โพสต์แนะนำ

วันจันทร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2561

สุพรรณภูมิ ๘



ช้างสยามสร้างกำแพงจีน


คำว่า “ช้าง” ถูกเรียกในภาษาจีนกลางว่า “เซียง” ส่วนชาว "สยาม" จีนเรียกว่า “เซียน”(หนึ่งในหลายสำเนียง) สองคำนี้จึงอาจมีความหมายถึงการอยู่ร่วมกันเป็นความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดระหว่างชาวสยามกับช้างที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก ดังที่“หยางฝู”ได้บันทึกไว้ในหนังสืออี้อู้จื้อในสมัยฮั่นตะวันออก(พ.ศ.๕๖๘-๗๖๓)ตอนหนึ่งว่าที่นี่ “...มีประชากรจำนวนมาก นิยมล่าช้าง หากจับได้ก็ใช้ขับขี่ ถ้าตายก็เอางา...(1)

ช้างจึงเป็นสิ่งที่มีอยู่มากและอยู่กันมานานบนแผ่นดินสยาม และเนื่องจากช้างเป็นสัตว์ขนาดใหญ่ที่มีความอดทนสูงและฉลาดอย่างเลอเลิศ ดังที่ อริสโตเติล ปรัชญาเมธีกรีกโบราณ เคยกล่าวไว้ว่า “ช้างเป็นสัตว์ซึ่งเหนือกว่าสัตว์ทั้งปวงทั้งในด้านไหวพริบและจิตใจ”(1) จึงเห็นได้ว่านับแต่โบราณทุกรัฐแคว้นแถบเอเชียใต้ต่างฝึกช้างเพื่อใช้ในการศึกสงคราม สร้างเมือง และอีกหลายกรณี



 ช้างมีบทบาทสำคัญต่อสยามนับแต่การสร้างชาติจนถึงทูตสันถวไมตรี
ภาพจาก : ศูนย์บริบาลช้าง Elephant Nature Park เชียงใหม่

สยามกับราชสำนักจีนมีราชไมตรีกันมานานทั้งด้านการทูตและการค้า  ส่วนใหญ่ช้างจึงถูกนำมาเป็นส่วนหนึ่งของการเจริญสัมพันธไมตรี แต่จะว่าไปแล้วแม้สยามจะมีความสัมพันธ์กับจีนมาอย่างยาวนาน แต่การส่งช้างไปจีนก็ใช่ว่าจะปรากฏบ่อยนัก หากประมวลหลักฐานความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับจีนที่พบจากโบราณวัตถุก็นับได้ตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่นในพุทธศตวรรษที่ ๖ เรื่อยมาจนถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๘ในราชวงศ์ซ่ง และเห็นหลักฐานเป็นรูปธรรมจากพระราชพงศาวดารจีนสมัยราชวงศ์หยวนในต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๙ แต่ก็ยังไม่ปรากฏว่าสยามส่งช้างไปจีน

หลักฐานจริง ๆนั้นมีช่วงเข้าสู่ต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ของจักรวรรดิต้าหมิง ปรากฏบันทึกการส่งช้างไปยังราชสำนักจีนเป็นครั้งแรกในการเจริญความสัมพันธ์ทางการทูต  เป็นการส่งไปโดยพระราชบัญชาของสมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้า(ขุนหลวงพ่องั่ว)โดยผู้ที่นำไปคือองค์รัชทายาท

บันทึกจากพงศาวดารจีนในสมัยราชวงศ์หมิง ได้ถูกนำมาแปลความอย่างน้อย ๓ ครั้ง ในครั้งแรก (2) ระบุว่า “แผ่นดินหงบู๊ปีที่ ๔ ซินหาย(ปีกุน จ.ศ.๗๓๓พ.ศ.๑๙๑๔) เสี้ยมหลอฮกก๊ก เซียนเลียดเจี่ยวปี่เองี่ย(1) ให้ราชทูตเชิญพระราชสาสนแลพาช้างกับเต้าหกเท้า...” การแปลครั้งต่อมา(3)ระบุราชทูตพระนามว่า “เจ้าอังกุ” ขณะที่การแปลครั้งล่าสุด(4)ขยายพระนามออกไปว่า “เจ้าเอี้ยนกูหมาน” และได้ให้ความหมายว่าคือ “เจ้าอินทรกุมาร”

เจ้าอินทรกุมาร ภายหลังก็คือ เจ้านครอินทร์ นั่นเอง ซึ่งเวลานั้นอยู่ในวัยเพียง ๑๒ ชันษาเป็นหัวหน้าคณะราชทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับปฐมกษัตริย์แห่งจักรวรรดิต้าหมิง และได้รับความชื่นชมจากฮ่องเต้จูหยวนจาง เป็นอย่างมากทรง “..รับสั่งให้เจ้าพนักงานเอาแพรม้วนประทานไปให้อ๋อง กับประทานผ้าม้วนให้ราชทูตด้วย”(5)



