โพสต์แนะนำ

วันอาทิตย์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2561

สุพรรณภูมิ ๒


  
สมัยพระราชบิดาขุนหลวงพ่องั่ว
วิญญู บุญยงค์


ข้อสรุปของคำว่า “เสียน เสียม เสียมก๊ก และเสี้ยมก๊ก คือสุพรรณภูมิ”มีผลต่อเนื่องไปถึงการตีความในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสุพรรณภูมิจากหนังสือหลวง คิมเตี้ยชกทงจี ที่ได้รับการรวบรวมและเรียบเรียงขึ้นจากบันทึกโบราณโดย 66 ขุนนาง ในแผ่นดินเขียนหลงปีที่ 32 ราชวงศ์เชง(จ.ศ.1129 พ.ศ.2310) ถึงแผ่นดินเขียนหลงปีที่ 50 ขุนนางจ๋อโตวหงือซื้อ ชื่อ กีก๊ก เจ้ากรมพระอาลักษณ์ฝ่ายขวา กับขุนนางต๋ายลี้ยี่เคง (ขุนนางกรมในกระทรวงเมือง)ชื่อ เล็กเซียะหิม ได้ชำระหนังสือ คิมเต้ยซกทงจี อีกครั้งหนึ่ง ต่อมาขุนเจนจีนอักษร(สุดใจ) ได้แปลออกมาเป็นหนังสือเรื่องเสี้ยมก๊ก หลอฮกก๊ก เปนพระราชไมตรีกับกรุงจีน ถวายล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 และรู้จักกันในชื่อ “จดหมายเหตุว่าด้วยกรุงสยามแต่โบราณ(เรียบเรียงจากจดหมายเหตุจีน ๕ เรื่อง)”

แต่ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจถึงแนวคิดของราชสำนักจีนที่มีต่อบรรดาประเทศต่าง ๆ เสียก่อน โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงอธิบายเบื้องต้นไว้ว่า

“... ต้องไม่ลืมว่าวิไสยพระเจ้าแผ่นดินจีนชอบยกย่องเกียรติยศของตนเองแต่ไร ๆ มา บรรดาเมืองต่างประเทศที่ไปมาค้าขายหรือแต่งราชทูตไปเมืองจีน จีนจดหมายเหตุตีขลุมเอาว่าๆไปอ่อนน้อมยอมขึ้นต่อกรุงจีนไม่เลือกหน้าว่าประเทศไหน ๆ พระเจ้าแผ่นดินต่างประเทศไม่ว่ายุโรปหรือเอเชีย จดหมายเหตุจีนไม่ยอมยกเกียรติให้ใครเปน “ฮ่องเต้” ให้เปนเพียง “อ๋อง” ทุกประเทศ ต่างประเทศที่ไปมาค้าขายหรือเกี่ยวข้องกับจีน เมื่อยังไม่รู้หนังสือแลภาษาจีนก็ไม่รู้เท่าจีน การเปนดังนี้มาหลายร้อยปี...”

ช่วงปลายแผ่นดินจนถึงหลังการสวรรคตของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7(สวรรคต พ.ศ.1761) ล่วงสู่สมัยพระเจ้าอินทรวรมันที่ 2(พ.ศ.1762-1786) จนถึงพระเจ้าชัยวรมันที่ 8(พ.ศ.1786-1838) ประเทศต่าง ๆ ในแถบตะวันตก ตะวันตกเฉียงเหนือ และตะวันตกเฉียงใต้ของอาณาจักรขอมต่างค่อย ๆแยกตัวเป็นอิสระ กล่าวคือ ในปีพ.ศ. 1792 พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ แยกตัวออกจากขอมแล้วสถาปนากรุงสุโขทัย

สุพรรณภูมิ นครรัฐโบราณก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยา
ภาพจาก : วารสารเมืองโบราณ ฉบับที่ ๔๒.๔


ในช่วงเวลาใกล้กันสุพรรณภูมิก็ค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้นมาพร้อมกับการผนวกนครไชยศรี ราชบุรีและพริบพรี ก่อนที่จะขยายลงไปผนวกนครศรีธรรมราชจนถึงมะละกา เพื่อจุดประสงค์ขยายพื้นที่การค้าทางทะเลทั้งฝั่งอันดามันและอ่าวไทย เนื่องจากการลดระดับของน้ำทะเล จากจุดนี้เองที่ราชสำนักจีนในสมัยพระเจ้าหงวนสีจงฮ่องเต้(เป็นช่วงเวลาที่มองโกลยึดกรุงจีน)ต้องการขยายอิทธิพลและการค้ามายังแถบนี้ จึงส่งราชทูตเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับเจ้ากรุงสุพรรณภูมิ ดังจดหมายเหตุจีน ระบุไว้ว่า

