โพสต์แนะนำ

วันเสาร์ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2561

สุพรรณภูมิ ๗



ไม่มีม่านมืดประวัติศาสตร์สุพรรณภูมิ

รัชกาลที่.๕ ทรงพระราชทานให้นานแล้ว



ข้อมูลเกี่ยวกับ "สุพรรณภูมิ" ในฐานะรัฐแรกเริ่มของอาณาจักรสยามนั้น ไม่เคยหายไปไหน ผู้ที่ศึกษาประวัติศาสตร์ทุกคนคงเคยอ่านเคยสัมผัส แต่ในอดีตไม่ได้ให้ความสำคัญนัก อาจเพราะการอ่านยาก หรือการตีความที่ยังไม่ชัดเจน ทำให้ผู้ศึกษาต้องเปลี่ยนใจไปตั้งหลักใหม่ 

แท้ที่จริงแล้ว เรื่องความเป็นมาของสยาม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานให้คนไทยทั้งประเทศตั้งแต่ปลายรัชกาล โดยหลวงเจนจีนอักษร(สุดใจ) พนักงานหอพระสมุดวชิรญาณ แปลถวายจากหนังสือจีน ๓ ฉบับ คือ หนังสือคิมเตี้ยซกทงจี่ หนังสือหวงเฉียวบุ๋นเหี่ยนทงเค้า และหนังสือยี่จั๋บสี่ซื้อ ตอนเหม็งซื้องั่วก๊กเลี่ยต้วน ถูกจัดพิมพ์เป็นหนังสือในชื่อ จดหมายเหตุจีนว่าด้วยกรุงสยามแต่โบราณ(เรียบเรียงจากจดหมายเหตุจีน ๕ เรื่อง)” และในคราวต่อ ๆมา ได้รับการจัดพิมพ์ในชื่อ "จดหมายเหตุเรื่องพระราชไมตรีในระหว่างกรุงสยามกับกรุงจีน"


พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์สยามอย่างมาก
โดยหลวงเจนจีนอักษร(สุดใจ) จากหอสมุดวชิรญาณ ได้เป็นผู้แปล "จดหมายเหตุจีนว่าด้วยกรุงสยามแต่โบราณฯ"ถวาย
ภาพจาก : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี


หนังสือฉบับนี้เป็นพระราชพงศาวดารจีนที่กล่าวถึงพระราชไมตรีที่กรุงสยามได้มีมากับกรุงจีน ตั้งแต่สมัยแรกเริ่มอาณาจักรสยามจากราชธานีรัฐสุพรรณภูมิ ก่อนย้ายไปพระนครศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์

เหตุที่เกิดภาพไม่ชัดทางประวัติศาสตร์ มีเหตุผลสำคัญอยู่ด้วยกันหลายประการ อาทิ การกำหนดให้สุโขทัยเป็นรัฐแรกเริ่มจากหลักฐานศิลาจารึกหลักที่ ๑ สมัยพ่อขุนรามคำแหง จึงเรียงสมัยเป็น สุโขทัย ลพบุรี อยุธยา ธนบุรี จนถึงรัตนโกสินทร์ ในจำนวนนี้ไม่มี สุพรรณภูมิ และกลุ่มเมืองบริวารที่กระจายตัวอยู่บริเวณที่ราบลุ่มเจ้าพระยา แม้จะมีซากโบราณสถานอายุกว่า ๒,๐๐๐ ปีที่อู่ทอง และซากโบราณสมัยสุพรรณภูมิกระจายอยู่ทั่วไปก็ตาม นอกจากนั้นการตีความในลำดับราชวงศ์ และลำดับปีพุทธศักราช เป็นไปตามพระราชพงศาวดารที่มีมาแต่เดิมและถูกเรียบเรียงขึ้นใหม่ ข้อมูลจากพงศาวดารจีนจึงถูกจัดเข้าหมวดตามที่วางไว้ในพงศาวดารไทย

