โพสต์แนะนำ

วันพุธที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2561

สุพรรณภูมิ ๓



สงครามสุพรรณภูมิ-สุโขทัย

          สงครามครั้งสำคัญที่สุพรรณภูมิต้องส่งราชทูตไปขอกองทัพม้าจากราชสำนักจีน เพื่อรบกับพ่อขุนรามคำแหง แห่งกรุงสุโขทัย จนกลับมาผงาดอีกครั้ง พร้อมกับผนวกรัฐแคว้นต่าง ๆเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรสุพรรณภูมิ

สุพรรณภูมิ ในช่วงปีพ.ศ.๑๘๒๕ มีความเป็นปึกแผ่นขึ้นแล้ว และการสร้างสถูป(ปรางค์)ใหญ่เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของพระนครก็เป็นช่วงเวลานี้ ราชสำนักจีนจึงติดต่อเข้ามาเพื่อเจริญสัมพันธไมตรี ดังบันทึกระบุว่า

แผ่นดินจี่หงวนปีที่ ๑๙ หยิมโหงวลักหง้วย (ตรงกับเดือนแปด ปีมะเมีย จ.ศ.๖๔๔/พ.ศ.๑๘๒๕) พระเจ้าหงวนสีโจ๊วฮ่องเต้ รับสั่งให้ขุนนางก๊วนกุนโหว ชื่อ หอจือจี่ เปนราชทูตไปเกลี้ยกล่อมเสี้ยมก๊ก(1)

บันทึกเอกสารจีน ยังยืนยันถึงการติดต่อระหว่างสองราชสำนักต่อเนื่องนับแต่ปีพ.ศ.๑๘๓๖-๑๘๓๘ จนถึงพ.ศ.๑๘๔๐ สุพรรณภูมิเข้าสู่ภาวะสงคราม ดังจะเห็นได้จากราชสำนักสุพรรณภูมิส่งราชทูตไปขอกองทัพม้าจากกรุงจีนเข้ามาสนับสนุน


หงวนสีโจ๊วฮ่องเต้ หรือ กุบไล ข่าน ต้นราชวงศ์หยวน(หงวน)
(ภาพจาก : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี)

หงวนเสงจงฮ่องเต้ หรือ เตมูร์ ข่าน ผู้เป็นราชนัดดาของ กุบไล ข่าน
(ภาพจาก : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี)

ในแผ่นดินไต๊เต็ก...(ตรงกับปีระกา จ.ศ.๖๕๙/พ.ศ.๑๘๔๐)เสี้ยมก๊กให้ราชทูตมาขอม้า...” และในครั้งเดียวกันนี้ “..พระเจ้าหงวนเสงจงฮ่องเต้ ประทานเสื้อกิมหลูอี้ (เสื้อยศลายทอง)ให้ไป(2)จึงเท่ากับเป็นการประกาศให้อริราชสุพรรณภูมิ รับรู้ทั่วกันว่า สุพรรณภูมิกับกับราชสำนักจีน เป็นหนึ่งเดียวกัน

