔๘๗-๑๕๑๑)ถอดออกจากบัลลังก์

D.G.E.Hall
ภาพจาก : วิกิพีเดีย
         หากเป็นเช่นนั้นก็หมายความว่า พระเจ้าหรรษาวรมันที่ 2 ครองราชย์ที่เมืองเกาะแกร์ ระหว่างพ.ศ.๑๔๘๕-๑๔๘๗ อาจเป็นเพียง ๑ ปี หรือกว่า ๒ ปี แล้วถูกโค่นอำนาจ สอดคล้องกับการพบจารึกแผ่นทองแดงบริเวณเมืองเก่าอู่ทอง ที่มีการอ่านและตีความเป็นอักษรหลังปัลลวะ ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕

         ส่วนในจารึกที่ระบุถึงการนำขบวนเสลี่ยง นักดนตรี และนางรำ ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ให้รายละเอียดและความหมายสอดคล้องกันว่า ลักษณะเช่นนี้ในสมัยโบราณ เป็นการแสดงถึงเจ้าผู้ครองนครหนึ่งแสดงความอ่อนน้อมไปยังอีกเจ้าผู้ครองนครหนึ่ง ในอดีตก็มีการดำเนินการเช่นนี้ในการส่งไปราชสำนักจีน ดังเอกสารทางประวัติศาสตร์จีนสมัยสามก๊กระบุว่า ในปีพ.ศ.๗๖๘ พระเจ้าฟันจัน(ฟูนัน) ส่งทูตไปยังจีนโดยมีนักดนตรีเป็นส่วนหนึ่งในบรรณาการไปด้วยและ ปีพ.ศ.๑๓๔๓ อิเหมาชุน(I-Mou-hsun) รัชทายาทของโก๊ะล่อฝงกษัตริย์น่านเจ้าที่ครอบครองปยู(Pyu) “ส่งนักดนตรีชาวปยูไปเป็นกำนัลยังราชสำนักจีนสมัยราชวงศ์ถัง และ พ.ศ.๑๓๔๔-๑๓๔๕ กษัตริย์ของปยูส่งคณะทูตพร้อมด้วยนักดนตรี ๓๕ คนไปยังราชสำนักจีนเป็นต้น.   
                    
*************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น