โพสต์แนะนำ

วันพฤหัสบดีที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2561

สายน้ำ...สุวรรณภูมิ (๑)

                                                                                             โดย..วิญญู บุญยงค์
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
**ก่อนเข้าเรื่อง**
“สายน้ำ...สุวรรณภูมิ” เกิดจากการศึกษาค้นคว้าข้อมูลและหลักฐานโบราณ รวบรวมและเรียบเรียงเป็นตอน โดยไม่
ยึดกระแสหลักเป็นบรรทัดฐาน หากแต่คำนึงถึงความน่าจะเป็นภายใต้หลักฐานพยานที่บ่งชี้ ซึ่งแน่นอนว่าประวัติ-
ศาสตร์เป็นสิ่งยากต่อพิสูจน์ให้ได้ผลเต็มร้อย ดังนั้นข้อมูลจากบทความนี้อาจตรงใจหรือไม่ตรงใจต่อผู้อ่านทั้งหมด 
ซึ่งไม่สำคัญ แต่ความสำคัญอยู่ที่การนำไปสู่การวิเคราะห์และต่อยอดให้ได้ข้อมูลที่ใกล้เคียงความจริงมากที่สุด.
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

สุวรรณภูมิ..ศูนย์กลางการค้าทางทะเล

               สุวรรณภูมิ เป็นชื่อที่มีการกล่าวขานจากนักประวัติศาสตร์ นักโบราณคดี และผู้คนทั่วโลก
ที่สนใจวิถีวัฒน์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในสมัยประวัติศาสตร์ จากการศึกษาขุดค้นและวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญทางโบราณคดี มีข้อสรุปที่บ่งบอกได้ว่า “สุวรรณภูมิ” มีบทบาทอยู่ ๒ สถานะ, สถานะที่ ๑ คือบทบาทของการเป็นดินแดน และสถานะที่ ๒ คือบทบาทของความเป็นอาณาจักร ซึ่งทั้ง ๒ สถานะ มีการเปลี่ยนแปลงไปตามความเปลี่ยนแปลงด้านธรณีวิทยา และการเปลี่ยนแปลงไปตามอิทธิพลการเมืองของอาณาจักรที่อยู่ใกล้เคียงและห่างไกลออกไป

               นักวิชาการและผู้เชียวชาญทางประวัติศาสตร์โบราณคดีทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศที่เข้ามาสำรวจบริเวณพื้นที่เมืองโบราณอู่ทอง ในจังหวัดสุพรรณบุรี ตั้งแต่ช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๔ จนถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๕ต่างมีความเห็นไปในทางเดียวกันว่า “...อู่ทอง เป็นเมืองโบราณสมัยประวัติศาสตร์ยุคแรกของประเทศไทย เป็นที่เชื่อกันว่าเมืองโบราณอู่ทองแห่งนี้ เป็นจุดเริ่มต้นของการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในดินแดนสุวรรณภูมิ นอกจากนี้ ยังเป็นศูนย์กลางการค้าทางทะเลที่สำคัญ”


  
             เป็นเรื่องที่น่าคิดว่า “การเป็นศูนย์กลางการค้าทางทะเลที่สำคัญ” นั่นก็หมายความว่า ณ ที่นี่เคยเป็นเมืองท่าชายฝั่งที่มีการเดินทางมาค้าขายจากคนไกลโพ้นทวีป เมื่อเข้าไปสืบค้นข้อมูลเชิงประจักษ์ก็พบว่าแหล่งพื้นที่ลุ่มน้ำมีซากฟอสซิลของสัตว์น้ำทะเลกระจายอยู่ทั่วไป เช่นในแถบจังหวัดปทุมธานีมีการสะสมของฟอสซิลหอยทะเล เหนือขึ้นไปทางจังหวัดลพบุรีแถบอำเภอพัฒนานิคมก็พบซากหอยทะเลในถ้ำเพิงผาหลายแห่ง ยิ่งไปกว่านั้น ในปีพ.ศ.๒๕๕๔ ก็ได้มีการพบฟอสซิลซากหอยทะเลอยู่เต็มภูเขาด่าง ต.ห้วยเขย่ง อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ซึ่งนักธรณีวิทยายืนยันว่าพื้นที่เหล่านี้เคยเป็นทะเลมาก่อน   และเมื่อตรวจสอบข้อมูลจากแผนที่โบราณซึ่งย้อนหลังไปราว ๕,๐๐๐ ปี ก็พบว่า อู่ทองเป็นดินแดนที่ติดชายทะเลมาก่อนจริงตอกย้ำด้วยการขุดสำรวจของ พรชัย สุจิตต์ เมื่อปีพ.ศ.2529 ในการลงพื้นที่ภาคสนามที่บ้านนาลาว อำเภออู่ทอง โดยขุดลงไปลึกราว 2 เมตร ก็พบซากหอยทะเล จึงนำมาสู่ข้อสรุปว่ากว่า 2,000 ปีที่ผ่านมาน้ำทะเลขึ้นมาถึงอู่ทอง (โบราณคดีเมืองสุพรรณ,กรมศิลปากร.2557) ดังนั้นพื้นที่ที่อยู่ต่ำลงไป แม้จะมีพื้นดินอยู่บ้างแต่ส่วนใหญ่เป็นลักษณะป่าชายเลน ลงไปทางตอนใต้ก็ยังคงเป็นเกาะน้อยใหญ่

