โพสต์แนะนำ

วันเสาร์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2561

ของเก่าเล่าอดีต ๑



เกษรสุพรรณ ของ”คฤหบดีเสือ”(1)
                                                                                             ...จันทร์พลูหลวง...
“พระเกษรสุพรรณ” เป็นชื่อเรียกพระเครื่ององค์ขนาดเล็กที่พบภายในปรางค์ประธานวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดสุพรรณบุรี ตามจารึกลานทองระบุมาแต่เดิมว่า“พระเกษร”จนปัจจุบันนิยมเอ่ยขานกันในชื่อ”พระผงสุพรรณ”  


พระผงสุพรรณ พิมพ์หน้าแก่ เนื้อสีแดง
พระผงสุพรรณ พิมพ์หน้าแก่ เนื้อสีเขียว
















สุพรรณภูมิ พุทธศักราช ๑๘๘๖

พระผงสุพรรณ  สร้างจากพระราชบัญชาของพระยาศรีธรรมโศกราช โดยการนำของฤาษีพิมพิลาไลย์และคณะ แล้วประทับนำฤกษ์ด้วยลายนิ้วมือพระมหาเถระปิยะทัศสะศรีสาริบุตร แล้วปลุกเสกหนึ่งไตรมาส ก่อนจะอัญเชิญมายังเมืองสุพรรณภูมิ ดังข้อความจารึกลานทองที่พบในปรางค์ใหญ่ระบุว่า

 “ศุภมัสดุ 1265 สิทธิการิยะแสดงบอกให้รู้ มีฤาษีทั้งสี่ตน พระฤาษีพิมพิลาไลย์เป็นประทาน เราจะทำด้วยฤทธิ์ทำด้วยเครื่องประดิษฐ์มีสุวรรณเปนต้น คือบรมกษัตริย์พระยาศรีธรรมโศกราชเป็นผู้ศรัทธา พระฤาษีทั้งสี่ตน จึงพร้อมกันนำเอาแต่ว่านทั้งหลาย พระฤาษีจึงอัญเชิญเทพยดามาช่วยกันทำพิธี ทำเป็นพระพิมพ์ไว้ สถาน ๑ แดง สถาน ๑ ดำ ให้เอาว่านทำเปนผงก้อนพิมพ์ด้วยลายมือของมหาเถระปิยะทัศสะศรีสาริบุตร คือเปนใหญ่เปนประทานในที่นั้น...เสกด้วยมนต์คาถาครบ ๓ เดือนแล้ว ท่านเอาไปประดิษฐ์สถานไว้ในสถูปใหญ่แห่งหนึ่งที่เมืองพันทูม ถ้าผู้ใดได้พบเห็นให้รีบเอาไปไว้สักการะบูชาเปนของวิเศษ...”(2)   
      
ราชสำนักจีนหนุนหลัง

พิเคราะห์จารึกนี้ได้ว่า ศุภมัสดุ 1265 เท่ากับพุทธศักราช 1886 อันตรงกับรัชกาลแผ่นดินขุนหลวงพ่องั่ว ซึ่งอยู่ในวัย 33 ชันษา เป็นพระเจ้าแผ่นดินสืบต่อจากพระราชบิดาที่ยิ่งใหญ่สืบทอดต่อกันมาในแผ่นดินสุพรรณภูมิ โดยมีราชสำนักจีนให้การสนับสนุนและเรียกนามแผ่นดินนี้ว่า”เสี้ยมก๊ก”อย่างต่อเนื่อง ดังหลักฐานจากหนังสือคิมเตี้ยซกทง ที่ขุนเจนจีนอักษร(สุดใจ)แปลถวายรัชกาลที่ ๕(3)ระบุใจความถึงความสัมพันธ์ระหว่างเสี้ยมก๊ก(สุวรรณภูมิ-สุพรรณภูมิ)กับราชสำนักจีน ที่มีมาก่อนรัชสมัยขุนหลวงพ่องั่ว อาทิ

“ในปี จุลศักราช 644 (พ.ศ.1825)พระเจ้าหงวนสี่โจ๊วฮ่องเต้ (แผ่นดินมองโกลเป็นใหญ่)รับสั่งให้ขุนนางก๊วนกุนโหว ชื่อหอจือจี่ เปนราชทูตไปเกลี้ยกล่อมเสี้ยมก๊ก” และ

