โพสต์แนะนำ

วันพฤหัสบดีที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2561

ทุ่งโบราณสองพี่น้อง (๓)



ว่ายน้ำได้..พายเรือเป็น
วิญญู บุญยงค์

ในช่วงสมัยก่อนจนราวปีพ.ศ. ๒๕๒๐ บริเวณพื้นที่ตอนล่างของตัวจังหวัดสุพรรณบุรี ครอบคลุมเขตอำเภอบางปลาม้า และอำเภอสองพี่น้อง พื้นที่ลุ่มที่มีชื่อเป็นทางการว่า”ทุ่งโบราณสองพี่น้อง”รถยนต์ยังมีน้อยมาก ถนนเป็นเส้นเล็ก ๆที่พัฒนาขึ้นมาจากทางเกวียน สองข้างถนนเป็นแนวนาข้าวเขียวขจี เมื่อเข้าสู่ฤดูน้ำต้นข้าวแตกปล้องสูงขึ้นตาม ทางถนนหนทางจึงมีสภาพเป็นคลองไปในตัวมีต้นข้าวบอกเป็นเส้นแนว ทั่วท้องทุ่งโบราณเต็มไปด้วยน้ำ ไม่ต่างไปจากทะเลน้ำจืด มองไปสุดลูกหูลูกตาก็ยังเป็นน้ำ ที่เห็นเป็นแนวคั่นอยู่บ้างก็เป็นส่วนของหมู่บ้านและโคกดอน

เรืออีแป่ะหน้าเรือน พาหนะพื้นบ้านที่มีอยู่ทุกครัวเรือน
ภาพจาก : กฤติยา กิตติสุขเจริญ

หน้าน้ำในทุ่งโบราณสองพี่น้อง น้ำขึ้นและทรงตัวอยู่ ๓ เดือนตั้งแต่เดือน ๑๒(พฤศจิกายน) จนถึงเดือนยี่(มกราคม) สภาพพื้นที่ทั่วไประดับน้ำจะอยู่ที่ประมาณ ๒ เมตร แต่บางแห่งก็ลึกตื้นตามสภาพพื้นที่ลุ่มมากน้อย เด็ก ๆ จะถูกสอนให้”ว่ายน้ำได้”มาตั้งแต่วัยเริ่มเดิน ข่าวคราวเรื่องเด็กจมน้ำจึงไม่ค่อยปรากฏ โตขึ้นมาหน่อยก็ถูกสอนให้“พายเรือเป็น” 

ทั้ง “ว่ายน้ำได้”และ “พายเรือเป็น” เป็นสิ่งสำคัญลำดับต้นที่ผู้ใหญ่คอยจัดแจงพร่ำสอน เพราะทั้งสองสิ่งต้องถูกหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวสำหรับคน ๆหนึ่งที่เกิดและเติบโตมาในวิถีนี้  เป็นการลดภาระความห่วงใยความปลอดภัยของชีวิตเด็ก ๆในยามที่บางบ้านต้องทิ้งลูกหลานไว้ตามลำพัง หากตกน้ำก็พอจะกะทุ่มแหวกว่ายขึ้นมาได้ ส่วนการ“พายเรือให้เป็น” ถือเป็นศิลปะเฉพาะที่ต้องวาดฝีพายจ้วงลงน้ำแบบตั้งฉาก แล้วโน้มด้ามพายเข้าหาตัว พร้อม ๆไปกับการเคลื่อนตัวของลำเรือ เมื่อจะพายจ้วงน้ำไปสุดปลาย ก่อนยกขึ้นผู้พายจะค่อย ๆหงาย ใบพายให้ทแยงเป็นหางเสือคอยบังคับเรือให้ไปตามทิศทางที่ต้องการ  

ภาพชินตาที่ผู้เฒ่าแม่แก่ไม่เคยปล่อยเวลาให้เดินเล่นไปวัน ๆ
ภาพจาก : กฤติยา กิตติสุขเจริญ

พื้นบ้านเขาเรียก “พายคัด” เรื่องหัดพายเรือ นับเป็นภาระปากเปียกปากแฉะสำหรับผู้ใหญ่ โดยเฉพาะผู้ใหญ่เป็นผู้หญิงอย่าง ย่า ยาย หรือ แม่ ที่คอยตะโกนสอนจากชานเรือน ใครพายผิด หรือพายงัด ทั้งจอดเรือเทียบแล้วหัวเรือกระแทกชานเรือน เป็นต้องถูกตะโกนก่นด่าแบบไม่ออมเสียง เรียกได้ว่าด่ากันจนน้ำหมากกระจาย เป็นที่ขบขันของบรรดากองเชียร์เด็ก ๆในวัยเดียวกัน

ในทุ่งย่านบ้านสองพี่น้อง เรือที่ใช้งานของแต่ละบ้าน มีอยู่ด้วยกันหลายประเภท แยกออกไปตามลักษณะการใช้งาน บรรดาแม่บ้านหรือย่ายายนิยมใช้เรือ “อีแป่ะ” หรือ “เรือป๊าบ”คล้าย“เรือแตะ” เป็นเรือหัวท้ายสอบ ความยาวเรียกกันเป็นศอกเช่น ๖ ศอก ๘ ศอก ท้องเรือกลมแบนกว้าง  มีกระทงหัวท้ายด้านละ ๒ กระทง ระดับสูงเกือบชิดขอบเรือ ตรงกลางลดระดับปูแผ่นกระดานตามทางยาวของเรือขวางกับกระดูกงู นั่งได้ ๓-๖ คนตามขนาดเรือ บางทีชาวบ้านที่ค้าขายตามลำพังคนเดียว เช่นขายผักที่ไปรับมาจากตลาด ขายขนมปลากริมไข่เต่า หรือแม้แต่ก๋วยเตี๋ยวเรือ ก็เป็นเรือประเภทนี้ เพราะพายซอกแซกเข้าไปในหมู่บ้านได้ง่าย

