โพสต์แนะนำ

วันอังคารที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2561

อริยสงฆ์สยาม ๑



สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 8 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์(พ.ศ.๒๔๓๔-๒๔๓๕)




รูปหล่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ขนาด ๗ นิ้ว


สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ประสูติตรงกับวันที่ ๑๔ กันยายน พ.ศ.๒๓๕๒ ตรงกับวันเริ่มสวดมนต์ตั้งพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงได้รับพระราชทานนามว่า พระองค์เจ้าฤกษ์  เมื่อพระชันษาครบ ๒๐ ปี ในพ.ศ.๒๓๗๒ ทรงผนวชโดยมีสมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช(ด่อน)เป็นพระอุปัชฌาย์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นนุชิตชิโนรส เป็นพระกรรมวาจารย์ และพระวินัยรักขิต วัดมหาธาตุ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ต่อมาทรงเข้าถือธรรมเนียมธรรมยุติกนิกาย ตามพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงสมณศักดิ์เสมอพระราชาคณะชั้นสามัญ ในปีพ.ศ.๒๓๙๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯสถาปนา เป็นพระเจ้าวรวงษ์เธอ กรมหมื่นบวรรังสีสุริยพันธุ์ ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุติ

ในปีพ.ศ.๒๔๓๔ ทรงเข้าพระราชพิธีมหาสมณุตภิเษก เป็นกรมสมเด็จพระปวเรศวริยาลงกรณ์ บวรรังษีสุริยพันธุ์ ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช จนถึงวันที่ 28 กันยายน พ.ศ.๒๔๓๕ สิ้นพระชนม์ รวมพระชนม์ได้ ๘๓ ชันษา

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ทรงเป็นปราชญ์ทางภาษาบาลีที่สำคัญที่สุดพระองค์หนึ่ง นอกจากนั้นยังมีพระปรีชาสามารถในด้านต่าง ๆอีกมากมาย อาทิ

ด้านสถาปัตยกรรม ทรงเป็นผู้ออกแบบพระปฐมเจดีย์องค์ปัจจุบัน เมื่อปีพ.ศ.๒๓๙๖ ขณะดำรงพระอิสริยยศ พระเจ้าวรวงษ์เธอ กรมหมื่นบวรรังสีสุริยพันธุ์ เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต ด้านโบราณคดี ทรงอ่านอักษรขอม และจารึกเป็นจำนวนมาก อาทิ จารึกสุโขทัยหลักที่ ๒ ศิลาจารึกวัดศรีชุม ด้านประวัติศาสตร์ ทรงนิพนธ์ลิลิตพงศาวดารเหนือ เรื่องพระปฐมเจดีย์  ด้านดาราศาสตร์ ทรงคำนวณปฏิทินทางจันทรคติ ออกมาเป็นพระนิพนธ์ตำราปฏิทินปักขคณนา


ด้านวิทยาศาสตร์ ทรงจัดทำ จดหมายเหตุบัญชีน้ำฝน ที่มาจากการเก็บสถิติด้วยพระองค์เองเป็นเวลา 45 ปี ด้านกวีนิพนธ์ ทรงพระนิพนธ์ไว้ทั้งภาษาไทยและภาษาบาลี  อาทิ พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กาพย์เสด็จนครศรีธรรมราช ลิลิตพงศาวดารเหนือ ด้านพระศาสนา ทรงเป็นองค์ประธานชำระพระไตรปิฎก และจัดพิมพ์พระไตรปิฎกเป็นภาษาไทยครั้งแรก ทรงกำหนดพระราชบัญญัติและประกาศคณะสงฆ์ต่อเนื่อง และทรงสร้าง “พระกริ่งปวเรศ” ที่เป็นตำนานมาถึงปัจจุบัน.


**********



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น