ต่อมาในระยะหลังเริ่มมีข้อมูลมากขึ้น ทั้งการถอดความจากศิลาจารึกในสมัยต่าง ๆ ทั้งแผ่นใบลานโลหะเงิน ทองคำ ทองแดง และดีบุก ตลอดจนข้อมูลจากเอกสารต่างประเทศในอดีตจากหลายที่หลายแหล่ง ความเชื่อดั้งเดิมจึงค่อยคลายตัวลง จนปัจจุบันเข้าใจตรงกันว่า สุพรรณภูมิคือ “เสียน” ตามที่ราชสำนักจีนออกเสียงมาจากคำว่า สยาม

ในชั้นเดิมที่ยังไม่พบหลักฐานจากพงศาวดารจีน จนทำให้ “สุพรรณภูมิ” รัฐเริ่มแรกของสยามถูกมองผ่านไปนั้น เป็นเพราะหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เป็นลายลักษณ์อักษรมีน้อยเกินไปจนเกิดข้อขัดข้องในการตีความ แต่หากสังเกตก็จะพบสาเหตุที่แท้จริงว่า ในแคว้นรัฐที่ถูกครอบครองด้วยวัฒนธรรมขอมมาแต่เดิม จนต่อมาแม้อิทธิพลของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ เสื่อมลง แต่ระยะเปลี่ยนถ่ายนั้นบางรัฐแคว้นก็ยังดำรงวัฒนธรรมบางอย่างของขอมอยู่ เช่นในรัฐสุโขทัยยังใช้วิธีจารึกโองการผ่านหลักศิลา ขณะที่สยามสลัดวัฒนธรรมขอมออกไปเป็นการจารึกลงแผ่นลานเงินลานทองแล้วบรรจุลงในสถูปเจดีย์ตามคตินิยมในพุทธเถรวาท ข้อดีมีอยู่มาก แต่ข้อเสียก็คือคนที่พบในชั้นหลังเห็นเป็นสิ่งมีค่าก็นำลานทองไปหลอม ประวัติศาสตร์ที่บรรพชนสั่งสมมาจึงหายไปกับความร้อนที่ละลายทอง ขณะที่ศิลาจารึกมีคุณค่ามหาศาลในทางประวัติศาสตร์ กลับถูกปล่อยทิ้งตากแดดฝนเพราะถูกมองค่าแค่ศิลาสกัด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ 
ทรงเป็นผู้คำนำอธิบายเบื้องต้น ในจดหมายเหตุจีนว่าด้วยกรุงสยามแต่โบราณฯ
ภาาพจาก : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

อย่างไรก็ดี แม้จะยอมรับกันว่า เสียน”(สยาม) คือสุพรรณภูมิ แต่พงศาวดารที่หลวงเจนจีนอักษรแปลฉบับนี้ก็ยังถูกลืมไป เหตุผลเพราะการกำหนดความหมายในพงศาวดารฉบับนี้ ยังมีความคลุมเครือต่อภาษาสำนวนที่ชวนสับสน และการตีความก็อยู่ภายใต้กรอบสุโขทัยเป็นเสียน รวมถึงรายพระนามพระมหากษัตริย์ และระยะปีการครองราชย์ ก็คำนึงถึงการสอดรับกับพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาเป็นสำคัญ จึงทำให้ผู้ศึกษาในชั้นหลังเกิดความสับสน ยากจะหาคำตอบที่แท้จริง จึงละเลยเลิกสนใจ

แต่หากเราหันกลับมาพิจารณาและทำความเข้าใจอย่างใจเย็นอีกครั้ง จะพบว่าทุกเอกสารโบราณของจีนได้ระบุถึงเหตุการณ์วันเดือนปีไว้อย่างชัดเจน ด้วยกระบวนการจารึกและเก็บรักษาอย่างมีระบบภายใต้กรอบจริยธรรมของราชสำนักอย่างเข้มงวด ดังจะเห็นได้จากประเทศต่าง ๆทั่วโลกที่เคยดำเนินความสัมพันธ์กับจีนโบราณ ต่างเชื่อถือ และใช้ข้อมูลจากพงศาวดารเหล่านี้อ้างอิงเสมอมา

