โพสต์แนะนำ

วันเสาร์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2561

สายน้ำ...สุวรรณภูมิ (๒)


                                                                                               โดย...วิญญู บุญยงค์
**ก่อนเข้าเรื่อง**

“สายน้ำ...สุวรรณภูมิ” เกิดจากการศึกษาค้นคว้าข้อมูลและหลักฐานโบราณ รวบรวมและเรียบเรียงเป็นตอน โดยไม่ยึดกระแสหลักเป็นบรรทัดฐาน หากแต่คำนึงถึงความน่าจะเป็นภายใต้หลักฐานพยานที่บ่งชี้ ซึ่งแน่นอนว่าประวัติศาสตร์เป็นสิ่งยากต่อพิสูจน์ให้ได้ผลเต็มร้อย ดังนั้นข้อมูลจากบทความนี้อาจตรงใจหรือไม่ตรงใจต่อผู้อ่านทั้งหมด ซึ่งไม่สำคัญ แต่ความสำคัญอยู่ที่การนำไปสู่การวิเคราะห์และต่อยอดให้ได้ข้อมูลที่ใกล้เคียงความจริงมากที่สุด..และต้องขออภัยสำหรับตัวหนังสือที่อาจตกหล่นหรือไม่ต่อเนื่องกัน เนื่องจากยังไม่อาจควบคุมการจัดเรียงให้ดูดีกว่านี้.

สุวรรณภูมิ...สมัยแห่งการเฟื่องฟู

          ในช่วงเวลาของพุทธศตวรรษที่๓ เมืองโบราณสุวรรณภูมิมีศูนย์กลางอยู่ที่“สุวรรณปุระ”(โบราณสถานเมืองอู่ทอง) เป็นเมืองที่มีความเจริญจากการเป็นศูนย์กลางทางการค้าทางทะเลมีการหลั่งไหลจากพ่อค้านักเดินทางแถบอินเดียเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย


เมืองโบราณอู่ทอง (ภาพจาก:www.dasta.or.th)
          ว่ากันตามจริงแล้ว อินเดียติดต่อกับโลกภายนอกทั้งแถบตะวันตก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก่อนพุทธกาล โดยทิศตะวันออกและตะวันตกเป็นฝั่งทะเลเป็นแหล่งเผยแพร่อารยธรรมทั้ง ศาสนาพราหมณ์  ศาสนาเชน สินค้าและเครื่อง ประดับทั้งจากวัฒนธรรมเปอร์เชีย และอินเดีย ในช่วงพุทธกาล(ก่อน ค.ศ. 521-486)จักรพรรดิดาริอุสที่1(Darius-I) แห่ง จักรวรรดิเปอร์เซีย สามารถผนวกแคว้นคันธาระเป็นเขตปกครอง ถือเป็นยุคที่เมืองตักศิลาใช้ระบบการเงินตามแบบเปอร์เซีย จนเป็นที่รู้จักกันดีในดินแดนที่ห่างไกลออกไปในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เช่น เมโสโปเตเมีย อิยิปต์ และกรีก เป็นต้น  บันทึกเดินเรือของชาวยุโรประบุว่า  อินเดียมีเมืองท่าที่สำคัญหลายแห่งบางแห่งมีท่าเรือขนาดใหญ่ใช้สำหรับรองรับเรือสำเภาขนาดใหญ่ สินค้าของที่นี่มีทั้งจากอินเดียและจากวัฒนธรรมเปอร์เชีย  กรีก และโรมัน ที่มีร่องรอยของชุมชนโบราณ และการส่งผ่านเข้ามาโดยตรงที่เมืองท่าตักศิลาอยู่ทางตอนใต้ ก่อนจะลำเลียงล่องเรือจากลุ่มน้ำสินธุมาทางเอเชียตะวันออก


แผนที่แสดงที่ตั้งเมืองตักศิลา (ภาพจาก:sameaf.mfa.go.th)

           ราวปีพ.ศ.217 หรือ326 ปีก่อนคริสตกาล หลังจากพิชิตพื้นที่ตอนบนมาโดยตลอด กองทัพฟารัง(Phalanx)อันยิ่งใหญ่ของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชก็ยาตราทัพมาถึงลุ่มน้ำสินธุ ซึ่งเป็นแหล่งอารยธรรมโบราณ(โบราณสถานเมืองฮารัปปา-Harappaและเมืองโมเฮนโจ-ดาโร-Mohenjo-Daro) ใกล้กันเป็นเมืองตักศิลาของแคว้นคันธาระซึ่งมีความสำคัญ ในฐานะเป็นศุนย์กลางการค้าโบราณทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือของชมพูทวีป ที่ทางเหนือเชื่อมกับกัมโพชะและมคธ ทางตะวันตกเชื่อมกับเอเชียตะวันตกและอนุทวีป ใกล้กับเส้นทางแม่น้ำสินธุซึ่งเป็นประตูสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

