โพสต์แนะนำ

วันพุธที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2561

ทุ่งโบราณสองพี่น้อง (๒)


หัวน้ำขึ้น-ข้าวฟางลอย
วิญญู บุญยงค์

คนสองพี่น้องรู้ดีว่า ในราวปลายเดือน ๙ เมื่อประชากร“มด”ชักแถวขึ้นสู่เสาเรือน ก็ถึงเวลาของการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตจากฤดูแล้งเข้าสู่ช่วงหัวน้ำขึ้นของฤดูน้ำ ลำเรือที่เกยไว้บนคานแคร่ใต้ถุนเรือน จะถูกยกลากออกมาปัดกวาดขูดชันเก่าที่กะเทาะหลุดเป็นกระเปาะ แล้วนำเศษผ้าอุดไปตามร่องไม้ก่อนผสมชันยาตามร่องแนวให้ถ้วนทั่วทั้งลำเรือ พร้อม ๆกับซ่อมแซมแผ่นกระดานที่หลุดหายหรือผุพัง แล้วทาน้ำมันเคลือบจนเรือที่เก่าโทรมมีราศีขึ้นมา เตรียมพร้อมต่อการใช้งานหรืออาจครื้มใจอวดโฉมประชันกับเรือเพื่อนบ้านอย่างกลาย ๆ


โรงเลี้ยงวัวควายยกระดับขึ้นเมื่อเข้าสู่ช่วงหัวน้ำขึ้น วิถีชีวิตของคนทุ่งโบราณสองพี่น้อง
        ในภาพเป็นคอกควายบ้านนายชิด ริมถนนราษฎร์อุทิศ  ระหว่างบ้านสองพี่น้อง-อำเภอเก่า
ภาพจาก : หนังสือ "น้ำ : บ่อเกิดวัฒนธรรมไทย" ดร.สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา,สถาคมสถาปนิกสยาม,2539.

ไม่เว้นแม้แต่โรงวัวโรงควายถูกย้ายขึ้น มีสะพานทอดต่อถึงชานเรือน อีกด้านทำสะพานทางขึ้นซึ่งทางนี้จะถูกใช้งานเพียงสองครั้งในช่วงหัวน้ำขึ้นกับเมื่อน้ำแห้งแล้ว ลำไผ่กระดานเก่าถูกรื้อออกมาใช้วางพาดขวางรอดโรงเรือน พอใช้ไปจนสิ้นฤดูกาล พูดได้ว่าในหน้าน้ำนี้คือช่วงเวลาที่บรรดามนุษย์ชาวนาทำหน้าที่รับใช้วัวควาย ทั้งทำความสะอาดโรงเรือนยามกลางวัน ก่อควันไฟกาบมะพร้าวกันยุงยามพลบค่ำ และคอยหาหญ้าสดหญ้าฟางเป็นอาหารบำรุงบำเรอทั้งวัน จัดเป็นช่วงราชาของสัตว์เลี้ยงใช้งานที่แสนซื่อสัตย์ในยามนี้

อีกไม่กี่วันต่อมา พื้นดินเริ่มชุ่มชื้น แล้วน้ำก็ค่อยซึมผ่านขึ้นมาพร้อมกับไหลเอ่อมาจากทุกทิศทาง เป็นปรากฏการณ์ที่ดำรงอยู่เช่นนี้มาเนิ่นนานของทุกปี ในวาระการเปลี่ยนผ่านจากฤดูแล้งสู่ฤดูน้ำ เป็นความเคยคุ้นที่คนรุ่นปู่ย่าตาทวดคอยสอนสั่งถึงวิถีที่เปลี่ยนแปลงด้วยการลงมือทำให้ลูกหลานเห็นถึงการปรับตัวไปเป็นชาวน้ำอย่างไม่ติดขัดเคอะเขิน

ตาข่ายตะคัดที่เก็บไว้ ถูกนำมาออกมาปะชุนให้พร้อมต่อการนำไปดักปลานานาพันธุ์ ที่ขึ้นชื่อลือชาเห็นจะเป็นปลาสลิด ปลากระดี่ ปลาตะเพียน และปลาอื่น ๆก็มี แต่บางทีก็ได้งูน้ำติดมาด้วย ส่วนแม่บ้านก็เตรียมกากน้ำปลาที่เกรอะไว้สำหรับโยนอ่อยให้ปลามารวมกันแล้วใช้เบ็ดตก ในทุก ๆวันจะได้ทั้งปลาสลิด ปลาหมอ ปลาตะเพียน และอื่น ๆ ไม่ต้องไปที่ไหนไกล บางวันเพียงตกกันบนชานบ้านก็เหลือเกินแกง หรือหากรำคาญเด็กเล่นเจี๊ยวจ๊าวบนเรือน ก็พายเรือออกไปซุกตามดงข้าวอ่อยเหยื่อลงไป หย่อนเบ็ดลงสักพักก็ได้พอมื้อเย็น