ถิ่นอาศัยของช้างเอเชีย แดงเข้ม-ปัจจุบัน ,แดงอ่อน-อดีต
ภาพและคำบรรยาย :วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ถือเป็นครั้งแรกที่พระเจ้าแผ่นดินสยามส่งช้าง ซึ่งเป็นสัตว์สำคัญของราชสำนักที่มีไว้ใช้ทั้งการสงคราม และใช้งานลากจูง เมื่อมาตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใด ราชสำนักไทยต้องส่งช้างไปให้ต้าหมิง และพบกับข้อเท็จจริงว่าในอดีตอาณาจักรจีนเคยมีช้าง แต่ประชากรช้างลดจำนวนลงอย่างรวดเร็วจากเหตุผลของสงครามระหว่างรัฐต่าง ๆที่ดำเนินมาอย่างยาวนาน และผลจากการเบียดพื้นที่ช้างเพื่อใช้เป็นพื้นที่ทำกิน ในที่สุดช้างก็สูญพันธุ์ เหลือเพียงบางส่วนในแถบมณฑลยูนนานซึ่งอยู่ห่างไกลจากเมืองหลวงมาก

จีนไม่ใช้ช้างทำการรบ อาจเพราะความไม่ถนัดมาแต่บรรพชน ชาวจีนหลากชาติพันธุ์นิยมการต่อสู้บนหลังม้า และชำนาญในการควบคุมม้ามากกว่าสัตว์อื่นใด

เมื่อมาพิจารณาปัจจัยรอบด้าน ก็พบว่าในรัชสมัยจูหยวนจาง หมิงไท่จงฮ่องเต้ นอกจากการพัฒนาประเทศอย่างรอบด้านทั้งการปฏิรูประบบขุนนาง การพัฒนาด้านเกษตรแม่น้ำคูคลอง การกำหนดเกณฑ์ภาษี อุตสาหกรรมการทอผ้าไหม การผลิตเครื่องเคลือบดินเผา การทำเหมืองเหล็ก การหล่อเครื่องทองเหลือง การผลิตกระดาษ และการต่อเรือ  พันธกิจที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือการสร้างกำแพงเพื่อป้องกันศัตรูภายนอก อันเป็นหนึ่งในระบบการป้องกันภัยจากภายนอกที่สั่งสมมาทุกราชวงศ์

กำแพงเมืองจีนมีสร้างมาก่อนสมัยฉินซีฮ่องเต้ (๗๖๔-๗๔๙ ก่อนพุทธกาล)เพื่อให้ยากต่อการเข้าถึงของพวกมองโกลและแมนจู โดยเป็นการสร้างต่อจากแนวกำแพงเดิมที่สร้างมาจากรัฐต่าง ๆในสมัย “เจ็ดมหานครรัฐยุคจั้นกั๋ว” และมีการสร้างต่อเนื่องผ่านสมัยราชวงศ์ต่าง ๆนับตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่น ราชวงศ์สุย ราชวงศ์ถัง ราชวงศ์หยวน ราชวงศ์หมิง จนถึงราชวงศ์ชิง เป็นเวลากว่า ๒,๐๐๐ ปี 

เมื่อไม่นานมานี้ มีการเปิดเผยระยะทางของกำแพงเมืองจีน จากการสำรวจของนักโบราณคดี ระหว่างปีพ.ศ.๒๕๕๑-๒๕๕๕ และประกาศอย่างเป็นทางการจากสำนักงานมรดกวัฒนธรรมแห่งชาติจีน เมื่อวันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๕๕ ว่ามีความยาวถึง ๒๑,๑๙๖.๑๘ กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ ๑๕ มณฑลทั่วประเทศ



 กำแพงเมืองจีนหนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ของโลกที่สร้างมานานกว่า ๒,๐๐๐ ปี
ภาพจาก : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ในระยะทางที่ยาวขนาดนี้ มีการสร้างมากที่สุดในสมัยราชวงศ์หมิง(1368-1644/๑๙๑๑-๒๑๘๗) และส่วนใหญ่ที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบันก็เป็นกำแพงในสมัยนี้เช่นกัน เนื่องจากสร้างด้วยวัสดุที่แข็งแรงทนทานกว่าเป็นระยะทางรวม ๗,๓๐๐ กิโลเมตร ที่เริ่มต้นนับจากด่านเจียอี้กวนมณฑลกันซู่ทางภาคตะวันตก จนถึงริมแม่น้ำยาลู่ของมณฑลเหลียวหนิงทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผ่านพื้นที่ ๙ มณฑลนครและเขตปกครองตนเอง รวมระยะทาง ๑๔,๐๐๐ ลี้ (๗,๓๐๐ ก.ม.) จึงเป็นที่มาของคำว่า “กำแพงหมื่นลี้”

