โพสต์แนะนำ

วันศุกร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2561

พระสมเด็จฯ๓๖


พระสมเด็จฯบางขุนพรหม
พิมพ์ปรกโพธิ์ วัดใหม่อมตรส


             คุณสมบัติประการหนึ่งของพระสมเด็จฯกรุพระเจดีย์ วัดบางขุนพรหมใน คือเนื้อแห้งและแกร่ง เนื้อหลักเป็นปูนเปลือกหอยกาบ เผาแล้วนำมาทุบโขลกจนเป็นผง เมื่อผ่านกระบวนการหมักแล้วนำมานวด คลุกเคล้าด้วยน้ำมันตั่งอิ้ว เนื้อจึงประสานเป็นหนึ่งเดียว ก่อนจะนำไปกดในแม่พิมพ์ แล้วตากจนแห้งก่อนจัดเตรียมเพื่อเข้าสู่พิธีพุทธาภิเษกที่มีเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต พฺรหฺมรํสี)เป็นองค์ประธาน


              พระสมเด็จฯบางขุนพรหม พิมพ์ปรกโพธิ์ จัดเป็นแบบพิมพ์หนึ่งที่ได้รับการรังสรรค์ออกมาเป็นลักษณะเฉพาะแบบลงตัว ตั้งแต่กรอบเส้นบังคับพิมพ์แบบสี่เหลี่ยมผืนผ้าตั้งขึ้น ถัดมาเป็นเส้นซุ้มครอบแก้วมีขนาดเรียวเล็กสม่ำเสมอ การตีวงโค้งด้านบนด้านขวาจะกินพื้นที่เข้าไปมากกว่า พื้นที่ภายในซุ้มต่ำกว่าด้านนอก

              ภายในกรอบซุ้มครอบแก้ว ด้านบนเป็นใบโพธิ์สองฝั่งคั่นกลางด้านพระเกศปลายแหลม ด้านละ ๗ ใบ พระพักตร์ของพระพิมพ์นี้มีการออกแบบให้ปรากฏพระเนตร พระนาสิก และพระโอฐ พระกรรณทั้งสองข้างด้านบนผาย ด้านล่างทิ้งตรงลงมาจรดพระอังสาทั้งสองด้าน พระศอกลืนหายไปกับผนัง พระอังสาซ้ายแคบกว่าด้านขวา ลำพระองค์นูนต่ำ ประทับนั่งแบบสมาธิปลายพระบาทซ้ายคลายออกไปจรดเส้นแซมของฐานชั้นที่ ๓ เส้นแซมนี้ยังมีปรากฏในฐานชั้นที่ ๒ ส่วนชั้นที่ ๑ เป็นแผ่นกระดานมีร่องกลางยาวขนาน ด้านหลังปาดเรียบ


              พระสมเด็จฯบางขุนพรหม องค์นี้จัดเป็นพระองค์หนึ่งที่มีองค์ประกอบของเส้นสายแบบบอบบาง เมื่อพิจารณาควบคู่ไปกับผิวที่มีวรรณะขาวออกเหลืองแห้ง แต่มีความนุ่มนวลอยู่ในตัว ประกอบกับคราบกรุสีน้ำตาลอ่อน-แก่ ในบางตำแหน่งทั้งด้านหน้าและด้านหลัง เพิ่มความเข้มขลังที่มีกาลเวลากว่า ๑๐๐ ปีเป็นสิ่งยืนยัน จึงจัดเป็นพระสมเด็จฯบางขุนพรหมที่มีความสวยงามทั้งเนื้อหาและพิมพ์ทรงอย่างลงตัวครับ.

ศึกษาเพื่อการอนุรักษ์วัตถุโบราณ
........จันทร์พลูหลวง............

*********

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น