          แม้พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ได้เข้ายึดพื้นที่ของเปอร์เซียและชมพูทวีปบางส่วนในแถบตะวันตกเฉียงเหนือและทิศเหนือ ก่อนจะถอยทัพกลับจากเหตุผลไม่ชัดเจน แต่อารยธรรมทั้งจากโรมันและเมืองขึ้นที่พระองค์ปราบอย่างราบคาบก็ติดตามมาสู่พื้นที่นี้อย่างมากมาย แคว้นคันธาระจึงกลายเป็นแหล่งผสมผสานทางวัฒนธรรม เกิดความหลากหลายทั้งความเชื่อ แนวคิด คตินิยม องค์ความรู้ และสินค้าหลากประเภทที่ส่งไปขายเป็นรายได้หลักของจักรวรรดิอินเดีย

      นอกจากอินเดียจะเจริญรุดหน้าจากการไหลบ่าทางวัฒนธรรม และจากการเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจทางการเมือง ซึ่งเวลานั้น หลังจากอเล็กซานเดอร์มหาราชยกทัพกลับ จันทรคุปต์เจ้าชายแห่งแคว้นเมาริยะได้ร่วมมือกับจานัคญะพราหมณ์ วางแผนยึดอำนาจราชวงศ์นันทะ ก้าวขึ้นสู่ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์เมาริยะ มีปาฏลีบุตรเป็นนครหลวงในแคว้นมคธ บันทึกโบราณยืนยันตรงกันว่าเวลานั้นอินเดียรับอิทธิพลจากโรมัน กรีก อิยิปต์ เปอร์เซีย จนเป็นแหล่งรวมสินค้านานาชนิดจากต่างแดนและที่ผลิตขึ้นได้เอง กลายเป็นสินค้าส่งออกที่นำรายได้มาสู่ราชสำนักปาฏลีบุตรอย่างมหาศาล โดยเฉพาะเส้นทางการค้าทางทะเลจากอินเดียสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในดินแดนสุวรรณภูมิ และต่อเนื่องมาถึงสมัยพระเจ้าพินทุสาร พระราชโอรส จนถึงรัชสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ที่นำพุทธศาสนามาประดิษฐานยังสุวรรณภูมิโดยผ่านกลไกทางการค้าของพ่อค้าอินเดีย 


พระเจ้าอโศกมหาราช

          อินเดียมีโอกาสดีที่ดินแดนทั้งด้านตะวันตกและตะวันออกติดต่อกับทะเลโดยรอบ และยังมีส่วนสำคัญที่ตอนบนของประเทศเป็นจุดเชื่อมต่อของอารยธรรมที่มาพร้อมกับเส้นทางการค้า(Trade Route) โบราณเกือบทุกสาย โดยเฉพาะเส้นทางสายเครื่องหอม ที่เป็นเส้นทางการค้า ระหว่าง อินเดีย อาหรับ และเอเชียตะวันออก ซึ่งรุ่งเรืองอย่างมากในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่3(300 ปีก่อนคริสตศักราชจนถึงคศ.ที่2) โดยเฉพาะจากทางใต้ของอาหรับไปยังแถบเมดิเตอร์เรเนียน สินค้าที่สำคัญคือกำยาน ทางด้านเหนือเป็นเส้นทางสายไหม(Silk Road ,Silk Route)เป็นเส้นทางการค้าขายที่เชื่อมระหว่างโลกตะวันออกและโลกตะวันตกเข้าด้วยกัน โดยจีนเริ่มมาตั้งสมัยราชวงศ์ฮั่น(ในราว206ปีก่อนคริสตศักราช-ค.ศ.220) มุ่งขยายสู่เอเชียกลาง(114ก่อนคริสตศักราช)และพัฒนาอย่างต่อเนื่องโดยมีคู่ค้าหลักคือ เปอร์เซีย กรีก ซีเรีย โรมัน อาร์มิเนีย อินเดีย และบักเตรีย เป็นอาทิ

