โพสต์แนะนำ

วันพุธที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2561

อริยสงฆ์สยาม ๒



พระพุทธวิถีนายก
หลวงปู่บุญ (ขันฺธโชติ) วัดกลางบางแก้ว




รูปหล่อโลหะ หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว สร้างในพ.ศ.๒๔๕๐ 
ด้รับการกล่าวขานว่า เป็นฝีมือการปั้นและหล่อที่สวยงามที่สุดองค์หนึ่ง


หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว เกิดเมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ.๒๓๙๑ ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ตำบลบ้านนางสาว ตลาดใหญ่ มณฑลนครไชยศรี (ปัจจุบันโอนไปขึ้นกับอ.กระทุ่มแบน สมุทรสาคร)  เมื่อวัยเด็กเกิดปรากฏการณ์ "ตายแล้วฟื้น" บิดามารดาจึงตั้งชื่อให้ท่านว่า "บุญ"

อายุได้ ๒๒ ปี อุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดกลางบางแก้ว  มีพระปลัดปาน เจ้าอาวาสวัดตุ๊กตา เป็นพระอุปัชฌาย์ โดยมีคณะสงฆ์ ๔ รูปร่วมให้สรณคมณ์กับศีล และสวดกรรมวาจา ประกอบด้วย พระปลัดทอง เจ้าอาวาสวัดกลางบางแก้ว พระอธิการทรัพย์ เจ้าอาวาสวัดงิ้วราย พระครูปริมานุรักษ์ วัดสุประดิษฐาราม และพระอธิการจับ เจ้าอาวาสวัดมอญ ได้รับฉายาว่า “ขันฺธโชติ”

หลวงปู่บุญ ท่านเป็นศิษย์สายตรงของพระปลัดทอง เจ้าอาวาสวัดกลางบางแก้ว และพระปลัดปาน เจ้าอาวาสวัดตุ๊กตา ทั้งพื้นฐานปริยัติธรรม และวิปัสสนากรรมฐาน ตลอดจนคาถาอาคม ก็เริ่มต้นมาจากพระอาจารย์ทั้งสองรูปนี้ จากนั้นก็เสาะแสวงหาพระอาจารย์ร่ำเรียนจนเชี่ยวชาญทุกศาสตร์ จนถึงพ.ศ.๒๔๒๙ ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระอธิการปกครองวัดกลางบางแก้ว

ในปี พ.ศ. ๒๔๒๙ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอธิการปกครองวัดกลางบางแก้ว และสมณศักดิ์อื่นตามลำดับ จนถึงปีพ.ศ. ๒๔๕๙ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ที่ “พระครูอุตรการบดี” และเป็นเจ้าคณะแขวงในคราวเดียวกัน พ.ศ.๒๔๖๒ ขึ้นเป็นพระครูสัญญาบัตรที่ “พระครูพุทธวิถีนายก” ปกครองคณะสงฆ์ทั้งจังหวัดนครปฐม และสุพรรณบุรี ในช่วงนี้ท่านเดินทางมาเมืองสุพรรณบุรีอยู่บ่อยครั้ง ได้รับการถวายพระเครื่อง พระบูชา จากกรุปรางใหญ่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุไปไม่น้อย มีทั้งที่อยู่สภาพดีท่านก็นำขึ้นแท่นสักการบูชา ที่แตกหักหมดสภาพก็ให้ลูกศิษย์ป่นผสมกับพระเครื่องและเครื่องรางขลังที่ท่านทำ เมื่อบวกรวมกับวิชาความรู้ในศาสตร์อาคมของท่านกับพลังพุทธคุณอันเข้มขลังของพระสุพรรณ ทำให้พระเครื่องและเครื่องรางของขลังของหลวงปู่บุญ เกิดอภินิหารศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เลื่องลือไปทุกสารทิศ

