โพสต์แนะนำ

วันอังคารที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2561

สุพรรณภูมิ ๔



ขุนหลวงพ่องั่วไม่เคยขึ้นต่อกรุงศรีฯ

ฟื้นประวัติศาสตร์สุพรรณภูมิและการตีความใหม่ มีเหตุผลใดที่สุพรรณภูมิต้องขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยา

ในช่วงเวลาจากปีพ.ศ.๑๘๘๖ หลังการบูรณะปรางค์ใหญ่เมืองสุพรรณภูมิของพระยาสุรินทราราช(1) (ขุนหลวงพ่องั่ว) จนถึงปีพ.ศ.๑๘๙๓ อันเป็นปีที่พระเจ้าอู่ทองจากแคว้นละโว้สถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี  เป็นเรื่องต้องวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ต่อไปว่าระหว่าง ๗ ปีนี้ เกิดอะไรขึ้น เหตุใดขุนหลวงพ่องั่วจึงยอมให้พระเจ้าอู่ทองสถาปนาเมืองใหม่ในพื้นที่ชัยภูมิอโยธยาซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสุพรรณภูมิ(2) ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ต่างตีความว่าสุพรรณภูมิขึ้นตรงต่อกรุงศรีอยุธยา ดังบันทึกหวางต้ายวนเขียนไว้ว่า “เสียนจำนนต่อหลอหู”(1) ว่ากันตามจริงแล้ว ราชวงศ์สุพรรณภูมิ ตั้งแต่สมเด็จพระราชบิดาจนถึงขุนหลวงพ่องั่ว เป็นกษัตริย์นักรบที่ยิ่งใหญ่ ขยายดินแดนไปทางตะวันตกก่อนจะลงไปถึงตอนใต้ และยังมีราชสำนักจีนหนุนหลังมาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่พระเจ้าอู่ทอง แม้จะมีขอมอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้แต่ความสัมพันธ์ก็เปราะบาง หากจะต้องรบกันเพื่อชิงความเป็นใหญ่อย่างไรเสียละโว้ก็ยากจะต่อกรได้



สุพรรณภูมิระยะนี้ตรงกับรัชกาล ฮ่องเต้ยุเหวียนฮุ่ยจง แห่งราชวงศ์หยวน
ภาพจาก : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี 


แต่ขณะเดียวกันเอกสารในอดีตก็บ่งบอกว่าพระเจ้าอู่ทอง ทรงยกพระเกียรติอย่างสูงต่อขุนหลวงพ่องั่ว ดังที่ระบุไว้ในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ตอนหนึ่งว่า“...ขุนหลวงพะงั่วซึ่งเป็นพี่พระมเหสี และตรัสเรียกว่าพระเชษฐานั้น เป็นสมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้า...”(2) แสดงให้เห็นว่าในเวลานั้นไม่มีความขัดแย้งระหว่างสองราชวงศ์และต่างทรงเกียรติของกษัตริย์ในระดับที่เรียกว่า “เจ้าพี่...เจ้าน้อง”

มีข้อสังเกตอยู่บางประการ ในพระราชพงศาวดารกรุงสยามฉบับบริติชมิวเซียม ระบุถึงเมืองที่ขึ้นตรงต่อกรุงศรีอยุธยาภายหลังจากการสถาปนาเป็นราชธานีดังนี้ “ครั้งนั้นพระยาประเทศราชขึ้น ๑๖ เมือง คือ เมืองมะละกา เมืองชวา เมืองตะนาวศรี เมืองนครศรีธรรมราช เมืองทวาย เมืองเมาะตะมะ เมืองเมาะลำเลิง เมืองสงขลา เมืองจันทบูร เมืองพิษณุโลก เมืองสุโขทัย เมืองพิชัย เมืองสวรรคโลก เมืองพิจิตร เมืองกำแพงเพชร เมืองนครสวรรค์”(3) จะเห็นได้ว่าในจำนวนนี้ไม่มีรายชื่อ“เมืองสุพรรณภูมิ”เป็นประเทศราชหรือขึ้นตรงต่อกรุงศรีอยุธยา เช่นเดียวกับพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับกรมพระปรมานุชิตชิโนรส(4)และ ฉบับพันจันทนุมาศ(5)ก็ไม่มีระบุไว้


ปรางค์ใหญ่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ สุพรรณบุรี
               ที่มา : ไม่ระบุ อ้างจาก กรมศิลปากร 2545.