         ดังนั้น ผลพวงของการเชื่อมต่อทางการค้าระหว่างอินเดียกับกรีก โรมัน และขยายไปยังอาหรับ สู่ตะวันออกไกล รวมถึงแอฟริกาตะวันออก จึงส่งผลให้ อารยธรรมโรมัน กรีก เมโสโปเตเมีย จีน อิยิปต์ เปอร์เชีย และอื่นๆ ไหลสู่อินเดียที่เปรียบเสมือนเมืองหน้าด่านการค้าทางทะเล และนั่นจึงทำให้เกิดเส้นทาง"สายเครื่องเทศ" หรือ"การค้าสำเภา" หรือ "เส้นทางลมทะเล"ทำให้การเดินทางของสินค้าที่ฉาบปนด้วยวัฒนธรรม ความเชื่อ และองค์ความรู้ จากอีกซีกโลกหนึ่ง ไหลบ่าเข้าสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะที่ความเป็นดินแดนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความพร้อมในฐานะดินแดนใหม่อันอุดมสมบูรณ์จากทรัพยากรท้องถิ่น ผลิตผลจากที่นี่ก็ไหลกลับขึ้นไปตอบสนองความต้องการของประเทศต้นทางเช่นกัน( According to Vadime Elisseeff.2000)


ส่วนหนึ่งของลูกปัดที่มากับเส้นทางสายเครื่องเทศ จัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์แห่งชาติอู่ทอง

       จากการศึกษาพบว่า ราชสำนักอินเดียใช้กลไกทางการค้าผ่านกลุ่มคนวรรณะแพศย์ที่ได้รับการศึกษาโดยตรงจากสำนักพราหมณ์ กลุ่มพ่อค้าเหล่านี้จึงรู้จักเรียนรู้และเสาะแสวงหาช่องทาง จนกลายเป็นคหบดี เศรษฐี และเจ้าของพื้นที่เกษตรกรรมในดินแดนใหม่ ขณะที่คนในพื้นที่ให้การยอมรับในฐานะผู้มาจากวัฒนธรรมที่แปลกแต่ดูดีกว่า จึงเกิดการส่งผ่านผลผลิตเชิงเกษตรกรรม เครื่องปั้นดินเผา และของป่าจำพวกเครื่องเทศเครื่องหอมและทรัพยากรที่หาได้จากธรรมชาติไปตามเส้นทางสายเครื่องเทศยังท่าการค้าที่อินเดีย ก่อนจะส่งต่อพ่อค้าขึ้นไปทางเหนือรวมถึงเส้นทางสายไหม และขากลับจึงนำสิ่งของเครื่องใช้ทั้งผ้าทอเนื้อดี เครื่องนุ่งห่ม เครื่องประดับ จนถึงลูกปัดจำพวกหินอาเกต หินคาเนเลียน และลูกปัดแก้วกลับเข้ามาถวายราชสำนักสุวรรณปุระ และค้าขายกับชาวชุมชนในแถบนี้ ดังจะพบเครื่องใช้เครื่องประดับ มากมายจากการขุดค้นทางโบราณคดีที่อู่ทองและพื้นที่ใกล้เคียง

เส้นทางการเดินเรือ
          การเดินทางมายังสุวรรณภูมิเพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนาของคณะสมณทูต ในพุทธศตวรรษที่ 3 หากนำทฤษฎีการขุดค้นที่บ้านนาลาวลงไปใต้พื้นดินลึก 2 เมตร แล้วปรากฏซากหอยทะเลกระจายอยู่ทั่วไป ซึ่งนักโบราณคดียืนยันว่าในราวกว่า 2,000 ปีที่นี่เป็นทะเล แสดงให้เห็นว่าช่วงเวลานั้นบริเวณหน้าเมืองสุวรรณปุระยังคงเป็นชายหาดริมทะเลยังไม่มีแม่น้ำจระเข้สามพัน แต่การเดินทางมาของคณะสมณะทูตใช่ว่าจะตัดตรงจากอ่าวเบงกอล(Bay of Bengal)ผ่านอ่าวเมาะตะมะมายังเมืองสุวรรณภูมิได้ เพราะยังมีแนวเทือกเขาตะนาวศรีและป่าดงดิบขวางเส้นทางอยู่

