โพสต์แนะนำ

วันพฤหัสบดีที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2561

สุพรรณภูมิ ๙


กระเบื้องจีนอายุพันปี
หลักฐานใต้กำแพงเมืองสุพรรณ


เศษกระเบื้องเพียงชิ้นเดียวตอกลิ่มความลังเล สำหรับการตัดสินใจกำหนดให้ สุพรรณภูมิ เป็นรัฐเริ่มต้นของอาณาจักรสยาม

ในทางประวัติศาสตร์ หัวใจที่เข้าถึงความเป็นจริงมากที่สุด คือการศึกษาข้อมูลที่เคยมีการบันทึกไว้ในอดีตแล้วนำมาเปรียบเทียบวิเคราะห์เพื่อกลั่นเฉพาะเนื้อหาที่แท้จริงออกมา เช่นเดียวกับการขุดค้นทางโบราณคดีจำเป็นต้องมีองค์ประกอบหลายอย่างเข้ามาอ้างอิง ดังนั้นข้อมูลที่ได้มักเป็นข้อสันนิษฐานเสียเป็นส่วนใหญ่ และระยะเวลาที่ประเมินก็กว้างเกินกว่าจะหาข้อสรุปได้แบบกระชับ

การประเมินอายุทางโบราณคดี หากเป็นเรื่องทั่วไปที่ไม่ได้คาบเกี่ยวกับช่วงเวลาสำคัญก็คงไม่มีข้อขัดแย้งเกิดขึ้น หากแต่เป็นห้วงของความละเอียดอ่อนอย่างกรณี การหาข้อพิสูจน์ของรัฐเริ่มต้นในอาณาจักรสยามซึ่งมีระยะเวลาช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อไม่เกิน ๑๐๐ ปี อันนี้แหละคือปัญหา หากไม่มีข้อมูลต้นทางของฐานที่มั่นเดิม เราจะรู้ได้อย่างไรว่า “ขุนหลวงพ่องั่ว” เป็นใคร อยู่ดี ๆก็ไปกรุงศรีอยุธยา พอพระราเมศวรถวายราชสมบัติให้ ท่านก็ขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมราชาธิราช


ซ่งไท่จู่ฮ่องเต้ จักรพรรดิพระองค์แรกของราชวงศ์ซ่งเหนือ 
(พ.ศ.๑๕๐๓-๑๕๑๙) ภาพจาก : พิพิธภัณฑ์พระราชวังกรุงไทเป

แต่ถือเป็นโชคดีของชนชาวสยาม ที่พระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ ๕ ทรงรับสั่งให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ดูแลเอกสารโบราณจากพงศาวดารจีน จนในที่สุดก็ได้ข้อมูลของ “เสียน” ที่เป็นรัฐแรกเริ่มของอาณาจักรสยาม ดังที่ได้อธิบายไว้ใน “สุพรรณภูมิ ๑-๘”

ใน “สุพรรรณภูมิ ๙” จึงขอนำเรื่องการขุดค้นทางโบราณคดีในบริเวณเมืองโบราณสุพรรณภูมิ ของสำนักศิลปากรที่ ๒ กรมศิลปากร ซึ่งมีส่วนสำคัญที่สามารถนำมาเป็นองค์ประกอบของการเป็นรัฐแรกเริ่มสุพรรณภูมิ

ในการขุดค้นกำแพงเมืองโบราณสุพรรณภูมิ ด้านทิศเหนือ ใต้ และตะวันออก ของสำนักศิลปากรที่ ๒ กรมศิลปากร ก่อนหน้านี้มีการวิเคราะห์ โดยแบ่งชั้นทับถมทางโบราณคดีออกเป็น ๔ ชั้น(1) ที่น่าสนใจคือชั้นที่ ๒ จัดอยู่ในชั้นดินที่ ๓ มีการพบเศษเครื่องปั้นดินเผาและภาชนะอื่น ๆที่มีในสยาม และอีกส่วนหนึ่งเป็น “..เครื่องถ้วยจีนเคลือบสีเขียวสมัยราชวงศ์หยวน...”(พ.ศ.๑๘๑๔-๑๙๑๑) ในชั้นที่ ๓ จัดอยู่ในชั้นดินที่ ๔ พบเศษเครื่องปั้นดินเผาและภาชนะในสยามเช่นกัน ส่วนของต่างประเทศ “..พบเศษภาชนะดินเผาเนื้อแกร่งและเนื้อกระเบื้องซึ่งมีแหล่งผลิตในประเทศจีนสมัยราชวงศ์สุ้ง...” (ซ่ง,ซ้อง พ.ศ.๑๕๐๓-๑๘๒๒) ราชวงศ์หยวน (พ.ศ.๑๘๑๔-๑๙๑๑)” และสำหรับชั้นที่ ๔ จัดอยู่ในชั้นดินที่ ๕ และ ๖ พบเศษภาชนะดินเผาเครื่องปั้นของสยาม และ “...ยังพบเศษเครื่องถ้วยจีนเคลือบขาวแบบชิงไป๋ สมัยราชวงศ์สุ้ง และเครื่องถ้วยจีนเคลือบเขียวเซลาดอน ราชวงศ์หยวน...” และเมื่อนำข้อมูลทั้งหมดมาประมวลภาพรวมเข้าด้วยกัน จึงมีการสันนิษฐานว่า “..กำแพงเมืองโบราณอาจสร้างอยู่ในช่วงระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๐”

