โพสต์แนะนำ

วันเสาร์ที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2561

สุพรรณภูมิ ๖


                             ขุนหลวงพ่องั่ว ราชันย์ ที่ต้าหมิงต้องจารึก

          ขุนหลวงพ่องั่วส่งเจ้านครอินทร์เป็นราชทูตไปจีนตั้งแต่พระชนม์ ๑๒ พรรษา ขณะสถานการณ์ภายในยังครุกรุ่นด้วยสงครามและแผนการโค่นล้มราชบัลลังก์

            ราชสำนักจีนมีอิทธิพลต่อรัฐแคว้นทางแถบใต้อยู่ไม่น้อย แม้จะอยู่ห่างไกลกัน แต่หากมีความสัมพันธ์อันดีต่อจีนก็เสมือนเป็นเกราะกำบังได้เป็นอย่างดี สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้า (ขุนหลวงพ่องั่ว) จึงดำเนินพระราโชบายกระชับความสัมพันธ์กับจักรวรรดิต้าหมิงมาตั้งแต่เริ่มต้นรัชกาลหลังจากหมิงไท่จงฮ่องเต้ส่งคณะราชทูตมาเจริญความสัมพันธ์  มีเหตุผลอันเชื่อได้ว่าขุนหลวงพ่องั่วซื้อใจจักรพรรดิต้าหมิง ด้วยการส่งพระราชโอรสเป็นราชทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีตั้งแต่ครั้งแรกหลังจากพระองค์ขึ้นครองราชย์ในกรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา

จูหยวนจาง หมิงไท่จงฮ่องเต้ แห่งจักรวรรดิต้าหมิง (พ.ศ.๑๘๗๑-๑๙๔๑)
ภาพจาก วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

บันทึกของจีนจากพงศาวดารยี่จับสี่ซื้อ(1)ระบุว่าในปีพ.ศ.๑๙๑๔ “...เสี้ยมหลอฮกก๊กอ๋อง เซียนเลียดเจี่ยวปีเองี่ย(สมเด็จเจ้าพระยา)ให้ราชทูตเชิญพระราชสาสนแลพาช้างกับเต่าหกเท้า(1)แลสิ่งของในพื้นประเทศมาเจริญทางพระราชไมตรีพร้อมกันกับหลุยจงจุ่น(ชื่อราชทูตจีน)...” และยังมีข้อมูลขยายความจากหนังสือหมิงสือลู่(บันทึกเกี่ยวกับราชวงศ์หมิง) ที่ระบุว่าเป็น “เดือนกันยายน” และราชทูตที่นำคณะไปในครั้งนี้ชื่อ“เจ้าอังกุ”(2)

             แต่ในหนังสือหมิงสือลู่-ชิงสือลู่ (พ.ศ.2559) ระบุชัดเจนว่า "...หลี่จงจิ้น เดินทางกลับจากราชอาณาจักรสยาม ซานเลี่ยเจาผีหยา กษัตริย์แห่งอาณาจักรนั้น ทรงแต่งตั้งราชทูตนามว่า เจาเอี้ยนกูหมาน แลคณะติดตามหลี่จงจิ้นมาเข้าเฝ้า..” ซึ่งดร.วินัย พงศ์ศรีเพียร บรรณาธิการและผู้แปล ให้ความหมายของ “เจาเอี้ยนกูหมาน”ว่า คือ”เจ้าอินทรกุมาร”(3)            

              เจ้าอินทรกุมาร ขณะนั้นอยู่ในวัยเพียง ๑๒ ชันษาเท่านั้น เมื่อไปถึงราชสำนักจีนในบันทึกยี่จับสี่ซื้อระบุว่า “...พระเจ้าไถ่โจ๊วฮองเต้(2)รับสั่งให้เจ้าพนักงานเอาแพรม้วนประทานไปให้อ๋อง กับประทานผ้าม้วนให้ราชทูตด้วย” ซึ่งผ้าแพรผ้าม้วนที่ว่านี้ปกติฮ่องเต้จีนจะพระราชทานให้กับกษัตริย์หรือราชวงศ์ระดับสูงเท่านั้น การพระราชทานผ้าม้วนให้ราชทูต ยืนยันได้ว่าราชทูตมีความสำคัญมาก และไปสอดรับกับบันทึกฉบับเดียวกันระบุพ.ศ.๑๙๑๗หรือ ๓ ปีต่อมาว่า 