       จากผลการศึกษาพบว่า พ่อค้าจากอินเดียจะแล่นเรือเลียบชายฝั่งอ่าวเบงกอลซึ่งเป็นอ่าวทะเลกว้างใหญ่กินพื้นที่ประชิดตะวันออกเฉียงเหนือของมหาสมุทรอินเดีย รายรอบด้วยประเทศอินเดีย ศรีลังกา บังกลาเทศ รัฐเบงกอลตะวันตก(อินเดียเหนือ) พม่า และไทย ตลอดระยะทางมีแม่น้ำหลายสายไหลลงสู่อ่าวนี้ เช่นแม่น้ำคงคา แม่น้ำพรหมบุตร แม่น้ำสินธุ แม่น้ำโคทาวารี แม่น้ำมหานที แม่น้ำกฤษณา และแม่น้ำกาเวรี  โดยมีเมืองท่าการค้าทางทะเลอยู่เป็นระยะ เช่น กัททะลูร์ เจนไน (เมืองท่าอินเดียที่เคยเป็นเมืองหลวงของรัฐทมิฬนาฑู), กากีนาทะ(ยังไม่ทราบ) มะจิลีปัตนัม(ยังไม่ทราบ),วิศาขปัตนัม(Visakhapatnamมืองท่าอินเดียอยู่ทางตอนเหนือของอมราวดี),พาราทิพ(ยังไม่ทราบ), โกลกตา-กัลกัตตา (Calcattaเป็นเมืองหลวงของรัฐเบงกอลตะวันตก),จิตตะกอง(เมืองหลวงและเมืองท่าของบังคลาเทศ)และเข้ามาถึงอ่าวเมาะตะมะในลุ่มน้ำอิรวดี มีดากอน(ต่อมาคือย่างกุ้ง-พม่า)เป็นเมืองท่า แล้วเลาะผ่านเข้ามาทางเมืองท่าที่อยู่เรียงราย เช่น เมืองเย้  เมืองทวาย เมืองมะริด และเมืองตะนาวศรี ลงไปที่ด่านสิงขรเป็นเส้นทางน้ำผ่านถึงกันทั้งจากฝั่งอันดามัน และเข้าสู่อ่าวไทยที่กุยบุรี ก่อนจะเลาะวกอ่าวไทยผ่านไปทางพริบพรี(เพชรบุรี) เมืองราชบุรี เมืองนครชัยศรี แล้วเข้าถึงเมืองสุวรรณภูมิอย่างไม่ยากนักเพราะระดับน้ำทะเลยังมีความลึกอยู่

เส้นทางการค้าในสมัยโบราณ สีแดงเส้นทางสายไหม สีฟ้าเส้นทางสายเครื่องเทศ (ภาพจาก วิกิพีเดีย)

     การเดินทางของพ่อค้าวาณิชจะใช้ประโยชน์จากอิทธิพลลมมรสุมเป็นสำคัญ ซึ่ง สุจิตต์ วงศ์เทศ นักประวัติศาสตร์และโบราณคดีอธิบายว่า "เนื่องด้วยลมมรสุมที่ไม่รุนแรงและคาดการณ์ได้ล่วงหน้า เอื้อต่อนักเดินเรือในการแล่นไปมาระหว่างภูมิภาคตะวันออกและตะวันตกในช่วงฤดูมรสุม 2 ช่วงคือ ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ระหว่างกลางเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนตุลาคม มีแหล่งกำเนิดจากบริเวณมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งพัดออกจากศูนย์กลางเป็นลมตะวันออกเฉียงใต้ และเปลี่ยนเป็นลมตะวันตกเฉียงใต้เมื่อพัดข้ามเส้นศูนย์สูตร ช่วยในการเดินเรือจากมหาสมุทรอินเดียเข้ามาสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้...และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือราวกลางเดือนตุลาคมถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ มีแหล่งกำเนิดจากบริเวณความกดอากาศสูงบนซีกโลกเหนือแถบประเทศมองโกเลียและจีน ช่วยในการเดินทางจากทะเลจีนใต้ลงมาแถบคาบสมุทรมาลายู และพาเรือไปยังฝั่งมหาสมุทรอินเดีย"

