โพสต์แนะนำ

วันจันทร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2561

พระยืนประทานพร สุโขทัย


พระยืนประทานพร
กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ สุโขทัย
              พระร่วงสุโขทัย แตกกรุในปีพ.ศ.๒๔๙๓ ด้วยศิลปะการสร้างและสถานที่พบคือวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ(ชาวบ้านเรียกกันว่าวัดพระปรางค์) ยืนยันว่ามีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ เมื่อนับเนื่องจนถึงปัจจุบัน(พ.ศ.๒๕๖๑) พระร่วงสุโขทัย จึงมีอายุการสร้างอยู่ในราว ๘๐๐ ปี


               พระร่วง มีพุทธลักษณ์เป็นศิลปะบายน เกิดขึ้นหลังจากพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ (พ.ศ.๑๗๒๔-๑๗๖๒)ทรงเปลี่ยนมานับถือพุทธศาสนามหายาน-วัชรยานตันตระ เพื่อเอื้อให้พระองค์ดำรงภาวะ”ธรรมราชา”ในคติพุทธ และพิธีบรมราชาภิเษกเป็น“เทวราชา”ตามคติพราหมณ์ฮินดู กลายเป็นพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร หรือ พระพุทธเจ้าที่ยังมีชีวิต พระพุทธรูปในรัชสมัยพระองค์จึงทรงอาภรณ์และเครื่องประดับตามคติความเชื่อที่ผสมผสานกัน ซึ่งพระร่วงก็เป็นหนึ่งสัญลักษณ์ของการสร้างพระพุทธรูปในสมัยนี้

ด้านหลังในร่องรางปืนปรากฏรอยเสี้ยนของวัสดุที่กดลงไปในแบบพิมพ์

               พระร่วง หรือพระยืนปางประทานพร พระหัตถ์ขวายกทาบพระอุระเหยียดพระหัตถ์ปรากฏเป็นข้อนิ้วพระหัตถ์ชัดเจนทั้ง ๕ นิ้ว พระพาหาซ้าย(ไหล่-แขนท่อนบน)วางแนบลำพระองค์จนถึงพระกัประ(ศอก)แล้วค่อย ๆผายออกด้านข้างก่อนจะเหยียดพระหัตถ์ลงล่างเป็นแนวตรงรับกับชายจีวร องค์พระประดิษฐานภายในซุ้มเรือนแก้ว ตอนบนทรงเครื่องเทริด(กระบังหน้า) สวมมงกุฎทรงกรวย พระพักตร์ก้มต่ำทำให้ดูเหมือนพระเนตรเหลือบต่ำลง ริมพระโอษฐ์ทั้งสองด้านยุบตัว เรียกกันว่า”ยิ้มแบบบายน”ประดับกรองศอ(สร้อย)พระกฤษฎี(เอว)คอด ผายออกรับพระโสณี(สะโพก) ขอบสบงคาดรัดประคดใต้พระนาภี(สะดือ)กึ่งกลางมีประจำยามหนึ่งดวง รอยจีบหน้าสบงยาวลงไปถึงพระชงฆ์(หน้าแข้ง) จีวรแนบองค์พระปล่อยชายลงมาทั้งสองด้านยาวเหนือขอบล่างสบง

รอยร่องรานที่สนิมกินจากภายในองค์พระ
มักจะพบในพระที่วางอยู่ในตำแหนงโพรงหรือรูรั่วในกรุ
              เนื้อพระร่วงสร้างขึ้นจากดีบุกและตะกั่วเป็นหลักมีปรอทเป็นส่วนผสม เมื่อผ่านกาลเวลามานานกว่า ๘๐๐ ปี ทำให้เนื้อโดยรวมแปรสภาพเป็นสนิม เรียกว่า “สนิมแดง” ออกสีเหลืองน้ำตาลอ่อนเข้มทั่วองค์พระ เหนือสนิมแดงเป็นสนิมไข มีคราบสนิมแป้ง หากสนิมแป้งหลุดออกไปจะทำให้องค์พระเกิดความมันวาว และปรากฏรอยรานทั่วทั้งองค์พระ บางตำแหน่งหากรอยรานแตกจะเห็นสนิมภายในเนื้อองค์พระอย่างชัดเจน

              ธรรมชาติของพระร่วงสนิมแดง หากไม่ได้นำองค์พระไปกัดล้างด้วยน้ำยา วรรณะส่วนใหญ่จะแลดูกระดำกระด่าง ไม่เป็นสีเรียบเสมอทั้งองค์ หากพิจารณาย่างถ้วนถี่ก็จะรอยเปิดของผิวพระ ตั้งแต่ชั้นแรกที่เป็นเนื้อสนิมแดงซึ่งนอกจากจะมีรอยรานแล้วยังปรากฏรอยพรุนปลายเข็มด้วยเช่นกัน นอกจากนั้นยังมีรอยริ้ว รอยคลื่น รอยขีด รอยหยัก และเส้นเสี้ยน อันเกิดจากการหดตัวของเนื้อโลหะทั้งด้านหน้าและด้านหลังในร่องรางปืน เหล่านี้ล้วนเป็นส่วนประกอบสำคัญในการพิจารณาพระร่วงเนื้อตะกั่วสนิมแดง

              อย่างไรก็ดี พระร่วงรางปืน กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ สุโขทัย เป็นพระที่ขึ้นจากกรุจำนวนน้อย และได้รับความนิยมมาเป็นอันดับหนึ่งของพระตระกูลยอดขุนพลเบญจภาคีเนื้อชิน ดังนั้นโอกาสที่จะพบเห็นทั่วไปนับเป็นเรื่องยากเต็มที แต่ก็มีพระเครื่องในตระกูลนี้อยู่อีกมากมายหลายกรุกระจายอยู่ทั่วประเทศ ก็ใช้บูชาแทนพระกรุหลักครอบคลุมพุทธคุณทั้งแคล้วคลาด คงกระพัน เมตตามหานิยม ได้เช่นกัน ครับ.

ศึกษาเพื่อการอนุรักษ์วัตถุโบราณ

........จันทร์พลูหลวง............

*********


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น