โพสต์แนะนำ

วันจันทร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2561

สุพรรณภูมิ ๑๐



ย้อนหลัง ๑๔ ศตวรรษ ก่อนกำเนิดรัฐสยาม


         จากเหรียญกษาปณ์สู่เตาเผา จีนเป็นชนชาติเดียวที่ปักหลักในแผ่นดินสุวรรณภูมิ ผ่านเหตุการณ์หลายยุคสมัยจนถึงการสถาปนารัฐสยามบนลุ่มน้ำท่าจีน

แหล่งโบราณคดีที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก สามารถบอกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของรัฐชาติสยามได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะแหล่งเตาเผาที่ตั้งอยู่เรียงรายริมแม่น้ำสุพรรณตลอดแนวทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออก ได้บอกให้รู้ถึงจุดเริ่มต้นการสร้างสรรค์ศิลปะหัตกรรมแขนงนี้ รวมถึงจุดเปลี่ยนแปลงจากอิทธิพลภายนอก ตั้งแต่การเข้ามาของกลุ่มชาติตะวันตกจากแถบลุ่มน้ำคงคา อิทธิพลขอมที่แผ่สยายเข้ามา จนถึงการหลั่งไหลของวัฒนธรรมจีน

แต่ละช่วงเวลา มิได้เป็นจุดเฉพาะของวัฒนธรรมใดวัฒนธรรมหนึ่ง หากแต่เป็นการผสมผสานความหลากหลายที่เกิดขึ้นในบริบทเดียวกัน แม้กระนั้นวัตถุโบราณบางชิ้นก็สามารถยืนยันถึงอายุสมัยได้ชัดเจน โดยเฉพาะเครื่องปั้นจีนที่สามารถนำใต้เคลือบลายและลักษณะความละเอียดหรือหยาบของภาชนะมาพิสูจน์ จนรู้ถึงอายุสมัยที่อ้างอิงได้ว่าอยู่ในช่วงราชวงศ์ใดของจีน และเป็นช่วงเวลาใดของสุพรรณภูมิ


ตัวอย่างรูปทรงและลวดลายโถเคลือบสมัยราชวงศ์หยวน
ภาพจาก:ของสะสมของเอกชนอนุญาตให้ใช้เพื่อประกอบบทความ

จากจุดการขุดค้นกำแพงเมืองโบราณสุพรรณภูมิด้านทิศตะวันออกพบเศษภาชนะกระเบื้องเคลือบในสมัยราชวงศ์ซ่ง(พ.ศ.๑๕๐๓-๑๘๒๒)และราชวงศ์หยวน(พ.ศ.๑๘๐๖-๑๙๑๓) เหนือขึ้นไปนอกเขตกำแพงเมืองยังพบเศษภาชนะเครื่องปั้นดินเผาที่มีอายุอยู่ในวัฒนธรรมทวารวดี ไล่ร่นลงมาถึงสุพรรณภูมิอันแสดงถึงเอกลักษณ์ในชิ้นงานที่ถูกบรรจงปั้นและผ่านการเผาด้วยเทคนิคที่ถูกพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเริ่มต้นแคว้นรัฐสยามมีชิ้นงานจำนวนมากที่บ่งบอกถึงถึงกาลเวลา และการนำเทคนิคจากเจ้าของนวัตกรรมมาสร้างสรรค์ชิ้นงานขึ้นที่นี่

ตลอดแนวแม่น้ำสุพรรณในเขตอำเภอเมืองทั้งบนบกและชายตลิ่งพบเศษภาชนะเครื่องปั้นดินเผา ที่เป็นของพื้นเมืองและเครื่องเคลือบจีนหลายยุคสมัยกระจายอยู่มากมาย ดังที่ อ.มนัส โอภากุล นักประวัติศาสตร์โบราณคดีเมืองสุพรรณ บรรยายไว้ว่า

“...ข้าพเจ้าพาศาสตราจารย์ซ็อง บ๊วซเซลิเยร์ ไปที่บ้านบางปูน...อยู่เหนือวัดพิหารแดงขึ้นไประมาณ ๑ กิโลเมตร ข้าพเจ้าชี้ให้ดูเศษกระเบื้องบนทางเดินซึ่งถูกขุดขึ้นมาถมเป็นถนนไปเชื่อมกับตำบลโพธิ์พระยาอยู่อย่างกลาดเกลื่อน และได้หยิบชิ้นส่วนส่งให้ศาสตราจารย์ ช็อง บ๊วซเซลิเยร์ ดูพร้อมกับถามว่าสมัยไหน ศาสตราจารย์ช็อง ตอบว่าสมัยทวารวดี และดูต่อไปอีก บอกว่าเศษเครื่องปั้นดินเผานั้นสมัยอยุธยาก็มี ศาสตราจารย์ ช็อง บ๊วซเซลิเยร์ ตื่นเต้นกับเครื่องปั้นดินเผาที่ท่าน้ำเป็นอันมาก เพราะเศษกระเบื้องดังกล่าวนั้น มีจำนวนมากมายเหลือคณานับ”(1)