กรณีนี้ได้ไปสอดคล้องกับหลักฐานศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงหลักที่ ๑ ตอนที่ ๓ ระบุถึงอาณาเขตของสุโขทัย ตอนหนึ่งว่า ...เบื้องหัวนอน รอดคนที พระบาง แพรก สุพรรณภูมิ ราชบุรี เพชรบุรี...”(3)กรมศิลปากรกำหนดอายุไว้ในปีพ.ศ.๑๘๓๕ตามปีศักราชที่ระบุไว้ในจารึก แต่เนื่องจากอักษรที่ใช้ในตอนที่ ๓ ระบุถึงสุพรรณภูมิเป็นอาณาเขตของสุโขทัย ซึ่งอ่านโดยยอร์ช เซเดส์ มีการตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการ “..จารึกภายหลัง(พ.ศ.๑๘๓๕)หลายปี เพราะตัวหนังสือไม่เหมือนกับตอนที่ ๑ และที่ ๒ คือตัวพยัญชนะลีบกว่าทั้งสระที่ใช้ก็ต่างกันบ้าง..”(4) ใกล้เคียงกับเหตุการณ์ที่สุพรรณภูมิส่งราชทูตไปขอม้าจากเมืองจีนในปีพ.ศ.๑๘๔๐ ดังนั้นสุพรรณภูมิน่าจะถูกผนวกเข้ากับสุโขทัยในช่วงปีพ.ศ.๑๘๓๙ (พ.ศ.๑๘๓๘ สุพรรณภูมิยังติดต่อกับกรุงจีนอยู่)และแข็งเมืองทำสงครามกับพ่อขุนรามคำแหง ตั้งแต่ปีพ.ศ.๑๘๔๐ จนถึงพ.ศ.๑๘๔๑ ซึ่งพ่อขุนรามคำแหงก็สวรรคตในปีนี้เช่นกัน จากนั้นสุโขทัยก็เข้าสู่ภาวะถดถอย ขณะที่สุพรรณภูมิก็ฟื้นตัวขึ้นจนถึงปีพ.ศ.๑๘๔๓ พระเจ้ากรุงสุพรรณภูมิจึงเสด็จไปกรุงจีน

ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง หลักที่ 1
(ภาพจาก : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี)

แผ่นดินไต๋เต็ก (นามแผ่นดินของพระเจ้าหงวนเสงจงฮ่องเต้) ปีที่ ๔ แกจื้อลักหง้วย (ตรงกับเดือนแปด ปีชวด จ.ศ.๖๖๒/พ.ศ.๑๘๔๓)เสี้ยมก๊กอ๋องมาเฝ้า(5)

แสดงให้เห็นว่าในช่วงปีพ.ศ.๑๘๔๓ สุพรรณภูมิในรัชสมัยของพระราชบิดาขุนหลวงพ่องั่วกลับมายืนหยัดมีความเป็นปึกแผ่นมั่นคงแล้ว ต่อมาอีก ๑๐ ปีให้หลังในปีพ.ศ.๑๘๕๓ มเหสีของพระองค์ก็ให้ประสูติกาลราชกุมารองค์รัชทายาท ซึ่งก็คือ “ขุนหลวงพ่องั่ว” นั่นเอง จนเมื่อผ่านเวลามาถึงรัชกาลขุนหลวงพ่องั่ว สถูป(ปรางค์)ใหญ่สัญลักษณ์แห่งพระนครจึงมีการบูรณะขึ้นใหม่อีกครั้ง ดังหลักฐานจากจารึกลานทองที่พบบนยอดนพศูลขององค์ปรางค์ใหญ่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ สุพรรณบุรี  ที่ระบุว่า

...พระราชาผู้ยิ่งใหญ่กว่าพระราชาทั้งหลายในอโยธา ทรงพระนามว่าจักรพรรดิโปรดให้สร้างสถูปองค์นี้ขึ้นไว้ และทรงบรรจุพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้าไว้ภายใน แต่พระสถูปของพระองค์ชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา พระโอรสของพระองค์ผู้เป็นพระราชาเหนือพระราชาทั้งหลายในพื้นแผ่นดินทั้งมวลและเป็นราชาธิราชผู้ประเสริฐ โปรดให้ปฏิสังขรณ์ให้กลับคืนดี...”(6)

ปรางค์ หรือสถูปใหญ่ตามจารึก วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ สุพรรณบุรี
(ภาพจาก : ไม่ระบุที่มา อ้างจาก กรมศิลปากร,2545)


