โพสต์แนะนำ

วันศุกร์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2561

ทุ่งโบราณสองพี่น้อง (๔)


สาวสองพี่น้อง..หัวกระไดไม่แห้ง
วิญญู บุญยงค์

ผู้หญิงชาวท้องทุ่งสองพี่น้องนับแต่สมัยโบราณถูกเลี้ยงดูมาอย่างนี้ จนเข้าตำราหัวกระไดไม่แห้งเช่นเดียวกับหญิงงามหลายพื้นที่ในแผ่นดินสุพรรณภูมิ

นับแต่โบราณมาจนถึงราวพ.ศ.๒๕๒๐ วิถีชีวิตชาวลุ่มน้ำในทุ่งโบราณสองพี่น้อง อยู่ร่วมกันแบบครอบครัวขยาย(Extended Family) มีคนรุ่นตายาย พ่อแม่ ลูก และหลาน อยู่ในบ้านเดียวกัน จะว่าไปแล้วก็เป็นวิถีสามัญของชาวตะวันออกที่มีความสัมพันธ์ระบบเครือญาติค่อนข้างใกล้ชิด หากจะไล่เรียงลำดับการขยายของครอบครัว อาจตั้งต้นได้จากคนรุ่นพ่อและแม่ มาร่วมกันใช้ชีวิตด้วยกัน เมื่อมีลูกก็เลี้ยงดูกันไป ส่วนใหญ่แล้วมีลูกมากตั้งแต่ ๔ คนไปจนถึง ๗ คน บางบ้านอาจมีถึง ๑๐ คนไปจนถึง ๑๒ คนก็ยังมี

เพียงลงจากเรือน ผักปลาพืชพันธุ์ตามธรรมชาติมีอยู่อย่างเหลือเฟือในลุ่มน้ำโบราณ
ภาพจาก : Preaw Kritiya

การมีลูกมาก ไม่ได้เป็นภาระมากมายสำหรับคนในสมัยนั้น เพราะคำพูดที่ว่า “ทรัพย์ในดิน สินในน้ำ” หรือ “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว”ยังเป็นความจริงอยู่ ด้วยทุกหนแห่งยังมีทรัพยากรธรรมชาติอยู่อุดมสมบูรณ์ แม้ไม่มีเงินก็สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ลูกเด็กเล็กแดงที่เกิดมาได้สารอาหารจากนมมารดาเป็นหลัก เติบโตขึ้นมามีสุขภาพร่างกายแข็งแรง พอเริ่มรู้ประสาก็ติดตามผู้ใหญ่ออกทุ่งออกท่า หาผักหญ้าปลามาเป็นอาหารในครัวเรือน โตขึ้นก็รู้จักทำนาเก็บตุนข้าวเข้ายุ้งฉางกินพอชนปี ที่เหลือก็ขายออกไปเป็นรายได้เป็นกอบเป็นกำเข้ามาสู่ชานเรือน

เมื่อลูกชายเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ พ่อแม่จึงทำหน้าที่สู่ขอลูกสาวจากบ้านอื่นอาจเป็นคนที่ผู้ใหญ่หมายตาไว้ด้วยเหตุผลทางฐานะทางตระกูลหรือความเหมาะสมอื่น ๆในภาพรวม แต่โดยมากลูกชายก็มักหมายมั่นบางคนไว้ก่อนแล้ว หากฝ่ายหญิงมีใจฝ่ายชายก็ให้พ่อแม่ไปสู่ขอ แต่มีไม่น้อยที่ฝ่ายหญิงมี แต่พ่อแม่ของเธอเห็นตรงกันข้าม อาจด้วยเหตุผลของฐานะ ชาติตระกูล หรือเสียงเล่าลือของฝ่ายชายไม่เข้าตา เช่นเกรกมะเหรกเกเร หรือขี้เกียจแบบ“ไม่เอาถ่าน” และมีไม่น้อยจากเหตุผลหน้าตาขี้เหร่ เข้าทำนอง “ได้ลูกเสียหลาน” พ่อแม่ฝ่ายหญิงบางรายจึงทำตัวเป็น”ตะเข้ขวางคลอง” ทั้งวางท่า ทั้งขัดขวาง อาจถึงขั้นไล่ตะเพิดก็มีอยู่ไม่น้อย