  

 เศษเครื่องปั้นดินเผาและเครื่องถ้วยจีนส่วนหนึ่งที่แตกหัก

แหล่งโบราณคดีที่เป็นต้นทางจากหลายแหล่งบอกให้รู้ว่าความเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรมของ“สยาม”มีอยู่ต่อเนื่อง เฉพาะที่ได้รับการบันทึกไว้บางส่วนมาจากแหล่งโบราณคดีวัดพระนอน บริเวณบ้านบัวหลวง ริมแม่น้ำสุพรรณฝั่งตะวันออก ตำบลพิหารแดง พบเครื่องถ้วยจีนใต้เคลือบลายใบไม้สีน้ำเงินคราม กับกระเบื้องเนื้อละเอียดใต้เคลือบเขียวอ่อน แหล่งโบราณคดีวัดชีสุขเกษม ที่บ้านบางปูน ตำบลพิหารแดง พบเศษภาชนะดินเผาชนิดเคลือบน้ำตาลและดำเผาด้วยอุณหภูมิสูง อิทธิพลจากจีนแต่ทำที่นี่ แหล่งโบราณคดีบ้านบางปูน ริมแม่น้ำสุพรรณฝั่งตะวันตกติดวัดสว่างอารมณ์ ตำบลพิหารแดง เขตเมืองสุพรรณ พบเครื่องถ้วยจีนใต้เคลือบมีทั้งแบบสีเขียว และสีมะกอก กระจายอยู่ทั่วไปทั้งบนบนและในน้ำ โดยเฉพาะบริเวณตลิ่งริมน้ำพบมาก และพบลักษณะเฉพาะถิ่น รวมถึงที่ได้รับอิทธิพลจากจีน

แหล่งโบราณคดีบ้านธรรมกูล อยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสุพรรณ ติดกับวัดชีสุขเกษม พบเครื่องถ้วยจีนใต้เคลือบลายดอกหญ้า ใบไม้ ตัวหนังสือ และเครื่องเคลือบ เนื้อละเอียดออกเทาขาวเคลือบเขียวทั้งนอกและใน ซึ่งน่าจะเป็นต้นทางของเครื่องเคลือบสังคโลก แหล่งโบราณคดีวัดโพธิเจริญ ตั้งอยู่ที่บ้านสนามชัยฝั่งตะวันออกของแม่น้ำสุพรรณ ตำบลสนามชัย เมืองสุพรรณบุรี พบเศษภาชนะดินเผาทั้งเนื้อละเอียดและหยาบ มีแบบเนื้อแกร่งไม่เคลือบอันเป็นงานเลียนแบบเครื่องถ้วยจีน และยังพบเครื่องถ้วยจีนใต้เคลือบลายดอกไม้ ใบไม้สีน้ำเงิน และเครื่องเคลือบเขียวนอกเขียวใน แหล่งโบราณคดีวัดปู่บัว ที่บ้านสนามชัย ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำสุพรรณ ตำบลสนามชัย เมืองสุพรรณบุรี นอกเหนือจากภาชนะดินเผาท้องถิ่นแล้ว ยังพบเศษเครื่องถ้วยใต้เคลือบลายใบไม้ ดอกไม้ ดอกบัวสีน้ำเงิน  และเครื่องเคลือบเขียวนอกใน และชิ้นส่วนการหลอมลูกปัด

ยังรวมถึงแหล่งโบราณคดีวัดสำปะซิว ที่บ้านสนามชัย ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำสุพรรณพบเศษภาชนะดินเผาและเครื่องเคลือบแบบจีนเช่นเดียวกับแหล่งโบราณคดีวัดปู่บัว แต่มีพัฒนาการจากการพบเตาอิฐที่พัฒนาขึ้นมาแบ่งสัดส่วนห้องบรรจุเชื้อเพลิง ภาชนะ และปล่องไฟ โดยระบายความร้อนผ่านเฉียงขึ้น ยังรวมถึงแหล่งเตาเผาที่พบที่วัดลาวทอง และวัดโพธิ์คลาน ซึ่งมีทีเทคโนโลยีในลักษณะเดียวกัน(2)