            “...ในปีนั้นสี่จื๊อ(3)ของซูมั่นบังอ๋อง(4)ชื่อ เจี่ยวหลกควานอิน(เจ้านครอินทร์)ให้ราชทูตถือหนังสือมาถวายฮองไถ่จื้อ(พระราชโอรส)และมีสิ่งของในพื้นประเทศมาถวาย พระเจ้าไถ่โจ๊วฮองเต้รับสั่งให้เจ้าพนักงานนำราชทูตเข้าเฝ้าตงกง(มเหสี)แล้วก็ให้เลี้ยงดูราชทูตกับประทานสิ่งของตอบแทนให้ราชทูตนำกลับไปให้สี่จื๊อ” องค์ฮองไถ่จื๊อหรือพระราชโอรสพระองค์นี้ ต่อมาก็คือจักรพรรดิหย่งเล่อ ผู้สร้างตำนานอาณาจักรบนมหาสุมทรที่ควบคุมโดยขันทีเจิ้งเหอนั่นเอง

จะเห็นได้ว่า เจ้านครอินทร์ ทรงรู้จักกับพระราชโอรสมาก่อน มิใช่จู่ ๆก็จะให้ราชทูตถือหนังสือไปกับคณะ  ปัจจัยสนับสนุนคือฮ่องเต้ต้าหมิงก็ทรงอำนวยความสะดวกให้ราชทูตเป็นอย่างดี พร้อมกับพระราชทานสิ่งของกลับมาให้เจ้านครอินทร์

จากพระราชดำริของขุนหลวงพ่องั่ว เจ้านครอินทร์ดูจะเป็นที่โปรดปรานต่อหมิงไท่จงฮ่องเต้อยู่มาก เห็นได้จากในปีพ.ศ.๑๙๒๐ ขณะเจ้านครอินทร์มีพระชนมายุ ๑๘ พรรษา บันทึกราชวงศ์หมิงจารึกอักษรว่า “ซูมั่นบังอ๋องให้สี่จื้อ ชื่อ เจี่ยวหลกควานอิน มาเฝ้า พระเจ้าไถ่โจ๊วฮองเต้มีความยินดี รับสั่งให้ยงไวล่าง...ตอบราชสาสน กับตราไปให้อ๋องดวงหนึ่ง อักษรในดวงตรามีว่า เสี้ยมหลอก๊กอ๋องจืออิ่น  แลประทานเครื่องยศกับค่าใช้จ่ายในระหว่างไปมาให้แก่สี่จื้อเจี่ยวหลกควานอิน ตั้งแต่นั้นต่อไป ก็เรียกชื่อประเทศตามอักษรในดวงตราว่า เสี้ยมหลอก๊ก...”(4)

ในดวงตราที่มีอักษรว่า เสี้ยมหลอก๊กจืออิ่น เคยมีการขยายความมาแต่ชั้นเดิมว่าหมายถึง ตราของเสี้ยมหลอก๊กอ๋อง อาจไม่ตรงนัก แต่ควรจะเป็นตราตั้งมีความหมายถึงการแสดงออกของราชสำนักจีนที่เห็นชอบว่า  เจ้านครอินทร์คือองค์รัชทายาทเสี้ยมหลอก๊ก จึงใส่อักษร”จือ”(สี่จื๊อ)และ“อิน”(เจ้านครอินทร์)ลงไป พร้อมกันนี้จักรพรรดิหมิงไท่จงได้พระราชทาน“เครื่องยศ”ซึ่งต้องเป็นเครื่องยศแบบองค์รัชทายาทราชสำนักจีนเช่นกัน อาจเป็นจุดนี้กระมังที่มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า ฮ่องเต้ต้าหมิงทรงรับเจ้านครอินทร์เป็นพระราชโอรสบุญธรรม  นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางแก่เจ้านครอินทร์ ถือเป็นกรณีพิเศษที่ราชสำนักจีนได้กระทำ

จักรพรรดิหย่งเล่อ (พ.ศ.๑๙๐๓-๑๙๖๗) พระสหายในเยาว์วัยกับเจ้านครอินทร์
มีบทบาทสำคัญในรัชกาลสมเด็จพระนครินทราธิราช (ภาพจาก : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี)


สิ่งที่เป็นข้อสังเกตอย่างหนึ่ง คือตราประทับที่หมิงไท่จงฮ่องเต้ รับสั่งให้ราชทูตนำมาถวายขุนหลวงพ่องั่ว ระบุอักษร เสี้ยมหลอก๊กจืออิ่นและหลังจากนั้นชื่อเสี้ยมหลอฮกก๊กที่เคยถูกเรียกขานมาแต่เดิม ก็ถูกเรียกตามตราประทับใหม่ว่า เสี้ยมหลอก๊กโดยตัดคำว่า ฮกออกไป  