จากข้อมูลข้างต้น ก็ทำให้ทราบอายุคร่าว ๆของกำแพงเมืองสุพรรณภูมิ ที่มีอายุตั้งแต่ พ.ศ.๑๘๐๑-๑๙๙๙ ซึ่งเป็นความหมายของพุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๐ ตามที่กรมศิลปากรสันนิษฐาน

แต่เมื่อพิจารณาข้อมูล เศษเครื่องกระเบื้องเคลือบของราชวงศ์ซ่ง ซึ่งไม่มีรายงานระบุว่าเป็นหัตถกรรมในช่วงเวลาใดของราชวงศ์นี้ เพราะราชวงศ์ซ่ง มี ๒ ระยะ กล่าวคือ ราชวงศ์ซ่งเหนือ (พ.ศ.๑๕๐๓-๑๖๗๐) และราชวงศ์ซ่งใต้ (พ.ศ.๑๗๐๕-๑๘๒๒) รวมตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางนานถึง ๓๑๙ ปี แต่ก็พอมีหลักฐานข้อมูลในบันทึกของชาวตะวันตกออกมาให้เห็นอยู่แม้จะไม่ระบุโดยตรงว่าราชวงศ์ซ่งติดต่อกับสยาม แต่ก็มีระบบการค้าเป็นตัวเชื่อมอย่างไม่อาจปฏิเสธ โดยแฟร์แบงค์กับไรสชาวร์ (2) สองนักประวัติศาสตร์จีนชาวตะวันตกมองว่า “ สมัยซ่งถือเป็นจุดกำเนิดของ การปฏิวัติพาณิชยกรรม ในประเทศ โดยในสมัยซ่งใต้ การค้าภายในประเทศกับต่างประเทศมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยพ่อค้าจีนมีการค้าผ่านทางทะเลกับเกาหลี ญี่ปุ่น และดินแดนในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้...สำหรับสาเหตุสำคัญที่การค้าทางทะเลขยายตัวขึ้นอย่างมากก็เนื่องมาจาก เส้นทางการค้าทางบกที่เรียกว่าเส้นทางสายไหม ตกไปอยู่ภายใต้การควบคุมของอาณาจักรซีเซี่ยและจิน ทำให้พ่อค้าชาวจีนต้องหันไปใช้เรือขนส่งสินค้าแทน ผลที่ตามมาก็คือ พ่อค้าทางทะเลเพิ่มขึ้นอย่างมาก ส่วนเมืองต่าง ๆ ริมชายฝั่งทะเลก็เพิ่มความสำคัญขึ้นเรื่อย ๆ..”

ภาพสำเภาโบราณที่จีนใช้ตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถัง 
ภาพจาก อ.ประพฤทธิ์ กุศลรัตนเมธี 
ผู้เชี่ยวชาญด้านการสืบค้นประวัติศาสตร์จีนที่เกี่ยวข้องกับไทย

จึงพอสรุปได้ว่า จีนมีการติดต่อกับสยามทางการค้าในสมัยราชวงศ์ซ่งใต้ แม้จะไม่มีข้อมูลยืนยันชัดเจนว่า เป็นการติดต่อกันในระดับราชวงศ์ต่อราชวงศ์ หรือพ่อค้าจีนต่อราชสำนักสยาม แต่ก็ถือได้ว่ามีการติดต่อกันในระหว่างพ.ศ.๑๖๗๐-๑๘๒๒ สอดคล้องกับการล่มสลายของอิทธิพลขอมนับตั้งแต่สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ในราวปีพ.ศ.๑๗๕๐ เป็นต้นมา จนเกิดรัฐแคว้นใหม่ขึ้น ในจำนวนนี้มี สุพรรณภูมิในลุ่มน้ำเจ้าพระยา และสุโขทัยทางตอนเหนือ รวมอยู่ด้วย

นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตประการหนึ่งว่าเครื่องกระเบื้องเคลือบในสมัยราชวงศ์ซ่งที่พบระหว่างขุดค้นทางโบราณคดีบริเวณกำแพงเมืองโบราณสุพรรณภูมิเท่านั้น ในเมืองอื่นพบเพียงเครื่องเคลือบสมัยราชวงศ์หยวน ราชวงศ์หมิง และราชวงศ์ชิง อาทิ “ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พบไหแปดเหลี่ยมจากวัดมหาธาตุและไหทรงกลมจากป้อมเพชร ที่จังหวัดเชียงใหม่พบไหทรงกลมจากเวียงท่ากาน ที่จังหวัดลำพูน พบไหทรงกลมและทรงแปดเหลี่ยมจากพระธาตุหริภุญชัย และที่จังหวัดสุโขทัย พบไหทรงกลมจากกรุวัดพระพายหลวง”(3) โดยอยู่ในสมัยราชวงศ์หยวนและหมิง ซึ่งน่าเข้าไปจากต้นทางเมืองสุพรรณภูมิที่ควบคุมพื้นที่ทะเลทั้งแถบอันดามันและอ่าวไทยในช่วงพุทธศตวรรษที่๑๘ เป็นต้นมา


จักรพรรดิซ่งเกาจง ฮ่องเต้พระองค์แรกราชวงศ์ซ่งใต้ 
(พ.ศ.๑๗๐๕-๑๗๓๐) ภาพจาก : พิพิธภัณฑ์พระราชวังกรุงไทเป

ส่วนกรณีราชวงศ์หยวน (พ.ศ.๑๘๑๔-๑๙๑๑) ถือเป็นที่ชัดเจนแล้วจาก “หยวนสือลู่” ที่มีการแปลไว้ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยหลวงเจนจีนอักษร(สุดใจ) เป็นผู้แปล ที่ระบุว่าราชวงศ์หยวน มีการติดต่อกับราชสำนักสยามผ่านพระราชพิธีทางการทูตนับตั้งแต่ปีพ.ศ.๑๘๒๕ จนถึงพ.ศ.๑๘๔๓(4)

ถึงเวลานี้ “หยวนสือลู่” หรือพงศาวดารราชวงศ์หยวนยืนยันถึงการมีรัฐสุพรรณภูมิบนแผ่นดินสยามอย่างน้อยในปีพ.ศ.๑๘๒๕ นับตั้งแต่ราชสำนักหยวนส่งราชทูตมาเจริญสัมพันธไมตรีกับพระเจ้ากรุงสยามเป็นครั้งแรก และหลักฐานจากเศษกระเบื้องเคลือบในสมัยราชวงศ์ซ่ง ซึ่งย้อนเวลาขึ้นไปอีกอย่างน้อยถึงปีพ.ศ.๑๗๐๕ หรือตั้งแต่ต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๘ เพียงเท่านี้ ก็พอจะให้ภาพชัดถึงความเป็นจุดเริ่ม “อาณาจักรสยาม” ได้แล้วกระมัง.



เศษกระเบื้องหลักฐานการสร้างชาติ
...........วิญญู บุญยงค์.............

*********



อ้างอิง

1.ฉันทัส เพียรธรรม.เอกสารประกอบการเสวนา “ปักหมุดเส้นเวลาย้อนอดีตเมืองโบราณสุพรรณภูมิฯ”(20 เม.ย.2561).การสังเคราะห์องค์ความรู้ปรวัติศาสตร์รัฐสุพรรณภูมิ จังหวัดสุพรรณบุรี ด้วยกระบวนการการมีส่วนร่วม.หน้า283-284.

2.วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี.ราชวงศ์ซ่ง อ้างถึง แฟร์แบงค์ และไรสชาวร์.

3.อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช.ลวดลายกับการกำหนดอายุไหลายคราม สมัยราชวงศ์หยวนที่พบในประเทศไทย. http://www.damrong-journal.su.ac.th/upload/pdf/58_8.pdf.

4.ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๕.จดหมายเหตุว่าด้วยกรุงสยามแต่โบราณ(เรียบเรียงจากจดหมายเหตุจีน ๕ เรื่อง).แปลโดย หลวงเจนจีนอักษร(สุดใจ).

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น