นอกจากความชำนาญทางเกษตรกรรม ฝีมือเชิงช่างไม้ก็มีอยู่ในวิถีคนลุ่มน้ำ
ภาพจาก : Preaw Kritiya

            หากเป็นอย่างนี้ก็ต้องใช้เวลาสั่งสมความดีขจัดจุดขวางตาเพื่อให้ผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงเชื่อมั่น ยิ่งหากเป็นการชอบฝ่ายหญิงเพียงฝ่ายเดียว หรือมีคู่แข่งที่มีภาษีดูจะเหนือกว่า การสั่งสมความดีเพื่อรอวันฟ้าเปิดดูจะมีแรงบันดาลใจน้อยกว่า ชายกล้าแห่งท้องทุ่งจึงยุติปัญหาด้วยการ“ฉุด” หรือหากฝ่ายหญิงมีใจแต่พ่อแม่ไม่ยกให้เสียที ผสมกับความใจร้อนที่พร้อมจะ“ชิงสุกก่อนห่าม” ก็จะเกิดภาวะ“หนีตาม” เข้ามาแทน

            และทันทีที่เหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้น เสียงลือเสียงเล่าอ้างก็กระหึ่มไปทั้งบาง เป็น ท๊อก ออฟ เดอะ ทาวน์ ที่ต้องใช้เวลานานวันกว่าเสียงนั้นจะทุเลา ถึงเวลานั้นจึงจะมีการขอขมาลาโทษพ่อแม่ฝ่ายหญิง และมีไม่น้อยที่มีหลานเกิดใหม่มาร่วมเป็นประจักษ์พยานด้วย และหลานใหม่นี่แหละมักเป็นกาวใจได้เป็นอย่างดี คนที่เพิ่งเริ่มเป็นตายายคน ส่วนใหญ่มักใจไม่แข็งพอ

หลังแต่งงานหรือได้อยู่กินกันด้วยเหตุผลใดก็ตาม ส่วนใหญ่ลูกชายซึ่งเป็นเจ้าบ่าวต้องไปอยู่กับฝ่ายหญิง และกลายไปเป็นกำลังสำคัญช่วยครอบครัวฝ่ายหญิงทำมาหากิน อาจเป็นด้วยเหตุนี้กระมัง ฝ่ายชายที่เป็นเจ้าบ่าว จึงดูจะเป็น “บ่าว” สมกับตำแหน่ง เพราะต้องไปทำงานรับใช้ฝ่ายหญิงและครอบครัวของเธอ ดูไปแล้วก็เป็นคำที่เหมาะสมดี ยิ่งฝ่ายชายผ่านการบวชเรียนมาแล้ว ก็จะมีสติยับยั้งชั่งใจ หากมีปัญหาก็ค่อยคิดค่อยทำไม่ตัดสินใจอะไรบุ่มบ่าม ความเป็นผู้ชายยังมีความแข็งแรง มีกำลังทำงานได้มากกว่า หากขยันขันแข็งก็จะเป็นที่โปรดปรานของพ่อตาแม่ยาย พอให้ภรรยาได้หน้าได้ตาไปด้วย มีหลายครอบครัวที่สร้างตัวได้เพราะมีลูกเขยขยันและเป็นคนดี ด้วยคุณสมบัติแบบนี้ บวกกันมีภรรยาที่เป็นลูกอยู่เรือนกับพ่อแม่ ลูกเขยประเภทนี้มักก้าวขึ้นสู่ความเป็น“เจ้าเรือน”แทนพ่อฝ่ายหญิงที่ร่วงโรยไปตามวัย

ฝาเรือนลายปะกนในเรือนสะอาดเอี่ยมเนียนตา ผ่านการปัดเช็ดถูมาเป็นอย่างดี
ภาพจาก : Preaw Kritiya