               การเป็นดินแดนที่อยู่ติดชายฝั่งทะเลของอู่ทอง ยังบ่งชี้ได้จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์มากมายเกี่ยวกับการตั้งชุมชนในราว 3,500 ปีในสมัยก่อนอารยธรรม ตั้งแต่ยุคหินใหม่ ลงมาถึงยุคสำริดและเหล็กจนพัฒนาสู่การเป็นชุมชนเมืองชายฝั่งทะเลที่มีการค้าสำเภากับเมืองอื่น ๆ ในราว 2,500 ปี 

               ช่วงเวลาคาบเกี่ยวระหว่างสมัยก่อนประวัติศาสตร์ จนเข้าสู่สมัยต้นประวัติศาสตร์ วิถีชีวิตของผู้คนที่นี่เปลี่ยนแปลงไปอย่างเชื่องช้าแต่มั่นคงในเชิงชุมชน ด้วยเหตุผลของการตั้งอยู่ในทำเลที่ดี ที่ด้านหลังเป็นแนวภูเขาสูงใหญ่ แล้วค่อย ๆลดระดับเป็นเชิงเขาเลื่อนสู่ที่ราบ ก่อนจะเป็นทะเลอันกว้างใหญ่

              ด้วยชัยภูมิเช่นนี้ ส่งผลให้ดินแดนนี้มีความอุดมสมบูรณ์จากทรัพยากรจากป่าและท้องทะเล   สภาพของดินภูเขาที่เต็มไปด้วยแร่ธาตุสำคัญเอื้ออำนวยให้เกิดผลผลิตที่เป็นสมุนไพร และเครื่องเทศ อันเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อระบบสุขภาพของผู้คนในเวลานั้น สภาพของการเป็นขุนเขาที่เอื้อประโยชน์ต่อชุมชนอย่างเหลือล้น มีผลให้คนในชุมชนเกิดการยอมรับในบริบทของผืนป่าด้านบน ขณะเดียวกันก็เกิดความศรัทธาและเกรงกลัวในสิ่งเร้นลับที่ไม่อาจพิสูจน์ กลายเป็นความเชื่อที่ต้องบวงสรวงบอกกล่าวทั้งเจ้าป่า เจ้าเขา ภูตผี ที่กระจายอยู่ทั่วแนวเขาทั้งต้นไม้ ลำธาร และทะเล เพื่อให้ช่วยค้ำชูชีวิตขณะยังมีลมหายใจ และหนุนนำต่อเนื่องไปถึงชีวิตหลังความตาย เทือกเขาหลังแนวเมืองโบราณอู่ทองจึงกลายเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์มานับแต่บรรพกาล  ดังเราจะเห็นร่องรอยจากแหล่งโบราณคดีหินตั้งในสมัยก่อนประวัติศาสตร์จนถึงสุสานฝังศพในสมัยปัจจุบัน

             เมื่อเริ่มเข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์ ยอดภูเขาศักดิ์สิทธิ์ยังเอื้อประโยชน์ต่อการสังเกตการณ์ และระแวดระวังภัยจากศัตรูภายนอก ขณะเดียวกันก็ช่วยให้พ่อค้าและนักเดินทางที่มาจากทางตะวันตกและตะวันออก สังเกตเห็นเป้าหมายได้ในระยะไกล ด้วยความพร้อมในชัยภูมิพื้นที่ราบหลังพิงเขา มีด้านหน้าเป็นชายฝั่งทะเล ประกอบกับผืนแผ่นดินใหญ่ด้านทิศตะวันออกและทิศเหนือมีชุมชนเล็กใหญ่เกิดขึ้นมากมาย ชัยภูมิของที่นี่จึงเหมาะสมต่อการเป็นตลาดกลางทางการค้าอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง และนั่นก็ทำให้ที่นี่เจริญรุ่งเรืองจนกลายเป็นอาณาจักรโบราณที่ชื่อว่า “สุวรรณภูมิ”