บริเวณพื้นที่แผ่นดินและชายน้ำตลอดแม่น้ำสุพรรณในเขตตัวเมือง ไม่เฉพาะในเขตกำแพงเมืองสุพรรณภูมิเท่านั้น หากแต่ยังห่างออกไปหลายกิโลเมตรจากเขตกำแพงเมือง สามารถพบเศษภาชนะเครื่องเคลือบจีนกระจายอยู่ทั่วไป ตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซ่งใต้(พ.ศ.๑๗๖๐-๑๘๒๒) ราชวงศ์หยวน(พ.ศ.๑๘๐๖-๑๙๑๓) และราชวงศ์หมิง(๑๙๑๑-๒๑๘๗) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจีนได้ชักใบสำเภาเข้าสู่เส้นทางมังกรสยาม(แม่น้ำสุพรรณ)ก่อนการสถาปนารัฐแคว้นในสมัยราชวงศ์ซ่ง จนถึงช่วงการสถาปนารัฐแคว้นสยามในสมัยราชวงศ์หยวน  และยังคงมีกิจกรรมต่อเนื่องในสมัยราชวงศ์หมิง แม้จะมีการย้ายราชธานีแห่งใหม่ไปยังพระนครศรีอยุธยาแล้วก็ตาม


จักรพรรดิซ่งลี่จง เป็นฮ่องเต้องค์ที่ ๕ ของราชวงศ์ซ่งใต้ ครองราชย์ยาวนานถึง ๔๐ ปี 
ภาพจาก :  พิพิธภัณฑ์พระราชวังกรุงไทเป

หลักฐานทางโบราณคดีในตัวเมืองสุพรรณ และภาชนะเครื่องปั้นดินเผาเครื่องเคลือบที่พบในสำเภาโบราณหน้าอ่าวสยามก่อนหน้านี้ บ่งบอกได้เป็นอย่างดีว่า นอกจากจีนจะนำสินค้าเข้ามาขายยังสุพรรณภูมิแล้ว ส่วนหนึ่งได้ร่วมมือกับสยามทำการผลิตเครื่องเคลือบจีนขึ้นที่นี่ เพื่อสะดวกต่อการขนส่งระยะใกล้ในการค้าขายกับประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ต้องกลับไปไกลถึงเมืองจีนที่ต้องใช้เวลาในการเดินทางนานกว่าหลายเท่าตัว นอกจากนั้นสถานการณ์การเมืองภายในราชสำนักจีนที่มีการช่วงชิงกันอยู่ตลอดเวลาก็อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่เป็นตัวแปรสำคัญในการย้ายฐานผลิตเครื่องเคลือบมายังภูมิภาคเอเชียใต้

อาจกล่าวได้ว่าระบบการค้าของราชวงศ์ซ่ง ได้เข้ามามีบทบาทในสยามนับตั้งแต่สมัยเริ่มต้น คือตั้งแต่ราวปีพ.ศ.๑๕๐๓-๑๘๒๒ แม้จะเป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่าราชสำนักจีนทั้งราชวงศ์ซ่งเหนือและซ่งใต้จะเกิดความอ่อนแอด้านการเมืองและการทหารจากอิทธิพลของแคว้นรัฐรายรอบที่แตกกันเป็นหลายแคว้นรัฐ แต่ศิลปะหัตถกรรมและการค้ากับต่างประเทศกลับเจริญรุ่งเรืองอย่างสวนทางกัน โดยเฉพาะช่วงสมัยราชวงศ์ซ่งใต้มีหลักฐานจากเศษกระเคลือบใต้เงาพบอยู่จำนวนมากบริเวณผืนดินและริมฝั่งแม่น้ำสุพรรณ

