โพสต์แนะนำ

วันพฤหัสบดีที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2561

สุพรรณภูมิ ๕



เหตุใด “ขุนหลวงพ่องั่ว” ต้องเข้าอยุธยา

ก้าวสำคัญของการย้ายฐานอำนาจจากสุพรรณภูมิสู่กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา เกิดจากสถานการณ์รอบด้านที่บีบบังคับ

ไม่มีหลักฐานใดในประวัติศาสตร์ ที่ยืนยันถึงความขัดแย้งระหว่างสุพรรณภูมิกับกรุงศรีอยุธยา ตลอดรัชสมัยการครองราชย์ ๑๙ ปีของพระเจ้าอู่ทอง(พ.ศ.๑๘๙๓-๑๙๑๒) แสดงให้เห็นถึงความลงตัวจากสมมุติฐานด้านความมั่นคงภายในพระราชอาณาจักรโดยขุนหลวงพ่องั่ว และความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจที่ไหลบ่าเข้ามาจากระบบการค้าและการทูตจากการบริหารจัดการของพระเจ้าอู่ทอง ซึ่งส่งผลให้”สุพรรณภูมิ”เป็นพระนครเต็มรูปแบบ พร้อมกับ “กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา”ที่พระเจ้าอู่ทอง ทรงสร้างสถูปปรางค์ใหญ่(วัดพุทไธศวรรย์-พ.ศ.๑๘๙๖)เป็นสัญลักษณ์พระนครอันยิ่งใหญ่คู่ขนานตามมา 


พระนอนสมัยสุพรรณภูมิตอนปลาย ที่ได้รับการยอมรับว่าสวยงามที่สุดองค์หนึ่ง
ปัจจุบันประดิษฐานภายในวัดพระรูป เมืองสุพรรณบุรี

พันธะผูกพันนี้ย่อมเป็นที่รับรู้กันทั้งสองพระราชวงศ์ คือทั้งฝ่ายสุพรรณภูมิ และฝ่ายอู่ทอง และรูปแบบนี้อาจดำเนินต่อเนื่องไปหากพระราเมศวรยึดถือหลักปฏิบัติตามพระราชบิดา จะเห็นได้ว่าไม่มีหลักฐานใดที่ระบุว่าขุนหลวงพ่องั่วขัดขวางการขึ้นครองราชย์ในแผ่นดินอยุธยาของพระราเมศวรในระยะแรกหลังสิ้นรัชกาลพระเจ้าอู่ทอง เอกสารโบราณระบุว่า “ศักราช ๗๓๑(พ.ศ.๑๙๑๒) ปีระกา เอกศก สมเด็จพระรามาธิบดีเสด็จสวรรคต......สมเด็จพระรามเมศวรเสด็จมาแต่เมืองลพบุรี ขึ้นเสวยราชสมบัติ”(1) จะเห็นว่าตลอดระยะเวลาร่วมหนึ่งปีหลังการสวรรคตของพระเจ้าอู่ทอง เมื่อพระราเมศวรเสด็จมาจากลพบุรีและสืบราชสมบัติ ไม่มีการขัดขวางการขึ้นครองราชย์จากขุนหลวงพ่องั่วหรือพระเจ้าลุงแต่อย่างใด

ขุนหลวงพ่องั่ว ปล่อยให้เวลาผ่านไปหลายเดือนจนเกือบหนึ่งปี จึงเสด็จมากรุงศรีอยุธยา “ครั้นถึงศักราช ๗๓๒(พ.ศ.๑๙๑๓) ปีจอ โทศก สมเด็จพระบรมราชาธิราชเข้ามา(แต่)เมืองสุพรรณบุรี เสนาบดีกราบทูลว่า สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้าเสด็จมา สมเด็จพระรามเมศวร ก็ออกไปอัญเชิญเสด็จเข้ามาพระนครถวายราชสมบัติ ถวายบังคมลาขึ้นไปลพบุรีดังเก่า”(2)

