โพสต์แนะนำ

วันเสาร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2561

สุพรรณภูมิ ๑



เสียน เสียม เสี้ยม คือสุพรรณภูมิ


แต่เดิมนั้นตั้งธงกันว่า เสียน, เสียม เสี้ยม หรือสยาม คือสุโขทัย ความเข้าใจทางประวัติศาสตร์จึงคลาดเคลื่อน ต่อมานักประวัติศาสตร์หลายท่านแสดงความไม่แน่ใจ โดยเฉพาะจากงานวิจัยของสืบแสง พรหมบุญ ให้เหตุผลว่า “ผู้รู้ภาษาจีนแปลเอกสารจีนผิดพลาด เพราะในความจริงแล้ว พ่อขุนรามคำแหงไม่เคยไปเมืองจีนเลย”(1) ด้วยเหตุนี้รายละเอียดที่เป็นสุพรรณภูมิ จึงไปเป็นของสุโขทัยเสียทั้งหมด แม้กระนั้นก็ยังมีผู้คนอีกไม่น้อยที่สนใจในประวัติศาสตร์ชาติไทย ใคร่รู้ว่าอาณาจักรเก่าแก่นี้เป็นที่ใดกันแน่

บันทึก โจวต๋ากวาน ที่เดินทางเข้ามายังเขมรช่วงปีพ.ศ.1838 ตรงกับรัชกาลพ่อขุนรามคำแหง(พ.ศ.1822-1841) ระบุไว้ว่า “อาณาจักรเสียน อยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเขมร”(2) เป็นการยืนยันว่าคือที่ตั้งของ”สุพรรณภูมิ” มิใช่ “สุโขทัย”แน่ และในบันทึกของจีนสมัยราชวงศ์ชิงเรียก “สกก๊อตท้าย”ซึ่งน่าจะให้ความหมายว่า สุโขทัย มิใช่ สุพรรณภูมิ(3)

ต่อมาพบ “บันทึกย่อเผ่าชาวเกาะ” ของหวางต้ายวน ที่เดินทางมาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้บรรยายไว้ตอนหนึ่งซึ่งเป็นกุญแจสำคัญที่ไขไปสู่ความจริงว่า “เมื่อรัชกาลจื้อเจิ้ง ปีฉลู (ตรงกับพ.ศ.1892) เดือน 5 ฤดูร้อน เสียนยอมจำนนต่อหลอหู”(4) ข้อความนี้สอดคล้องกับห้วงเวลาที่ต่อมาในปีรุ่งขึ้นพ.ศ.1893 พระยารามก็สถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี และก้าวขึ้นสู่ปฐมบรมกษัตริย์แห่งอโยธยาศรีรามเทพนคร ทรงพระนามสมเด็จพระรามาธิบดี ซึ่ง”เสียน”ที่หวางต้ายวนเรียกนั้นย่อมไม่ใช่สุโขทัย เพราะสุโขทัยถูกผนวกเข้าเป็นประเทศราชของกรุงศรีอยุธยาในเวลาให้หลังจากนี้อีกนานถึง 29 ปี ในรัชกาลของขุนหลวงพ่องั่ว หรือสมเด็จพระบรมราชาธิราช ซึ่งเป็นเจ้าแผ่นดินเสียนมาแต่เดิม

นอกจากนั้นในบันทึกย่อเผ่าชาวเกาะ ยังอธิบายเพิ่มเติมว่า “....เมื่อใดก็ตามที่มีเหตุการณ์วุ่นวายขึ้นในเมืองอื่น พวกนี้จะลงเรือหลายร้อยลำที่บรรทุกสาคูจนเพียบแปร้ และเข้าโจมตีอย่างกล้าหาญ จนได้ทุกสิ่งที่ต้องการ”   จากความชำนาญของชาวเสียนในการรบพุ่งทางน้ำหรือทางทะเล และย่อมมีเป้าหมายในพื้นที่ที่ห่างไกลออกไปจนถึงขนาดต้องตุนสาคูซึ่งเป็นเสบียงจนเต็มลำเรือ จึงไม่มีเหตุผลว่า”เสียน”จะเป็นสุโขทัย เพราะสุพรรณภูมิ เป็นชายขอบทะเลและลดระดับเป็นลุ่มน้ำโบราณมาแต่ดั้งเดิม รวมถึงการเข้าครอบครองพื้นที่ภาคใต้ไปจรดปลายแหลมมลายู ซึ่งต้องทำสงครามแย่งชิงและปกป้องมาโดยตลอด

แม่น้ำจระเข้สามพันที่ไหลจากใต้ขึ้นสู่เหนือผ่านเมืองโบราณอู่ทอง 
ก่อนจะไปทางขวาเข้าเขตเมืองโบราณสุพรรณภูมิตามข้อสังเกตุในเอกสารสมัยราชวงศ์ชิง


