โพสต์แนะนำ

วันอังคารที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2561

พระสมเด็จฯ๓๐

พระสมเด็จฯวัดระฆัง
พิมพ์ปรกโพธิ์ ลงรักจีน


             พระสมเด็จฯวัดระฆัง พิมพ์ปรกโพธิ์ที่สร้างโดยเจ้าประคุณสมเด็จฯพระพุฒาจารย์(โต พฺรหฺมรํสี) ถือเป็นพระเครื่องที่มีจำนวนน้อย เพราะสร้างในโอกาสที่พระองค์ท่านเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระพุทธปฏิมาประทับนั่งบนฐาน ๓ ชั้นใต้โพธิบัลลังก์ อันแสดงถึงคราวที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ ผู้คนทั่วไปจึงพยายามเสาะหานำมาอาราธนาบูชา เพื่อหวังให้พบความสำเร็จในชีวิต

             พระสมเด็จฯวัดระฆัง พิมพ์ปรกโพธิ์ ที่อัญเชิญมานี้ ได้รับการออกแบบจากช่างหลวงอย่างสวยงามได้สัดส่วนลงตัว มีขนาดย่อมลงมากว่าพระสมเด็จฯแบบพิมพ์ทั่วไป ขอบล่างกว้าง ๒.๑ ซ.ม.ความสูงจากขอบล่างถึงขอบบน ๓.๓ ซ.ม. 


             โดยรวมมีการออกแบบให้เส้นบังคับพิมพ์เป็นเส้นตรงอิสระทั้งสี่ด้าน  ถัดมาด้านในเป็นซุ้มครอบแก้ว เส้นฐานบางกว่าเส้นซุ้ม เส้นซุ้มด้านขวาองค์พระลาดเอียงขึ้นไปตอนบนมากกว่าด้านซ้าย ภายในซุ้มครอบแก้ว องค์พระทับนั่งปางสมาธิ ลำพระองค์จากพระอุระลงมาถึงพระนาภีปรากฏเป็นสังฆาฏิเส้นคู่ พระพักตร์กลมมนทรงไข่ พระกรรณทั้งสองด้านวางขนานใกล้พระปราง(แก้ม)ลงมาจรดพระอังสา(ไหล่) เหนือพระพักตร์เป็นโคนพระเกศหนาขึ้นตรงเป็นเปลวเพลิงแล้วจะเรียวลงปลายเอียงไปทางด้านขวาขององค์พระเล็กน้อยก่อนจรดเส้นซุ้ม ด้านบนเป็นใบโพธิ์มีเส้นพระเกศแบ่งด้านละ ๘ ใบ ด้านล่างตรงพระเพลา(ตัก)ส่วนกลางเว้ารับกับวงพระกร ปลายพระบาทซ้ายทอดเฉียงลงมา

              ใต้พระบาทซ้ายมีเส้นแซมเรียวเล็กวางขนานยาว ปลายเส้นแซมโค้งลงรับกับฐานชั้นที่ ๓ ต่ำลงมาเป็นเส้นแซมคั่นก่อนถึงฐานกลางที่เรียวบางกว่าทุกฐาน ล่างสุดเป็นฐานชั้นที่ ๑ ยาวหนากว่าทุกฐานปลายทั้งสองด้านตัดเฉียงลง กลางฐานมีร่องกลางยาวรับกับฐานตลอดแนว

  
           องค์พระได้รับการทารักจีนสีน้ำตาลเข้ม แต่เป็นการทาชั้นเดียว ผิวรักจึงมีความบางแต่ก็รั้งให้เนื้อพระจนมีการแตกรานในด้านหน้า สีของเนื้อพระออกขาวอมเหลืองนุ่มนวลตา ด้านหลังเป็นการปาดจากด้านล่างซ้ายขึ้นไปยังด้านบนขวา ดังจะเห็นได้จากรอยปาดที่ปรากฏชัดเจนอยู่ จัดเป็นพระสมเด็จฯวัดระฆัง อีกพิมพ์ทรงหนึ่งที่สวยงามสมบูรณ์ที่สุดองค์หนึ่งครับ.


ศึกษาเพื่อการอนุรักษ์วัตถุโบราณ
........จันทร์พลูหลวง............

*********

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น