คำว่าฮกในภาษาจีนแต้จิ๋ว หรือคำว่าหูในภาษาจีนกลางนั้น ออกเสียงมาจากคำว่าละโว้เพราะฉะนั้นการตัดคำว่าฮกหรือ หูออกไปก็เท่ากับตัด ละโว้ออกไปนั่นเอง ดูแล้วเป็นเรื่องใหญ่ เพราะอาจหมายรวมถึงการเปลี่ยนแปลงภายในพระราชอาณาจักรทีเดียว แต่เรื่องนี้ก็มีนัยสำคัญซ่อนอยู่

เหตุผลนั้น น่าจะอยู่ที่ ในระยะต้นรัชกาลของสมเด็จพระบรมราชาธิราช หลังจากที่ได้เจริญสัมพันธไมตรีต่อราชสำนักต้าหมิงราว ๓ ครั้งแล้ว  ในปีพ.ศ.๑๙๑๖ ท้าวอินทรสุรินทรในพระเจ้าอู่ทองซึ่งเป็นพระขนิษฐาของขุนหลวงพ่องั่วและเป็นพระราชมารดาพระราเมศวร ส่งสาส์นไปยังราชสำนักจีน ดังในบันทึกระบุดังนี้

ในปีนั้น (พ.ศ.๑๙๑๖)นางเซียนเลียะซือลิ่ง (สมเด็จสุรินทร) ซึ่งเป็นพระพี่นาง (ความเป็นจริงเป็นพระน้องนางขุนหลวงพ่องั่ว)ของเสี้ยมหลอฮกก๊กอ๋อง ให้ราชทูตเชิญพระราชสาสนซึ่งจารึกอักษรแผ่นทองคำ กับสิ่งของในพื้นประเทศมาถวายตงกง(พระมเหสี)ตงกงไม่รับและในปีเดียวกันนั้นเอง ท้าวอินทรสุรินทร ได้ส่งราชทูตกลับไปอีกครั้งเพื่อเข้าเฝ้าหมิงไท่จงฮ่องเต้ นางเซียนเลียะซื่อลิ่ง ให้ราชทูตนำสิ่งของกลับมาถวายอีก พระเจ้าไถ่โจ๊วฮองเต้ก็ไม่ทรงรับ..(5)

เหตุการณ์ครั้งนี้ พงศาวดารจีนได้บันทึกอธิบายเพิ่มเติมด้วยว่า ครั้งนั้นเสี้ยมหลอฮกก๊ก อ๋อง(พระราเมศวร)ไม่ปรีชาสามารถ ชาวประเทศก็เชิญเซียนเลียะเป๊าปี๊เองี่ยสือลี่ตอล่อหลก (สมเด็จเจ้าพระยาสุรินทราราช)ลุงของเสี้ยมหลอฮกก๊กอ๋องขึ้นครองราชย์สมบัติ แล้วจัดให้ทูตมาทูลข้อความเรื่องนี้...(6)

จะเห็นได้ว่าจักรพรรดิหมิง ผู้เป็นเจ้าของตำนานโค่นราชวงศ์หยวนอันลือลั่น ทรงรู้เท่าทันถึงความพยายามของพระราเมศวรขณะพระชนมายุ ๓๑ พรรษา และยังปรารถนาจะกลับสู่ราชบัลลังก์อีกครั้ง โดยใช้ช่องทางผ่านพระราชมารดาที่เคยมีราชฐานันดรเป็นพระมเหสี เพื่อเข้าทางตงกงในฐานะพระมเหสีเช่นกัน เมื่อไม่ได้ผลก็เข้าทางตรงที่องค์จักรพรรดิ แต่ผลก็เป็นเช่นเดิม 

ความพยายามของพระราเมศวรในครั้งนั้น ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในราชวงศ์อู่ทองและราชสำนักละโว้ เพราะไม่มีหลักฐานใดในพงศาวดารของจีนที่ระบุถึงการครองราชย์ของพระราเมศวร และพระรามราชาหลังการสิ้นพระชนม์ของขุนหลวงพ่องั่ว แต่กลับเป็นเจ้านครอินทร์ พระราชโอรสสายตรงซึ่งเป็นที่ชื่นชมของจักรพรรดิต้าหมิง

บันทึกเอกสารจีนในราชวงศ์หมิง ระบุปีพ.ศ.๑๙๓๘ “สี่จื๊อเจี่ยวหลกควานอิน ให้ราชทูตนำราชสาสนกับสิ่งของในพื้นประเทศมาถวาย ในราชสาสนมีความว่า พระบิดาสิ้นพระชนม์...” เมื่อจักรพรรดิ หมิงไท่จง ทรงสดับความ จึงส่งขุนนางราชสำนักมายังราชอาณาจักรสยามทันที