ภาพจาก-รายงานการศึกษาที่มีผลต่อการล่มสลายของเมืองโบราณอู่ทอง สำนักงานทรัพยากรธรณี เขต 3

           “สุวรรณภูมิ”เป็นดินแดนใหม่ที่เกิดขึ้นล่าสุดราวสมัยพุทธกาล เมื่อเทียบกับตะวันตกที่เริ่มต้นมาราว๔,๐๐๐ปี ขณะที่อาณาจักรจีนโบราณเริ่มต้นราว ๒,๓๐๐ ปี และชมพูทวีปเริ่มต้นราว ๒,๐๐๐ปีก่อนพุทธกาล ด้วยเหตุผลนี้พ่อค้านักเดินทางจากดินแดนที่เจริญขึ้นก่อน จึงมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนให้นวัตกรรมและองค์ความรู้ใหม่ไหลบ่าสู่สุวรรณภูมิ นำมาสู่ภาวะรุ่งเรืองแบบก้าวกระโดด จนพัฒนาชุมชนเข้าสู่การเป็นชุมชนเมืองเริ่มแรกของดินแดนแถบนี้

สุวรรณภูมิ...การหยั่งรู้ของพระเจ้าอโศกมหาราช

            ดินแดนสุวรรณภูมิ ปรากฏขึ้นเป็นหลักฐานจากคัมภีร์มหาวงศ์ ที่ศ.ดร.ที.ดับบลิว.รีส เดวิดส์ ข้าหลวงอังกฤษ ผู้ก่อตั้งสมาคมบาลีปกรณ์(Journal of the Pali Text Society)แปลพระคาถาบาลีของลังการะบุถึงการส่งสมณะทูตออกไป 9 เส้นทางจากพระราโชบายของพระเจ้าอโศกมหาราช ภายหลังกระทำสังคายนาพระไตรปิฏกครั้งที่ ๓ ในนครปาฏลีบุตร ช่วงปีพุทธศักราช ๒๙๕ ในจำนวนนี้มี ๒ เส้นทางที่เกี่ยวข้องกับสุวรรณภูมิ คือ “เส้นทางที่ ๘ ส่ง พระโสณะ และพระอุตตระเถระ ไปสุวรรณภูมิ” และ “เส้นทางที่ ๙ ส่งพระมหินทะเถระ ไปยังลังกาทวีป

สิงห์ศากยวงศ์ สัญลักษณ์ของพุทธศาสนาสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช

            สอดคล้องกับคัมภีร์สุวรรณปุระวงศ์ คัมภีร์ปรัมปราปุสตกะ คัมภีร์สีกิริยา ที่ระบุว่า “พระมหินทเถระ พระราชโอรสพระเจ้าอโศกมหาราช  พระสังฆมิตตาเถรี พระธิดาพระเจ้าอโศกมหาราช  และเจ้าชายสุมิตร โอรสของพระสังฆมิตตาเถรี หรือพระราชนัดดาพระเจ้าอโศกมหาราช  พร้อมคณะธรรมทูต เสด็จมายังลังกาทวีปเมื่อพ.ศ.๒๙๖ เพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนายังอาณาจักรสิงหลในรัชกาลของพระเจ้าเทวานัมปิยะติสสะ (พ.ศ.๒๙๓-๓๕๓)โดยนำกิ่งพันธุ์มหาโพธิ์จากพุทธคยาไปถวายและถูกปลูกลงที่เมืองหลวงอนุราชปุระ”

            สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์(ป.อ.ปยุตโต) เมื่อครั้งยังดำรงสมณศักดิ์พระพรหมคุณาภรณ์ ได้รจนาความเป็นมาของพระราชโอรสและพระราชธิดาของพระเจ้าอโศกมหาราช จากคัมภีร์อรรถกถาและฎีกาว่า “พระเจ้าอโศกมหาราช เมื่อยังเป็นราชกุมาร ได้รับพระราชบัญชาให้ไปเป็นอุปราชครองแคว้นอวันตี ที่เมืองอุชเชนี ระหว่างทางก่อนถึงอุชเชนี อโศกกุมารได้แวะที่เมืองเวทิส และ ณ ที่นี้อโศกกุมารได้ พบกับธิดาเศรษฐีนามว่าเวทิสา และได้เธอเป็นคู่ครอง นําไปอยู่ด้วยที่นครอุชเชนีแล้วประสูติโอรสนามว่าเจ้าชายมหินทะ และต่อมาอีก ๒ พรรษา มีราชธิดานามว่าสังฆมิตตา เจ้าชายมหินทะและเจ้าหญิงสังฆมิตตานี้ ต่อมาได้ อุปสมบท พระมหินทเถระพร้อมด้วยคณะภิกษุสงฆ์ได้นําพระพุทธศาสนาไปประดิษฐานในลังกาทวีป และพระสังฆมิตตาเถรีก็ได้นําภิกษุณีสงฆ์ไปประดิษฐานในลังกาทวีปนั้นตามต่อมา”

            คัมภีร์พุทธศาสนายังบอกด้วย เมื่อประดิษฐานพระพุทธศาสนาในลังกาแล้ว พระมหินทะเถระ พร้อมคณะทั้งหมด จึงเดินทางต่อมายังกรุงสุวรรณปุระ   หากเป็นเช่นนั้นพระโสณะเถระและพระอุตระเถระ ซึ่งได้เดินทางมาก่อนหน้านี้แล้ว น่าจะมีส่วนสำคัญในการประสานระหว่างเจ้าผู้ครองนครสุวรรณปุระกับคณะของพระมหินทะเถระ บทบาทของพระโสณะและพระอุตระจึงเป็นทั้งสมณะทูตและงานการเมืองไปพร้อมกัน  จากนั้นเจ้าชายสุมิตรได้อภิเษกกับพระธิดาของพระเจ้ากรุงสุวรรณปุระ ตำนานจากคัมภีร์ยังระบุด้วยว่า ต่อมาเจ้าชายสุมิตร พระราชนัดดาของพระเจ้าอโศกมหาราช ได้ขึ้นครองราชย์สืบมา และทรงเป็นผู้สถาปนา “ราชวงศ์สุวรรณปุระ”ขึ้นใน “สุวรรณภูมิ”
นอกจากคัมภีร์พุทธศาสนา ยังปรากฏจารึกศิลาภาษาสันสกฤตคำว่า “ปุษยคีรี” ที่พบอยู่บริเวณเมืองโบราณอู่ทอง คล้ายกับจารึกจากภูเขาศักดิ์สิทธิ์ ๒ แหล่งในชมพูทวีปคือ “ปุษปคีรี”มหาวิหารบนเนินเขาลังกุฎี (Langudi Hill)ในรัฐโอริสาที่สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช และอีกแห่งปรากฏ”ปุษปคีรี”ที่เมืองนาคารชุนโกณฑะ ในรัฐอานธรประเทศ ซึ่งนัยยะสำคัญของจารึกศิลา “ปุษยคีรี”ที่พบในเขตโบราณเมืองอู่ทองได้ให้ความหมายเชิงประจักษ์ว่า “พุทธศาสนาได้ถูกประกาศขึ้น ณ ดินแดนแห่งนี้แล้ว”นั่นเอง

ศิลาจารึก"ปุษยคิริ" ที่พบบริเวณเมืองโบราณอู่ทอง

            นักวิชาการด้านโบราณคดี ตั้งข้อสังเกตว่า หินที่สลักคำว่า”ปุษยคีรี” น่าจะมาจากผนังหินหรือเป็นส่วนหนึ่งของผนังถ้ำ ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกับคณะสงฆ์ที่มาเผยแผ่ศาสนารวมถึงคนในพื้นที่ที่มีความศรัทธาในพุทธศาสนาเข้าบรรพชาอุปสมบทจะใช้ถ้ำหรือเพิงผาเป็นที่พำนัก  ซึ่งเชื่อกันว่าเพิงผาบนยอดเขาทำเทียมที่เป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์มาแต่โบราณ และเคยเป็นที่พำนักของพระโสณะและพระอุตระเถระ