สถูปใหญ่หรือปรางค์ประธานภายในวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เมืองสุพรรณ แสดงถึงความยิ่งใหญ่ในอดีต

กรณีนี้มีนัยสำคัญที่บอกให้รู้ว่า ขุนหลวงพ่องั่วยังคงให้พระราเมศวรครองแผ่นดินสืบต่อจากพระเจ้าอู่ทองตามกลไกการสืบทอดอำนาจ แต่หลังจากขึ้นครองราชย์แล้ว ในระยะเวลาร่วมหนึ่งปีนั้นอยุธยาได้ดำเนินราโชบายอย่างไรต่อกรุงสุพรรณภูมิ เพราะหากทุกอย่างดำเนินไปดุจเดียวกับสมัยพระเจ้าอู่ทอง ขุนหลวงพ่องั่วคงไม่ต้องเดินทัพข้ามสายน้ำท่าจีน-เจ้าพระยามาพระนคร

เรื่องนี้พิเคราะห์ได้ว่า เมื่อพระราเมศวรปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา พระองค์ทรงยกเลิกกฎกติกาเดิม อาจด้วยพระองค์เอง หรือการยุยงของขุนนางในราชสำนัก และด้วยวัย ๒๗ พรรษาอาจมีความเชื่อมั่นในพระองค์สูงว่าจะทรงเป็นราชาที่เหนือราชาอื่นได้ จึงละเลยธรรมเนียมปฏิบัติต่อเจ้าลุงกรุงสุพรรณภูมิโดยลืมไปว่าพระองค์ยังไม่มีพระบารมีมากพอ และยังขาดประสบการณ์หลายด้าน เนื่องจากพระองค์ทรงเสด็จพระราชสมภพขึ้นมาในภาวะที่บ้านเมืองสงบร่มเย็น เป็นเจ้าชายที่ไม่เคยผ่านการรบ และตัดสินใจในภารกิจสำคัญ(1)

การหน่วงเวลาไปร่วมหนึ่งปีของขุนหลวงพ่องั่ว อาจเป็นการดูทีท่าทางกรุงศรีอยุธยา และพระองค์อาจจะปล่อยให้เวลาผ่านไปอีกสักระยะก็ได้ หากหัวเมืองฝ่ายเหนือไม่กระด้างกระเดื่องและตั้งตัวแข็งเมืองต่อกรุงศรีอยุธยาในสภาวการณ์เปลี่ยนแผ่นดิน และมีอีกเหตุผลหนึ่งที่สำคัญมากกว่าคือราชสำนักจีนไม่เชื่อมั่นในพระราเมศวร  ด้วยเหตุนี้ขุนหลวงพ่องั่วจึงไม่อาจปล่อยให้เวลาเนิ่นนานออกไป และตัดสินพระทัยยาตราทัพเข้ากรุงศรีอยุธยาเร่งปราบดาภิเษกเพื่อจัดระเบียบวางกฏเกณฑ์ราชสำนัก แต่ก็ยังไม่เรียบร้อยดี ราชทูตของราชวงศ์หมิงก็เดินทางมาถึงกรุงศรีอยุธยาพอดี ดังมีบันทึกระบุว่า

“แผ่นดินหงบู๊ปีที่ ๓ แกซุด (ตรงกับปีจอจ.ศ.๗๓๒/พ.ศ.๑๙๑๓)พระเจ้าไถ่โจ๊วฮ่องเต้ (ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์หมิง) รับสั่งให้ หลุยจงจุ่น เปนราชทูต ถือหนังสือรับสั่งไปชวนเสี้ยมหลอฮกก๊กให้เปนไมตรี”(3)