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีการพบชิ้นส่วนของกระเบื้องเคลือบศิลปะชั้นสูงเป็นเครื่องเคลือบขาวตลับลูกจันกลีบฟักทองถี่สมัยราชวงศ์ซ่งไต้ในเขตโบราณสถานเมืองหนองแจงที่อยู่ร่วมสมัยกับวัฒนธรรมทวารวดี ยังรวมถึงแหล่งโบราณคดีที่ไกลออกไปในบ้านผักหวาน ตำบลจระเข้สามพัน อำเภออู่ทอง เขตแนวเทือกขาสุดท้ายทอดติดกับพื้นที่ราบ เป็นชุมชนขนาดเล็ก บริเวณที่ราบเชิงเขาเส้นผ่าศูนย์กลางราว ๑๐๐ เมตร พบภาชนะคล้ายกับที่พบริมแม่น้ำสุพรรณ และแหล่งโบราณคดีบ้านโคกหินกอง ตั้งอยู่ในหุบเขา ตำบลวังคัน อ.ด่านช้าง มีลำห้วยทับละครไหลผ่านทางทิศใต้ พบภาชนะเก่ากว่าริมน้ำสุพรรณ และร่วมสมัย รวมถึงเครื่องถ้วยชามใต้เคลือบเขียว โดยผ่านเส้นทางลำน้ำกระเสียวขึ้นไป เป็นการบอกถึงฐานะชุมชนร่วมสมัยที่มีการไปหาสู่กันและแลกเปลี่ยนสินค้าจากผลพวงของนวัตกรรมใหม่จากภายนอก

เหรียญอีแปะจีนสมัยราชวงศ์ฮั่น มีอายุราว ๑,๕๐๐ ปี เป็นหลักฐานสำคัญอีกชิ้นหนึ่ง
ภาพจาก : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ยังมีสิ่งที่น่าสนใจมากกว่าอายุสมัยของเครื่องเคลือบจีนในสมัยราชวงศ์ซ่ง ที่ใช้เป็นพยานหลักฐานในระยะรัฐเริ่มต้นของสยาม มีการพบหลักฐานที่ย้อนเวลาขึ้นไปอีก ๒ ราชวงศ์หลักของจักรวรรดิจีน คือการพบเหรียญกษาปณ์จีน ที่เรียกกันว่า “เหรียญอีแปะ” อักษร “อู่จู” หรือ “ฮู้อู่จูเฉิ่น” สร้างในสมัยฮั่นหวู่ตี้ มีการใช้กันระหว่างพ.ศ.๔๒๕-๑๑๖๒  พบที่วัดสมอลม ตำบลสนามคลี อำเภอเมืองสุพรรณบุรี(3) และการขุดค้นพบเหรียญอีแปะจีน อักษรไคหยวนทงป่าว ในสมัยราชวงศ์ถัง(พ.ศ.๑๑๖๑-๑๔๕๐) ที่แหล่งโบราณคดีเมืองหนองแจง ตำบลไร่รถ อ.ดอนเจดีย์ ทั้งสองสมัยเมื่อนับอายุรวมกันก็ไม่น้อยกว่าพันปี

โดยรวมแล้ว จากหลักฐานของจีนที่พบเก่าสุดในเวลานี้ มีมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่น (พ.ศ.๔๒๕-๑๑๖๒) สมัยราชวงศ์ถัง (พ.ศ.๑๑๖๑-๑๔๕๐) ราชวงศ์ซ่ง (พ.ศ.๑๕๐๓-๑๘๒๒) จนถึงสมัยราชวงศ์หยวน (พ.ศ.๑๘๑๔-๑๙๑๑) อันเป็นระยะสถาปนาแคว้นรัฐสยาม ที่มีสุพรรณภูมิ เป็นศูนย์กลางการปกครอง รวมเวลาแล้วก็เข้าใกล้ ๑,๕๐๐ ปี

ประวัติศาสตร์สุพรรณภูมิ ยังคงผุดพรายขึ้นเป็นระยะ จากโบราณวัตถุชิ้นหนึ่ง ไปสู่หลักฐานใหม่ในชิ้นต่อไป มีทั้งที่ค้นพบนานแล้ว และที่ยังหลับใหลอยู่ใต้ผืนดิน รอวันเวลาที่จะลุกขึ้นมาประกาศตัวตนในฐานะที่..เคยอยู่ เคยมี และเคยเป็น.



สุพรรณภูมิ ประวัติศาสตร์จากหลักฐาน
.............วิญญ บุญยงค์.................

*********



อ้างอิง

1.มนัส โอภากุล.พระฯเมืองสุพรรณ,ฉบับหอการค้าจังหวัดสุพรรณบุรี.มนัสการพิมพ์.สุพรรณบุรี.พ.ศ.๒๕๓๖.หน้า ๘๙.

2.http://www.thaiheritage.net/nation/oldcity/suphanburi5.htm

3.ศิลปากร,กรม.โบราณคดีและประวัติศาสตร์เมืองสุพรรณบุรี.พิมพ์ครั้งที่ ๒.พ.ศ.๒๕๕๗.หน้า ๒๗. 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น