โพสต์แนะนำ

วันอังคารที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2561

ทุ่งโบราณสองพี่น้อง (๑)


ท่าจีน-จรเข้สามพัน
วิญญู บุญยงค์

ทุ่งโบราณสองพี่น้องในอดีต บริเวณวัดสองพี่น้อง
ภาพถ่ายเก่าจากศาลาการปรียญวัดสองพี่น้อง
    
         สองพี่น้อง เป็นชื่อของแหล่งย่านนามบางและผู้คนที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่ราบลุ่มแอ่งกระทะโบราณ อันเกิดจากอิทธิพลการเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลกที่ยุบตัวลงมานาน จนกลายเป็นแอ่งพื้นที่ลุ่มขนาดใหญ่รองรับมวลน้ำมหาศาลที่ไหลบ่ามาแต่ละปี

ในราว ๒,๐๐๐ ปี ขณะที่ทะเลได้ถอยร่นลงไปในระดับใกล้เคียงกับขอบอ่าวไทยในปัจจุบัน  ประกอบกับอาจเกิดปรากฏการณ์แผ่นดินไหวหรือการยุบตัวของเปลือกโลก ส่งผลให้ป่าโบราณกลายเป็นแอ่งกระทะหรือทะเลสาบขนาดใหญ่กักเก็บน้ำที่ไหลมาจากทางตอนบนของประเทศตามเส้นทางของแม่น้ำท่าจีน และยังมีอีกส่วนหนึ่งซึ่งเป็นส่วนหลักที่ไหลมาจากแม่น้ำแม่กลองโดยมีต้นทางจากเขตภูเขาแถบตะวันตกทั้งจากประเทศเมียนมาร์และพื้นที่ภูเขาในจังหวัดกาญจนบุรี ทุ่งโบราณสองพี่น้องจึงดำรงอยู่ภายใต้อิทธิพลของลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลอง จนเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ทางด้านทรัพยากรน้ำและแร่ธาตุที่ถูกพัดพามากับสายน้ำ กลายเป็นแหล่งพืชพันธุ์ธัญญาหารและสัตว์น้ำที่หล่อเลี้ยงผู้คนมายาวนาน

ทะเลข้าวในทุ่งสองพี่น้อง ภาพชินตาที่มาแต่อดีต

การยืนยันถึงการเป็นแหล่งอาศัยของผู้คน เห็นได้จากเครื่องมือเครื่องใช้โบราณจากแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่กระจายตัวตามแนวสันขอบกระทะและพื้นที่สูงพ้นน้ำ ด้านทิศเหนือและทิศตะวันตกพบในเขตตัวเมืองสุพรรณบุรี เมืองอู่ทอง ไปจนถึงบ้านดอนตาเพชรในเขตอำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี ด้านทิศเหนือไปทางตะวันออกพบในเขตบางปลาม้า และอำเภอสองพี่น้อง ส่วนทางตอนใต้พบในเขตพื้นที่ดอนทั้งในเขตอำเภอสองพี่น้อง ขยับร่นออกไปในเขตอำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม โดยเกิดจากแม่น้ำจรเข้สามพันที่ต่อเนื่องมาจากอิทธิพลของลุ่มน้ำแม่กลองจากต้นทางจังหวัดกาญจนบุรี

พื้นที่ดอนในเขตอำเภอสองพี่น้อง  บริเวณวัดคลองมะดันเป็นขอบกระทะน้ำท่วมไม่ถึง

การเป็นพื้นที่แอ่งกระทะและพื้นที่แอ่งรับน้ำจากลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลอง เห็นได้จากในทุกปีราวปลายเดือนสิงหาคม(เดือน ๙ ไทย) มวลน้ำจากทางเหนือไหลลงมาตามแม่น้ำเจ้าพระยาแล้วแยกตัวเข้าแม่น้ำท่าจีนบริเวณปากคลองมะขามเฒ่า เขตจังหวัดชัยนาท แล้วไหลลงมาเข้าเขตสุพรรณบุรีผ่านอำเภอเดิมบางนางบวช สามชุก ศรีประจันต์ เมืองสุพรรณบุรี บางปลาม้า และสองพี่น้อง เรียกบริเวณที่น้ำไหลผ่านจังหวัดสุพรรณบุรีว่า “แม่น้ำสุพรรณ” อีกทางหนึ่งไหลมาจากแม่น้ำจรเข้สามพัน จากต้นทางปากแม่น้ำแม่กลอง ไหลย้อนขึ้นบริเวณเขื่อนวชิราลงกรณ์เรียกว่า “ลำน้ำทวน” แล้วไหลจากตอนใต้ขึ้นสู่ตอนเหนือที่เรียกกันว่าสายน้ำมหัศจรรย์ ตลอดเส้นทางเรียกว่า แม่น้ำจรเข้สามพัน มีลำน้ำสายเล็กแตกตัวแยกย่อยเป็นแพรกออกไปอีกหลายเส้นทาง