“แผ่นดินจี่หงวนปีที่ ๓๐ กุ่ยจี๋สี่หง้วย จุลศักราช 655 (พ.ศ.1836) พระเจ้าหงวนสี่โจ๊วฮ่องเต้ รับสั่งให้ราชทูตไปทำพระราชไมตรีด้วยพระเจ้าเสี้ยมก๊ก”

และเพื่อเป็นการประกันความมั่นใจในความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ฝ่ายราชสำนักจีนซึ่งถือว่ามีอำนาจสูงกว่า ได้พยายามที่จะไม่ให้สุพรรณภูมิเปลี่ยนใจไปเข้ากับฝ่ายอื่น ดังบันทึกระบุว่า “แผ่นดินจี่หงวนปีที่ ๓๑ กะโหงวชิดหง้วย จุลศักราช 656(พ.ศ.1837) ในปีนี้พระเจ้าหงวนสี่โจ๊วฮ่องเต้สวรรคต พระเจ้าหงวนเสงจงฮ่องเต้ขึ้นเสวยราชสมบัติ แต่ยังไม่ได้เปลี่ยนนามแผ่นดิน เสี้ยมก๊กอ๋องกังมกติ๋ง (กังมกติ๋ง ยังหาคำแปลไม่ได้)มาเฝ้า พระเจ้าหงวนเสงจงฮ่องเต้รับสั่งกับเสี้ยมก๊กอ๋องกังมกติ๋งว่า แม้ท่านคิดว่าเปนไมตรีกันแล้วก็ควรให้ลูกชายหรือขุนนางมาเปนจำนำไว้บ้าง”

จึงเป็นที่เข้าใจได้ว่าประเพณีนำโอรสหรือเชื้อพระวงศ์หรือขุนนางสำคัญไปประจำไว้ราชสำนักจีน คงมีมาอย่างต่อเนื่อง  ส่วนหนึ่งจีนมองว่าเพื่อเป็นประกันความแปรพักตร์ ขณะที่เสี้ยมก๊กก็อาจมองเป็นการแทรกตัวเข้าไปเพื่อใกล้ชิดมหาอำนาจเสมือนหนึ่งเป็นแนวคุ้มกันและผลประโยชน์อื่นไปในที รวมถึงโอกาสในการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างหมู่เจ้าชายหรือเชื้อพระวงศ์ของอาณาจักรอื่น ๆที่เข้าไปพำนักในราชสำนักจีนเวลานั้น  กระนั้นสัมพันธภาพระหว่างราชสำนักจีนกับสุพรรณภูมิก็เป็นไปอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย

แม้บางช่วงเวลาสุพรรณภูมิจะเข้ารุกพื้นที่ดินแดนอื่นเพื่อขยายอิทธิพลออกไป แต่ทับซ้อนพื้นที่ผลประโยชน์ของราชสำนักจีนที่เข้าลงทุนไว้ก่อนหน้านี้ ราชสำนักจีนก็เลือกที่จะเกลี้ยกล่อมให้หยุดสงครามแทนที่จะใช้กำลังกับสุพรรณภูมิ  ดังจะเห็นได้จากครั้งที่พระราชบิดาขุนหลวงพ่องั่วยกทัพลงไปตีหัวเมืองมลายูอันเป็นพื้นที่สำคัญด้านการค้าทางทะเลและแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ จนทางราชสำนักจีน สมัยพระเจ้าหงวนเสง จงฮ่องเต้(สมัยมองโกล-ราชวงศ์หงวน)ต้องมีพระราชสาส์นมาเกลี่ยกล่อมให้หยุดรบ ดังในบันทึกหนังสือคิมเตี้ยซกทง ระบุว่า “ปีมะแมจุลศักราช 657 (พ.ศ.1838) เสี้ยมก๊ก(สุวรรณภูมิ-สุพรรณภูมิ)ให้ราชทูตนำราชสาสนอักษรเขียนด้วยน้ำทองมาถวาย ด้วยเสี้ยมก๊กกับม่าลี้อี้เอ้อก๊ก(มลายู)ทำสงครามโดยสาเหตุความอาฆาฏกัน เฉียวเถง(รัฐบาล)แต่งให้ราชทูตนำหนังสือตอบราชสาสนไปถึงเสี้ยมก๊กว่ากล่าวประนีประนอมให้เลิกสงครามกันเสียทั้งสองฝ่าย”(4)