 จดหมายเหตุจีนว่าด้วยกรุงสยามแต่โบราณ และทุกเอกสารโบราณของจีนที่กล่าวถึงสยาม มีการแปลออกมาย้อนเวลาไปมากที่สุดเพียงราชวงศ์หยวน(พ.ศ.๑๘๑๔-๑๙๑๑) แม้เพียงเท่านั้น ก็ทำให้เรารู้ว่า สยาม เป็นรัฐแรกเริ่มในลุ่มเจ้าพระยาที่เกิดขึ้นหลังการล่มสลายของอิทธิพลขอมนับแต่พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ก็ค่อย ๆยืนหยัดจนยกระดับสถานะเป็นเมืองอย่างชัดเจน จนถึงปีพ.ศ.๑๘๒๕ กุบไล ข่าน แห่งจักรวรรดิหยวน ได้ส่งราชทูตมาเจริญสัมพันธไมตรีกับสยาม แม้จะไม่ได้บอกว่าพระเจ้าแผ่นดินแห่งสยามทรงพระนามใด แต่ก็พออนุมานได้ว่าอาจเป็นสมเด็จพระอัยกา(ปู่)ของขุนหลวงพ่องั่ว

เอกสารโบราณของจีนยังบอกด้วยว่า การส่งคณะราชทูตมาสยามของราชสำนักหยวนในครั้งแรก ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะสำเภาอับปางเสียก่อนมาถึง แต่อีก ๑๑ ปีต่อมาในปีพ.ศ.๑๘๓๖ ฮ่องเต้หยวนสี่จงก็ส่งราชทูตมาเจริญสัมพันธไมตรีอีกครั้ง  จากนั้นในปีรุ่งขึ้นพ.ศ.๑๘๓๗ พระเจ้าแผ่นดินสยาม(สันนิษฐานว่าเป็นสมเด็จพระราชบิดาขุนหลวงพ่องั่ว) ได้เสด็จไปยังราชสำนักจีนเป็นครั้งแรก  จากนั้นก็พัฒนาความสัมพันธ์เรื่อยมา

พ.ศ.๑๘๓๙ สมเด็จพระราชบิดา ส่งราชทูตไปยังราชสำนักจีนเพื่อขอม้า สอดคล้องกับศิลาจารึกพ่อขุนราม ที่ได้รับการตีความว่าเวลานั้นสุโขทัยเข้าควบคุมสุพรรณภูมิไปจนถึงหัวเมืองทางตอนใต้ ฮ่องเต้จีนได้พระราชทานม้าไปพร้อมกับเสื้อยศลายทอง อาจเป็นนัยเพื่อประกาศว่า สยามกับจีนเป็นหนึ่งเดียวกัน สงครามดำรงอยู่ระยะสั้น ๆ พอเข้าพ.ศ.๑๘๔๑ พ่อขุนรามคำแหงก็สวรรคต จากนั้นในปีพ.ศ.๑๘๔๓ พระเจ้าแผ่นดินสยามก็เสด็จไปจีนอีกครั้ง เท่ากับในสมัยสมเด็จพระราชบิดาขุนหลวงพ่องั่ว เสด็จฯไปจีนถึง ๒ ครั้ง

จักรพรรดิหยวนซื่อจู กุบไล ข่าน ส่งราชทูตมาเจริญราชไมตรีกับสยาม 
หลังการสถาปนาราชวงศ์หยวนได้ ๓ ปี พ.ศ.๑๘๒๕ และพ.ศ.๑๘๓๖
ภาพจาก : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี


สาระสำคัญของจดหมายเหตุจีนโบราณว่าด้วยกรุงสยาม และเอกสารโบราณของจีน บอกถึงรายละเอียดของช่วงเวลา และสาระของการเจริญราชไมตรีกับแผ่นดินสยาม นับตั้งแต่ราชวงศ์หยวน(พ.ศ.๑๘๑๔-๑๙๑๑) ราชวงศ์หมิง (พ.ศ.๑๙๑๑-๒๑๘๗) และราชวงศ์ชิง (พ.ศ.๒๑๘๗-๒๔๕๕)  เป็นฐานข้อมูลที่รวมระยะเวลาได้ถึง ๖๔๑ ปี นับมีคุณค่าต่อประวัติศาสตร์ชาติสยามเป็นอย่างยิ่ง