หลวงปู่บุญ ขันฺธโชติ เป็นพระดีพระปฏิบัติชอบ ได้รับพระกรุณาธิคุณโปรดฯให้เลื่อนเป็นพระราชาคณะในราชทินนามที่ “พระพุทธวิถีนายก” ในปีพ.ศ.๒๔๗๑ นับเป็นอริยสงฆ์แห่งราชสำนัก ซึ่งท่านคุ้นเคยกันดีกับสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรณ์สิริวัฒน์ (หม่อมเจ้าภุชงค์) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ในคราวเลื่อนเป็น “พระพุทธวิถีนายก” เข้าสู่วัย ๘๑ ปีท่านเห็นว่าชราแล้วจึงทูลขอลาออกงานบริหารกิจการสงฆ์ ในคราวนั้นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า พระองค์ที่ ๑๑ ตรัสถามอายุ หลวงปู่บุญตอบไปว่า ๘๑ ปีแล้ว พระองค์รับสั่งว่า ” อยู่ไปก่อนเถิด” ถือเป็นการให้ความสำคัญกับหลวงปู่บุญอย่างมาก จนล่วงไปอีก ๓ ปี ในพ.ศ.๒๔๗๔ จึงได้รับการโปรดฯพระราชทานพระบรมราชานุญาตยกเป็น กิตติมศักดิ์ ท่านจึงได้พักผ่อนเต็มที่และมีเวลาปฏิบัติกิจของสงฆ์อย่างเต็มกำลัง จนถึงวันที่ ๓๐ มีนาคม พ.ศ.๒๔๗๘ ท่านจากไปด้วยอาการสงบ สิริรวมอายุนับได้ ๘๗ ปี ๖๕ พรรษา

หลวงปู่บุญ ท่านเป็นพระในชั้นศิษย์ของพระอริยสงฆ์ของสยามประเทศอีกหลายรูป อาทิ หลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน ,สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๘ ,หลวงปู่จีน วัดท่าลาด, หลวงปู่นาค วัดห้วยจระเข้, หลวงปู่เอี่ยม วัดสะพานสูง, หลวงพ่อม่วง วัดบ้านทวน, หลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก, หลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย, หลวงปู่เนียม วัดน้อย, หลวงพ่อโต วัดเนิน, หลวงปู่ภู วัดอินทร์ และหลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง.

            สหธรรมิกร่วมสมัยกับท่าน อาทิ อาจารย์เปิง วัดชินวราราม, หลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว,หลวงพ่ออยู่ วัดบางน้อย, หลวงปู่ศุข ปากคลองมะขามเฒ่า, หลวงพ่อทัพ วัดทอง, หลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติ, หลวงปู่เขียน วัดถ้ำขุนเณร, สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว) สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ ๑๒, หลวงพ่อฉุย วัดคงคาราม, หลวงปู่ไข่ วัดเชิงเลน, สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรณ์สิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ ๑๑, หลวงพ่ออิ่ม วัดหัวเขา, หลวงพ่อคง บางกะพ้อม และหลวงพ่อโหน่ง วัดคลองมะดัน  

            จึงไม่เป็นที่แปลกแต่อย่างใด ที่หลวงปู่บุญ หรือ พระพุทธวิถีนายก ที่ชาวสยามเคารพบูชา จะทรงเกียรติภูมิทั้งองค์ความรู้ในศาสตร์ธรรมอย่างลึกซึ้งทั้งวิปัสสนาและคันธะธุระ ว่ากันว่า ท่านสำเร็จอภิญญาสมาบัติ จากพื้นฐาน“เตโชกสิณ” ก็น่าจะเป็นความจริง เพราะเพียงเห็นดวงตาของท่านในรูปภาพ ก็เหมือนถูกสะกดตรึงให้นิ่งสงบ เมื่อผนวกกับเรื่องเล่าขานที่ท่านล่วงรู้ว่าลูกศิษย์ของท่านกำลังจะไปปล้น ท่านมองจนลูกศิษย์ทั้งสองคนทรุดฮวบลงไปนั่งกับพื้นทีเดียว เป็นเพียงส่วนหนึ่งในตำนานเรื่องเล่าขานของหลวงปู่บุญเท่านั้นครับ.


บุญเหลือล้นคนพุทธศาสนา
.......จันทร์พลูหลวง.........



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น