จากนั้นในปีพ.ศ.1843 พระเจ้าแผ่นดินสุพรรณภูมิ ได้ไปเจริญความสัมพันธ์กับราชสำนักจีน ดังข้อความ “แผ่นดินไต๋เต็ก(นามแผ่นดินของพระเจ้าหงวนเสงจงฮ่องเต้) ตรงกับเดือนแปดปีชวด จุลศักราช 662 เสี้ยมก๊กอ๋องมาเฝ้า”(5)

การที่มีราชสำนักจีนเป็นกองหนุนเบื้องหลังมีผลต่อแสนยานุภาพทางการทหารของสุพรรณภูมิเช่นกัน  เพราะหลายครั้งมีการนำกองทัพม้าศึกและอาวุธยุทโธปกรณ์เข้ามาในสุพรรณภูมิเพื่อเสริมสร้างกำลัง  อาจเป็นด้วยเหตุนี้กระมังที่สุพรรณภูมิในรัชสมัยพระราชบิดา ลุถึงสมัยขุนหลวงพ่องั่ว จึงเป็นปึกแผ่นมั่นคงและประเทศอาณาเขตใกล้เคียงต่างยอมรับในบทบาทนี้

พระราชบิดาสร้าง ขุนหลวงพ่องั่วซ่อม

ความเป็นปึกแผ่นมั่นคงของสุพรรณภูมิ เห็นได้จากจารึก โบราณวัตถุ และโบราณสถาน โดยเฉพาะปรางค์ใหญ่วัดพระศรีรันตมหาธาตุ  ยืนยันถึงการสร้างมาเก่าก่อน แต่มามีการบูรณะในสมัยขุนหลวงพ่องั่ว ดังหลักฐานจารึกลานทองที่พบบนยอดนพศูล(6)ระบุว่า

“ความสำเร็จจงมี 
พระราชาผู้ยิ่งใหญ่กว่าพระราชาทั้งหลายในอโยธา ทรงพระนามว่าจักรพรรดิโปรดให้สร้างสถูปองค์นี้ขึ้นไว้ และทรงบรรจุพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้าไว้ภายใน แต่พระสถูปของพระองค์ชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา พระโอรสของพระองค์ผู้เป็นพระราชาเหนือพระราชาทั้งหลายในพื้นแผ่นดินทั้งมวลและเป็นราชาธิราชผู้ประเสริฐ โปรดให้ปฏิสังขรณ์ให้กลับคืนดีและทรงบรรจุพระวรธาตุของพระพุทธเจ้าไว้ในพระสถูปนั้น พระองค์ทรงเลื่อมใสในพระสถูป จึงทรงบูชาด้วยเครื่องบูชามีทองเป็นต้น แล้วตั้งความปรารถนาว่า ด้วยบุพกรรมแห่งข้านั้น ขอให้ข้าพึงเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาลเทอญ”(7)


                                                          ปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ และแผ่นจารึกลานทอง                                                           
: ภาพจากหนังสือโบราณคดีและประวัติศาสตร์เมืองสุพรรณบุรี สำนักศิลปากร ๒ สุพรรณบุรี

จึงแสดงให้เห็นว่าสถูปองค์เดิมก่อนที่จะมีการบูรณะสร้างขึ้นมาในสมัยพระราชบิดาขุนหลวงพ่องั่ว เมื่อขุนหลวงพ่องั่วขึ้นครองแผ่นดินสืบต่อมาจึงบูรณะขึ้นอีกครั้ง  มหาปรางค์ใหญ่ขนาดนี้ไม่มีทางที่กษัตริย์ระดับหัวเมืองประเทศราชจะทำได้ ต้องเป็นพระมหากษัตริย์ที่เกรียงไกรเป็นที่ยำเกรงเหนือพระราชาทั้งหลายในยามนั้นและต้องอยู่ในภาวะปลอดสงครามจึงจะกระทำการได้ลุล่วง  เมื่องานบูรณะเสร็จสิ้นจึงมีพระราชพิธีบวงสรวงอย่างยิ่งใหญ่ขึ้นดังที่ระบุถึงช่วงเวลาไว้ว่า “ศุภมัสดุ 1265”อันเป็นการนับตามปีมหาศักราชที่เทียบเคียงได้เป็นพ.ศ.1886  พระราชพิธีที่ยิ่งใหญ่นี้มีนัยยะอยู่ด้วยการหลายประการ อาทิ เป็นการแสดงให้ราชสำนักจีนเห็นถึงความเป็นปึกแผ่นมั่นคงเหนือดินแดนสุพรรณภูมิ ,เป็นการแสดงให้เห็นถึงการยอมรับของเมืองทางตอนบนเช่นสุโขทัย ลพบุรี เมืองตอนล่างเช่นนครศรีธรรมราช และหัวเมืองน้อยใหญ่ที่อยู่รายรอบ 

แม้ว่าจารึกลานทองจำนวนมากหายไปและถูกนำไปหลอมได้เนื้อทองคำหนักหลายสิบบาท(8)ในระหว่างกรุแตก แต่ประจักษ์พยานที่เป็นพระพุทธรูปศิลปะชัดเจน ทั้งสุโขทัย ลพบุรี และศรีวิชัย ก็บ่งบอกได้ว่ามีการอัญเชิญมาจากเจ้าหรือผู้แทนพระองค์ของเจ้าเมืองนั้น ๆ ซึ่ง ณ เวลานั้นอาจเป็นพันธมิตรกัน หรืออาจเป็นหัวเมืองประเทศราชของสุพรรณภูมิ เพราะไม่มีเหตุผลที่กษัตริย์สุพรรณภูมิจะนำพระพุทธรูปที่ไม่ใช่ศิลปะของสุพรรณภูมิ(อู่ทอง)มาบรรจุไว้ในองค์ปรางค์ซึ่งเป็นสัญลักษณ์สำคัญสูงสุดของเมือง  ประการสุดท้ายอาจเป็นการเฉลิมฉลองเมืองในวโรกาสที่ขุนหลวงพ่องั่วก้าวขึ้นเสวยราชย์เป็นกษัตริย์ต่อจากพระราชบิดา ขณะชนมายุได้ 33 พรรษา(9)

ศาสนาประสานการเมือง

นอกจากนั้น ข้อสังเกตจากจารึก การสร้างพระเครื่องมาบรรจุไว้ในปรางค์ใหญ่นี้ ยังได้ทำให้คนรุ่นปัจจุบันรู้ว่า เป็นการจารึกลานทองมาจากเมืองต้นทางแล้วอัญเชิญมาพร้อมกับพระว่าน พระเกษร และพระสังฆวานร และยังสันนิษฐานได้ว่า ขณะนั้น พระมหาเถระปิยะทัศสะศรีสาริบุตร ดำรงฐานะเป็นประมุขสงฆ์ที่ไม่เฉพาะเมืองใดเมืองหนึ่งแต่ครอบคลุมโดยรวม เนื่องจากทุกรัฐแคว้นล้วนนับถือศาสนาเดียวกัน พระมหาเถระปิยะทัศสะศรีสาริบุตร จึงน่าจะมีส่วนสำคัญในการสร้างความสมานฉันท์หรือความเป็นปึกแผ่นเดียวกันโดยมีสุพรรณภูมิกุมอำนาจสูงสุด การนำพระพุทธรูปและสิ่งสักการะของเมืองต่าง ๆเข้ามายังสุพรรณภูมิ จึงแสดงถึงความยอมรับ ความอ่อนน้อม ต่อผู้มีอำนาจสูงกว่า นั่นคือกษัตริย์สุพรรณภูมิ

“ผงสุพรรณ” จึงมิได้มีความหมายเป็นเพียงพระเครื่องกรุหลักและเป็นหนึ่งในพระเบญจภาคีที่ตรียัมปวายบัญญัติไว้เท่านั้น หากแต่ยังมีความหมายไปถึงห้วงเวลาของอดีตในสมัยอันยิ่งใหญ่ของอาณาจักรสุพรรณภูมิที่หลอมปนไปด้วย อำนาจ การเมือง การครอบครอง และความเป็นศูนย์กลางทางพุทธศาสนาอันมีอิทธิพลอย่างสำคัญยิ่งต่ออาณาจักรแว่นแคว้นต่าง ๆในเวลานั้น.