            เช่นเดียวกับในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชที่ทรงอุปถัมภ์ในทำนองนี้ ดังถ้ำแห่งเขาบาราบาร์ที่มีคำจารึกตอนหนึ่งว่า “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ทรงอภิเษกแล้วได้ ๑๙ พรรษา ถ้ำในเขตขลติกะแห่งนี้ ซึ่งเป็นที่โปรดปรานยิ่ง อันข้าฯพระราชทานแล้ว เพื่อเป็นที่พักพิงแห่งเหล่าบรรพชิตทั้งหลาย ให้พ้นจากอุทกภัยในฤดูฝน” หรือแม้ในสมัยต่อมาก็ปรากฏจารึกกษัตริย์ของอินเดียและบรรดาหมู่เสนาอำมาตย์อุปถัมภ์หมู่สงฆ์ด้วยการขุดแต่งถ้ำให้เป็นที่พำนักเช่นกัน  ส่วนจังหวัดสุพรรณบุรี ตลอดแนวเทือกเขาเมืองอู่ทองยังปรากฏร่องรอยของการใช้ถ้ำเป็นที่พักสงฆ์อยู่มากมายตั้งแต่ครั้งอดีตและต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

            ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม นักวิชาการด้านมนุษยวิทยาและโบราณคดีคนสำคัญของเมืองไทย ให้ความเห็นตอกย้ำต่อเรื่องนี้ว่า “จารึกปุษยคิริ เป็นหลักฐานสำคัญอีกชิ้นหนึ่งที่ยืนยันว่า พระเจ้าอโศกมหาราช ได้ส่งสมณทูตมาเผยแผ่ศาสนาที่อู่ทอง”

            แม้หลักฐานทางโบราณคดีและคัมภีร์พุทธศาสนา จะยืนยันตรงกัน แต่ก็ยังมีข้อสังเกตว่า เหตุใดการอภิเษกระหว่างเจ้าชายสุมิตร กับราชธิดาของพระเจ้ากรุงสุวรรณปุระจึงเกิดขึ้น ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ยืนยันว่า แม้พระพุทธศาสนาจะเจริญรุ่งเรืองในแผ่นดินพระเจ้าอโศกมหาราชเป็นอย่างมาก แต่พระองค์ก็ทรงวิตกว่าในกาลเบื้องหน้าอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือล่มสลายลงไปได้ เพราะชมพูทวีปมีความหลากหลายทางความเชื่อ นอกจากพระพุทธศาสนาแล้ว ยังมีศาสนาพราหมณ์ ศาสนาเชน ดาบส อาชีวก ปริพาชก และอื่น ๆ อีกมากมาย  นอกจากนั้นรัฐต่าง ๆที่แม้จะถูกรวมตัวกันเป็นอินเดียหนึ่งเดียวตั้งแต่สมัยพระเจ้าจันทรคุปต์ พระปิตะมหาอัยกา พระเจ้าพินทุสาร พระราชบิดา จนขยายอาณาเขตเป็นจักรวรรดิยิ่งใหญ่ในสมัยพระองค์แต่วันหนึ่งก็อาจมีการเปลี่ยนอำนาจจากการช่วงชิงทั้งภายในและภายนอกราชอาณาจักร ถึงเวลานั้นพุทธศาสนาอาจมีภัย  ทางเดียวที่จะอนุรักษ์ศาสนาให้ดำรงอยู่ ก็คือการเผยแผ่ธรรมมะของพระพุทธองค์ออกไปยังดินแดนห่างไกล เพื่อให้เป็นหลักชัยแห่งการตั้งมั่นของพุทธศาสนาต่อไป

            และก็เป็นไปตามที่พระองค์มีพระราชดำริ คัมภีร์พุทธศาสนา ระบุว่า “ในปลายพระชนม์ชีพ พระองค์ทรงถูกพระราชนัดดา เจ้าชายสัมปทิ จับกักขัง ทรงหมดพระราชอำนาจ สิ้นพระเกียรติ แม้มีพระราชประสงค์จะทำบุญก็ถูกขัดขวาง

            จากมหาราชผู้เกรียงไกร  ในที่สุดก็เสด็จสวรรคตภายในที่คุมขังในปีพ.ศ.๓๑๒

            หลังจากนั้นกษัตริย์แห่งราชวงศ์เมาริยะ ก็ไม่ได้มีความศรัทธาต่อพุทธศาสนาหันไปนับถือศาสนาอื่น และบางช่วงเวลายังทำร้ายพระพุทธศาสนา  ราชวงศ์เมาริยะดำเนินมาจนถึงรัชกาลพระเจ้าพฤหัสรถ แผ่นดินมคธก็อยู่ในภาวะอ่อนแอจนยากจะเยียวยา คัมภีร์ยังระบุด้วยว่าในที่สุด “เสนาบดีวรรณะพราหมณ์ชื่อ ปุษยมิตร ก็แย่งชิงราชสมบัติ แล้วสถาปนาราชวงศ์ศุงคะ ขึ้นในปีพ.ศ.๓๕๘”

            ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางอำนาจ การช่วงชิงที่ไม่เคยหมดสิ้น และการล้มล้างพุทธศาสนาเกิดขึ้นในอินเดียตลอดช่วงเวลานั้น แต่สำหรับที่นี่  นับตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๓ เป็นต้นมา พุทธศาสนาในสุวรรณภูมิกลับหยั่งรากลึกลงในสุวรรณปุระและแว่นแคว้นใกล้เคียง ขณะเดียวกันยุคทองทางการค้าก็เกิดขึ้นในเวลานี้เช่นกัน  /.

เอกสารอ้างอิง

-ก่องแก้ว วีระประจักษ์, “เอกสารการวิเคราะห์จารึกบนเศษภาชนะดินเผามีจารึกพบ ที่คันดินคูเมืองอู่ทองปี ๒๕๕๓”,๒๕๕๔.
-ฌอง บวสเซอริเยร์, ความรู้ใหม่ทางโบราณคดีจากเมืองอู่ทอง,พระนคร: ศิวพร, ๒๕๑๑, ๒๐-๒๒.
-ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา.เรื่องเมืองอู่ทอง จาก รายงานเสด็จตรวจ ราชการเมืองสุพรรณบุรี”,โบราณวิทยาเมือง  อู่ทอง.กรุงเทพฯ: ศิวพร, 2509, 224.    
-วสันต์ เทพสุริยานนท์, โบราณคดีเมืองอู่ทอง .กรุงเทพฯ: สหมิตรพริ้นติ้ง๒๕๔๕,๑๒๗-๑๕๐.
-พระพรหมคุณาภรณ์( ป.อ.ปยุตฺโต).จารึกอโศก รัฐศาสตร์แห่งธรรมาธิปไตย.สมุทรปราการ: สำนักพิมพ์ผลิธัมม์,๒๕๕๒.
-ผาสุก อินทรวุธ.ทวารวดี การศึกษาวิเคราะห์จากหลักฐานโบราณคดี.กรุงเทพ:โรงพิมพ์อักษรสมัย,๒๕๔๒.
-ศักดิ์ชาย สายสิงห์.ทวารวดี ศิลปกรรมยุคแรกเริ่มในดินแดนไทย.กรุงเทพฯ:มหาวิทยาลัยศิลปากร,๒๕๔๓.
-ศิลปากร,กรม.โบราณคดีและประวัติศาสตร์เมืองสุพรรณ.กรุงเทพฯ:หจก.สารรังสรรค์,๒๕๔๒        
-ศิลปากร,กรม.โบราณคดีเมืองอู่ทอง.นนทบุรี:โรงพิมพ์สหมิตรพริ้นติ้ง,๒๕๔๕.                                        
-ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม.ประวัติศาสตร์ โบราณคดี:เมืองอู่ทอง.กรุงเทพฯ:เมืองโบราณ,๒๕๔๙.                         
-สุภัทรดิศ ดิศกุล,มจ.ศิลปะในประเทศไทย.กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,๒๕๓๙.          
-สันติ์ ไทยานนท. คันดินคูเมืองอู่ทอง: ข้อมูลใหม่จากการขุดค้นทางโบราณคดี.ดำรงวิชาการ.๒๕๕๖.
-สฤษ์ดิ์พงศ์ ขุนทรง, “โบราณคดีทวารวดี: ข้อมูลใหม่จากการขุดค้นเมืองนครปฐมและเมืองขีดขิน,”เอกสารประกอบการ-เสวนาในโครงการเสวนาเพื่ออนุรักษ์และพัฒนา มรดกวัฒนธรรม วัฒนธรรมเสวนา” (Cultural Dialogues) ครั้งที่ ๗ ณ หอประชุม มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ, ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๕๔.
-อภิรัฐ เจะเหล่า รายงานเบื้องต้นการขุดกู้โครงกระดูกบริเวณคูเมืองโบราณอู่ทองสำนักศิลปากรที่ ๒ สุพรรณบุรี, ๒๕๕๓.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น