โพสต์แนะนำ

วันศุกร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2561

พระสมเด็จฯ๒๗


สมเด็จฯวัดระฆัง
พิมพ์ใหญ่ ลงรักปิดทอง


              พระสมเด็จฯวัดระฆังที่สร้างโดยเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต พฺรหฺมรํสี) เป็นพระเครื่องที่ได้รับความนิยมมาเนิ่นนาน ตามประวัติการสร้างมีอยู่ด้วยกันหลายพิมพ์ทรง ในสมัยกาลที่เจ้าประคุณสมเด็จฯสร้างนั้นเป็นการสร้างต่อเนื่อง โดยมีบรรดาศิษยานุศิษย์และบุคคลที่ศรัทธาในพระองค์มาร่วมช่วยกันสร้าง และแจกจ่ายไปตามวาระอันควร เช่นเมื่อสร้างศาลา หอฉัน กุฏิ หรือหอระฆัง พระองค์ท่านก็นำมาแจกจ่ายให้กับผู้ร่วมทำบุญถวายปัจจัย หรือบางคนไม่มีปัจจัยเอาแรงกายมาช่วยงานท่านก็แจก โดยไม่ได้คำนึงว่าจะต้องเป็นพระพิมพ์นั้นพิมพ์นี้

              การกำหนดพิมพ์ทรงนิยม เป็นการกำหนดกันเองในสมัยหลังก่อนปีพ.ศ.๒๕๐๐ จากบรรดานักสะสม เพื่อใช้เรียกขานชื่อพิมพ์กันอย่างสะดวกมากขึ้น นานวันเข้าก็กลายเป็นพิมพ์ทรงมาตรฐานที่ให้ความหมายไปถึงความเป็นพระแท้ด้วยเช่นกัน ส่วนพิมพ์ทรงที่ไม่ได้รับการกล่าวถึงก็อยู่นอกระบบและกลายเป็นพระปลอมไปในที่สุด แต่การพิจารณาพระสมเด็จฯวัดระฆัง ปรมาจารย์ตรียัมปวาย ท่านได้ให้ข้อคิดไว้นานแล้วว่า หากจะพิจารณาพระแท้ให้ดูที่เนื้อหาเป็นหลัก เมื่อเชี่ยวชาญแล้วก็จะได้ครอบครองพระแท้อย่างไม่ต้องสงสัย แต่หากมีความต้องการที่จะนำไปแลกเปลี่ยนก็ต้องศึกษาพิมพ์ทรงที่ได้รับความนิยม นั่นเอง


              ดังนั้น หัวใจหลักในการพิจารณาพระสมเด็จฯวัดระฆัง ผู้สนใจควรศึกษาเนื้อหามวลสารให้เข้าใจอย่างท่องแท้เสียก่อน เพราะการศึกษาพิมพ์ทรงที่ได้รับความนิยมเพียงอย่างเดียว ก็สุ่มเสี่ยงต่อการได้ของปลอมมาครอบครองบูชาซึ่งแน่นอนว่าย่อมมีมูลค่าการแลกเปลี่ยนที่สูงตามไปด้วย เพราะฉะนั้นผู้สนใจในพระสมเด็จฯวัดระฆัง จึงควรศึกษาด้วยตนเองให้ได้ความมั่นใจระดับหนึ่ง และปรึกษาผู้รู้ท่านอื่น ๆ ที่มีความเชี่ยวชาญและไว้ใจได้ จึงจะมีโอกาสได้ครอบครองทั้งพระเนื้อแท้และพิมพ์นิยม

              สำหรับพระสมเด็จฯวัดระฆัง ที่อัญเชิญมาลงไว้นี้ เป็นพระพิมพ์ใหญ่นิยม ตัดขอบนอกเส้นกรอบบังคับพิมพ์ จึงทำให้เห็นสัดส่วนพิมพ์ทรงเต็มทั้งองค์ เรียกกันว่า “พิมพ์ใหญ่กรอบกระจก” มีขนาดความกว้างวัดจากขอบล่างประมาณ ๒.๖ ซ.ม.และสูงจากขอบล่างถึงขอบบนประมาณ ๓.๘ ซ.ม.ในองค์อื่น ๆอาจแตกต่างกว่านี้เล็กน้อยก็ไม่ได้ถือว่าเสียหาย เพราะเป็นงานที่ทำด้วยมือจึงมีโอกาสคลาดเคลื่อน


              ในพระสมเด็จฯวัดระฆัง องค์นี้ เดิมที่สร้างออกมาเป็นแบบเนื้อผงสีขาวทั่วไป แล้วทำการจุ่มรัก จากนั้นจึงปิดทองทับด้านหน้าอีกชั้นหนึ่ง องค์พระได้รับการเก็บรักษาในพื้นที่โล่ง อาจเป็นหิ้งบูชาพระโดยไม่มีวัสดุใดมาครอบปิด ทำให้ได้รับความร้อนและความชื้นตามธรรมชาติ มีผลทำให้สีขององค์พระเปลี่ยนไปเป็นสีเหลืองหม่นนุ่ม เนื่องจากการคลายตัวของน้ำมันตั่งอิ้ว ประกอบกับฝุ่นละอองที่ลอยอยู่ในอากาศลงมาเกาะกุม จึงทำให้มีคราบฝุ่นครอบคลุมอยู่ทั่วไป

              การพิจารณาผิวองค์พระ ดูได้จากเนื้อรักที่กะเทาะออกมา ในเนื้อมีการกระจายตัวของมวลสารออกเม็ดสีดำ แดง ส้ม และร่องรอยการหดตัวจนแห้งของผงเกสร เนื้อพระโดยรวมจะหดตัวและปรากฏรอยพรุนปลายเข็มทั้งหมด ส่วนที่เป็นแผ่นรักมีการหดตัวเป็นริ้วและพรุนพื้นผิวไม่สม่ำเสมอ เช่นเดียวกับแผ่นทองที่ถูกปิดทับมาเป็นเวลามากกว่า ๑๐๐ ปี ย่อมเซ็ตตัวตามผิวรัก และมีระเรื่อออกแดงที่เรียกว่าสนิมทองที่ผ่านมาเวลามานานนั่นเองครับ.


ศึกษาเพื่อการอนุรักษ์วัตถุโบราณ
........จันทร์พลูหลวง............

*********

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น