มีบทความที่ ทักษิณ อินทโยธา ศึกษาออกมาระบุว่า “เอกสารสมัยราชวงศ์ชิงก็ว่า เสียนนั้นมีแม่น้ำเกิดจากภูเขาทางใต้ไหลขึ้นเหนือมาออกอ่าวไทย” และได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า “ ซึ่งแม่น้ำลักษณะดังกล่าวก็ไม่มีอยู่ในสุโขทัยหรือละโว้”(5)

เรื่องนี้ตีความไม่ยาก เพราะเสียน ที่โจวต๋ากวาน ระบุว่า “อยู่ตะวันตกเฉียงใต้ของเจินละ”นั้น มีชัยภูมิที่มีสายน้ำมหัศจรรย์ไหลจากใต้ขึ้นมาเหนือ ซึ่งก็คือ “แม่น้ำจรเข้สามพัน” ที่ไหลจากเขตภูเขาเป็นลำน้ำแควน้อยและแม่กลองทางด้านใต้ของสุพรรณภูมิ แล้วแยกตัวเป็นลำน้ำสายรองไหลย้อนขึ้นเหนือไปบรรจบกับลำน้ำท่าว้าบริเวณเมืองโบราณอู่ทองที่เป็นเมืองท่าชายทะเลเมื่อกว่า 2,000 ปีก่อน แล้วไหลขนานพื้นที่ดอนใกล้ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำท่าจีน(ท่าจีน-แม่น้ำสุพรรณ) ใกล้กับตำแหน่งที่ตั้งของเมืองสุพรรณภูมิ ก่อนจะไหลผ่านทุ่งโบราณสองพี่น้องซึ่งเป็นแอ่งกระทะขนาดใหญ่ไปบรรจบกับแม่น้ำท่าจีนผ่านมณฑลนครไชยศรีและออกสู่อ่าวไทย

            "หลักฐานอื่นที่มิใช่ของจีนก็มีเช่นจารึกภาษาจามในเมืองยาตรัง ที่จารึกว่า กษัตริย์ชัยปรเมศวรวรมันที่ ๑แห่งจัมปา ถวายทาสชาวเขมร,จีน,พุกาม และสยาม เป็นข้าวัดแห่งหนึ่งเมื่อ พ.ศ.๑๕๘๓” หรือจารึกนครวัดก็มีการกล่าวถึง “สยาม”เช่นกัน แสดงว่า สยามหรือที่จีนเรียกว่า “เสียน” นั้นมีอยู่ก่อนสุโขทัยหลายร้อยปีทีเดียว และก็ควรต้องอยู่ในภาคกลาง หรือภาคใต้ของไทย เมื่อพิจารณาประกอบคำบรรยายทั้งแม่น้ำ และที่ตั้งในเอกสารจีนซึ่งก็สอดรับกับเอกสารฝรั่งในยุคหลังอย่างจดหมายเหตุลาลูแบร์ที่บอกว่า “สยาม” นั้นแต่ก่อนเรียกว่า “สุพรรณ”(6)

           จึงเป็นข้อสรุปได้แล้วว่า เสียน เสียม เสียมก๊ก และเสี้ยมก๊ก  คือ “สุพรรณภูมิ”.


ความหมายผิด ชีวิตคลาดเคลื่อน
....วิญญู บุญยงค์...........

*************
เอกสารอ้างอิง

1.สืบแสง พรหมบุญ.ความสัมพันธ์ในระบบบรรณาการระหว่างจีนกับไทย.มูลนิธีโครงการตำราฯ.พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2525.                    หน้า 73-80.
2.เฉลิม ยงบุญเกิด.บันทึกว่าด้วยขนบธรรมเนียมประเพณีของเจินละ.พระนคร.ชวนพิศ.๒๕๑๐.
3.จดหมายเหตุจีนว่าด้วยกรุงสยามแต่โบราณ(เรียบเรียงจากจดหมายเหตุจีน 5 เรื่อง).
4.อาคม พัฒิยะ และนิธิ เอียวศรีวงศ์.ศรีรามเทพนคร.รวมบทความเรียงว่าด้วยประวัติศาสตร์อยุธยาตอนต้น.เรือนแก้วการ        พิมพ์.2527.
5-6.ผิน ทุ่งคา.พ่อขุนรามคำแหงไปเมืองจีนเอาเทคโนโลยีทำถ้วยชามกลับมาสุโขทัยจริงหรือ?.สโมสรศิลปวัฒนธรรม.5 ก.ค.60 . อ้าง    ถึง ทักษิณ อินทโยธา. แย้งข้อสรุปของคณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทยที่ว่าเสียนในเอกสารราชวงศ์หยวน                      หมายถึงสุโขทัย.ศิลปวัฒนธรรมปีที่ 9 ฉบับที่ 3 .มกราคม 2531:น.104-111.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น