โพสต์แนะนำ

วันศุกร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2561

พระกริ่ง ๒


พระกริ่งบาเก็ง(เล็ก)
ขนาดย่อม วรรณะเหลือง

เรื่องราวของพระกริ่งบาเก็ง ได้นำมาลงไว้แล้วใน “พระกริ่ง ๑” ท่านผู้สนใจหากต้องการความต่อเนื่อง ก็สามารถย้อนกลับไปดูได้ในตอนแรก ซึ่งได้กล่าวถึงพระกริ่งบาเก็งใหญ่มีวรรณะสีดำขนาดใหญ่กว่าวรรณะสีเหลือง  ซึ่งในที่นี่จะกล่าวถึงเฉพาะวรรณะสีเหลือง

พระกริ่งบาเก็ง หรือ กริ่งปทุมสุริยวงศ์ ที่เป็นต้นแบบการสร้างพระกริ่งในสยาม มีอยู่ ๒ แบบ ตามที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงนิพนธ์เรื่องราวของพระกริ่งไว้ใน “นิราศนครวัด” โดยตอนหนึ่งทรงระบุถึงสมเด็จพระอุปัชฌาย์ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยลงกรณ์ ได้ทรงอธิบายว่า





“...เมื่อครั้งรัชกาลที่ ๔ พระอมรโมลี(นพ)วัดบุบผาราม ลงมาส่งมหาปานราชาคณะธรรมยุติในกรุงกัมพูชาองค์แรก ซึ่งต่อมาได้เปนสมเด็จพระสุคนธ์นั้น มาได้พระกริ่งขึ้นไปให้คุณตา (พระยาอัพภันตริกามาตย์) ท่านให้แก่เราแต่ยังเปนเด็กองค์หนึ่ง เมื่อเราบวชเณรนำไปถวายเสด็จพระอุปัชฌาย์(สมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์) ทอดพระเนตร์ ท่านตรัสว่า เปนกริ่งพระเจ้าปทุมสุริวงศแท้ และทรงอธิบายต่อไปว่าพระกริ่งพระเจ้าปทุมสุริวงศนั้นมี ๒ อย่าง เปนสีดำอย่าง ๑ เปนสีเหลืององค์ย่อมลงมากว่าสีดำอย่าง ๑ ...”


พระกริ่งบาเก็งนอกจากจะพบที่เขาพนมบาแค็งแล้ว ในพื้นที่ประเทศไทยก็พบเช่นกันตามกรุในวัดต่าง ๆ หลายแห่งอาทิวัดที่สร้างมาก่อนสมัยอยุธยา คือวัดมเหยงค์ และวัดสมณโกฏฐาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา วัดที่สร้างสมัยอู่ทองคือ วัดท่ากระดาน จังหวัดกาญจนบุรี ส่วนวัดที่สร้างในสมัยอยุธยา คือวัดปราสาทสวนสวรรค์ หรือวัดปากน้ำภาษีเจริญ  กรุงเทพมหานคร จึงเป็นที่เชื่อถือกันว่าแรกเริ่มการสร้างพระกริ่งของไทยมีอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมขอมโบราณ ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากต้นทางในอินเดีย จีน และทิเบต


สำหรับพระกริ่งองค์ที่นำมาลงไว้นี้ เป็นพระกริ่งบาเก็ง องค์ขนาดย่อมลงมา เนื้อในเป็นสีเหลืองทอง ถูกปกคลุมด้วยคราบกรุสีน้ำตาลเข้ม และคราบดำ รวมถึงคราบสนิมเขียว แต่ได้ทำความสะอาด จนคราบสนิมเขียวน้อยลงไปมาก พระกริ่งบาเก็งชนิดที่ ๒ วรรณะเหลืองนี้ ต่อมาได้กลายมาเป็นพระต้นแบบการสร้างพระกริ่งปวเรศ แห่งวัดบวรนิเวศ พระกริ่งสมเด็จพระสังฆราช(แพ) โดยเฉพาะพระกริ่งแบบที่นำมาลงไว้นี้ต่อมาพระมงคลราชมุนี ท่านเจ้าคุณศรี (สนธ์ ยติธโร) ศิษย์เอกของเจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว) นำมาสร้างเป็นพระกริ่งอุบาเก็งอีกหลายรุ่นนั่นเอง.



ร่วมกันศึกษาเพื่อการอนุรักษ์วัตถุโบราณ

.............จันทร์พลูหลวง................


*********

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น