โพสต์แนะนำ

วันพุธที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2561

พระปิดตา ๕


 พระปิดตาหลวงปู่ไข่
วัดบพิตรภิมุขวรวิหาร


พระปิดตาที่ได้รับความนิยมของเมืองไทยทั้งปิดตาหลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ ปิดตาหลวงปู่จีน วัดท่าลาด ปิดตาหลวงปู่เอี่ยม วัดสะพานสูง ปิดตาหลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว และปิดตาหลวงปู่ไข่ วัดบพิตรภิมุข หรือวัดเชิงเลน  ทุกสำนักต่างมีสูตรการสร้างคล้ายคลึงกัน แตกต่างที่รายละเอียดตามแต่ละสำนักจะเน้นพุทธคุณให้เด่นไปทางด้านใด ในที่นี่จะกล่าวเฉพาะพระปิดตาหลวงปู่ไข่ วัดเชิงเลน

หลวงปู่ไข่ อินฺทสโร พื้นเพท่านเป็นชาวแปดริ้ว เกิดเมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๐๒อยู่กับวัดมาตั้งแต่เด็ก เพราะบิดามารดาคือนายกล่อมนางบัว พาไปฝากฝังให้เป็นศิษย์หลวงพ่อปานวัดโสธร ได้เล่าเรียนและบรรพชาเป็นสามเณร จากนั้นได้ย้ายไปศึกษาอีกหลายวัด จนอายุครบ ๒๐ ปี จึงอุปสมบทที่วัดลัดด่าน แม่กลอง สมุทรสาคร

พระปิดตาหลวงปู่ไข่ เนื้อในสีน้ำตาลคล้ำหม่น

หรือสีกะลา เนื้อพระเหี่ยวย่นตามกาลเวลา


หลังจากอุปสมบทท่านได้เดินทางไปศึกษากัมมัฏฐานจากพระอาจารย์ท่านหนึ่งแถบเมืองกาญจน์ บางช่วงก็กลับมาที่วัดลัดด่านบ้างเมื่อได้เวลาก็กลับไปอีก บันทึกเล่าว่าท่านปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานในถ้ำเมืองกาญจน์นานถึง ๖ ปี และที่นี่ได้ทำให้หลวงปู่ไข่แก่กล้าทั้งทางจิตและวิทยาคม ระยะหลังจึงออกธุดงค์อย่างจริงจัง รวมเวลานานถึง ๑๕-๒๐ ปี เป็นการธุดงค์แบบไม่มีจุดหมาย ค่ำที่ไหนก็ปักกลดจำวัดที่นั่น มีโอกาสก็ศึกษาสรรพวิชชาเพิ่มเติมจากพระอาจารย์สำนักต่าง ๆ รวมทั้งสร้างปฏิสังขรณ์วัดวาอารามทั่วไป พร้อมกับโปรดญาติโยมทั้งช่วยรักษาแก้อาการและเป็นแบบอย่างการยึดมั่นถือคุณธรรมความดี จนเป็นที่เคารพรักศรัทธาต่อทุกคนที่พบเห็น ต่อมามีผู้ศรัทธาอาราธนาท่านมาอยู่ที่วัดบางยี่เรือ ธนบุรี ได้ราว ๑ ปี จากนั้นจึงธุดงค์ต่อไปอีก

ในราวปีพ.ศ.๒๔๕๕-๒๔๖๑ ท่านเข้ามาจำพรรษาที่วัดเชิงเลน บำรุงพุทธศาสนาและโปรดญาติโยมอยู่ที่นี่เรื่อยมา มีบรรดาศิษย์จากทุกชนชั้นปวารณาตัวเข้ามารับใช้ไม่ขาดสาย และที่นี่หลวงปู่ไข่ ได้สร้างพระและเครื่องรางของขลังไว้แจกจ่ายแก่บรรดาสาธุชนที่เข้ามาได้แก่พระปิดตา เหรียญ พระกลีบบัว ตะกรุด และธง ซึ่งแต่ละอย่างล้วนมีพุทธคุณช่วยเหลือให้ผู้คนที่นับถือศรัทธาแคล้วคลาด ปราศจากโรคภัย จนถึงเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้าในชีวิต จนถึงวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ.๒๔๗๕ ท่านจึงละสังขาร รวมอายุได้ ๗๔ ปี ๕๔ พรรษา

ในพระองค์นี้ชุบด้วยรักจีนมักจะชุบหนาเพราะเนื้อรักแห้งเร็ว

หากเป็นรักไทยน้ำรักแห้งช้าจึงนิยมชุบเพียงครั้งเดียว


สำหรับพระปิดตา ได้รับการออกแบบขึ้นอย่างง่าย ๆมีแม่พิมพ์ด้านเดียว กดพิมพ์แล้วกดแต่งด้านหลังให้นูนอูม ท่านสร้างจากเนื้อว่านและส่วนผสมมวลสารอันเป็นมงคลตามหลักวิชชาที่ท่านได้ร่ำเรียนมา เป็นพระปิดตาเนื้อผงคลุกรัก เนื้อในออกสีน้ำตาลคล้ำแล้วชุบรักมีทั้งรักไทยและรักจีน  ปัจจุบันได้รับความนิยมมาก และเป็นหนึ่งในห้าของสุดยอดพระปิดตาเมืองไทย.


ศึกษาเพื่อการอนุรักษ์วัตถุโบราณ
........จันทร์พลูหลวง............

********* 
ข้อมูลประกอบบทความ

-หนังสือ วัดบพิตรพิมุขวรวิหาร ประวัติและ เกียรติคุณหลวงปู่ไข่ อินทสโร,พิมพ์ครั้งแรก, กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย , ๒๕๔๒.



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น