            “แผ่นดินจี่หงวนปีที่ 19 หยิมโหงวลักหง้วย (ตรงกับเดือนแปด ปีมะเมีย จ.ศ.644/พ.ศ.1825) พระเจ้าหงวนสีโจ๊วฮ่องเต้ รับสั่งให้ขุนนางก๊วนกุนโหว ชื่อ หอจือจี่ เปนราชทูตไปเกลี้ยกล่อมเสี้ยมก๊ก”

เห็นได้ว่าในช่วงนี้ สุพรรณภูมิ ได้ก่อร่างสร้างตัวและลงหลักปักฐานสถาปนาเมืองอย่างชัดเจน หลังจากที่ต้องใช้เวลารบพุ่งและรวบรวมกำลังพลจนยืนหยัดขึ้นเป็นอาณาจักรอีกครั้ง ราชสำนักจีนเล็งเห็นประโยชน์จึงส่งราชทูตมาเจริญสัมพันธไมตรี   แต่การมาของคณะราชทูตในครั้งนั้นไม่เป็นผลสำเร็จ เนื่องจากสำเภาอับปางเสียก่อน หลังจากนั้นอีก 11 ปีต่อมา พระเจ้าหงวนสีโจ๊วฮ่องเต้ จึงได้ส่งราชทูตเข้ามาอีกครั้ง ดังมีบันทึกว่า

“แผ่นดินจี่หงวนปีที่ ๓๐ กุ่ยจี๋สี่หง้วย (ตรงกับเดือนหก ปีมะเส็ง จ.ศ.655/พ.ศ.1836) พระเจ้าหงวนสี่โจ๊วฮ่องเต้รับสั่งให้ราชทูตไปทำพระราชไมตรีด้วยพระเจ้าเสี้ยมก๊ก”

เขตแดนราชวงศ์หยวน ราวปีพ.ศ.1837
ภาพจาก : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี


จากนั้นในปีรุ่งขึ้นพระเจ้ากรุงสุพรรณภูมิ จึงเสด็จไปจีน แต่พระเจ้าหงวนสี่โจ๊วฮ่องเต้ ก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน เป็นช่วงเวลาเปลี่ยนแผ่นดิน พระเจ้ากรุงสุวรรณภูมิ จึงเข้าเฝ้าฮ่องเต้จีนพระองค์ใหม่ บันทึกระบุว่า

“แผ่นดินจี่หงวนปีที่ ๓๑ กะโหงวชิดหง้วย(ตรงกับเดือนเก้า ปีมะเมีย จ.ศ.656/พ.ศ.1837)ในปีนั้นพระเจ้าหงวนสี่โจ๊วฮ่องเต้สวรรคต พระเจ้าหงวนเสงจงฮ่องเต้ขึ้นเสวยราชสมบัติ แต่ยังไม่ได้เปลี่ยนนามแผ่นดิน เสี้ยมก๊กอ๋องกังมกติ๋งมาเฝ้า พระเจ้าหงวนเสงจงฮ่องเต้รับสั่งกับเสี้ยมก๊กอ๋องกังมกติ๋งว่า แม้ท่านคิดว่าเปนไมตรีกันแล้วก็ควรให้ลูกชายหรือขุนนางมาเปนจำนำไว้บ้าง”

มีความเป็นไปได้ว่าเสี้ยมก๊ก หรือกรุงสุพรรณภูมิเล็งเห็นว่าสัมพันธไมตรีกับราชสำนักจีนน่าจะเป็นประโยชน์อยู่ไม่น้อย แม้ในบันทึกไม่ได้ระบุว่าพระเจ้ากรุงสุพรรณภูมิส่งเจ้าชายรัชทายาท หรือขุนนางไปยังราชสำนักจีนหรือไม่ แต่ในเวลานั้นภายในราชสำนักจีนก็คลาคล่ำไปด้วยรัชทายาทของประเทศต่าง ๆเข้ามาอยู่เป็นจำนวนมาก