นอกจากนั้นยังเห็นได้ว่าไม่มีเมืองชัยนาท แพรกศรีราชา นครไชยศรี ราชบุรี เพชรบุรี และกาญจนบุรี ซึ่งเป็นหัวเมืองรายรอบสุพรรณภูมิมาแต่เดิมด้วยเช่นกัน แสดงให้เห็นว่า สุพรรณภูมิ และหัวเมืองบริวารนี้เป็นเมืองชั้นในและเป็นรัฐอิสระ 

ยังมีข้อสังเกตด้วยว่า ๙ ใน ๑๖ เมืองที่ขึ้นตรงต่อกรุงศรีอยุธยานั้น ล้วนเป็นเมืองท่าเขตการค้าทางทะเล รายรอบตั้งแต่ฝั่งอันดามัน ไปจรดปลายแหลมมลายู วกเข้าสู่อ่าวไทย และไปสิ้นสุดที่จันทบูร ซึ่ง ๙ เมืองเหล่านี้เป็นของสุพรรณภูมิ แม้เอกสารโบราณของจีนจะไม่ปรากฏชื่อทุกเมืองแต่ก็มีปลายแหลมมลายู หรือมะละกาเป็นกรณีพิพาทมาแต่สมัยพระราชบิดาขุนหลวงพ่องั่ว นอกจากนั้นหากจะพิจารณาที่ตั้งของเมืองท่าแล้วก็ล้วนอยู่ในทำเลที่ใกล้กับสุพรรณภูมิมากกว่าละโว้ เมื่อมาพิจารณาหัวเมืองตอนบนที่ถัดขึ้นไปจากนครสวรรค์จนถึงสุโขทัย ก็ล้วนแต่เป็นเมืองผลิตสินค้าภายในและรับซื้อสินค้าภายนอกผ่านกลไกการค้าจากกรุงศรีอยุธยาทั้งสิ้น ผลประโยชน์ทางการค้าแบบผูกขาดมหาศาลเช่นนี้ เหตุใดขุนหลวงพ่องั่ว จึงให้อยู่ในมือของพระเจ้าอู่ทอง

เมื่อสืบค้นให้ลึกลงไปก็พบว่าพระราชประวัติความเป็นมาของพระเจ้าอู่ทองจากเอกสารทั่วไปไม่มีความชัดเจนนัก แต่ในพระราชพงศาวดารฉบับบริติชมิวเซียม ระบุถึงเหตุการณ์ก่อนตั้งกรุงศรีอยุธยาว่า

“ เบื้องว่ากัมพุชประเทศ(ละโว้)นั้น พระเจ้าแผ่นดินทิวงคต หาพระวงศ์มิได้ ชนทั้งปวงจึ่งยกเจ้าอู่ทองอันเป็นบุตรโชฎึกเศรษฐีมาราชาภิเษกผ่านถวัลราช..”(7)เป็นการบอกว่าพระเจ้าอู่ทองมาจากตระกูลพ่อค้าในสภาวการณ์ที่ละโว้กำลังถดถอย เมื่อขึ้นเป็นเจ้ารัฐแคว้นอาจเล็งเห็นว่า สุพรรณภูมิ มีอำนาจทั้งการทหารมีความชำนาญการรบและได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากมหาอำนาจจีน จึงสู่ขอพระนางสุรินทรน้องนางในขุนหลวงพ่องั่ว เพื่อเกี่ยวดองกับฐานอำนาจสุพรรณภูมิ