“แผ่นดินหงบู๊ปีที่ ๒๘ อิดหาย(ตรงกับปีกุน จ.ศ.๗๕๗/พ.ศ.๑๙๓๘)...พระเจ้าไถ่โจ๊วฮองเต้ รับสั่งให้จงวาง(ขุนนางในกรมขันที)ชื่อจ๋าวตะ นำราชสาสนกับเครื่องสังเวยไปคำนับศพ แลยกย่องสี่จื้อเจี่ยวหลกควานอินเปนอ๋อง กับพระราชทานสิ่งของไปเป็นอันมาก”(7)

            ในราชสาส์นที่จักรพรรดิหมิงรับสั่งให้จงวางจ๋าวตะ อัญเชิญมา มีใจความว่า

“ตั้งแต่เราครองราชย์สมบัติมานี้ ได้แต่งราชทูตออกไปนานาประเทศ ตามธรรมเนียมของวงษ์จิว(จู)ทั่วทั้งสี่ทิศถึงสามสิบหกประเทศ ภาษาพูดพ้องกันสามสิบเอ็ดประเทศ แต่แบบธรรมเนียมนั้นต่างกัน สมัยโน้นจึงมีประเทศใหญ่สิบแปดประเทศ ประเทศน้อยสี่สิบเก้าประเทศมาขึ้นวงษ์จิว เป็นแบบธรรมเนียมนับเนื่องมาถึงปัตยุบัน

ครั้งนี้ เสี้ยมหลอก๊กกับประเทศเราก็ไม่ใกล้กัน คราวนี้ราชทูตของท่านไปถึงเราทราบว่าเชยอ๋อง(อ๋ององค์ที่ล่วงลับ)ของท่านสิ้นพระชนม์ ขอให้อ๋องปกครองประเทศตามประเพณีของเชยอ๋องโดยความยุติธรรม ขุนนางแลราษฎรก็คงจะชื่นชมยินดี

บัดนี้เราจัดให้ขุนนางนำหนังสือยกย่องมาให้ท่าน ขอให้อ๋องปกครองประเทศอย่าให้ผิดแบบธรรมเนียม แลอย่าได้เพลิดเพลินในกามคุณแสวงหาความสำราญ ประเพณีของเซยอ๋องจึ่งจะเจริญ ขอให้ท่านประพฤติตามคำของเรานี้เถิด”

สาระสำคัญของพระราชสาส์นฉบับนี้ ได้บอกให้คนรุ่นเรารับรู้ว่า จักรพรรดิต้าหมิงทรงเทิดพระเกียรติยศสมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้าที่บริหารปกครองประเทศมาเป็นอย่างดีทุกด้าน ทั้งทรงยกย่องเจ้านครอินทร์เป็นพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ต่อไป และชัดเจนกับประโยคที่ว่า “เสี้ยมหลอก๊กกับประเทศเราก็ไม่ใกล้กัน” ซึ่งความหมายนั้นย้ำว่า พระราชบิดาของเจ้านครอินทร์เป็น “เสี้ยมหลอก๊กอ๋อง” ซึ่งก็คือ สมเด็จพระบรมราชาธิราช หรือขุนหลวงพ่องั่ว นั่นเอง


                                   พระเจดีย์ และปรางค์ใหญ่สัญลักษณ์สุพรรณภูมิ 
                                 ราชสำนักจีนเรียกเมืองนี้ว่า”กรุงพระนครศรีทวารวดี”

การส่งเจ้าอินทรกุมารไปในครั้งแรกของการเจริญราชไมตรีหลังการเข้าควบคุมพระนครศรีอยุธยาของขุนหลวงพ่องั่ว นับมีส่วนสำคัญต่อสัมพันธไมตรีระหว่างสองราชวงศ์เป็นอย่างมาก เป็นความกล้าหาญในการตัดสินพระทัยที่ส่งพระราชโอรสวัย ๑๒ ชันษาข้ามน้ำข้ามทะเลไปกับคณะราชทูตจีน และถือเป็นการซื้อใจจักรพรรดิหมิงไท่จงได้เป็นอย่างดี จะเห็นว่าองค์จักรพรรดิทรงให้ความเอ็นดูต่อเจ้านครอินทร์เป็นอย่างมาก และทรงให้ความสำคัญต่อขุนหลวงพ่องั่วเสมอมาในระดับการกระชับความสัมพันธ์ที่มีการติดต่อกันมาต่อเนื่องไม่น้อยกว่า ๑๕ ครั้ง แน่นอนว่าพระองค์จะต้องล่วงรู้ความเป็นมาของขุนหลวงพ่องั่วในบริบทของราชานักรบและนักปกครองเป็นอย่างดี ขณะที่พระองค์ก็เอาชีวิตเป็นเดิมพันต่อสู้มาอย่างหนักกว่าจะก้าวขึ้นเป็นจักรพรรดิจีนได้ ข้อสังเกตอีกประการหนึ่ง หมิงไท่จงฮ่องเต้ทรงให้ความสำคัญกับขุนหลวงพ่องั่ว และเจ้านครอินทร์ จึงรับสั่งให้การถอดความจากพระราชสาส์นที่พระองค์ส่งมายังสยามจารึกลงในพงศาวดารให้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์สืบไป