ทางแถบตะวันออก เส้นทางสายหลักลงไปทางอำเภอกำแพงแสนเขตจังหวัดนครปฐม จนไปถึงเมืองเก่านครปฐม ถัดขึ้นมาแยกตัวทางด้านตะวันออกเช่นกันบริเวณบ้านหัววัง ตำบลบ่อสุพรรณลงไปทางทิศใต้ของ อ.สองพี่น้องผ่านตำบลท่าไชย ตำบลศรีสำราญ เข้าคลองมะดัน แล้วไปชนกับคลองสองพี่น้องที่บ้านบางใหญ่ฝั่งตรงข้ามวัดสองพี่น้อง

คลองสองพี่น้อง บริเวณด้านใต้ตลาดบางลี่
จากบริเวณบ้านหัววัง บ่อสุพรรณ แม่น้ำจรเข้สามพันยังไหลย้อนขึ้นไปจนถึงตำบลจรเข้สามพัน อำเภออู่ทอง แล้วแยกตัวออกเป็นสองเส้นทาง โดยตอนบนแยกตัวจากบริเวณเยื้องกับร.พ.อู่ทอง แตกเป็นคลองย่อยขึ้นไปถึงขอบคูเมืองโบราณอู่ทอง ผ่านศาลเจ้าพ่อพระยาจักร วัดอู่ทอง จนไปชนกับคลองคุณฑีที่รองรับน้ำจากส่วนนี้ไหลไปตามเส้นทางลำน้ำท่าว้าออกไปยังเขตอำเภอสามชุก จากจุดแยกคลองคุณฑีในอำเภออู่ทองน้ำยังคง ไหลลงไป ผ่านวัดยางยี่แส วัดบ้านกล้วย และวัดไผ่ลูกนก

ส่วนเส้นทางสายล่างซึ่งเป็นสายหลักตรงจุดเยื้องกับร.พ.อู่ทอง หักขวาไปทางตะวันออก มีชื่อเรียกตามย่านที่ผ่านเช่น คลองนาลาว คลองบางบอน ไปชนกับเส้นบนบริเวณหมู่ที่ ๕ ตำบลวัดโบสถ์ อำเภอบางปลาม้า นับจากจุดนี้เริ่มเรียกว่า “คลองสองพี่น้อง” ผ่านลงไปในเขตอำเภอสองพี่น้อง ตามศาสนสถานรายทางเช่นวัดดอนสงวน วัดบางบอน วัดท่าจัด วักโคกงูเห่า ตลาดบางลี่ (แหล่งการค้าชุมชนชาวจีนโบราณ) วัดแม่พระประจักษ์(แห่งภูเขาคาร์แมล) วัดสองพี่น้อง วัดทองประดิษฐ์ วัดบางสาม (ชุมชนตลาดเก่าแก่) จนไปชนกับแม่น้ำสุพรรณ(ท่าจีน)บริเวณตำบลบางเลน ทางตะวันออกของอำเภอสองพี่น้อง

คลองสองพี่น้องกับสภาพบ้านเรือนที่เปลี่ยนไป

ทุ่งโบราณสองพี่น้องจึงเป็นแหล่งรับน้ำจากอิทธิพลของสองลุ่มน้ำสำคัญ  เกิดกลายเป็นทะเลสาบขนาดใหญ่ ประกอบกับเป็นช่วงเวลาที่น้ำทะเลหนุน บริเวณพื้นที่ลุ่มจึงเริ่มเจิ่งนองในปลายเดือน ๙(สิงหาคม) พร้อมกับการปรับเปลี่ยนในวิถีชีวิตผู้คนที่เริ่มเขาสู่ฤดูน้ำ นับจากนี้ไปอีกนานจนถึงเดือนมีนาคม(เดือน ๔ ไทย)ของปีถัดไป

ระหว่างนี้ชาวนาจึงกลายไปเป็นชาวน้ำ คลื่นชีวิตทุกโมงยามเลื่อนไหลไปตามกลไกธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลง มันเป็นอย่างนั้น และเป็นอย่างนั้นมา...เนิ่นนาน.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น