โพสต์แนะนำ

วันอาทิตย์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2561

รูปหล่อลวงพ่อเงิน ๒


รูปหล่อหลวงพ่อเงิน
พิมพ์นิยม วัดบางคลาน


              พระรูปหล่อหลวงพ่อเงิน พุทธโชติ วัดบางคลาน จังหวัดพิจิตร มีการสร้างหลายครั้งหลายวาระ แต่ละครั้งเนื้อโลหะจะมีความแตกต่างกันไป แม้จะมีเนื้อโลหะทองเหลืองเป็นวัสดุหลัก แต่บรรดาญาติโยมที่ศรัทธาเคารพในตัวหลวงพ่อเงินมีเป็นจำนวนมาก จึงนำของมีค่าทั้งทองคำ นาก เงิน เครื่องทองเหลืองจำพวกขันทัพพีตักบาตร เชี่ยนหมาก หรือสารพัดที่มีตามแต่ละฐานะครัวเรือน แต่ที่นิยมมากที่สุดคือทองคำและนาก โดยจะนำมาร่วมสร้างบุญด้วยการให้ช่างหล่อหลอมลงไปในเบ้า


              ดังนั้นเนื้อพระรูปหล่อหลวงพ่อเงินจะมีความละม้ายกันเฉพาะการหล่อแต่ละครั้ง ที่ใช้คำว่าละม้ายก็เพราะยังต้องขยายความต่อไปว่า ในการหล่อแต่ละครั้ง เนื้อพระก็จะไม่เหมือนกันเสียทีเดียว เนื่องจากอุณหภูมิความร้อนไม่สูงมากพอที่โลหะแต่ละชนิดจะหลอมละลายเป็นเนื้อเดียวกันทั้งหมดอย่างแท้จริง  จึงพบว่าพระรูปหล่อหลวงพ่อเงินบางองค์แก่ทองบางองค์แก่นาก เป็นต้น อย่างไรก็ดีแม้ว่าเนื้อพระจะมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง แต่ก็มีวิธีพิจารณาพระรูปหล่อหลวงพ่อเงินได้ไม่ยากจนเกินไป

              การพิจารณาพระรูปหล่อหลวงพ่อเงิน ให้คำนึงถึงสภาพโลหะที่มีอายุกว่า ๑๐๐ ปี แม้สภาพพื้นผิวจะมีความขรุขระอยู่บ้างแต่จะเรียบลื่นไม่สะดุดมือ ส่วนที่ถูกสัมผัสบ่อยจะมันฉ่ำ ตามซอกหรือตำแหน่งที่สัมผัสยากมักมีคราบดำและน้ำตาลเข้มเรียกว่าคราบเบ้า


              สำหรับพระที่ไม่ผ่านการใช้(องค์ในภาพ) และถูกเก็บไว้ในที่อับจะเกิดคราบสนิมเขียวขึ้น นานวันเกิดปรอทที่อยู่ในอากาศเกาะกินคราบต่าง ๆบนผิวพระ จึงเกิดประกายละอองของปรอท แต่หากนำพระออกมาไว้ภายนอกปรอทจะเปลี่ยนสภาพเป็นฝ้าขาวขุ่น เป็นภาวะที่เรียกว่า “ปรอทตาย” ถือเป็นอีกส่วนหนึ่งในการพิจารณาธรรมชาติของพระเนื้อโลหะโบราณ

              เมื่อใช้แว่นขยายจะพบเนื้อโลหะหดตัวยับย่น มีทั้งเป็นเป็นริ้วถี่ และการหดตัวที่มีลักษณะเป็นตามุ้ง คือเป็นตารางตัดกันแบบไม่สม่ำเสมอ รวมถึงประกายส่าทองที่เหลือบอยู่ภายใน เหล่านี้คือคุณสมบัติของโลหะที่ได้อายุเป็นหลักในการพิจารณาพระแท้  และสามารถนำไปใช้ได้กับพระเนื้อโลหะที่มีอายุใกล้เคียงกัน

              “แต่หากจะนำไปแลกเปลี่ยนเป็นเงินที่มีการกำหนดไว้เป็นหลักหลายล้านบาทต่อองค์ ก็ต้องพิจารณาพิมพ์ทรงควบคู่กันไป” อันนี้เป็นหลักการที่ปรมาจารย์ตรียัมปวาย ท่านให้ไว้นานแล้ว นั่นเอง.


ศึกษาเพื่อการอนุรักษ์วัตถุโบราณ
........จันทร์พลูหลวง............
*********

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น