โพสต์แนะนำ

วันพฤหัสบดีที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2561

พระหลวงพ่อเนียม ๓


พระพิมพ์พระเจ้าสิบพระองค์
หลวงพ่อเนียม วัดน้อย สุพรรณบุรี


              ในบรรดาพระเครื่องหลายแบบพิมพ์ทรงที่หลวงพ่อเนียม วัดน้อย สุพรรณบุรี สร้างขึ้นนั้น พระพิมพ์พระเจ้าสิบพระองค์ ซึ่งมีลักษณะสัณฐานเป็นทรงกลมแบน ภายในประดิษฐานองค์พระปฏิมากรด้านละ ๑๐ พระองค์ ด้วยลักษณะดังกล่าวจึงนิยมเรียกกันว่า “พระงบน้อย” มาตั้งแต่ครั้งการพบพระกรุทุ่งเศรษฐี เมืองกำแพงเพชร และหลวงพ่อเนียมได้นำมาเป็นแบบอย่างในการสร้าง จนได้รับความนิยมมากที่สุดพิมพ์หนึ่ง


              พระงบน้ำอ้อยที่หลวงพ่อเนียมสร้าง เป็นพระพิมพ์ปางสมาธิทรงสามเหลี่ยม พระเกศเรียวยาว ปลายพระเกศทำมุมชนกันทุกพระองค์ การสร้างใช้เนื้อตะกั่ว ดีบุก ผสมปรอท  หล่อแบบเบ้าประกบพิมพ์สองด้าน จึงปรากฏรอยขอบในพระพิมพ์นี้ทุกองค์ มีอยู่ ๒ ขนาด คือพิมพ์เล็ก เส้นผ่าศูนย์กลางกว้างประมาณ ๑.๘ ซ.ม. และพิมพ์ใหญ่เส้นผ่าศูนย์กลางกว้างประมาณ ๒.๒ ซ.ม.


              ในพระที่ไม่ผ่านการใช้บูชา ผิวขององค์พระปรากฏคราบปรอททั่วทั้งองค์ ส่วนใหญ่พิมพ์พระค่อนข้างลางเลือน แต่เนื้อพระที่ผ่านกาลเวลามานานกว่า ๑๐๐ ปี ทำให้เกิดการปรุพรุน และบางส่วนเกิดการยุบตัวจนเหนี่ยวรั้งเนื้อโลหะเขาเป็นริ้ว หรือเป็นเส้นตัดขวางแบบไม่สมดุล หากองค์พระผ่านการใช้บูชาติดตัวนาน คราบปรอทจะหายไป พื้นที่ส่วนต่ำจะออกดำคล้ำ ผิวที่ถูกสัมผัสบ่อยจะออกขาวแบบเงินยวง

              พระพิมพ์นี้ ได้รับความนิยมนับจากอดีตมาถึงปัจจุบัน คนส่วนใหญ่ที่เป็นสุภาพสตรีนิยมนำมาเลี่ยมทอง มีเส้นแบ่งพระแต่ละองค์เช่นเดียวกับกงล้อธรรมจักร แต่การเลี่ยมพระสมัยก่อนไม่นิยมให้มีแผ่นพลาสติกปิดองค์พระ เนื้อพระจึงสึกกร่อนเสียส่วนใหญ่ สำหรับองค์พระที่ได้รับการเก็บรักษาเป็นอย่างดีสภาพผิวจะยังคงสภาพเดิม ที่เปลี่ยนไปคือร่องรอยการหดตัวยุบตัวของโลหะตามกฎเกณฑ์ธรรมชาติครับ.


ศึกษาเพื่อการอนุรักษ์วัตถุโบราณ
........จันทร์พลูหลวง............

*********

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น