ช่วงเวลานั้น สุพรรณภูมิเข้าสู่ยุครุ่งเรืองและเป็นที่ยอมรับของนานาอารยประเทศแล้ว จากข้อความที่ว่า “...พระโอรสของพระองค์ผู้เป็นพระราชาเหนือพระราชาทั้งหลายในพื้นแผ่นดินทั้งมวลและเป็นราชาธิราชผู้ประเสริฐ โปรดให้ปฏิสังขรณ์ให้กลับคืนดี...อธิบายได้ว่าการสร้างสถูปนี้นอกจากเป็นการสร้างเพื่อเป็นพุทธบูชาแล้ว ยังแสดงถึงการประกาศเกียรติในฐานะองค์ราชาเหนือดินแดนแถบนี้

จารึกลานทองอีกแผ่นหนึ่งระบุช่วงเวลาดังกล่าวพระบารมีของ”ขุนหลวงพ่องั่ว”แผ่ไพศาล เห็นได้จากพระยาศรีธรรมโศกราช สร้างพระพิมพ์มาบรรจุในองค์สถูปหรืออปรางค์ใหญ่สุพรรณภูมิ

ศุภมัสดุ ๑๒๖๕ สิทธิการิยะแสดงบอกให้รู้ มีฤาษีทั้งสี่ตน พระฤาษีพิมพิลาไลย์เป็นประทาน เราจะทำด้วยฤทธิ์ทำด้วยเครื่องประดิษฐ์มีสุวรรณเปนต้น คือบรมกษัตริย์พระยาศรีธรรมโศกราชเป็นผู้ศรัทธา พระฤาษีทั้งสี่ตน จึงพร้อมกันนำเอาแต่ว่านทั้งหลาย พระฤาษีจึงอัญเชิญเทพยดามาช่วยกันทำพิธี.....แล้วท่านเอาไปประดิษฐ์สถานไว้ในสถูปใหญ่แห่งหนึ่งที่เมืองพันทูม(สุพรรณภูมิ)...”(7)

ในพ.ศ.๑๘๘๖ ต้องเป็นพระราชพิธีมหากุศลเฉลิมฉลององค์ปรางค์ที่บูรณะใหม่อย่างยิ่งใหญ่ โดยมีเจ้ารัฐแคว้นต่าง ๆเสด็จมาร่วมงานหรือส่งผู้แทนพระองค์มาอย่างพร้อมเพรียง โดยเฉพาะพระยาศรีธรรมโศกราช ตามที่ระบุพระนามไว้ในจารึกลานทอง เจ้าอู่ทองแห่งละโว้(เอกสารบางฉบับระบุชื่อพระยาราม)ซึ่งเป็นพันธมิตรกับสุพรรณภูมิ ด้วยการที่เจ้าอู่ทองมีราชฐานะทั้งเป็นน้องเขยและเจ้าแคว้นละโว้(เจ้าอู่ทองเข้าราชพิธีสยุมพรกับพระขนิษฐาของขุนหลวงพ่องั่วก่อนพ.ศ.๑๘๘๕หรือก่อนมีพระประสูติกาลสมเด็จพระราเมศวร)ดังจะเห็นได้จากพระเครื่องเนื้อโลหะชินเงิน และสถูปสำริด ศิลปะลพบุรีหลังบายนอยู่ร่วมในกรุนี้ และต้องรวมถึงพระยางั่วนำถม หรือผู้แทนพระองค์จากกรุงสุโขทัย เนื่องจากพบหลักฐานพระพิมพ์เนื้อโลหะศิลปะสมัยสุโขทัยเป็นจำนวนมากบรรจุอยู่ภายในองค์ปรางค์

พระลีลากำแพงศอก ศิลปะสุโขทัยที่บรรจุอยู่ในปรางค์ใหญ่
(ภาพจาก : หนังสือพระฯเมืองสุพรรณ.มนัส โอภากุล.2536)