การที่กำแพงเมืองจีนใช้เวลาการสร้างมาต่อเนื่องเป็นเวลากว่า ๒,๐๐๐ ปี เพราะการก่อสร้างเป็นไปอย่างยากลำบากโดยเฉพาะพื้นที่บางแห่งเป็นภูเขาสูงชัน และด้วยสภาพป่าอันสลับซับซ้อนแม้จะใช้คนงานเป็นจำนวนมหาศาล แต่ก็ไม่พอเพียงต่อการลำเลียงขนส่งวัสดุอุปกรณ์ และช้างจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทางการจีนต้องการ โดยเฉพาะช้างจากสยามในฐานะประเทศที่มีความสัมพันธ์กันมานาน

ในช่วงปีพ.ศ.๑๙๓๑ สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้า (ขุนหลวงพ่องั่ว) จึงส่งช้างล็อตใหญ่ไปจีนเป็นจำนวนที่ไม่เคยมีการบันทึกมาก่อน คือเป็นจำนวนมากถึง ๓๐ เชือก และด้วยความที่จีนไม่มีผู้ชำนาญในการเลี้ยงหรือบังคับช้าง ขุนหลวงพ่องั่วจึงส่งคนเลี้ยงไปร่วมกับคณะราชทูตอีกจำนวน ๖๐ คน ดังมีบันทึกไว้ในพงศาวดารว่า

“แผ่นดินหงบู๊ปีที่ ๒๑ โบ้วสิน(ตรงกับปีมะโรงจ.ศ.๗๕๐/พ.ศ.๑๙๓๑) ราชทูตเสี้ยมหลอก๊กนำช้างสามสิบช้าง กับคนหกสิบคนมาถวาย..”(6)

จูหยวนจาง จักรพรรดิต้าหมิง ที่จิตรกรเขียนให้มีนรลักษณ์เป็นมังกร
ภาพจาก :วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ไม่มีบันทึกเพิ่มเติมว่าช้างทั้ง ๓๐ เชือก และควาญช้างทั้ง ๖๐ คน มีชีวิตอยู่กันอย่างไร ได้กลับมาสยามหรือไม่ แต่ผลจากครั้งนั้นทำให้ระดับความสัมพันธ์ของ ๒ ราชวงศ์ยิ่งกระชับแน่นแฟ้นขึ้น ระบบการค้าขายแลกเปลี่ยนเป็นไปอย่างคล่องตัวในระดับมั่งคั่ง 

กล่าวได้ว่า ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้า หรือที่ราชสำนักจีนเรียกพระองค์ว่า “สมเด็จเจ้าพระยาสุรินทราราช” ถือเป็นยุครุ่งเรืองของสยาม ภายหลังการย้ายจากสุพรรณภูมิมาตั้งฐานที่มั่นในพระมหานครศรีอยุธยา และความรุ่งเรืองภายใต้ผลประโยชน์ร่วมกันนี้ ได้ทอดเงาสืบเนื่องมาถึงแผ่นดินสมเด็จพระนครินทราธิราช หรือเจ้าอินทรกุมาร ราชทูตสยามที่นำช้างไปถวายจักรพรรดิหงหวู่ แห่งจักรวรรดิต้าหมิงนั่นเอง.


ช้างสยามอีกหนึ่งต้นทางสุพรรณภูมิ
............วิญญู บุญยงค์............

******


เชิงอรรถ

(1)อ.ประพฤทธิ์ ศุกลรัตนเมธี ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ เป็นผู้แปลจากหนังสืออี้อู้จื้อ

(2)เสี้ยมหลอฮกก๊ก หมายถึงพระเจ้าแผ่นดินสยาม,เซียนเลียดเจี่ยวปี่เองี่ย หมายถึง สมเด็จเจ้าพระยา คือขุนหลวงพ่องั่ว

อ้างอิง

1.วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี อ้างจาก O'Connell, Caitlin (2007). The Elephant's Secret Sense: The Hidden Lives of the Wild Herds of Africa. New York City: Simon & Schuster. pp. 174, 184. ISBN 0743284410.

2,5,6.ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๕.จดหมายเหตุว่าด้วยกรุงสยามแต่โบราณ(เรียบเรียงจากจดหมายเหตุจีน ๕ เรื่อง).แปลโดย หลวงเจนจีนอักษร(สุดใจ).

3.ต้วน ลี เซิง,รศ.หมิงสือลู่ (บันทึกเกี่ยวกับราชวงศ์หมิง).หนังสือพลิกต้นตระกูลไทย.สำนักพิมพ์พิราบ.พิมพ์ครั้งที่ 2.พ.ศ.2521.

4.ประพฤทธิ์ กุศลรัตนเมธี,(ผู้แปลหมิงสือลู่).หมิงสือลู่ - ชิงสือลู่ บันทึกเรื่องจริงแห่งราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิงฯ.มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี.2559.



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น