ส่วนขุนหลวงพ่องั่ว พระองค์ทรงเป็นนักรบที่เกรียงไกรสืบต่อจากพระราชบิดาที่เป็นราชานักรบ ความเป็นต่อของสุพรรณภูมิจึงอยู่ที่กองกำลังทางการทหารอันเข้มแข็งในราชอาณาจักร และกองกำลังเสริมของราชสำนักจีนในมะละกาภายใต้ผลประโยชน์ที่ร่วมกันมายาวนาน

ด้านหนึ่งขุนหลวงพ่องั่ว อาจมีพระประสงค์จะสร้างพระนครสุพรรณภูมิให้ยิ่งใหญ่เป็นเกียรติสืบไป แต่การจะทำเช่นนั้นได้จำเป็นต้องใช้เวลาและเงินทุนมหาศาลเช่นกัน ประกอบกับละโว้ธานีเมืองที่พระขนิษฐาของพระองค์ไปเป็นมเหสีของพระเจ้าอู่ทอง เป็นชัยภูมิที่ล้าสมัยไปแล้ว เพราะโลกสมัยใหม่เวลานั้นเขาใช้ทะเลสร้างความมั่งคั่ง ขุนหลวงพ่องั่วจึงอาจใช้ความเป็นเจ้าเมืองละโว้และความถนัดทางการค้าของพระเจ้าอู่ทองกับความเกี่ยวดองเป็นญาติสนิท(น้องเขย)ที่ไว้ใจได้ ให้ใช้พื้นที่อโยธยาเป็นเมืองการค้าศูนย์กลางแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างภายในและนอกอาณาจักร และเพื่อให้ได้รับการยอมรับจากนานาชาติจึงต้องมีการสถาปนาเมืองใหม่ขึ้นอย่างเป็นทางการ นาม“กรุงเทพทวารวดีศรีอยุทธยา”จึงเกิดขึ้น พร้อมกับการถูกวางบทบาทด้านการค้า การทูต และการเป็นรัฐกันชนไปพร้อมกัน

ความร่วมมือกันระหว่างกษัตริย์สองเมืองนี้จึงเกิดฐานะ“สุพรรณภูมิเมืองพี่ อโยธยาธานีเมืองน้อง” หรือเข้าทำนอง”ค้าขายน้องทำไป..เรื่องภายในพี่จัดการเอง” ดังเราจะเห็นความสัมพันธ์ของกรุงศรีอยุธยากับสุพรรณภูมิ เป็นไปอย่างแน่นแฟ้นและท่าทีที่เกรงใจ แม้กระนั้นก็จัดแบ่งบทบาทกันอย่างชัดเจน(3) ดังที่ในบันทึกของเยเรเมียส ฟาน ฟลีต ระบุชัดเจนถึงพระเจ้าอู่ทอง...ทรงแต่งราชทูตไปเฝ้าพระเจ้ากรุงจีน และส่งสำเภาไปค้าขายที่เมืองกวางตุ้ง...”(9)

ปรางค์ใหญ่วัดพุทไธศวรรย์ ที่พระเจ้าอู่ทองสร้างขึ้นในระยะต้นรัชกาล

ขณะที่บทบาทของขุนหลวงพ่องั่ว เด่นชัดในเหตุการณ์”ขอมแปรพักตร์”ต้นรัชกาลพระเจ้าอู่ทอง ที่แสดงถึงแสนยานุภาพทางการทหารของพระองค์ซึ่งพระเจ้าอู่ทองแสดงความอ่อนน้อมและยกย่องขุนหลวงพ่องั่วเป็นอย่างมาก ดังในพระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ บันทึกไว้คราวพระเจ้าอู่ทอง โปรดเกล้าฯให้พระราเมศวรยกพล 5,000  ไปปราบขอม(พ.ศ.๑๘๙๕)แต่กลับถูกตีถอยร่นจนล่วงรู้ถึงกรุงศรีอยุธยา(4)

“...มีข่าวเข้ามาถึงพระนคร มีพระราชโองการให้ขุนตำรวจออกไปเชิญสมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้า ผู้เป็นพระเชษฐา อยู่ณเมืองสุพรรณบุรี...”(10)