ระบบการค้าและเงินตรา
       ในระยะแรกเริ่มหลังผ่านระบบการค้าแบบการแลกเปลี่ยนสินค้าต่อสินค้าแล้ว สุวรรณภูมิ ได้เริ่มใช้ระบบเงินตราเป็นแผ่นดินเผามีแบบพิมพ์สิงห์ศากยวงศ์ประทับลงไป ถือเป็นเหรียญกษาปณ์ยุคแรก ซึ่งต่อมามีการพัฒนาขึ้นตามลำดับจากรูปแบบเหรียญอาหรับ โรมัน จนถึงสมัยทวารวดีมีการทำเหรียญโลหะเงินมาปั้มสัญลักษณ์ลงไป และพัฒนาสืบเนื่องผ่านห้วงเวลาทั้งความสุขสงบและสงครามจนถึงสมัยการสถาปนาเมืองใหม่ที่ย้ายไปยังฝั่งตะวันตกของแม่น้ำท่าจีน
เหรียญกษาปณ์จีนสมัยราชวงศ์ฮั่น
     ในช่วงพุทธศตวรรษที่4-6 นอกเหนือจากระบบการค้าที่ผ่านกลไกจากพ่อค้าอินเดีย เปอร์เชีย อาหรับ และประเทศทางแถบตะวันตกเฉียงเหนือขึ้นไป ระยะเวลานี้จักรวรรดิจีนได้เริ่มแผ่สยายลงมายังดินแดนสุวรรณภูมิ จดหมายเหตุจีนบันทึกสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันตก(พ.ศ.337-568) มีศูนย์กลางอำนาจในแถบลุ่มน้ำฮวงโห โดยใช้ความสัมพันธ์ทาง การฑูตในเชิงพาณิชย์กับสุวรรณภูมิ เรียกว่า"การค้าสำเภา"(Junk Trade) โดยเฉพาะในรัชสมัยจักรพรรดิฮั่นอู่ตี้(พ.ศ.388-457) ได้เปิดระบบการค้าไปยังเอเชียกลางที่เรียกว่า"เส้นทางสายไหม" และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เรียกว่า "การค้าสำเภา" ถือเป็นรัชสมัยที่จีนเริ่มทำเหรียญกษาปณ์ขึ้นใช้ภายในประเทศและเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน  สินค้าของจีนที่สำคัญในเวลานั้นได้แก่ เกลือ เหล็ก สุรา ดังหลักฐานที่พระอธิการวีระ จนฺทธมฺโม ได้พบเหรียญกษาปณ์จีนสมัยเดียวกันนี้ที่วัดสมอลม ตำบลสนามคลี อำเภอเมืองสุพรรณบุรี เมื่อปีพ.ศ.2518

       ด้วยปัจจัยของความเป็นดินแดนใหม่ จึงมีผลให้"สุวรรณภูมิ"ในพุทธศตวรรษที่ 3-6 เจริญรุดหน้าแบบก้าวกระโดด แต่ในที่สุดก็ตกเป็นเป้าหมายการโจมตีเพื่อช่วงชิงผลประโยชน์เหนือดินแดน จนนำไปสู่ภาวะสงครามและการเปลี่ยนแปลงทั้งองคาพยพ.../





อ้างอิง

-คณาจารย์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2550). วรรณคดีบาลี. กรุงเทพฯ. กองวิชาการ 
       มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
-ซิว ซูหลุน,(แปล).ถังซำจั๋ง:จดหมายเหตุการณ์เดินทางสู่ดินแดนตะวันตกของมหาราชวงศ์ถัง.กรุงเทพฯ:
     สำนักพิมพ์มติชน,2549.
-พระไตรปิฎกมหามกุฏราชวิทยาลัย. พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมสมันตปาสาทิกาแปล อรรถกถาพระวินัย. กรุงเทพฯ กองตำรา มหามกุฏราชวิทยาลัย.
-พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต). (2550). พจนานุกรมพุทธศาสน์ฉบับประมวลศัพท์. กรุงเทพมหานคร.
-ปวินท์ มินทอง กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และแอฟริกา.6 กันยายน2554.
-มนัส โอภากุล .พระฯเมืองสุพรรณ.2536.
-วารสารประจําปี ของพระนักศึกษา-นักศึกษา มหาวิทยาลัยเมืองพาราณสี. สิทธารถสาร. ฉบับปีที่ 11 เดือน มิถุนายน พ.ศ.2550.
-เสถียรพงษ์ วรรณปก.พระเจ้าจันทรคุปต์อัยกาของพระเจ้าอโศกมหาราช. ลานธรรมจักร.2015.
-เสถียรพงษ์ วรรณปก. พระพุทธศาสนา:ทรรศนะและวิจารณ์. กรุงเทพมหานคร :สํานักพิมพ์มติชน, 2543.
-สุจิตต์ วงศ์เทศ.อิทธิพลภายใต้ลมมรสุม. สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์,2011/04
-Dani,Ahmad Hasan.The Historic City of Taxila.Tokyo:Cen for EastAsian Studies,1986.
-Jha,D.N.Ancient India in Historical Outline.New Delhi:Manohar Publishers&Distributors,2006.
-Bimala Charan Law.(1923). The Life and Work of Buddhaghosa. Calcutta : Thacker, Spink & Co.

     

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น