บันทึกในพงศาวดารจีนฉบับยี่จับสี่ซื้อ ระบุถึงการครองราชย์ของขุนหลวงพ่องั่ว ในราชธานี“พระมหานครศรีอยุทธยา”(ชื่อเมืองหลวงที่จีนเรียก)(5)เริ่มจากปีพ.ศ.๑๙๑๓ จนถึงพ.ศ.๑๙๓๘ ยาวนานถึง ๒๕ ปี และจักรพรรดิทรงยกย่องให้ สี่จื๊อเจี่ยวหลกควานอิน(องค์รัชทายาท) เป็นอ๋องขณะที่เจริญพระชนมายุ ๓๖ พรรษา และต่อมาพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นี้ ก็ทรงนำพาสยาม สานต่อความมั่งคั่งตามปณิธานอันยิ่งใหญ่ของสมเด็จพระราชบิดา

เป็นที่น่าเสียดายว่า แม้แต่จักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่แห่งจักรวรรดิต้าหมิง ยังยกพระเกียรติขุนหลวงพ่องั่ว จนต้องบันทึกลงในพระราชพงศาวดาร แต่คนไทยส่วนใหญ่ ยังไม่รู้จักพระองค์...แม้แต่รูปเคารพเล็ก ๆสักองค์ยังไม่มีให้ชื่นชมบูชา.



ความยิ่งใหญ่อาจมีคุณค่าเพียงตำนาน
..............วิญญู บุญยงค์..............

**********

เชิงอรรถ


(1).เต้าหกเท้า คล้ายเต้าทั่วไป แต่มีเดือยกระดูกอยู่ระหว่างขาหลังกับหางด้านละอัน ใช้สำหรับยันพื้นตอนเดินขึ้นเนินจึงดูเหมือนมีหกขา ขนาดลำตัวโตเต็มที่หนักประมาณ 30-40 ก.ก. ในอดีตมีอยู่มากทั้งในสยาม และประเทศใกล้เคียง

(2)พระเจ้าไถ่โจ๊วฮองเต้ เรียกกันหลายพระนาม เช่น จูหยวนจาง หมิงไท่จง และหงหวู่ เป็นต้น

(3)สี่จื้อ แปลว่า พระราชโอรสที่จะได้ราชสมบัติ

(4)ซูมั่นบังอ๋อง คือคำที่ราชสำนักจีนราชวงศ์หมิงใช้เรียกพระเจ้าแผ่นดินแทนการใช้พระนามเต็ม เช่นในบันทึกราชสำนักจีน เรียกกษัตริย์ เจียมเสียก๊ก(จามปา)ว่า ซูมั่นตะล้า

(5)ราชสำนักจีนเรียก “กรุงพระมหานครศรีอยุทธยา” อ่านสะกดทับศัพท์ในสำเนียงแต้จิ๋วว่า “กู๊โล่งพะละม้าฮู้ลกควนสีเอี่ยวธีย่า”

อ้างอิง

1,,4,5,6,7.จดหมายเหตุจีนว่าด้วยกรุงสยามแต่โบราณ(เรียบเรียงจากจดหมายเหตุจีน ๕ เรื่อง),พิมพ์ครั้งแรกใน  ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๕ พิมพ์แจกในงานศพ จางวางโท พระยารณไชยชาญยุทธ (ศุข โชติกะเสถียร) ปีมเสงนพศก พ.ศ.๒๔๖๐.


2.ต้วน ลี เชิง,รศ.พลิกต้นตระกูลไทย(ข้อมูลจากหนังสือหมิงสือลู่(บันทึกเกี่ยวกับราชวงศ์หมิง).สำนักพิมพ์พิราบ.พิมพ์ครั้งที่ 2.พศ.2521.

3.หมิงสือลู่-ชิงสือลู่ บันทึกเรื่องจริงแห่งราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิง.จัดพิมพ์โดยมูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี.กรุงเทพฯ.2559.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น