พระราชพงศาวดารฉบับนี้ แม้จะถูกเรียบเรียงขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ แต่ก็แสดงให้เห็นว่าพระเจ้าอู่ทองแสดงความอ่อนน้อมและให้เกียรติต่อขุนหลวงพ่องั่วเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นบันทึกย่อเผ่าชาวเกาะที่ระบุว่า “เสียนยอมจำนนต่อหลอหู” จึงอาจเป็นข้อมูลที่“หวางต้ายวน”รับรู้มาอย่างคลาดเคลื่อน หรืออาจเป็นมุขปาถะลือเลื่องไปถึงเขมรในช่วงเวลานั้น เพราะไม่มีทีท่าใดที่ยืนยันว่าสุพรรณภูมิ(เสียน)ยอมจำนนต่อละโว้(หลอหู)

ฮ่องเต้หงอู่ ต้นราชวงศ์หมิง มีบทบาทสำคัญในระยะหลังรัชกาลพระเจ้าอู่ทอง
ภาพจาก : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

หาก”เสียนยอมจำนนต่อหลอหู”จริง เหตุใดพระเจ้าอู่ทองจึงกล้าพอที่จะตั้งเมืองหลวงห่างจากเมืองอริราชเพียงการเดินทางแค่หนึ่งวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุการณ์”ขอมแปรพักตร์”พ.ศ.๑๘๙๕ กองทัพอยุธยายกขึ้นไปปราบขอมแต่สู้ไม่ได้ พระเจ้าอู่ทองจึงอัญเชิญขุนหลวงพ่องั่วให้มาช่วย ครั้งนั้นกองทัพสุพรรณภูมิยกมากรุงศรีอยุธยาก่อนแล้วจึงเลยขึ้นไปตีขอม หาก”เสียนยอมจำนนต่อหลอหู”จริง ขุนหลวงพ่องั่วคงไม่ยกทัพขึ้นไปช่วย แต่สามารถปลดพระเจ้าอู่ทองได้ตั้งแต่เข้าพระนคร   หรือหากเสียนต้องจำยอมจริง ขุนหลวงพ่องั่วไม่น่าจะเปิดโอกาสให้พระเจ้าอู่ทองครองราชย์ยาวนานถึง ๑๙ ปี(พ.ศ.๑๘๙๓-๑๙๑๒) และตลอด ๑๙ ปี เหตุใดจึงไม่พบเอกสารจีนที่ระบุถึงความพยายามของสุพรรณภูมิในการติดต่อกับกรุงจีนเพื่อกลับมาผงาดอีกครั้ง ทั้งที่ตามปกติราชสำนักจีนมักจะแทรกแซงโดยใช้วิธีเปิดโอกาสให้เมืองต่าง ๆเข้าถึงมาโดยตลอด และอีกข้อสังเกตหนึ่ง หาก“เสียนยอมจำนนต่อหลอหู”เหตุใดในเอกสารจีนสมัยราชวงศ์หมิงจึงไม่เรียกนาม”หู”นำหน้า”เสียน”เป็น“หูหลอเสียนก๊ก” แทนที่จะเป็น“เสียนหลอหูก๊ก”(5)

รวมความแล้ว ในรัชสมัยขุนหลวงพ่องั่ว สุพรรณภูมิมีอิทธิพลเหนือพระเจ้าอู่ทองแห่งแคว้นละโว้และอโยธยา ด้วยรูปการณ์นี้ จึงให้ความหมายได้เพียงอย่างเดียวว่า ขุนหลวงพ่องั่วกับพระเจ้าอู่ทอง มีสัตยาบรรณร่วมกัน และเป็นสัตยาบรรณของการสถาปนาเมืองใหม่ภายใต้ร่มเงาของ สุพรรณภูมิ.


สุพรรณภูมิเมืองพี่...อโยธยาธานีเมืองน้อง
...................วิญญู บุญยงค์...................