ชื่อ สยามจึงเป็นนามราชอาณาจักรที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง หากแต่ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้นมีเฉพาะการย้ายราชธานีหรือศูนย์กลางบังคับบัญชา เริ่มจาก พระนครสุพรรณภูมิ  พระมหานครศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ในปัจจุบัน คำตอบที่คิดว่าประวัติศาสตร์สุพรรณภูมิหายไปนั้น  แท้จริงล้นเกล้าฯรัชกาลที่ ๕ พระราชทานให้คนไทยนานกว่าร้อยปีแล้วนั่นเอง

บันทึกจากเอกสารจีนโบราณมีการแปลออกมาหลายครั้ง และล่าสุด หมิงสือลู่-ชิงสือลู่ บันทึกเรื่องจริงแห่งราชวงศ์หมิงและชิงฯของมูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ปีพ.ศ.๒๕๕๙ ก็ให้รายละเอียดและความชัดเจนเพิ่มมากขึ้น เมื่อรวมกับเอกสารก่อนหน้านี้ ทั้งพงศาวดารไทย และหลักฐานทางโบราณคดี  หากนำมาสังเคราะห์ร่วมอย่างมีระบบ จะทำให้ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ได้รับองค์ความรู้ก้อนใหญ่ในบริบทของต้นทางสยามจากสุพรรณภูมิจนถึงรัตนโกสินทร์

องค์ความรู้ที่ได้นี้ เมื่อนำมาเชื่อมต่อกับการศึกษาของทุกฝ่ายนับแต่อดีต ณ จุดเริ่มต้นของ สุวรรณภูมิเมืองอู่ทองโบราณ ที่เชื่อกันว่าซากโบราณสถานที่ยืนตระหง่านง้ำผ่านกาลเวลา จากสมัยเริ่มต้นของการเป็นเมืองท่าเขตการค้าทางทะเล มีการสั่งสมองค์ความรู้จากความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่มาพร้อมกับการค้า เกิดการพัฒนาเมืองจากนวัตกรรมใหม่ จนเข้าสู่การครอบงำของวัฒนธรรมฟูนัน การแทรกตัวของศิลปะอินเดีย เข้าสู่สมัยทวารวดี ผสมผสานกับศรีวิชัยในช่วงเวลาเหลื่อมไล่กัน จนเข้าสู่ระยะกลางของพุทธศตวรรษที่ ๑๘ และเริ่มคลี่คลายจากอิทธิพลของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗  ก่อนจะแยกตัวตั้งตนสร้างบ้านแปงเมืองจนบทบาทของ “สุวรรณภูมิ” กลับมาอีกครั้งในนาม “สุพรรณภูมิ”

องค์ความรู้จากต้นทางและปลายทางนี้ จะสมบูรณ์มากน้อยเพียงใด อยู่ที่ทุกคนไม่ละเลยที่จะใส่ใจแม้รายละเอียดเพียงเล็กน้อย เพราะข้อมูลเพียงไม่กี่คำอาจช่วยเติมต่อให้ประวัติศาสตร์กลับมามีชีวิต ไม่ให้หลงผิดไปกับข้อมูลหว่านล้อมที่นับวันจะเบ่งบานราวทานตะวันหลงทิศ 

หากจะกล่าวไปแล้ว ข้อมูลและหลักฐานจากเอกสารจีนที่นำมากล่าวถึงแม้เพียงเล็กน้อย ยังสามารถเดินทางข้ามอดีตไปถึงราชวงศ์หยวน จนส่งผลให้สยามมีอายุยาวนานมากกว่า ๗๐๐ ปี

นี่ยังไม่รวมหลักฐานจากโบราณวัตถุจำพวกเศษกระเบื้องใต้เคลือบลายสมัยราชวงศ์ซ่ง ที่มีอายุย้อนหลังไปอีก ๓๐๐ ปี กระจัดกระจาย...นอนนิ่งสนิท...อยู่ใต้ซากกำแพงเมืองโบราณสุพรรณภูมิ.




สืบค้นให้หนัก ให้ได้ภาพชัด "สุพรรณภูมิ"
...............วิญญู บุญยงค์..............




**********



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น