โพสต์แนะนำ

วันพฤหัสบดีที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2561

พระสมเด็จฯ๓๒


พระสมเด็จฯเกศไชโย
พิมพ์หกชั้นอกตลอด


             พระสมเด็จฯเกศไชโย ที่เจ้าประคุณสมเด็จฯพระพุฒาจารย์(โต พฺรหฺมรํสี)สร้างเพื่อนำไปบรรจุไว้ในองค์พระประธานพระมหาพุทธพิมพ์วัดไชโยวรวิหาร จังหวัดอ่างทอง มีอยู่ด้วยกัน ๒ ส่วน ๆแรกสร้างโดยกลุ่มคนชาวอ่างทอง ที่ศรัทธาต่อเจ้าประคุณสมเด็จฯ เรียกกันว่า “พิมพ์ชาวบ้าน” อีกส่วนหนึ่งสร้างจากช่างสิบหมู่ที่วัดระฆังโฆสิตารามแล้วนำมาบรรจุ เรียกกันว่า “พิมพ์นิยม”

              ในพระสมเด็จฯเกศไชโย พิมพ์นิยมนั้น มีอยู่ด้วยกัน ๓ พิมพ์หลัก คือ พิมพ์ฐานเจ็ดชั้น พิมพ์ฐานอกชั้นอกตัน และพิมพ์ฐานหกชั้นอกร่อง สำหรับพิมพ์ที่อัญเชิญมาลงนี้ เรียกว่า “พิมพ์ฐานหกชั้นอกร่อง” หรือบางทีเรียกว่า"อกตลอด" จัดเป็นพระพิมพ์ขนาดเล็ก แต่มีการตัดขอบให้กว้างออกไปทุกด้านจึงมีขนาดเท่าพิมพ์ใหญ่



             ในพระพิมพ์นี้ พระพักตร์นูน พระนลาฏ(หน้าผาก)กว้าง พระหนุ(คาง)ยาวเรียวลงไปชนพระรากขวัญ(ไหลาร้า) พระเกศขึ้นยาวเป็นเส้นตรงไปพาดทับบนขอบซุ้มครอบแก้ว พระกรรณ(หู)ทั้งสองด้านเป็นแบบบายศรี เอกลักษณ์ของพระพิมพ์นี้อยู่ที่พระอุระ(อก)เป็นเส้นคู่ลงมาจากพระอังสา(ไหล่)ทั้งสองด้านไปสิ้นสุดที่พระนาภี(ท้อง)เหนือวงพระกร เป็นรูปตัววี ลำพระองค์ พระพาหา วงพระกร เป็นเส้นขนาดเล็กแบบพระพิมพ์เส้นด้ายในกรุวัดบางขุนพรหมใน ส่วนพระเพลา(ตัก)หนากว่าเล็กน้อย ปลายพระชานุ(เข่า)ทั้งสองด้านกระดกขึ้น เส้นฐานทั้ง ๖ เส้น ยาวเรียวลดหลั่นลงไป ปลายฐานทั้งสองด้านของทุกฐานมักสอบเรียวเป็นปลายแหลม 


             ซุ้มครอบแก้วค่อนข้างได้สัดส่วน แต่โย้ไปทางด้านขวาองค์พระเล็กน้อย ฐานเส้นซุ้มเป็นเส้นเดียวกับฐานเส้นบังคับพิมพ์ ขอบมุมบนของเส้นบังคับพิมพ์ด้านซ้ายองค์พระเป็นปลายแหลมออกไปชนขอบพระที่ตัดห่างออกไปจากเส้นบังคับพิมพ์อย่างชัดเจน นอกจากนั้นขอบมุมด้านนอกของพระสมเด็จฯเกศไชโย มักจะมีการลบมุมให้มน ไม่เป็นเหลี่ยมเหมือนพระสมเด็จฯวัดระฆัง หรือบางขุนพรหม สำหรับเนื้อหามวลสารที่นำมาสร้างเป็นสูตรเดียวกัน เนื้อพระจึงมีความหนึกนุ่มและร่องรอยธรรมชาติเหมือนกัน ส่วนคราบกรุมี ๒ ชั้นด้านล่างเป็นคราบฝ้า ด้านบนเป็นราดำปกคลุมครับ.


ศึกษาเพื่อการอนุรักษ์วัตถุโบราณ
........จันทร์พลูหลวง............


*********

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น