**********


เชิงอรรถ
1. พระยาสุรินทราราช ต่อมาเป็น สมเด็จเจ้าพระยาสุรินทราราช เป็นชื่อที่ราชสำนักจีนใช้เรียกขุนหลวงพ่องั่ว โดยสะกดเป็นคำว่า “เซียนเลียะเป๊าปี๊เองี่ยสือลี่ตอล่อหลก”
2.ยืนยันได้จากพระพุทธรูปขนาดใหญ่และวัดโบราณที่มีการสร้างมาก่อนสมัยอยุธยา โดยเฉพาะเศียรธรรมิกราช และหลวงพ่อโต วัดพนัญเชิง เป็นศิลปะสุพรรณภูมิ
3.มีเอกสารเพียงบางฉบับที่ระบุว่าพระเจ้าอู่ทองเคยนำทัพเพียงครั้งเดียวที่ไปกวาดต้อนชาวเขมรลงมากรุงศรีอยุธยา ๙ หมื่นคนในปีพ.ศ.๑๙๐๐ ดังปรากฏในพงศาวดารเขมร(8) ซึ่งพิเคราะห์แล้วอาจเป็นแม่ทัพกรุงศรีอยุธยานำทัพไปเช่นเดียวกับเมื่อครั้งพ.ศ.๑๘๙๕ ซึ่งไม่ใช่พระราเมศวรตามพงศาวดาร เพราะในปีพ.ศ.๑๘๙๕ พระราเมศวรเพิ่งมีพระชนม์เพียง ๑๐ พรรษา สงครามทั้งสองครั้งนั้นพงศาวดารเขมรระบุเป็น เจ้ารามาธิบดี”(พระเจ้าอู่ทอง)ซึ่งเอกสารส่วนใหญ่ไม่สนับสนุน  อย่างไรก็ตาม การกวาดต้อนกำลังคนเขมรลงมาถึง ๙ หมื่นนั้น ย่อมมีเป้าหมายที่ต้องการใช้แรงงานเพื่อสร้างเมือง และอีกส่วนคือสนับสนุนการค้า
4.ควรจะเป็นพระศรีสวัสดิ์หรือแม่ทัพคนใดคนหนึ่งที่ไม่ใช่พระราเมศวร
5.คำว่า “เสียน” และ “เสี้ยม” ในอดีตมีการใช้สำเนียงแตกต่างกันไปตามผู้แปล กล่าวคือถ้าแปลด้วยสำเนียงจีนแต้จิ๋ว ก็จะออกเสียงเป็น”เสี้ยม” แต่ถ้าเป็นจีนกลางจะออกเสียงเป็น “เสียน” เช่นเดียวกับคำว่า “หลอฮก”เป็นสำเนียงจีนแต้จิ๋ว ส่วน “หลอหู” เป็นสำเนียงจีนกลาง ดังนั้นจึงเข้าใจตรงกันได้ว่า “เสียน”และ“เสี้ยม” มีความหมายว่า “สุพรรณภูมิ” ส่วน “หลอฮก” และ “หลอหู” มีความหมายว่า “ละโว้ หรือลพบุรี”

เอกสารอ้างอิง
1.อาคม พัฒิยะ และนิธิ เอียวศรีวงศ์.ศรีรามเทพนคร.รวมบทความเรียงว่าด้วยประวัติศาสตร์อยุธยาตอนต้น.เรือนแก้วการพิมพ์.2527.
2.พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา.
3,7.พระราชพงศาวกรุงสยามฉบับบริติชมิวเซียม.หน้า1-370.
4.พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับกรมพระปรมานุชิตชิโนรส เล่ม ๑ .พ.ศ.2485.
5,10.ประชุมพงศาวดารภาคที่ 64 พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ(เจิม).พ.ศ.2479.
8.พงศาวดารเขมร.พิมพ์ครั้งแรกในประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๑ เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๗
9.จดหมายเหตุวันวลิต.พ.ศ.๒๑๘๒.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น