จากบันทึกของราชวงศ์หมิงกับเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงในกรุงศรีอยุธยา เป็นช่วงเวลาที่เหมาะเจาะลงตัวอย่างมีนัยสำคัญ เพราะตามปกติแล้วเมื่อมีการเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจของประเทศใดประเทศหนึ่งจนเกิดความลงตัวแล้ว ราชสำนักจีนจะใช้นโยบายเจริญสัมพันธไมตรีเพื่อให้มาเป็นพวกเดียวกัน ซึ่งต้องใช้เวลานานนับปีทั้งการดูทีท่าและการเดินทางของคณะราชทูตซึ่งควรจะเป็นปีรุ่งขึ้นคือพ.ศ.๑๙๑๔ แต่การเดินทางของ “หลุยจงจุ่น”อาจออกจากนครนานกิงล่วงหน้าหลายเดือน กว่าที่ขุนหลวงพ่องั่วจะเข้ากรุงศรีอยุธยา เมื่อขุนหลวงพ่องั่วปราบดาภิเษก ราชทูตจีนจึงมาถึงพอดี แสดงให้เห็นว่า มีการหารือและเตรียมการระหว่างกรุงสุพรรณภูมิกับกรุงจีนมาอย่างต่อเนื่องโดยผ่านกลไกจากคนราชสำนักจีนที่ประจำอยู่เขตการค้ามะละกา และอาจทำให้มองย้อนกลับไปได้ด้วยว่า ตลอดเวลา ๑๙ ปีในการครองราชสมบัติของพระเจ้าอู่ทอง ขุนหลวงพ่องั่วและราชสำนักจีน มีการติดต่อสืบเนื่องกันมามิได้ว่างเว้น อันเป็นการสนับสนุนสมมติฐานการครองแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาภายใต้ร่มเงาของสุพรรณภูมิแจ่มชัดขึ้น

หมิงไท่จงฮ่องเต้  แห่งราชสำนักจีน มีบทบาทสำคัญในอยุธยาตอนต้น
ภาพจาก : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

อย่างไรก็ตาม ภายหลังขุนหลวงพ่องั่วเสด็จขึ้นบรมราชาภิเษกเป็นพระเจ้าแผ่นดินกรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยาในปีพ.ศ.๑๙๑๓ ทรงพระนาม “สมเด็จพระบรมราชาธิราช” หรือที่ราชสำนักจีนเรียกขานว่า“สมเด็จเจ้าพระยาสุรินทราราช”(2)แล้ว  และหลังพิธีการเจริญสัมพันธไมตรีของคณะราชทูตจีนเสร็จสิ้น ในปีรุ่งขึ้น พ.ศ.๑๙๑๔ ด้านหนึ่งพระองค์เร่งให้จัดเตรียมคณะราชทูตเดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีกับราชสำนักจีน และเป็นการไปแบบไปขาเดียว เพราะไม่มีกองทัพเรือหรือสำเภาการค้าของกรุงศรีอยุธยานำคณะราชทูตไป แต่เป็นการร่วมเดินทางไปกับคณะราชทูตจีน ดังจดหมายเหตุจีนบันทึกไว้ชัดเจนว่า

“แผ่นดินหงบู๊ปีที่ ๔ ซินหาย (ตรงกับปีกุน จ.ศ.๗๓๓/พ.ศ.๑๙๑๔)เสี้ยมหลอฮกก๊กอ๋อง เซียนเลียดเจี่ยวปีเองี่ย (สมเด็จพระเจ้ายา)ให้ราชทูตเชิญพระราชสาสนแลพาช้างกับเต่าหกเท้า แลสิ่งของในพื้นประเทศมาเจริญทางพระราชไมตรีพร้อมกันกับหลุยจงจุ่น...”(4)

จึงประเมินได้ว่า เวลานั้นราชสำนักกรุงศรีอยุธยา มีภารกิจเร่งรีบหลายเรื่องที่ต้องกระทำไม่อาจเตรียมสำเภาให้พร้อมต่อการเดินทาง จึงให้คณะทูตกรุงศรีอยุธยาล่วงหน้าไปกับคณะทูตจีน ส่วนภายในราชอาณาจักร อีกด้านหนึ่งขุนหลวงพ่องั่ว ก็เร่งจัดเตรียมทัพไปตีหัวเมืองเหนือที่กระด้างกระเดื่อง(3) จนสามารถปราบได้ราบคาบ(5) จากนั้นเมื่อกลับถึงพระนครพระองค์ก็จัดเตรียมคณะราชทูตขึ้นมาอีกหนึ่งชุดแล้วเดินทางไปยังกรุงจีนเพื่อสมทบกับคณะทูตชุดแรกในช่วงปีใหม่พอดี บันทึกจีนได้ลงรายละเอียดไว้ว่า

