โพสต์แนะนำ

วันศุกร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2561

พระสมเด็จฯ ๑๘

พระสมเด็จฯวัดระฆัง

พิมพ์ใหญ่ เกศทะลุซุ้ม



พระสมเด็จฯวัดระฆัง พิมพ์ใหญ่เกศทะลุซุ้ม จัดอยู่ในแบบพิมพ์ที่ ๔ ปกติจะมีอยู่ด้วยกันหลายแบบ สำหรับองค์ที่นำมาลงนี้ กดพิมพ์ได้ลึก จึงปรากฏเส้นสายทุกตำแหน่งชัดเจน เส้นบังคับพิมพ์ด้านซ้ายองค์พระลงมาจรดเส้นซุ้มบริเวณกลางพระพาหา(แขนท่อนบน) ส่วนเส้นบังคับพิมพ์ขวาลงไปจรดปลายเส้นซุ้มด้านล่าง เส้นซุ้มใหญ่หนาแบบผ่าหวาย ด้านในเนื้อหดตัวเข้าใต้เส้น 



พระพักตร์แบบสุโขทัย พระกรรณ(หู)ซ้ายขวาติดรำไร โคนพระเกศใหญ่ ขึ้นตรงเบี่ยงซ้ายเล็กน้อยไปจรดเส้นซุ้มทะลุออกไปเพียงเล็กน้อยบริเวณกึ่งกลางเส้นบังคับพิมพ์บนกับขอบซุ้มด้านนอก พระศอ(คอ)ปรากฏให้เห็น พระอังสา(บ่า)ด้านซ้ายบางและสูงกว่าด้านขวา  ซอกพระพาหาลึก ลำพระองค์ทรงกระบอกเอวผาย ปลายพระกัประ(ข้อศอก)ซ้ายมีเส้นชายจีวรลากลงไปจรดพระชานุ (เข่า) พระเพลา(ตัก)เว้าลงตามแนวพระชงฆ์(แข้ง)ซ้ายวางแนบด้านหน้า ปลายพระบาทซ้ายจรดด้านล่างพระชานุขวาเป็นร่องเฉียง




ฐานชั้นที่ ๓ วางตรงขนานกับพระเพลา ปลายด้านซ้ายเอียงสูงขึ้น ชั้นที่ ๒ วางขนานด้านบน ปลายด้านซ้ายยกสูงขึ้น ตอนล่างปรากฏขาโต๊ะชัดเจนกว่าด้านขวา ฐานชั้นที่ ๑ วางนอนปลายทั้งสองด้านเฉียงลงเล็กน้อย ตรงกลางเป็นแอ่งขนานกับฐาน พื้นภายในซุ้มลึกกว่าภายนอกเล็กน้อย ส่วนสภาพพื้นผิวพระโดยรวมออกสีขาวอมเหลือง ผิวเนียนนุ่มแนบสนิท บางส่วนปรากฏรอยหลุมจากการหดตัวของเนื้อพระตามธรรมชาติ




            ด้านหลัง ปรากฏร่องรอยธรรมชาติ ตามการหดตัวของเนื้อทั้งปูไต่ หนอนด้น รากผักชี  ร่องรอบเม็ดมวลสาร และโพรงเกสร การคลายตัวของน้ำมันตังอิ้วด้านบนลงมาถึงกลางมากกว่าด้านล่างเล็กน้อย เนื้อพระจัดว่าละเอียดและขาว ทำให้ธรรมชาติโดยรวมแลดูสะอาดตา



ด้านข้างกรอบทุกด้าน ปรากฏร่องรอยการปาดเฉียง ที่ทำให้เม็ดมวลสารครูดไปกับเนื้อตลอดแนว จนเนื้อพระหดตัวเป็นหลุมแอ่งโดยทั่วไป จัดเป็นพระสมเด็จฯวัดระฆัง ที่เนื้อหามวลสาร การกดพิมพ์ลึก  และการตัดขอบพิมพ์เป็นไปอย่างพอดี ควรค่าต่อการศึกษาอีกองค์หนึ่งครับ.


ศึกษาเพื่อการอนุรักษ์วัตถุโบราณ
........จันทร์พลูหลวง............

*********

ข้อมูลประกอบบทความ
-หนังสือสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) : ผู้ทรงคุณวิเศษเมตตามหาบารมี”.2554.



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น