ดงข้าวที่ว่า เป็นข้าวฟางลอย พันธุ์ข้าวเก่าแก่ที่มีอยู่คู่กับสยามมาแต่โบราณ ไม่มีใครตอบได้ว่าเกิดขึ้นมาเมื่อใด แต่เป็นภูมิปัญญาของบรรพชนด้านการอนุรักษ์สายพันธุ์ข้าว ที่วันนี้สูญพันธุ์ไปแล้วจากนวัตกรรมการพัฒนา

ข้าวฟางลอย เป็นพันธุ์ข้าวที่แตกปล้องทอดยอดขึ้นตามความสูงของน้ำ ภายในปล้องมีฟองน้ำเป็นเส้นใยละเอียด ช่วยให้ต้นข้าวลอยน้ำได้ แม้ว่าน้ำจะขึ้นสูงมากเท่าใดลำต้นของข้าวก็จะแตกปล้องอย่างทะเยอทะยานให้ยอดข้าวสูงกว่าน้ำเสมอ มิต่างไปจากดอกทานตะวันที่เผชิญหน้าเอาชนะแสงสุริยันอย่างไม่ลดละจนย่ำค่ำ  ฝรั่งมังค่าที่เคยเข้ามาในสยามนับแต่สมัยแผ่นสมเด็จพระนารายณ์เมื่อราว ๓๓๐ ปีก่อน อย่างนายทหารฝรั่งเศส เชอวาลิเยร์ เดอ ฟอร์บัง(Chevalier de Forbin) และราชทูตพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ซีมง เดอ ลา ลูแบร์(Simon de La Loubere) ยังต้องบันทึกเรื่องข้าวฟางลอยไว้ในจดหมายเหตุว่าเป็น “พันธุ์ข้าวมหัศจรรย์”ที่เกิดมาไม่เคยพบเคยเห็นมาก่อน


นาข้าวในทุ่งสองพี่น้องยังคงมีอยู่ แต่วิถีชีวิตและพันธุ์ข้าวดั้งเดิมเปลี่ยนไป

พันธุ์ข้าวมหัศจรรย์นี้ มิได้เป็นเพียงพืชพันธุ์ที่เติบโตสูงขึ้นตามน้ำเพียงอย่างเดียว หากแต่ยังเป็นดัชนีชี้ความเป็นไปในวิถีชาวน้ำอย่างมีสมดุล ลำต้นและก้านใบที่แข็งแรงพอต่อการต้านแรงลมบ่งบอกถึงความอุดมในแร่ธาตุที่พัดพามากับสายน้ำ ต้นข้าวที่แช่อยู่ในน้ำก่อกำเนิดตะไคร่แพงตอนซึ่งเป็นอาหารหลักของสัตว์น้ำพวกฝูงปลาที่แหวกว่ายมาจากทุกทิศทาง ผสมพันธุ์ และวางไข่โดยอาศัยกอข้าวเป็นแหล่งกำเนิดชีวิตใหม่ที่มีอาหารอันอุดมรอท่าอยู่ การถือกำเนิดและเติบโตของต้นข้าวจึงเอื้อต่อความเป็นไปในระบบนิเวศน้ำ และท้ายที่สุดก็ส่งผลประโยชน์โดยตรงต่อชาวน้ำในทุ่งโบราณสองพี่น้องถ้วนทั่วทุกตัวคน

บันทึกโบราณของชาติต่าง ๆที่เดินทางเข้ามาในแผ่นดินสยาม ครั้งสมัยแคว้นรัฐเริ่มต้นอย่างสุพรรณภูมิ-โยชฌราช นับตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๙ เป็นต้นมาจนเข้าสู่สมัยอยุธยา นอกเหนือจากไม้สัก ไม้ฝาง ช้างป่า และเครื่องเทศแล้ว “ข้าว” เป็นสินค้าส่งออกปริมาณมหาศาล ผ่านระบบการค้าสำเภาที่เข้ามาค้าขายกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน และข้าวที่ว่านั้น ส่วนใหญ่ก็คือผลผลิตจาก “ข้าวฟางลอย” นี่เอง

ผู้เฒ่าในวัยปู่ย่าเคยสาธยายตั้งข้อสังเกตว่า  “ถ้าไม่มีหน้าน้ำ(ฤดูน้ำ)ผู้คนจะอยู่กันอย่างไร จะหาผักหญ้าปูปลากุ้งหอยสดกันที่ไหน ปลาตากแห้งทั้งปลาช่อน ปลาสลิด ปลาฉลาด หรือแม้แต่กะปิน้ำปลาที่จะถนอมทำรักษาเก็บไว้กินทั้งปีจะเอามาจากไหน  ลูกหลานที่มีดกเดื่อนจะเอาอะไรที่ไหนกิน” คำพูดที่ไม่ต้องการคำตอบ กล่าวจบก็ยิ้มกริ่ม เป็นความภูมิใจแบบอิน ๆที่แฝงมากับสายตา และมุมปากอันอ่อนโยน...ของคนเมื่อครั้งกระโน้น...คนทุ่งโบราณสองพี่น้อง.


*********

1 ความคิดเห็น:

  1. ความคิดเห็นนี้ถูกลบโดยผู้ดูแลระบบของบล็อก

    ตอบลบ