ตลาดบางลี่ย่านการค้าโบราณ ร้านค้าย้ายขึ้นชั้น ๒ ทางเดินต่อเชื่อมตลอดแนว
            ในอดีตหน้าร้านเป็นที่จอดเรือพายชาวบ้าน มีเรือรับจ้างหางยาวคอยให้บริการ
                 ภาพจาก: "น้ำ:บ่อเกิดวัฒนธรรมไทย"ดร.สุเมธ ชุมสายฯสมาคมสถาปนิกสยาม,กรุงเทพฯ.2539.

หากเป็นเรือสำหรับใช้งานบรรทุกของหรือใช้เกี่ยวหญ้ามาเลี้ยงวัวควาย อาจใช้เรือประเภทเดียวกันแต่มีขนาดใหญ่กว่ายาวประมาณ ๙-๑๑ ศอก แต่บางทีก็ใช้ “เรือแตะ”ที่มีการเสริมกาบให้สูงขึ้นมาอีกเพื่อให้บรรทุกของได้ปริมาณมากหรือกันไม่ให้ของตกหล่น ส่วนมากพ่อบ้านหรือลูกชายวัยทำงาน นำไปใช้ในชีวิตประจำวัน

ยังมีเรืออีกประเภทหนึ่งเรียกว่า “เรือบด” เป็นเรือที่มีลักษณะเพรียว มีหงอนเรือหัวท้ายต่อด้วยกระทง  ตรงกลางลดระดับปูพื้นขวางกระดูกงูท้องเรือแคบ นั่งได้ไม่เกิน ๒ คน ใช้งานเวลาที่ต้องการความรวดเร็วในการเดินทาง นอกจากนั้นยังมีเรือลักษณะเดียวกัน แต่นั่งได้คนเดียวคือ “เรือเข็ม”เดินทางได้เร็วกว่า เพราะมีขนาดเล็กเรียวและน้ำหนักเบา เรือทั้งสองประเภทนี้ผู้ใช้ต้องมีความคล่องตัว เพราะเรือโคลงง่าย แต่หากใช้เป็นแล้ว ในบรรดาเด็ก ๆถือว่า เท่ห์อย่าบอกใคร

ยังมีเรือประเภทอื่น ๆ ที่ใช้งานตามอาชีพเฉพาะ เช่นเรือกระแชง เรือเอี้ยมจุ๊นแบบมีหลังคาโค้ง เป็นเรือขนาดใหญ่สำหรับบรรทุกสินค้าจำนวนมาก เช่นข้าว ถ่าน เกลือ หรือผลิตผลชาวไร่จำพวกแตงโม สมัยที่หลวงพ่อสด วัดปากน้ำภาษีเจริญ ครอบครัวของท่านมีอาชีพค้าขายข้าวก็ใช้เรือประเภทนี้  แต่โดยมากในฤดูน้ำเรือประเภทนี้จะใช่เส้นทางที่เป็นลำคลองเดิม ในทุ่งนี้ก็จะใช้คลองสองพี่น้องเพราะท้องน้ำลึก ต่อเนื่องออกไปแม่น้ำจีน แล้วลัดเลาะออกไปได้อีกหลายเส้นทางทั้งจังหวัดใกล้เคียงและเมืองบางกอก

คลองสองพี่น้อง ต้นทางมาจากแม่น้ำจรเข้สามพัน เป็นเส้นเลือดสายหลัก
              ของชาวทุ่งโบราณ สองพี่น้อง ตลอดทางมีลำคลองแยกย่อยอีกหลายสาย
ภาพจาก : แดงต้อย มาลี

ในอดีต วิถีน้ำกับเรือพายเป็นของคู่กัน จนกล่าวได้ว่า ไม่มีใครที่ว่ายน้ำไม่เป็น เช่นเดียวกับไม่มีใครที่พายเรือไม่ได้ เป็นความเคยคุ้นและหอมจรุงไปด้วยกลิ่นไอของท้องน้ำตั้งแต่รุ่งเช้ายันย่ำค่ำ อันเป็นวิถีรายวันของชาวคุ้งย่านในแถบบางนี้ 

แต่ก็มีบางครั้งที่สีสันแห่งวันเกิดขึ้นอย่างไม่ตั้งใจ ด้วยแม่บ้านและลูกหลาน ตระหนกกับท่าทีพายเรือแบบจ้ำพรวดของผู้เป็นพ่อมาแต่ไกล พวกเขาคงสงสัยว่าเหตุใดจึงต้องรีบร้อนจ้ำจ้วงน้ำขนาดนั้น จนเรือมาถึงเรือน ก็ได้คำตอบว่า ระหว่างพายกลับจากวัดมา ดันมีฟองพรายน้ำขนาดลูกมะพร้าวผุดขึ้นจนเรือเอียง บอกพรางขณะที่ผู้เป็นพ่อยังยืนเกร็งขนลุกขนชันอย่างเสียทรง แต่แม่บ้านและลูกหลานกลับหัวร่อขำชอบอกชอบใจ เพราะเข้าใจได้ว่า..ตะเข้คงเหงาใจ..จึงผุดพรายขึ้นมาทายทัก..!


*********



1 ความคิดเห็น: