โพสต์แนะนำ

วันอาทิตย์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2561

พระกริ่ง ๓


ครอบน้ำมนตร์-พระกริ่ง 
(สำหรับผู้ปฏิบัติราชการเชียงตุง)
  

ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ ไทยกับญี่ปุ่นลงนามเป็นพันธมิตรร่วมกัน จอมพลแปลก พิบูลสงคราม ผู้นำรัฐบาลไทยขณะนั้น ได้ส่งพลตรีผิน ชุณหะวัณ เป็นแม่ทัพในนามกองทัพพายัพ เข้ายึดเชียงตุงในวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๔๘๕ มาเป็นส่วนหนึ่งของไทยในนาม”สหรัฐไทย” จากนั้นรัฐบาลไทยได้ทูลเชิญเจ้าฟ้าสิริสุวรรณราชยศ พรหมลือ โอรสของเจ้าก้อนแก้วอินแถลง มาเป็นเจ้าครองเมืองเชียงตุง โดยมีพลตรีผิน เป็นข้าหลวงใหญ่

ในปีรุ่งขึ้น พ.ศ.๒๔๘๖ รัฐบาลได้จัดให้ข้าราชการและพระสงฆ์ เดินทางไปประจำยังเชียงตุง  เวลานั้น สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จึงทรงจัดสร้างครอบน้ำพระพุทธมนตร์และพระกริ่งเพื่อให้บรรดาข้าราชการและพระสงฆ์ในคณะนี้ได้นำไปสักการะบูชาป้องกันโรคภัย

ด้านข้างครอบน้ำพระพุทธมนตร์ มีการจารอักษรภาษาไทย ระบุข้อความว่า
ที่ระลึก
เพื่อให้พระเถระและข้าราชการ
ผู้ไปปฏิบัติราชการเชียงตุ(ง)
พ.ศ.๒๔๘๖
วัดสุทัศน์เทพวราราม

ครอบน้ำพระพุทธมนตร์ สร้างจากเนื้อโลหะสำริด  เป็นแบบเดียวกับ “ขันปทุมโลหิต”ขนาดย่อมเส้นผ่าศูนย์กลาง ๕ นิ้ว สูง ๑๐ นิ้ว ส่วนของฐานเป็นกลีบบัวคว่ำรอบ ตอนบนเหนือคอฐานเป็นกลีบบัวหงายรอบ ฝาครอบเป็นกลีบบัวคว่ำรอบ บนสุดเป็นดอกบัวตูม(ปทุม) ยอดของดอกบัวประดิษฐานพระกริ่ง ๑ องค์ และภายในครอบน้ำพระพุทธมนตร์อีก ๑ องค์


ด้านหน้าและด้านหลัง
พระกริ่งแบบที่ ๑ ตกแต่งด้วยการตอกตาไก่


ลักษณะของพระกริ่ง เป็นเนื้อสำริด มีอยู่ด้วย ๒ แบบ แบบที่ ๑ พระพักตร์แบบกริ่งจีน ประดิษฐานบนฐานบัวคว่ำบัวหงาย ๗ กลีบ ความกว้างประมาณ ๒.๓ ซ.ม.ความสูงจากฐานถึงยอดพระเกศ ๓.๘ ซ.ม. ประทับนั่งปางมารวิชัย พระหัตถ์ซ้ายถือวัชระ ด้านล่างบรรจุเม็ดกริ่งแปะแผ่นปะก้น ส่วนแบบที่ ๒ พระพักตร์แบบกริ่งปวเรศ ประทับนั่งปางมารวิชัยเช่นกัน แต่พระหัตถ์ซ้ายถือคล้ายหม้อยาทรงกลมป้อม ความกว้าง ๒.๓ ซ.ม.ความสูง ๔ ซ.ม.


 ด้านหน้าและด้านหลัง
พระกริ่งแบบที่ ๒ ใช้เหล็กแบนตอกแต่งเส้นจีวรเป็นแนวขวาง


พระกริ่งทั้ง ๒ แบบ จัดเป็นพระกริ่งทางคติมหายานที่มีพุทธลักษณ์สวยงามตามแบบ แห่งสำนักวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร และมีความสำคัญในฐานะหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ครั้งหนึ่งรัฐเชียงตุงได้ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของไทย จนเมื่อญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงคราม สหรัฐไทยนี้จึงตกไปเป็นของอังกฤษ และภายหลังเมื่อพม่าได้รับเอกราช เชียงตุงจึงถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐฉาน ประเทศพม่า นับตั้งแต่ปีพ.ศ.๒๔๙๑ .


ศึกษาเพื่อการอนุรักษ์วัตถุโบราณ

........จันทร์พลูหลวง............

*********


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น