พระผงสุพรรณ ของคฤหบดีเสือ

พระผงสุพรรณทั้งสององค์ที่นำมาลงไว้นี้ เดิมเป็นของ“คฤหบดีเสือ” ผู้มีฐานะและกว้างขวางแห่งเมืองสุพรรณ เป็นบุคคลผู้มีอายุยืนถึง 6 แผ่นดิน(พ.ศ.2398-2494) และเป็นต้นตระกูล“บุญยงค์”ที่เชื้อสายกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ


ด้านหลังพื้นผิวเป็นลอนคลื่นตามแรงกด
แสดงคราบกรุเหลือง ราดำ ราขาว และรอยร่อน




















พุทธลักษณ์ขององค์พระนิยมเรียกกันว่าพิมพ์หน้าแก่ เนื้อเขียวและเนื้อแดง พระองค์เนื้อเขียวที่เห็นนั้นผิวนอกเป็นแผ่นราดำคราบเหลือง ประปรายด้วยราขาว และละอองปรอทธรรมชาติขึ้นปกคลุมผิวในสีเขียวหม่น  ส่วนพระองค์เนื้อแดงเป็นสีอิฐ ผิวบางส่วนยังมีรารักปกคลุมอยู่ รารักนี้เป็นแผ่นบางที่พร้อมจะหลุดร่อนออกไปได้ไม่ยาก บางส่วนบนพื้นผิวราดำก็จะพบราขาวและละอองปรอทธรรมชาติเกาะกุมอยู่บ้างเช่นกัน  พระผงสุพรรณทั้งสององค์เป็นพระเนื้อละเอียดและดูอ่อนนุ่มในสายตาแต่แข็งแกร่งที่เนื้อใน บางส่วนของผิวที่ถูกสัมผัสจะขึ้นเงามันวาวอย่างชัดเจน แสดงถึงความเก่าของอายุพระ 675 ปี(10)


ด้านหน้า แสดงการกดพิมพ์ลึกและคราบกรุ
ด้านหลังแสดงลายนิ้วมือและพื้นผิวไม่สม่ำเสมอ















จุดเด่นของพระทั้งสององค์นี้อยู่เส้นสายลายเสี้ยนติดละเอียดทั้งองค์พระและพื้นผนังชัดเจนทุกส่วน สันนิษฐานว่าอาจเป็นพระชุดแรก ๆที่ทำการกดลงไปบนแม่พิมพ์ซึ่งเป็นบล็อกไม้  และเนื่องจากเป็นพระที่ได้รับการเก็บไว้ภายในหีบบุเงินลายจีนมาเป็นอย่างดี พระทั้งสององค์จึงยังคงอยู่ในสภาพเดิม ที่เพิ่มเติมคือการหดตัวของเนื้อพระ ทำให้ส่วนที่เป็นองค์พระและฐานร่นรัดตัวเด่นชัด ขณะที่พื้นผิวโดยรอบทั้งด้านหน้าขอบข้างและด้านหลังเกิดเป็นริ้วรอยเหี่ยวย่นทุกอณู 

พระผงสุพรรณทั้งสององค์นี้จึงเป็นสิ่งที่ควรค่าต่อการศึกษาด้านรายละเอียดพิมพ์ทรง คราบกรุ และเนื้อหามวลสารที่ประกอบขึ้นเป็นองค์พระมาแต่โบราณ ปัจจุบันพระชุดนี้ได้รับการเก็บรักษาสืบต่อกันมา จนถึงทายาทรุ่นสามของ ”คฤหบดีเสือ”