สังคมลุ่มน้ำในท้องทุ่งโบราณ ผู้ชายเป็นใหญ่ในการทำมาหากิน ส่วนฝ่ายหญิงเป็นใหญ่ในเรือน แม้ไม่มีกฎหมายประกาศใช้บังคับ แต่ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในเรือนชาน เว้นแต่ฝ่ายชายไปได้เมียเป็นหญิงมีฐานะทางบ้านหรือมีกิจการที่สร้างรายได้มาก เมื่อนั้นฝ่ายหญิงมักเสียงดังกว่า แต่ในวิถีทั่วไปของสังคมท้องถิ่น ผู้หญิงจะได้รับการเลี้ยงดูจากผู้เป็นมารดาให้เป็นแม่ศรีเรือน บ้านเรือนแต่ละหลังแม้ฐานะต่างกันแต่มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือความสะอาดสะอ้านของบ้านเรือน พื้นกระดานถูกถูทุกวันจนขึ้นมัน ฝาโอ่งและขัน ไม่เว้นแม้แต่โอ่งลายมังกรเซี่ยงไฮ้ก็ต้องได้รับการขัดถูจนมันวาวเช่นกัน  สิ่งของเครื่องใช้ถูกจัดวางอย่างเป็นระเบียบ ทั้งกิริยามารยาท ทั้งเสน่ห์ปลายจวักที่ลูกผู้หญิงจะได้รับการพร่ำสอนจากผู้เป็นแม่ผู้เป็นต้นแบบจนชำนาญ จนมีคำพูดติดปากกันมาว่า “ดูช้างให้ดูหาง ดูนางให้ดูแม่” ผู้หญิงชาวท้องทุ่งสองพี่น้องนับแต่สมัยโบราณถูกเลี้ยงดูมาอย่างนี้ จนเข้าตำรา“หัวกระไดไม่แห้ง” เช่นเดียวกับหญิงงามหลายพื้นที่ในแผ่นดินสุพรรณภูมิ

โอ่งน้ำฝาโอ่งขันน้ำหน้าชานเรือน เป็นด่านแรกที่บอกถึงคุณสมบัติของผู้อยู่เรือน
ภาพจาก : Preaw Kritiya

ความภาคภูมิใจประการหนึ่งของคนเป็นพ่อแม่ คือการได้เป็นปู่ย่าหรือตายาย มีหลานตัวเล็ก ๆมาให้เชยชม เป็นทั้งค่านิยมและความสุขที่มาพร้อมกัน ถึงเวลานี้คนที่เป็นพ่อแม่จะต่อเพิงพะไลยื่นออกจากตัวเรือนเดิมให้มีพื้นที่เฉพาะสำหรับลูกสาวลูกเขย แต่หากฐานะดีขึ้นมาหน่อยก็ให้แยกไปปลูกเรือนใหม่ใกล้กับเรือนใหญ่ ให้อยู่ในอาณาบริเวณเดียวกัน เป็นจุดเริ่มของครอบครัวขยาย และจะขยายในรุ่นหลาน รุ่นเหลน และรุ่นต่อ ๆไป

ความสุขของคนทุ่งโบราณสองพี่น้อง คือการอยู่กันพร้อมหน้าทุกมื้ออาหาร เป็นการไล่เรียงหน้าตาลูกหลานว่ามากันครบหรือยัง จากนั้นกับข้าวทั้งผัดเผ็ดปลาย่างน้ำพริกผักต้มกับอาหารชามโปรดต้มยำปลาช่อนมีไข่ปลาลอยฟ่องแทรกตัวในช่องว่างชิ้นเนื้อพุงมันปะปนท่อนตะไคร้ใบมะกรูด จะถูกลำเลียงวางอยู่กลางวง ขาดไม่ได้คือน้ำปลาถ้วยใหญ่มีกระเทียมหอมพริกหยวกย่างไฟถ่านบีบมะนาวแล้วใส่ทั้งซีกตามลงไป...เป็นอาหารมื้อใหญ่ในวันวาน ที่แม้จะผ่านมาเนิ่นนาน แต่ใครต่อใครหลายคน...ยังรำลึกเห็นเป็นภาพจำ...จนวันนี้...!

*********

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น