ด้วยความที่กรุงสุพรรณภูมิตั้งอยู่ชัยภูมิที่ด้านหลังเป็นแผ่นดินกว้างใหญ่มีแม่น้ำสายใหญ่สายรองเป็นเส้นทางสัญจรเชื่อมต่อกันได้สะดวก ขณะที่ตอนล่างครอบครองพื้นที่ชายฝั่งทะเลมีท่าเรือการค้าอยู่เรียงราย ภายใต้กองทัพที่แข็งแกร่งทั้งภาคพื้นและภาคสมุทร ราชสำนักจีนจึงเลือกใช้วิธีปฏิบัติต่อสุพรรณภูมิ แบบถ้อยทีถ้อยอาศัยผ่อนปรน แม้ว่าในบางสถานการณ์สุพรรณภูมิเข้าไปขัดผลประโยชน์ในพื้นที่การค้าของจีน เช่นกรณีการบุกโจมตีหัวเมืองทางตอนล่างแถบมลายู ในช่วงพ.ศ.1838 ถือเป็นกลยุทธสำคัญที่ราชสำนักกรุงสุพรรณภูมิเลือกใช้วิธี“ตีก่อน..แจ้งทีหลัง”บันทึกจากเอกสารจีนระบุว่า

“เสี้ยมก๊กให้ราชทูตนำราชสาสนอักษรเขียนด้วยน้ำทองมาถวาย ด้วยเสี้ยมก๊กกับม่าลี้อี๋เอ้อก๊ก (มลายู)ทำสงครามโดยสาเหตุความอาฆาฏกัน เฉียวเถง(รัฐบาล)แต่งให้ราชทูตนำหนังสือตอบราชสาสนไปถึงเสี้ยมก๊กว่ากล่าวประนีประนอมให้เลิกสงครามกันเสียทั้งสองฝ่าย”

เครื่องเคลือบสมัยราชวงศ์หยวน
ภาพจาก : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี


กล่าวได้ว่าสุพรรณภูมิเวลานั้น ด้านหนึ่งต้องสร้างกลไกที่มั่นทางการค้าด้วยการใช้กำลังเพื่อบุกยึดพื้นที่เป้าหมายสำคัญ อีกด้านหนึ่งต้องรักษาความมั่นคงภายในอาณาจักร การมีไมตรีที่ดีต่อกรุงจีนจึงเป็นประโยชน์ต่อสุพรรณภูมิ ข้อดีคือจีนเป็นมหาอำนาจในเวลานั้นการเจริญสัมพันธไมตรีกับจีนเท่ากับมีราชสำนักจีนสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง และปัจจัยสำคัญคือกรุงจีนกับสุพรรณภูมิอยู่ห่างไกลกัน หากมีข้อพิพาทก็ต้องใช้เวลานานกว่าจะสะสางได้ และแน่นอนว่าราชสำนักจีนก็ได้ประโยชน์จากการค้าที่มีสุพรรณภูมิเป็นทัพหน้าอยู่ไม่น้อย ดังบันทึกระบุว่า

“ในแผ่นดินไต๊เต็ก...(ตรงกับปีระกา จ.ศ.659/พ.ศ.1840)เสี้ยมก๊กให้ราชทูตมาขอม้า พระเจ้าหงวนเสงจงฮ่องเต้ ประทานเสื้อกิมหลูอี้ (เสื้อยศลายทอง)ให้ไป” ราชไมตรีระหว่างสองราชสำนักยังมีมาอย่างต่อเนื่อง บันทึกระบุต่อมาว่า “แผ่นดินไต๋เต็ก (นามแผ่นดินของพระเจ้าหงวนเสงจงฮ่องเต้) ปีที่ ๔ แกจื้อลักหง้วย (ตรงกับเดือนแปด ปีชวด จ.ศ.662/พ.ศ.1843)เสี้ยมก๊กอ๋องมาเฝ้า”

การถวายส่งเสื้อยศลายทองของฮ่องเต้หงวนเสงจง ต่อเจ้ากรุงสุวรรณภูมิ เป็นการแสดงถึงการให้เกียรติอย่างสูง เสมือนเป็นการประกาศให้รับรู้กันทั่วไปว่าสุพรรณภูมิกับกรุงจีนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และยังยืนยันได้จากบันทึกว่า ตั้งแต่ปีพ.ศ.1836-1843 เจ้ากรุงสุพรรณภูมิได้เดินทางไปจีนถึง 2 ครั้ง

“สุพรรณภูมิ” ที่มีต้นทางมาอย่างยาวไกล จึงไม่ได้หายไปไหน เพียงแต่เหตุการณ์พาไป และมาก่อร่างสร้างตัวขึ้นใหม่ในพุทธศตวรรษที่ 18 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 19 นี่เอง.


**********

เอกสารอ้างอิง
-จดหมายเหตุจีนว่าด้วยกรุงสยามแต่โบราณ(เรียบเรียงจากจดหมายเหตุจีน ๕ เรื่อง),พิมพ์ครั้งแรกใน      ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๕ พิมพ์แจกในงานศพ จางวางโท พระยารณไชยชาญยุทธ (ศุข โชติกะเสถียร) ปีมเสงนพศก พ.ศ.๒๔๖๐.


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น