นอกจากนั้น จารึกยืนยันชัดเจนว่า สถูปปรางค์ใหญ่มีการสร้างขึ้นหนึ่งครั้งและบูรณะอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งโดยประเพณีการสร้างย่อมต้องบรรจุพระเครื่องพระพิมพ์ในสมัยปัจจุบันนั้นลงไป และเมื่อบูรณะขึ้นใหม่ก็ย่อมบรรจุพระเครื่องพระพิมพ์ในสมัยหลังลงไปด้วยเช่นกัน เหตุผลที่สนับสนุนแนวคิดนี้มาจากพระเครื่องบางส่วนที่ถูกค้นพบเป็นพระพิมพ์รัตนตรัยมหายานซึ่งยังมีอิทธิพลขอมแบบเก่าอยู่  ต่อมาเมื่อมีการบูรณะขึ้นในคราวหลังในปีพ.ศ.๑๘๘๖ (ศุภมัศดุ ๑๒๖๕) พระเครื่องที่พบจากการบรรจุครั้งหลังไม่มีอิทธิพลขอมเหลืออยู่เลย แต่เป็นศิลปะสกุลช่างสุพรรณภูมิ(อู่ทอง ๓) สุโขทัย ลพบุรี อันเป็นระยะเดียวกับที่รับเอาพุทธศาสนาลังกาวงศ์เข้ามา

อย่างไรก็ดี ช่วงเวลานั้น ขุนหลวงพ่องั่ว มีพระชนมายุ 33 พรรษา จึงน่าจะผ่านการสถาปนาครองราชย์ไปแล้ว ทรงพระนาม“พระยาสุรินทราราช”(ตามเอกสารของจีน) และอาจเป็นช่วงเวลาของการสร้างบ้านแปงเมืองอย่างขนานใหญ่ หากเราจะสังเกตถึงอาณาบริเวณอันกว้างใหญ่ของเขตเมืองสุพรรณภูมิที่ไม่เพียงเฉพาะเขตพระราชฐานเดิม แต่ด้านนอกโดยรอบของเมืองสุพรรณบุรียังเต็มไปด้วยพระพุทธรูปขนาดใหญ่ วิหาร และพระเจดีย์ซึ่งเป็นงานสร้างในสมัยสุพรรณภูมิมากมายดารดาษอันเป็นประจักษ์พยานมาจนถึงทุกวันนี้.

...เรื่องราวของสุพรรณภูมิ ยังดำเนินต่อไปอย่างเข้มข้น และตอนต่อไป จะเป็นข้อมูลที่ลึกลงไปอีกว่า...แท้จริงแล้ว  “ขุนหลวงพ่องั่วไม่เคยขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยา”.

ควันจากสงครามเป็นตำนานบรรพชน 
............วิญญู บุญยงค์.............
**********

เอกสารอ้างอิง

1,2,5.จดหมายเหตุจีนว่าด้วยกรุงสยามแต่โบราณ(เรียบเรียงจากจดหมายเหตุจีน ๕ เรื่อง),พิมพ์ครั้งแรกใน      ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๕ พิมพ์แจกในงานศพ จางวางโท พระยารณไชยชาญยุทธ (ศุข โชติกะเสถียร) ปีมเสงนพศก พ.ศ.๒๔๖๐.

3,4. ยอร์ช เซเดส์, “หลักที่ ๑ ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง,” ใน ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ ๑ : เป็นจารึกกรุงสุโขทัยที่ได้พบก่อน พ.ศ. ๒๔๖๗ ([กรุงเทพฯ] : คณะกรรมการพิจารณาและจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ สำนักนายกรัฐมนตรี, ๒๕๒๑), ๒๗-๓๖.

6. ฉ่ำ ทองคำวรรณ, “หลักที่ ๔๗ จารึกลานทองวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดสุพรรณบุรี,” ใน ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ ๓ : ประมวลจารึกที่พบในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลางของประเทศไทย อันจารึกด้วยอักษรและภาษาไทย, ขอม, มอญ, บาลีสันสกฤต (พระนคร : คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และโบราณคดี สำนักนายกรัฐมนตรี, ๒๕๐๘), ๗๕-๗๖.

7.มนัส โอภากุล.พระฯเมืองสุพรรณ.มนัสการพิมพ์.สุพรรณบุรี.๒๕๓๖.หน้า ๑๐๕.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น