อุปเท่ห์การใช้บูชา

จารึกลานทองระบุไว้ว่า  “....แม้จะมีอันตรายประการใดก็ดี ให้อาราธนาผูกไว้ที่คอ อาจคุ้มครองพยันตรายได้ทั้งปวง ถ้าผู้ใดออกรณรงค์สงครามประสิทธิด้วยสารทตราวุธทั้งปวง  เอาพระลงสรงน้ำมันหอมแล้วนั่งบริกรรมพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ  108 จบ พาหุง 13 จบ ใส่ขันสัมฤทธิ์ นั่งอธิษฐานเอาตามความปรารถนาเถิด ให้ทาทั้งหน้าและผม คอ น่าอก ถ้าจะใช้ในทางเมตตาให้มีสง่า เจรจาให้คนทั้งหลายเชื่อฟังยำเกรง ให้เอาพระไว้ในน้ำมันหอมเสกด้วยคาถาเนาว์หอระคุณ 13 จบ พาหุง 13 จบ พระพุทธคุณ 13 จบ ให้เอาดอกไม้ธูปเทียนบูชาทำพิธีในวันเสาร์ น้ำมันหอมเก็บไว้ใช้ได้เสมอ ทาริมฝีปาก หน้าผาก และผม ถ้าผู้ใดพบพระตามที่กล่าวมานี้ พระว่านก็ดี พระเกษรก็ดี  ทำด้วยแร่สังฆวานรก็ดี อย่าประมาทเลย อานุภาพพระทั้ง 3 อย่างนี้ ดุจกำแพงแก้ว กันอันตรายทั้งปวง แล้วให้ว่าคาถา ทเยสันตาจนจบ พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณจนจบ พาหุงไปจนจบ แล้วให้ว่าดังนี้อีก คะเตสิกเก กะระนังมะกา ไชยยังมังคะลัง นะมะพะทะ แล้วให้ว่า กิริมิถิ กุรุมุธุ เกเรเมเถ กะระมะถะ ประสิทธิแล. (11)

*****


อ้างอิง-อธิบาย

(1) “คฤหบดี” เป็นคำเรียกถึงผู้ที่มีฐานะดี,มั่งมีทรัพย์,เศรษฐี มาแต่โบราณ ปัจจุบัน นิยมใช้คำว่า “คหบดี”
(2) ประชุมศิลาจารึก ภาค 3 หลักที่ 48.
(3) หนังสือเรื่องเสี้ยมก๊ก หลอฮกก๊ก เปนพระราชไมตรีกับกรุงจีน ข้าพระพุทธเจ้า ขุนเจนจีนอักษร (สุดใจ) แปลออกจาก   หนังสือคิมเตี้ยซกทงจีเล่ม ๕.
(4) จดหมายเหตุจีนว่าด้วยกรุงสยามแต่โบราณ ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๕.
(5) จดหมายเหตุจีนว่าด้วยกรุงสยามแต่โบราณ ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๕.
(6) แปลโดยนายฉ่ำ ทองคำวรรณ ผู้เชี่ยวชาญอักษรโบราณของกรมศิลป์.
(7) มนัส โอภากุล.พระเมืองสุพรรณฯ,มนัสการพิมพ์:2536,หน้า 104.อ้างอิง หนังสือโบราณคดีจากลายพระหัตถ์ของสมเด็จ,หน้า 323.
(8) มนัส โอภากุล.พระเมืองสุพรรณฯ.มนัสการพิมพ์:2536.หน้า 102.
(9) ขุนหลวงพ่องั่ว เสด็จพระราชสมภพปีพ.ศ.1853 สันนิษฐานครองราชย์เมืองสุพรรณภูมิ พ.ศ.1886 ขณะพระชนมายุ 33 พรรษา จนถึงพ.ศ.1893 สุพรรณภูมิ เป็นเมืองหนึ่งขึ้นตรงต่ออาณาจักรกรุงศรีอยุธยา นาน 20 ปี จนถึงพ.ศ.1913 จึงเสด็จขึ้นครองราชย์กรุงศรีอยุธยา จนสวรรคตในปีพ.ศ.1931 พระองค์จึงเป็นพระมหากษัตริย์ 2 ราชอาณาจักร
(10) พระผงสุพรรณ ได้รับการอัญเชิญบรรจุกรุภายในปรางค์ประธาน วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ในปีพ.ศ.1886 อยู่ภายในกรุเป็นเวลา 570 ปี ก่อนจะถูกคนลักลอบและเปิดกรุอย่างเป็นทางการในพ.ศ.2456 จนถึงปัจจุบัน พ.ศ.2561 เป็นเวลา 105 ปี รวมอายุพระผงสุพรรณ 675 ปี.
(11) ประชุมศิลาจารึก ภาค 3 หลักที่ 48.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น