“ในปีนั้น (พ.ศ.๑๙๑๔) เสียมหลอฮกก๊กอ๋อง ให้ราชทูตกลับมาถวายไชยมงคลในการขึ้นปีใหม่ พระเจ้าไถ่โจ๊วฮ่องเต้ รับสั่งให้เจ้าพนักงานเอาพงษาวดารเรื่องได้ราชสมบัติ กับแพรม้วนประทานไปให้อ๋อง”(6)

“พงษาวดารเรื่องได้ราชสมบัติ”ก็คือบันทึกการครองราชย์ของพระเจ้าไถ่โจ๊วฮ่องเต้ ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์หมิง ที่เริ่มเกิดขึ้นจากกลุ่มกบฏชาวนาจนโค่นอำนาจราชวงศ์หยวน ซึ่งฮ่องเต้ต้าหมิงต้องการแสดงให้ขุนหลวงพ่องั่ว เชื่อถือและยอมรับในความชอบธรรมที่พระองค์ก้าวขึ้นมาปกครองจีนนั่นเอง

นับแต่นั้น บ้านเมืองก็เริ่มเดินหน้าต่อ แม้ขุนหลวงพ่องั่วจะต้องปราบปรามหัวเมืองประเทศราชเป็นระยะ แต่กลไกทางเศรษฐกิจก็ยังคงดำเนินไป ทั้งกับราชสำนักจีน ประเทศทางตอนใต้แถบมลายูและชวา ส่วนทางน่านน้ำฝั่งตะวันตกก็มีอินเดีย ลังกา เปอร์เชีย และอาหรับ คอยแวะเวียนซื้อขายแลกเปลี่ยนกันไปมา

 แต่ในเวลาเดียวกันที่เมืองลพบุรี พระราเมศวร ซึ่งพลาดโอกาสสำคัญในการครองราชย์ ก็เริ่มวางแผนช่วงชิงอำนาจ...เป็นการหวังช่วงชิงอำนาจ...จากพระเจ้าลุงผู้เป็นราชาที่ไว้ชีวิตต่อพระองค์.



สถานการณ์ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
...............วิญญู บุญยงค์..............


**********
เชิงอรรถ

1.ในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ระบุว่า พระจ้าอู่ทองให้พระราเมศวร ยกทัพไปปราบขอม ข้อมูลนี้อาจคลาดเคลื่อน ด้วยขณะนั้น พะราเมศวร มีพระชนมายุเพียง 10 พรรษา.
2.”สมเด็จเจ้าพระยาสุรินทราราช” เป็นพระนามที่ราชสำนักจีนกล่าวถึงขุนหลวงพ่องั่ว หรือสมเด็จพระบรมราชาธิราช โดยสะกดดังนี้ “เซียนเลียะเป๊าปี๊เองียสือลี่ตอล่อหลก”
3.พ.ศ.๑๙๑๔ พงศาวดารระบุว่า สมเด็จพระราชาธิราช ทรงยกทัพไปตีเมืองฝ่ายเหนือและได้เมืองฝ่ายเหนือทั้งปวง

อ้างอิง

1,2. พระราชพงศาวดารกรุงสยามฉบับบริติชมิวเซียม หน้า ๑-๓๗๐.
3,4,6.จดหมายเหตุจีนว่าด้วยกรุงสยามแต่โบราณ(เรียบเรียงจากจดหมายเหตุจีน ๕ เรื่อง),พิมพ์ครั้งแรกใน      ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๕ พิมพ์แจกในงานศพ จางวางโท พระยารณไชยชาญยุทธ (ศุข โชติกะเสถียร) ปีมเสงนพศก พ.ศ.๒๔๖๐.
5.ศิลปากร,กรม.พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา.


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น